สตีฟ เทรนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และ ผู้ก่อตั้งมูลนิธิความยุติธรรมเชิงสิ่งแวดล้อม (EJF) ออก “แถลงการณ์ตอบสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย” หลังจากนายมงคล สุขเจริญคณา ประธานสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย ที่ระบุว่าข้อมูลของ EJF บิดเบือน
ทั้งนี้ ประเด็นการแก้กฎหมายกำลังเป็นที่จับตาของนานาชาติอีกครั้ง โดยเฉพาะประเด็นการทำประมงผิดกฎหมาย (IUU) ซึ่งส่งผลให้ไทยเคยโดน “ใบเหลือง”จากสหภาพยุโรปมาแล้ว ก่อนที่จะมีการแก้ไขและสามารถปลอดล็อกได้
แถลงการณ์ดังกล่าว มีรายละเอียดดังนี้
การแก้ไขกฎหมายการประมงของไทยในปัจจุบันจะทำให้การปฏิรูปอุตสาหกรรมประมงถดถอยจากความก้าวหน้าของนโยบายที่ได้ลงแรงปฏิรูปที่ผ่านมา เสี่ยงต่อการทำลายทรัพยากรทางทะเลที่มีค่า และเปิดประตูให้การทำประมงผิดกฎหมาย ตลอดจนการละเมิดสิทธิมนุษยชนกลับมาแพร่หลายในกองเรือประมงไทยอีกครั้ง
ไม่นานมานี้ นายมงคล สุขเจริญคณา ประธานสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย ได้ให้สัมภาษณ์ต่อสำนักข่าวโดยกล่าวอ้างว่า การวิเคราะห์ข้อกังวลของร่างแก้ไขกฎหมายการประมงโดยมูลนิธิความยุติธรรมเชิงสิ่งแวดล้อม (Environmental Justice Foundation: EJF) มีการบิดเบือนและให้ข้อมูลเท็จ ข้อกล่าวหาดังกล่าวไม่เป็นความจริง EJF ขอยืนยันว่าการประเมินและวิเคราะห์โดย EJF นั้นตั้งอยู่บนหลักวิชาการ มีความครอบคลุม และผ่านการทบทวนอย่างรอบคอบ
สถานการณ์ปัจจุบันของอาหารทะเลและทรัพยากรสัตว์น้ำในประเทศไทยนั้นตรงกันข้ามกับข้อมูลที่นายมงคลกล่าวอ้างอย่างสิ้นเชิง การปฏิรูปการประมงตลอดแปดปีที่ผ่านมากำลังเผยผลเชิงบวก เห็นได้จากความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรทางทะเลที่กำลังฟื้นตัวและราคาอาหารทะเลที่กำลังเพิ่มสูงขึ้น จากข้อมูลของกรมประมง มูลค่าของอาหารทะเลเกือบทุกสายพันธุ์เพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 40 โดยเฉพาะมูลค่าปลาหมึกที่เพิ่มขึ้นเกือบสองเท่าตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557 เช่นเดียวกับผลผลิตการประมงทั้งในบริเวณอ่าวไทยและทะเลอันดามันที่กำลังฟื้นตัวด้วยอัตราร้อยละ 40 ในทะเลอันดามัน และร้อยละ 80 ในอ่าวไทย
การคงไว้ซึ่งทิศทางการปฏิรูปที่ดีจะเป็นการการันตีแนวโน้มราคาอาหารทะเลที่สูงขึ้น สวัสดิภาพของแรงงานประมง และอนาคตที่ยั่งยืนของอุตสาหกรรมประมงไทย
ทั้งนี้ ทาง FJF ได้ชี้แจงตอบข้อโต้แย้งของนายมงคลต่อบทวิเคราะห์ ดังนี้
ไม่มีการแก้ไขข้อกำหนดยื่นรายชื่อคนประจำเรือและการเปลี่ยนย้ายลูกเรือกลางทะเล: มาตรา 82 และ 83/1
ในความเป็นจริงแม้ว่าร่างแก้ไขกฎหมายประมงที่เสนอโดยคณะรัฐมนตรีจะไม่ได้มีการระบุถึงรายละเอียดการแก้ไขข้อกำหนดการยื่นรายชื่อคนประจำเรือ แต่พบว่าร่างแก้ไขกฎหมายประมงจากพรรคการเมืองส่วนใหญ่ ได้แก่ พรรคเพื่อไทย ภูมิใจไทย ก้าวไกล พลังประชารัฐ และประชาชาติ ได้เสนอให้ ‘ยกเลิก’ ข้อบังคับสำหรับเรือประมงพาณิชย์ที่จะต้องจัดเตรียมและแสดงรายชื่อลูกเรือที่ถูกต้องต่อเจ้าหน้าที่ก่อนที่จะออกทำการประมง ซึ่งขัดแย้งกับอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศว่าด้วยการทำงานในภาคประมงที่ไทยได้ให้สัตยาบันในปี พ.ศ. 2562
อ่านเพิ่มเติม:
จับตาร่างแก้กม.ประมง ถอยหลังเข้าคลอง ฉบับ”ก้าวไกล”หนักสุด
แก้กฎหมายประมง พาไทยเสี่ยงเจอ”ใบเหลือง” กระทบเจรจา FTA
ข้อกล่าวอ้างหนึ่งของสมาคมประมงฯ คือยังมีกฎหมายฉบับอื่นกำหนดให้แจ้งรายชื่อลูกเรืออยู่นั้น EJF เห็นว่า โดยบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ใบอนุญาตให้ทำการงานในเรือประมงตามมาตรา 285 แห่งพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทยมีเป้าประสงค์เพื่อการควบคุมการทำงาน ซึ่งไม่สามารถใช้ทดแทนบัญชีรายชื่อลูกเรือในบทบัญญัติมาตรา 15 แห่งอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศว่าด้วยการทำงานในภาคประมง ซึ่งมีเป้าประสงค์เพื่อการคุ้มครองแรงงานได้
อีกทั้งร่างของพรรคก้าวไกลยังเสนอแก้ไขให้แรงงานข้ามชาติไม่จำเป็นต้องถือหนังสือคนประจำเรือ ซึ่งเป็นเอกสารสำคัญในการระบุตัวตนและประวัติการทำงานอีกต่อไป การแก้ไขดังกล่าวจึงเป็นการขัดต่ออนุสัญญาว่าด้วยแรงงานทางทะเลที่ไทยได้ให้สัตยาบันไว้เช่นกัน
สำหรับประเด็นการเปลี่ยนย้ายลูกเรือกลางทะเล ร่างแก้ไขกฎหมายเกือบทุกฉบับ ได้แก่ ร่างพรรคเพื่อไทย ภูมิใจไทย ก้าวไกล พลังประชารัฐ และประชาชาติ มีการปรับเปลี่ยนถ้อยคำซึ่งจะเปิดช่องว่างให้การเปลี่ยนย้ายลูกเรือทำได้ง่ายขึ้น จากเดิมกฎหมายกำหนดข้อยกเว้นให้เปลี่ยนย้ายลูกเรือได้เฉพาะ “เมื่อมีเหตุจำเป็นเพื่อความปลอดภัย” ร่างแก้ไขเหล่านี้เปิดช่องว่างให้มีข้อยกเว้นเปลี่ยนย้ายลูกเรือได้ด้วยสาเหตุที่นอกเหนือจากเหตุผลด้านความปลอดภัย โดยระบุเพียงว่าให้เป็นไป “ตามความจำเป็น” ซึ่งเจ้าของเรือเป็นผู้ตัดสินใจได้ด้วยตนเอง การปรับแก้ไขดังกล่าวอาจส่งผลให้แรงงานบนเรือประมงเสี่ยงต่อการถูกละเมิดสิทธิโดยไร้หนทางหลบหนี
แม้ร่างแก้ไขเหล่านี้จะพยายามกำจัดข้อกังวลในการแสวงหาประโยชน์ด้านแรงงาน โดยกำหนดให้ลูกเรือที่จะเปลี่ยนย้ายข้ามเรือนั้นต้องไม่ทำงานบนเรือประมงมามากกว่า 30 วัน แต่ในทางปฏิบัติ เมื่อเรืออยู่กลางทะเลที่ห่างไกลจากกลไกการตรวจสอบโดยเจ้าหน้าที่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง การบังคับใช้หรือติดตามผลของข้อกำหนดนี้จึงแทบเป็นไปไม่ได้ที่จะยืนยันสถานะและสภาพความเป็นอยู่ของลูกเรือได้จริง
ข้อเสนอแก้ไขเหล่านี้ไม่ใช่การลดทอนภาระกฎระเบียบที่ไม่จำเป็นตามที่ได้กล่าวอ้าง หากแต่จะเป็นการทำลายกลไกคุ้มครองแรงงานที่สำคัญและอาจพาประเทศไทยย้อนกลับสู่วันวานที่เลวร้ายของการคุกคามแรงงานประมงอีกครั้ง
ดังนั้นแล้ว หากสมาคมประมงฯ มีความห่วงกังวลถึงปัญหาการขาดแคลนแรงงานในอุตสาหกรรมประมงไทยจริงดังที่กล่าวอ้างไว้ ก็ควรตระหนักถึงผลกระทบในการทำให้กลไกคุ้มครองแรงงานอ่อนแอลงกว่าเดิม ซึ่งจะยิ่งส่งผลให้แรงงานข้ามชาติที่มีความสมัครใจเข้ามาทำงานในภาคประมงมีจำนวนลดน้อยลงจากการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว
หนทางเดียวที่จะสร้างความเชื่อมั่นว่าการทำงานประมงในกองเรือของไทยนั้นปลอดภัยและมีสภาพแวดล้อมการทำงานที่เหมาะสมคือการส่งเสริมและยกระดับกลไกการคุ้มครองแรงงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้สัตยาบันในอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศฉบับที่ 87 และ 98 ว่าด้วยการรับรองสิทธิในการเจรจาต่อรองและเสรีภาพในการรวมกลุ่มแก่แรงงานข้ามชาติ
การขนถ่ายสัตว์น้ำกลางทะเลและการลดทอนกลไกการติดตามฯ: มาตรา 85/1 และ 87
ร่างแก้ไขจากพรรคการเมืองส่วนใหญ่เสนอ ‘ขยายข้อยกเว้น’ การขนถ่ายสัตว์น้ำกลางทะเลให้ “…เรือประมงที่ได้จดแจ้งศูนย์ควบคุมการแจ้งเรือเข้าออกแล้ว ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่อธิบดีประกาศกำหนด” โดยคำว่า “จดแจ้ง” ในที่นี้เปิดช่องว่างให้ตีความได้ว่า เรือประมงทั่วไปที่ไม่ได้จดทะเบียนเป็นเรือขนถ่ายอาจสามารถขนถ่ายสัตว์น้ำกลางทะเลได้โดยไม่ต้องผ่านการขออนุญาตและตรวจสอบอย่างเป็นทางการ เพียงแต่ดำเนินการแจ้งให้ทราบเท่านั้น
การขนถ่ายกลางทะเลเอื้อให้เกิดการโยกย้ายอาหารทะเลที่จับมาโดยวิธีผิดกฎหมายไปยังเรืออีกลำหนึ่ง โดยการนำไปปะปนกับอาหารทะเลถูกกฎหมายหรือเป็นการ ‘ฟอกขาว’ อาหารทะเลที่จับมาได้โดยวิธีการผิดกฎหมายนั้น พฤติกรรมดังกล่าวมีส่วนทำให้สินค้าอาหารทะเลที่ผิดกฎหมายสามารถเข้าสู่ตลาดได้โดยไม่ผ่านการตรวจสอบ อีกทั้งยังทำให้แรงงานประมงต้องอยู่บนเรือกลางทะเลเป็นระยะเวลานานโดยไม่เต็มใจ เพิ่มความเสี่ยงที่จะถูกแสวงหาผลประโยชน์และละเมิดสิทธิ ซึ่งล้วนเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้การขนถ่ายกลางทะเลเป็นสิ่งต้องห้ามในกฎหมายการประมงในปัจจุบัน
สมาคมการประมงฯ อ้างว่าตนไม่ได้ต่อต้านกฎหมายควบคุมการทำประมงผิดกฎหมาย (IUU) แต่สิ่งที่พวกเขาทำมาโดยตลอดคือการเจรจาต่อรองอย่างหนักเพื่อให้การทำประมง IUU สามารถรอดพ้นจากการตรวจสอบได้สะดวกขึ้น โดยพบว่า ร้อยละ 70 ของข้อเสนอแก้ไขกฎหมายจากร่างพรรคการเมืองต่าง ๆ มีเนื้อหาที่จะทำให้กลไกการติดตามตรวจสอบและบันทึกการทำประมงมีความอ่อนแอลงซึ่งจะเปิดช่องให้ผู้ประกอบการที่ตั้งใจทำการประมงผิดกฎหมายสามารถกระทำการดังกล่าวได้ง่ายขึ้นและเป็นระบบมากยิ่งขึ้น ในขณะที่ชาวประมงและผู้ประกอบการที่ดำเนินการอย่างถูกต้องตามกฎหมายกลับต้องรับผลกระทบจากพฤติกรรมเหล่านั้น
อ่านเพิ่มเติม:
แก้ กม.ประมง รอบใหม่ เสี่ยงกระทบทรัพยากร-ค้ามนุษย์
บทลงโทษการทำความผิดประมง IUU ที่ได้สัดส่วน:
บทลงโทษเป็นประเด็นที่สามารถปรับปรุงให้ได้สัดส่วนและเป็นธรรมมากขึ้นได้ อย่างไรก็ตาม การแก้ไขกฎหมายในปัจจุบันกำลังเสนอให้แก้ไขจากโทษปรับแบบสัดส่วนตามขนาดเรือ เป็นอัตราคงที่เท่ากันทุกขนาดเรือ การแก้ไขดังกล่าวไม่ใช่ทางออกของการกำหนดบทลงโทษอย่างเป็นธรรม ซ้ำยังทำให้ผู้ประกอบการเรือขนาดเล็กต้องรับผลกระทบอย่างไม่ได้สัดส่วน
นอกจากนี้ ร่างแก้ไขกฎหมายหลายฉบับ รวมทั้งร่างของคณะรัฐมนตรีและพรรครวมไทยสร้างชาติ ยังเสนอตัดกรณีการทำประมง IUU ออกจากความผิดประเภทร้ายแรง ซึ่งรวมถึงกรณีทำประมงโดยฝ่าฝืนกฎเกณฑ์ของรัฐชายฝั่งหรือน่านน้ำสากลที่อยู่ภายใต้องค์การจัดการประมงของภูมิภาค (RFMO) และกรณีปลอมแปลง ปกปิด หรือเปลี่ยนแปลงเครื่องหมายหรือทะเบียนเรือ (มาตรา 114) ข้อเสนอเหล่านี้ย่อมสร้างความกังวลต่อประสิทธิภาพของกฎหมายและการบังคับใช้เพื่อป้องกันการทำประมง IUU
ที่ผ่านมา ประเทศไทยถือเป็นต้นแบบที่ดีของอุตสาหกรรมประมงที่ทันสมัยและมีระบบการติดตามที่ดีที่สุดประเทศหนึ่งในภูมิภาค การแก้ไขกฎหมายที่ดำเนินอยู่ในขณะนี้ถือเป็นการลดทอนความโปร่งใสในอุตสาหกรรมประมง และอาจทำให้ข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างไทยและสหภาพยุโรปที่ทางรัฐบาลกำลังผลักดันเพื่อเป้าหมายและประโยชน์สูงสุดของประชาชนทั้งประเทศต้องตกอยู่ในความเสี่ยง
อย่างไรก็ดีจะพบว่านอกเหนือไปจากการให้ความสำคัญแก่ตลาดสินค้าสหภาพยุโรปแล้ว ปัจจุบันตลาดสินค้าอาหารทะเลที่สำคัญอื่นๆ อาทิ อเมริกา ญี่ปุ่น หรือเกาหลีใต้ ต่างกำลังเพิ่มความเข้มข้นในการตรวจสอบว่าสินค้าอาหารทะเลที่นำเข้ามานั้นมีความปลอดภัย ยั่งยืน และเป็นธรรมในการผลิต ซึ่งประเทศไทยเองก็กำลังอยู่ในระหว่างการเจรจาความร่วมมือทางการค้าในลักษณะเดียวกันนี้กับสหภาพยุโรป สหราชอาณาจักรและตลาดชั้นนำอื่นๆ โดยประเทศไทยมีข้อได้เปรียบสำคัญคือชื่อเสียงด้านความยั่งยืนที่สั่งสมมาจากการปฏิรูปอุตสาหกรรมประมงที่ก้าวหน้าและได้รับการยอมรับจากนานาประเทศ
ประกอบกับผลผลิตการจับสัตว์น้ำที่กำลังฟื้นตัว ราคาอาหารทะเลที่กำลังเพิ่มสูงขึ้น การประมงพื้นบ้านที่มีความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น อันเนื่องจากกฎระเบียบและกลไกที่มีการติดตามตรวจสอบเรือขนาดใหญ่อย่างใกล้ชิดที่เป็นผลให้ประเทศไทยได้ก้าวขึ้นเป็นผู้นำโลกในด้านการผลิตอาหารทะเลอย่างมีความรับผิดชอบและมีการติดตามอย่างเป็นระบบ EJF กลุ่มประมงพื้นบ้าน ชุมชนชายฝั่ง องค์กรภาคประชาสังคม และผู้ผลิตอาหารทะเล ตลอดจนสาธารณชนจึงอยากฝากคำถามไปยังผู้ที่เกี่ยวข้องว่า ทำไมเราจึงต้องหันหลังกลับตอนนี้?