ช่วงหาเสียง
นโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย หรือมาตรการอัตราค่าโดยสารสูงสุด 20 บาทตลอดสาย เป็นหนึ่งในนโยบายหาเสียงชูโรงของพรรคเพื่อไทย เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต โดยเน้นย้ำถึงเรื่องการใช้ชีวิตในกรุงเทพฯ จะต้องสะดวกและปลอดภัย บนเวทีปราศรัย ‘คิดใหญ่ ทำเป็น เพื่อคนกรุงเทพฯ’ เมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2566
ในรายละเอียดนโยบายหาเสียง ตามมาตรา 57 พ.ร.ป. ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 ต่อสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ของพรรคเพื่อไทย ระบุวงเงินที่ต้องใช้ 40,000 ล้านบาท + 8,000 ล้านบาทต่อปี (ใช้การบริหารงบประมาณปกติ) ที่มาจากการบริหารระบบงบประมาณ การบริหารระบบภาษี เงินกู้ และเงินนอกงบประมาณ
นโยบายรัฐบาล
แม้นโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย จะไม่ปรากฎในคำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีต่อรัฐสภา ในวันที่ 11 ก.ย. 2566 แต่ก็มีการชี้แจงจาก สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม ต่อรัฐสภา ในวันเดียวกัน ถึงนโยบายดังกล่าว โดยประกาศ
- เส้นทางการเดินรถของรัฐ ได้แก่ สายสีแดง และสายสีม่วง นำร่องผลักดันภายใน 3 เดือน
- เส้นทางอื่น ๆ ทุกเส้นทาง ภายใน 2 ปี
ครม. อนุมัติมาตรการอัตราค่าโดยสารสูงสุด 20 บาท ตลอดสาย สำหรับ
- รถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)
- สายนครวิถี (บางซื่อ – ตลิ่งชัน)
- สายธานีรัถยา (บางซื่อ – รังสิต)
- รถไฟฟ้ามหานคร (MRT) สายฉลองรัชธรรม (สายสีม่วง : เตาปูน – คลองบางไผ่) ของการไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)
- สามารถเชื่อมต่อระหว่างรถไฟฟ้าสายสีม่วง-แดง ได้ที่สถานีบางช่อน ภายในระยะเวลา 30 นาที โดยต้องใช้บัตรโดยสารใบเดียวกันหรือบัตร EMV Contactless เท่านั้น
มีผลจนถึงวันที่ 30 พ.ย. 2567
สถานการณ์ปัจจุบัน
- นโยบายอัตราค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสาย ตั้งแต่วันที่ 16 ตุลาคม 2566 – 14 มีนาคม 2567 (5 เดือน) ในภาพรวมทั้งสายสีแดง และสายสีม่วง พบว่า มีผู้โดยสารใช้บริการรวม 2 สาย เฉลี่ยวันละ 92,714 คน-เที่ยว เพิ่มขึ้น 17.94% จากเดิมก่อนมีมาตรการฯ ทั้ง 2 สายรวมกัน มีผู้โดยสารเฉลี่ยวันละ 78,611 คน-เที่ยว
- รถไฟชานเมืองสายสีแดง ทั้งสายกรุงเทพอภิวัฒน์ – ตลิ่งชัน และสายกรุงเทพอภิวัฒน์ – รังสิต มีผู้ใช้บริการเฉลี่ยวันละ 27,683 คน-เที่ยว เพิ่มขึ้นจากก่อนมีมาตรการฯ 27.97% ที่มีผู้โดยสารเฉลี่ยวันละ 21,632 คน-เที่ยว
- รถไฟฟ้ามหานคร สายสีม่วง ช่วงเตาปูน – คลองบางไผ่ พบว่า มีผู้ใช้บริการเฉลี่ยวันละ 65,179 คน-เที่ยว เพิ่มขึ้นจากก่อนมีมาตรการฯ 14.39% ที่มีผู้โดยสารเฉลี่ยวันละ 56,979 คน-เที่ยว
ผลกระทบ
- มนพร เจริญศรี รมช.คมนาคม เปิดเผยว่า รัฐบาลต้องใช้งบประมาณอุดหนุนส่วนต่างค่าโดยสารรถไฟฟ้าปีละประมาณ 130 ล้านบาท