ในที่สุดความหวังที่คนกรุงเทพจะได้ใช้รถไฟฟ้าราคาเดียว 20 บาทตลอดสาย ทุกเส้นทางกำลังจะเป็นจริง ในอีกไม่เกิน 5 เดือน ตามที่รัฐบาลประกาศไว้ จะเริ่มดำเนินการภายใน 30 ก.ย. 68
รัฐบาล สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คมนาคม ออกมายืนยันความคืบหน้านโยบายค่าโดยสารรถไฟฟ้าสูงสุด 20 บาทตลอดสายเชื่อมต่อ 8 สายทาง สามารถใช้ได้จริงใน 30 ก.ย.68 แต่ผู้โดยสารที่ใช้สิทธิ์ต้องลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชัน “ทางรัฐ” เพื่อยืนยันตัวตน โดยเปิดให้การลงทะเบียนใน แอปพลิเคชัน “ทางรัฐ” ซึ่งจะเปิดให้ลงทะเบียนภายในส.ค. 68 มีขั้นตอนดังนี้
- กรอกหมายเลขบัตรประชาชน
- กรอกตัวเลขข้อมูลบัตรที่จะใช้ชำระค่าโดยสาร
สำหรับบัตรผู้โดยสารรถไฟฟ้าแบ่งเป็น 3 ประเภท
- บัตรแรบบิท ใช้กับรถไฟฟ้า 4 สาย คือ สีเขียว สีทอง สีชมพู สีเหลือง
- บัตร MRT Plus ใช้กับรถไฟฟ้า 2 สาย คือ สีน้ำเงิน สีม่วง
- บัตร Europay Mastercard and Visa (EMV) Contactless Card ใช้กับรถไฟฟ้า 6 สาย ได้แก่ สีแดง, สีน้ำเงิน, สีม่วง, สีชมพู, สีเหลือง ส่วนรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ (ARL) รับเฉพาะบัตร ARL
อย่างไรก็ตาม เมื่อลงทะเบียนผ่านแอป”ทางรัฐ”แล้ว ในปีแรก ยังไม่สามารถใช้บัตรข้ามสายกันได้ โดยยังใช้บัตรเดิมของแต่ละสาย แต่ค่าโดยสารตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทางที่มีการเดินทางข้ามสายจะสูงสุดไม่เกิน 20 บาท โดยผ่านแอป”ทางรัฐ”เพื่อใช้ระบบเคลียร์ริ่งเฮ้าส์
ส่วนในระยะที่ 2 จะเปลี่ยนมาใช้ระบบสแกนชำระค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายผ่านช่องทาง QR Code บนโทรศัพท์มือถือโดยคาดว่าจะสามารถเริ่มดำเนินการได้ภายในปี 2569
สำหรับสาเหตุที่ต้องลงทะเบียนผ่าน แอปพลิเคชัน “ทางรัฐ” เพื่อให้เชื่อมโยงกับระบบกลางสำหรับบริหารจัดการรายได้ โดยปัจจุบันสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) (สพร.) หรือ DGA กำลังพัฒนาระบบศูนย์บริหารจัดการรายได้กลาง (Central Clearing House : CCH) และทดสอบการเชื่อมต่อข้อมูลกับผู้ให้บริการแก่ผู้รับบัตรโดยสารเพื่อให้เชื่อมค่าโดยสารทุกรถไฟฟ้าทุกสายได้
ตั้งกองทุนตั๋วร่วม ชดเชยรายได้เอกชน
สำหรับการชดเชยรายได้ให้เอกชนผู้ประกอบการ ในการดำเนินการรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย รัฐต้องใช้ประมาณปีละ 8,000 ล้านบาท โดยจะนำเงินรายได้จากโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน หรือกองทุนการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ที่ในปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 16,000 ล้านบาทมาชดเชยรายได้ผ่านกองทุนส่งเสริมระบบตั๋วร่วม ซึ่งจะจัดตั้งขึ้นนภายใต้ ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม พ.ศ. ? โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งคาดว่าจะประกาศใช้ภายในเดือนก.ย.68
นอกจากนี้รฟม.ยังอยู่ระหว่างการเจรจากับเอกชนผู้รับสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน สายสีเหลืองและสีชมพู เพื่อแก้ไขสัญญากรณีที่จะจัดเก็บค่าโดยสารสูงสุด 20 บาท และรัฐชดเชยส่วนต่างรายได้ และในระยะต่อไป รัฐบาลมีแนวทางในการซื้อคืนสัมปทานจากผู้ประกอบการรถไฟฟ้า โดยคาดว่าจะดำเนินการเรื่องซื้อคืนได้ภายใน 2 ปี
รถไฟฟ้า 20 บาทดันผู้โดยสาร“ม่วง-แดง”เพิ่มขึ้น
ที่ผ่านมารัฐบาลได้เริ่มดำเนินการตามนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย กับรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง และรถไฟฟ้าสายสีม่วง โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่ 16 ต.ค. 66 ถึง 30 พ.ย. 66 และมีมติให้ขยายการดำเนินการ ตั้งแต่ 16 ต.ค.66 – 30 พ.ย. 68
ผลการดำเนินล่าสุดจากการรายงานของกรมการขนส่งทางราง กระทรวงคมนาคม พบว่าการดำเนินการตามมาตรการรถไฟฟ้า 20 บาท ในเดือนก.พ.68 รถไฟฟ้าสายสีแดง และ รถไฟฟ้าสีม่วง มีผู้โดยสารเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับก่อนดำเนินมาตรการช่วงเดียวกันดังนี้
- ผู้โดยสารรถไฟฟ้าทั้ง 2 สาย เพิ่มขึ้น โดยจำนวนผู้โดยสารสายสีแดง เพิ่มขึ้น 30.91% และปริมาณผู้โดยสารสายสีม่วง เพิ่มขึ้น 1.55%
- รายได้ของรถไฟฟ้าทั้ง 2 สาย พบว่ารถไฟชานเมืองสายสีแดงมีรายได้เพิ่มขึ้น โดยก่อนดำเนินการ 83.59 ล้านบาท หลังดำเนินการรถไฟชานเมืองสายสีแดงแล้วรายได้เพิ่มขึ้นจากเดิม 15.16 ล้านบาท ขณะที่สายสีม่วงก่อนดำเนินการมีรายได้ 148.75 ล้านบาท เมื่อดำเนินมาตรการแล้วรายได้ลดลงจากเดิม 0.52 ล้านบาท/วัน
จากแนวโน้มปริมาณผู้โดยสารที่ตอบรับนโยบายค่ารถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายเพิ่มขึ้นถือเป็นสัญญาณที่ดี ช่วยให้รัฐบาลลดค่าชดเชยรายได้ให้กับเอกชนได้