นโยบายหาเสียงของพรรคเพื่อไทย
ช่วงหาเสียงเลือกตั้ง พรรคเพื่อไทยได้ประกาศนโยบายเพิ่มรายได้ภาคแรงงานและการจ้างงาน ได้แก่
1. ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 600 บาทต่อวัน ภายในปี 2570 และประกาศเพิ่มเติมว่าจะให้ค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทตั้งแต่ปีแรก
- นโยบายนี้ไม่ได้ใช้แรงงานเป็นตัวประกัน แต่จะทำให้เศรษฐกิจโตขึ้น และแบ่งผลกำไรเหล่านี้กลับไปให้ภาคแรงงาน โดยการตกลงร่วมกันของไตรภาคี (นายจ้าง ลูกจ้าง และรัฐ) ตามหลัก “ทุนนิยมที่มีหัวใจ”
- หลักการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำจะพิจารณาจาก 3 ส่วนด้วยกัน ได้แก่ การเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ผลิตภาพแรงงาน (Productivity) และอัตราเงินเฟ้อ (Inflation)
2. ขึ้นเงินเดือนคนจบปริญญาตรีและข้าราชการ เริ่มต้นที่ 25,000 บาทต่อเดือน ภายในปี พ.ศ. 2570
สถานการณ์ล่าสุด
สถานการณ์การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำและเงินเดือนล่าสุดของรัฐบาล (วันที่ 12 ธ.ค. 2566) ได้แก่
1. การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ
- วันที่ 8 ธ.ค. 2566 คณะกรรมการค่าจ้างขั้นต่ำ (คณะกรรมการไตรภาคี) มีมติเห็นชอบให้ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มในอัตราวันละ 2 – 16 บาท เป็นอัตราเฉลี่ย 2.37%
- โดยขึ้นมากที่สุดคือ ภูเก็ต ปรับเป็น 370 บาท และต่ำสุด 330 บาท ใน 3 จังหวัด คือ นราธิวาส ปัตตานี และยะลา
- วันที่ 12 ธ.ค. 2566 ที่ประชุมครม. มีมติรับทราบมติคณะกรรมการค่าจ้างขั้นต่ำที่เห็นชอบการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ปี 2567 แต่เพื่อให้เกิดความเหมาะสมกับสถานการณ์มากขึ้น กระทรวงแรงงานจึงขอเสนอกลับไปพิจารณารายละเอียดเพิ่มเติมอีกครั้ง คาดว่าจะทันประกาศบังคับใช้ในปี 2567
2. เงินเดือนขั้นต่ำ
- ปัจจุบันมีการปรับอัตราเงินเดือนเฉพาะกลุ่มข้าราชการพลเรือนและเจ้าหน้าที่ของรัฐเท่านั้น
- มติ ครม. เมื่อวันที่ 28 พ.ย. 2566 เห็นชอบในหลักการการปรับอัตราเงินเดือนแรกบรรจุและการปรับเงินเดือนชดเชยผู้ได้รับผลกระทบ การปรับเงินเพิ่มการครองชีพชั่วคราว และแนวทางในการปรับปรุงประสิทธิภาพของระบบราชการ ตามรายงานผลการศึกษาฯ ตามที่สำนักงาน ก.พ. นำเสนอ
2.1 การปรับอัตราเงินเดือนแรกบรรจุและการปรับเงินเดือนชดเชยผู้ได้รับผลกระทบ
- ปรับอัตราเงินเดือนแรกบรรจุทุกคุณวุฒิให้แตกต่างกันตามระดับคุณวุฒิการศึกษา โดยผู้ที่ปฏิบัติงานในตำแหน่งที่ใช้คุณวุฒิระดับปริญญาตรีจะมีเงินเดือนไม่น้อยกว่า 18,000 บาท และผู้ที่ปฏิบัติงานในตำแหน่งที่ใช้คุณวุฒิระดับ ปวช. จะมีเงินเดือนไม่น้อยกว่า 11,000 บาท ภายใน 2 ปี และปรับอัตราเงินเดือนของคุณวุฒิอื่นๆ ให้สอดคล้องกัน รวมทั้งปรับเงินเดือนชดเชยผู้ได้รับผลกระทบจากการปรับอัตราเงินเดือนแรกบรรจุดังกล่าวภายในช่วงระยะเวลาเดียวกันด้วย
- มีผลใช้บังคับ : ปีที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2567 และปีที่ 2 ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2568
- คาดว่าจะใช้งบประมาณในปีที่ 1 (12 เดือน) จำนวน 7,200 ล้านบาท และปีที่ 2 (12 เดือน) จำนวน 8,800 ล้านบาท
2.2 การปรับเงินเพิ่มการครองชีพชั่วคราว
- ปรับเพดานเงินเดือนขั้นสูงที่มีสิทธิได้รับเงินเพิ่มการครองชีพชั่วคราว จากเดิม เงินเดือนไม่ถึงเดือนละ 13,285 บาท เป็น เงินเดือนไม่ถึงเดือนละ 14,600 บาท
- ปรับเพดานชั้นต่ำของเงินเดือนรวมกับเงินเพิ่มการครองชีพชั่วคราว จากเดิม เดือนละ 10,000 บาท เป็น เดือนละ 11,000 บาท
- ปรับเงินเพิ่มการครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญขั้นต่ำ จากเดิม 10,000 บาท เป็น 11,000 บาท
- คาดว่าจะใช้งบประมาณเพิ่มขึ้นไม่เกิน 3,000 ล้านบาทต่อปี