กระทรวงคมนาคมเริ่มให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) มีการศึกษาและพัฒนาระบบตั๋วร่วม มาตั้งแต่ปี 2555 พร้อมทั้งจัดทำ ร่าง พ.ร.บ.การบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม และได้มีการปรับปรุงมาแล้วหลายครั้ง จนกระทั่งวันที่ 3 ธ.ค. 2567 ครม.ได้มีมติอนุมัติร่าง พ.ร.บ.การบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม
ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 29 ม.ค. 2568 มีมติรับหลักการ รับหลักการร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม พ.ศ. …. ฉบับของคณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นหลักในการพิจารณา ด้วยคะแนนเสียง 226 ต่อ 142 เสียง งดออกเสียง 1 เสียง และไม่ลงคะแนนเสียง 2 เสียง
มนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ชี้ให้เห็นถึงผลของ พ.ร.บ. การบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม จะช่วยให้ประชาชนผู้ใช้บริการขนส่งสาธารณะ ทั้งรถไฟ รถไฟฟ้า รถเมล์ และเรือโดยสารมีต้นทุนในการเดินทางที่ลดลง และเพิ่มความสะดวกในการใช้งาน ด้วยการใช้บัตรโดยสารใบเดียว สามารถเดินทางได้ทุกระบบของการบริการขนส่งสาธารณะ ซึ่งจะทำให้ประชาชนเปลี่ยนพฤติกรรมจากใช้รถส่วนบุคคลมาเป็นขนส่งสาธารณะได้อยากสะดวก รวดเร็ว และมีราคาสมเหตุสมผล
พ.ร.บ.ตั๋วร่วมฯใช้กลางปี 68
กรอบการดำเนินแผนการขับเคลื่อนร่าง พ.ร.บ. การบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม พ.ศ. …. หลังจากนี้ จะเข้าสู่กระบวนการต่อด้านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร วาระที่ 2 และ 3 ก่อนที่มีการพิจารณาของวุฒิสภา โดยคาดว่าจะประกาศในราชกิจจานุเบกษา และมีผลบังคับใช้ในช่วงกลางปี 2568 พร้อมกับเตรียมร่างกฎหมายลำดับรอง รับฟังความเห็น และเสนอประกาศกฎหมายลำดับรองภายในเดือน ก.ย. 2568 เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายค่ารถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายครบทุกสี ทุกสาย ทุกเส้นทาง ผ่านการจัดตั้งกองทุนส่งเสริมระบบตั๋วร่วมต่อไป
พ.ร.บ.การบริหารจัดการระบบตั๋วร่วมฯมีหลักการสำคัญ 5 ประการ คือ
1. การจัดทำมาตรฐานทางเทคโนโลยีของระบบตั๋วร่วมเพื่อให้เป็นมาตรฐานกลาง โดยมีสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งการจราจาร (สนข.) และใช้เป็นมาตรฐานกลางสำหรับตั๋วร่วมในอนาคต
2. กำหนดอัตราโดยสารร่วม โดยอำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมในการออกกฎกระทรวง เพื่อกำหนดอัตราค่าโดยสารร่วม และเป็นการกำหนดให้หน่วยงานของรัฐจะต้องนำอัตราค่าโดยสารร่วมไปใช้บังคับในการทำสัญญาสัมปทานขนส่งสาธารณะในอนาคตด้วย
3. จัดตั้งกองทุนส่งเสริมระบบตั๋วร่วม เพื่อสนับสนุนในการดำเนินงาน การพัฒนา และการส่งเสริมเกี่ยวกับการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม รวมทั้งให้กู้ยืมแก่ภาคเอกชนที่ประกอบกิจการตั๋วร่วม
4. ผู้ประกอบการที่จะมีสิทธิ์ขอรับการสนับสนุนจากกองทุนส่งเสริมระบบตั๋วร่วม จะต้องเป็นผู้ที่ได้รับใบอนุญาตตามกฎหมายฉบับนี้
5. ในกรณีมีความจำเป็นให้ตราพระราชกฤษฎีกากำหนด (พ.ร.ก.) ให้มีการประกอบกิจการขนส่งสาธารณะใดเป็นกิจการที่ต้องใช้ระบบตั๋วร่วม และต้องได้ใบรับอนุญาตตามกฎหมายฉบับนี้ เพื่อรักษาการให้บริการระบบตั๋วร่วม หรือเพื่อเกิดประโยชน์สูงสุดในการส่งเสริมระบบตั๋วร่วมเพื่อป้องกันการเสียหายต่อสาธารณะ
จุดประสงค์ลดค่าเดินทางประชาชน
สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วมฯ ประกอบด้วย 7 หมวด และบทเฉพาะกาล (54 มาตรา) โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อลดค่าใช้จ่าย และอำนวยความสะดวกให้กับประชาชน พร้อมทั้งหันมาเดินทางโดยระบบขนส่งสาธารณะเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเป็นเป้าหมายหลักของรัฐบาล
ปัจจุบันการขนส่งผู้โดยสารในระบบขนส่งสาธารณะมีผู้ให้บริการหลายราย โดยผู้ให้บริการแต่ละรายมีต้นทุนในการจัดทำและบริหารจัดการระบบการจัดเก็บค่าโดยสารหรือค่าธรรมเนียมของตนเอง ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ต้นทุนในการให้บริการระบบขนส่งสาธารณะอยู่ในอัตราสูง และประชาชนผู้ใช้บริการต้องรับผิดชอบต้นทุนดังกล่าว ซึ่งนอกจากจะเป็นต้นทุน และภาระของประชาชนแล้ว ยังทำให้เกิดความไม่สะดวกในการใช้บริการขนส่งสาธารณะอีกด้วย
อีกทั้งยังเพื่ออำนวยความสะดวกและลดค่าใช้จ่ายแก่ประชาชนผู้ใช้บริการให้สามารถใช้บัตรโดยสารใบเดียวในการเดินทางได้ทุกระบบขนส่งสาธารณะ อันเป็นการสนับสนุนให้ประชาชนเปลี่ยนพฤติกรรมการเดินทางจากขนส่งส่วนบุคคล เป็นการเดินทางโดยระบบขนส่งสาธารณะ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามเป้าหมายของรัฐบาลได้อีกทางหนึ่ง รวมทั้งจะทำให้สามารถลดค่าโดยสารลงได้ ถือเป็นประโยชน์แก่ประชาชนผู้ใช้บริการ จึงควรกำหนดให้มีการบริหารจัดการร่วมกันในรูปแบบระบบตั๋วร่วม โดยการจัดตั้งกองทุนส่งเสริมระบบตั๋วร่วมสนับสนุนการดำเนินงาน การพัฒนา และการส่งเสริมเกี่ยวกับการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม
อ่านเนื้อหาที่เกี่ยวข้อง