คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. โดยเป็นมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ขนาดใหญ่ตามที่กระทรวงการคลัง เสนอ
ร่างพระราชกฤษฎีกาฯดังกล่าว เป็นการดำเนินการตามมติคณะกรรมการยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ โดยจะยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลสำหรับเงินได้เท่ากับรายจ่ายที่ได้จ่ายไป เพื่อการลงทุนในรถยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ขนาดใหญ่ (รถโดยสารไฟฟ้าและรถบรรทุกไฟฟ้า) ซึ่งได้จ่ายไปตั้งแต่วันที่ ครม. มีมติอนุมัติหลักการถึงวันที่ 31 ธ.ค. 2568 โดยให้หักเป็นค่าใช้จ่ายได้จำนวนร้อยละ 100 (2 เท่า) สำหรับรายจ่ายเพื่อการลงทุนในยานยนต์ไฟฟ้าดังกล่าวที่ผลิตหรือประกอบในประเทศไทย และหักเป็นค่าใช้จ่ายได้จำนวนร้อยละ 50 (1.5 เท่า) สำหรับรายจ่ายเพื่อการลงทุนในยานยนต์ไฟฟ้าดังกล่าวที่ประกอบสำเร็จรูปและนำเข้ามาทั้งคัน ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด
ทั้งนี้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่จะใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลดังกล่าวจะต้องจัดทำโครงการลงทุน แผนการจ่ายเงิน และรายละเอียดของยานยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ขนาดใหญ่และแจ้งต่ออธิบดีกรมสรรพากรตามหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และระยะเวลาตามที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด
นอกจากนี้ รถโดยสารไฟฟ้าหรือรถบรรทุกไฟฟ้าดังกล่าวต้องเป็นไปตามเงื่อนไขและคุณสมบัติ เช่น
- ต้องเป็นรถโดยสารไฟฟ้าที่สามารถขออนุญาตประกอบการขนส่งได้ในประเภทรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก (6 มาตรฐาน)
- ต้องเป็นรถบรรทุกไฟฟ้าที่สามารถขออนุญาตประกอบการขนส่งได้ในประเภทรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก (6 ลักษณะ)
- ต้องเป็นรถโดยสารไฟฟ้าหรือรถบรรทุกไฟฟ้าที่ไม่เคยผ่านการใช้งานมาก่อน เป็นต้น
มาตรการภาษีดังกล่าวจะทำให้เกิดการลงทุน การผลิตและการจ้างงาน ตลอดจนการพัฒนาฝีมือแรงงานในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องในประเทศเพิ่มขึ้น อันจะทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าของภูมิภาค นอกจากนี้ ยังเป็นการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ ซึ่งจะช่วยให้การปล่อยมลพิษจากยานยนต์เป็นศูนย์ในอนาคต
ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. มีรายละเอียดสรุปได้ ดังนี้
1. ผู้ที่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี คือ บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล
2. สิทธิประโยชน์ทางภาษี
ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับเงินได้เท่ากับรายจ่ายที่ได้จ่ายไป ตั้งแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2568 เพื่อการลงทุนในยานยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ขนาดใหญ่ แต่ไม่ใช่เป็นการซ่อมแซมให้คงสภาพเดิมตามมาตรา 65 ตรี (5) แห่งประมวลรัษฎากร ดังต่อไปนี้
- เป็นจำนวนร้อยละ 100 (2 เท่า) ของรายจ่ายตามจำนวนที่จ่ายจริงสำหรับรายจ่ายเพื่อการลงทุนในยานยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ขนาดใหญ่ที่ผลิตหรือประกอบในประเทศไทย
- เป็นจำนวนร้อยละ 50 (1.5 เท่า) ของรายจ่ายตามจำนวนที่จ่ายจริงสำหรับรายจ่ายเพื่อการลงทุนในยานยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ขนาดใหญ่ที่ประกอบสำเร็จรูปและนำเข้ามาทั้งคัน
ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด
บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่จะใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลดังกล่าวจะต้องจัดทำโครงการลงทุน แผนการจ่ายเงิน และรายละเอียดของยานยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ขนาดใหญ่และแจ้งต่ออธิบดีกรมสรรพากรตามหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และระยะเวลาตามที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด
กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลได้ใช้สิทธิไปแล้ว และต่อมาไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด หรือยานยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ขนาดใหญ่ไม่เข้าลักษณะตามเงื่อนไขและคุณสมบัติในรอบระยะเวลาบัญชีใด ให้สิทธิสิ้นสุดลง และบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นจะต้องนำเงินได้ที่ได้ใช้สิทธิไปแล้วไปรวมเป็นรายได้ในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในรอบระยะเวลาที่ได้ใช้สิทธินั้น เว้นแต่กรณีที่มีการขายยานยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ขนาดใหญ่นั้น หรือยานยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ขนาดใหญ่นั้นถูกทำลายหรือสูญหายหรือสิ้นสภาพ ให้สิทธิสิ้นสุดลงนับแต่รอบระยะเวลาบัญชีที่ได้ขาย หรือถูกทำลายหรือสูญหายหรือสิ้นสภาพ แล้วแต่กรณี โดยไม่ต้องนำเงินได้ที่ได้ใช้สิทธิไปแล้วไปรวมเป็นรายได้ในการคำนวณกำไรสุทธิอีก
3. เงื่อนไขและคุณสมบัติ เป็นรถโดยสารไฟฟ้าหรือรถบรรทุกไฟฟ้า ดังต่อไปนี้
- รถโดยสารไฟฟ้าต้องเป็นรถโดยสารที่สามารถขออนุญาตประกอบการขนส่งได้ในประเภทรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบกใน 6 มาตรฐาน ได้แก่ รถปรับอากาศพิเศษ (มาตรฐาน 1) รถปรับอากาศ (มาตรฐาน 2) รถที่ไม่มีเครื่องปรับอากาศ (มาตรฐาน 3) รถสองชั้น (มาตรฐาน 4) รถกึ่งพ่วง (มาตรฐาน 6) และรถโดยสารเฉพาะกิจ (มาตรฐาน 7) [ไม่รวมถึงรถพ่วง (มาตรฐาน 5) เนื่องจากไม่มีส่วนขับเคลื่อน]
- รถบรรทุกไฟฟ้าต้องเป็นรถบรรทุกที่สามารถขออนุญาตประกอบการขนส่งได้ในประเภทรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบกใน 6 ลักษณะ ได้แก่ รถกระบะบรรทุก (ลักษณะ 1) รถตู้บรรทุก (ลักษณะ 2) รถบรรทุกของเหลว (ลักษณะ 3) รถบรรทุกวัสดุอันตราย (ลักษณะ 4) รถบรรทุกเฉพาะกิจ (ลักษณะ 5) และรถลากจูง (ลักษณะ 9) [ไม่รวมถึงรถพ่วง (ลักษณะ 6) รถกึ่งพวง (ลักษณะ 7) และรถกึ่งพ่วงบรรทุกวัสดุยาว (ลักษณะ 8) เนื่องจากไม่มีส่วนขับเคลื่อน]
- เป็นรถที่ไม่เคยผ่านการใช้งานมาก่อน
- เป็นรถที่นำมาหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สินได้ตามมาตรา 65 ทวิ (2) แห่งประมวลรัษฎากร โดยต้องได้มาและอยู่ในสภาพพร้อมใช้งานตามประสงค์ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2568
- ไม่เป็นรถที่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่เกี่ยวกับทรัพย์สินนั้นตามพระราชกฤษฎีกาอื่นที่ออกตามความในประมวลรัษฎากร ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน
- ไม่เป็นรถที่นำไปใช้ในกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน กฎหมายว่าด้วยการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย หรือกฎหมายว่าด้วยเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน
4. วันบังคับใช้ วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
ประมาณการการสูญเสียรายได้และประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับตามมาตรา 27 และมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 แล้ว โดย สกท. คาดการณ์ว่าจะมีการขอใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีในส่วนรถโดยสาร 6,000 คันและในส่วนรถบรรทุก 4,000 คัน รวม 10,000 คัน ซึ่งจะทำให้สูญเสียรายได้ภาษีเงินได้นิติบุคคลประมาณ 10,600 ล้านบาท
ทั้งนี้ มาตรการภาษีดังกล่าวจะทำให้เกิดการลงทุนการผลิตและการจ้างงาน ตลอดจนการพัฒนาฝีมือแรงงานในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องในประเทศเพิ่มขึ้น อันจะทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าของภูมิภาค นอกจากนี้ ยังเป็นการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ ซึ่งจะช่วยให้การปล่อยมลพิษจากยานยนต์เป็นศูนย์ในอนาคต
เนื้อหาที่เกี่ยวของ:
EV เขย่าตลาดยานยนต์ไทย สะเทือนทั้งรถใหม่-รถมือสอง