รัฐบาลประกาศนโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำภาย 600 บาท / วัน ภายในปี 2570 ทั้งในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง จนกลายนโยบายต่อรัฐสภา แม้มีเงื่อนไขว่า ถ้าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ประเทศโตเฉลี่ย 5 % ต่อปี แต่ผ่านมาเกือบ 3 ปี ค่าแรงขั้นต่ำปี 68 ปรับขึ้นมาอยู่ที่อัตรา 354 – 400 บาทตามสภาพเศรษฐกิจของแต่ละจังหวัด
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง: ค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาท “ไม่ทั่วประเทศ” แค่ 4 จังหวัด 1 อำเภอ
การค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาทดูจะไกลเกินความหวังของแรงงานไทย เพราะเส้นทางการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำไม่ได้ง่ายอย่างที่รัฐบาลประกาศเอาไว้ในช่วงหาเสียง หรือ กระทั่งมาคุมบังเหียนเป็นรัฐบาลเอง โดยเฉพาะการผลักดันในเรื่องนี้ของรัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่ดูจะแผ่วเบา แตกต่างจากช่วงของ รัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน ที่ออกแรงกดดันเพื่อขยับค่าแรง แต่ก็ไปไม่ถึงฝั่ง
“ค่าจ้างขั้นต่ำ” รัฐบาลถอยหรือไปต่อ
รัฐบาลจะถอยหรือไปต่อกับการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 600 บาท เพราะหากประมวลท่าทีของรัฐบาลเพื่อไทยในการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ตั้งแต่รัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน พบว่าเป็นความพยายามในการปรับขึ้นค่าจ้างที่ยากกว่าที่คิด
นับตั้งแต่วันที่ 12 ก.ย. 2566 นายเศรษฐา ได้ประกาศที่สภาผู้แทนราษฎรว่า “มีการเจรจาทั้ง 3 ฝ่าย ระหว่างแรงงาน ผู้ว่าจ้าง และรัฐบาล เพื่อปรับค่าแรงขั้นต่ำให้ในระดับเหมาะสม โดยมีเป้าหมายที่ 400 บาท โดยเร็วที่สุด”
จากนั้น “รัฐบาล”เศรษฐาได้ส่งสัญญาณกดดันการปรับขึ้นค่าจ้างไปยัง กระทรวงแรงงานอย่างต่อเนื่อง โดยให้ศึกษาความเป็นไปได้และนำผลการศึกษามาเสนอให้กับคณะรัฐมนตรีภายใน 3 สัปดาห์
แต่ดูเหมือนว่าสัญญาณของรัฐบาล ไม่สามารถกดดันคณะกรรมการไตรภาคี ซึ่งประกอบด้วยตัวแทน 15 คน มีทั้งตัวแทนฝ่ายลูกจ้าง ตัวแทนฝ่ายนายจ้าง และตัวแทนฝ่ายรัฐบาล ตามข้อกำหนดในกฎหมายคุ้มครองแรงงานฉบับปี พ.ศ. 2541 โดยเสียงของฝ่ายนายจ้างและลูกจ้างเป็นเสียงเดียวกัน ได้ จนทำให้มติคณะกรรมการไตรภาคี วันที่ 8 ธ.ค 66 ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำประจำปี 67 ออกมาว่าควรอยู่ในอัตรา 2-16 บาทแล้วแต่จังหวัด ซึ่งไปไม่ถึง 400 บาทตามที่รัฐบาลประกาศไว้ในสภาฯ
หลังคณะกรรมการค่าจ้าง มีมติทำให้นายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน ออกมาให้สัมภาษณ์อย่างขึงขลัง “ค่าแรงต้องแฟร์กว่านี้” และขอให้คณะกรรมการไตรภาคีทบทวนมติที่ออกมาเมื่อวันที่ 8 ธ.ค. อีกครั้ง
อำนาจของรัฐบาลไม่สามารถกดดัน คณะกรรมการไตรภาคีได้ ที่มีการประชุมอีกครั้งในวันที่ 20 ธ.ค 66 คณะกรรมการค่าจ้างยังคงมีมติ ‘เอกฉันท์’ ยืนยันว่าจะขอยึดตามมติเดิมเมื่อวันที่ 8 ธ.ค.66 ที่เสนอให้เพิ่มค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศ โดยปรับขึ้น 2-16 บาทแล้วแต่จังหวัด
ขณะที่รัฐบาลแพทองธาร ซึ่งมีท่าทีในการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำแตกต่างออกไป เพราะมีท่าทีโอนอ่อนไปตามมติคณะกรรมการไตรภาคี หลังการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำปี 68 มีผลบังคับใช้เมื่อ 1 ม.ค 68 ที่ผ่านมา ให้ปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มเป็นวันละ 7-55 บาท (เฉลี่ย 2.9%) แบ่งเป็น 17 อัตรา ซึ่งพิจารณาจากค่าครองชีพและโครงสร้างทางเศรษฐกิจเป็นสำคัญ โดยมีอัตราสูงสุดคือวันละ 400 บาท และอัตราต่ำสุดคือวันละ 337 บาท
แม้การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำตามมติคณะกรรมการค่าจ้างจะไม่ถึงเป้าหมายตามนโยบายรัฐบาลที่ประกาศไว้ แต่ “แพทองธาร” นายกรัฐมนตรีไม่ได้มีเสียง หรือแรงกดดันไปยังคณะกรรมการค่าจ้างแตกต่างจากในช่วงรัฐบาลเศรษฐา รวมไปถึงไม่มีความชัดเจนว่า ปี 69 จะมีการปรับขึ้นค่าจ้างหรือไม่
เกือบ 3 ปีที่เส้นทางการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำของรัฐบาลเพื่อไทยดูจะไม่ถึงฝั่ง ขณะที่ความหวังการปรับขึ้นค่าจ้างในวันที่ 1 พ.ค หรือวันแรงงานแห่งชาติ คงดับฝันแรงงานไทยทั่วประเทศ
12 ปี ค่าแรงปรับไม่ทันค่าครองชีพ
หากย้อนการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในช่วง 12 ปีที่ผ่านมา พบว่าอัตราค่าแรงกลับปรับขึ้นแต่ละปีไม่มาก น้อยนิดเมื่อเทียบกับค่าครองชีพที่ปรับขึ้นแบบก้าวกระโดด จะเห็นจากราคาสินค้า ค่าอาหาร ก๋วยเตี๋ยว ข้าวแกงจานละ 35-50 บาทขึ้นไป
นับจากปี 56 รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่มีการปรับขึ้นค่าแรงทั่วประเทศ 300 บาท จากนั้นการปรับขึ้นค่าจ้างก็ไม่เท่ากันทั่วประเทศหากปรับตามฐานเศรษฐกิจของแต่ละจังหวัด
ปี 60 ปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 4 อัตรา ประกอบด้วย 300 บาท, 305 บาท, 308 บาท และ 310 บาท
- ค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท มี 8 จังหวัด สิงห์บุรี, อ่างทอง, ชุมพร, ตรัง, นครศรีธรรมราช,นราธิวาส, ปัตตานี, ระนอง
- ค่าแรงขั้นต่ำ 305 บาท มี 49 จังหวัด กาญจนบุรี, กาฬสินธุ์, กำแพงเพชร, จันทบุรี, ชัยนาท, ชัยภูมิ, เชียงราย, ตราด, ตาก, นครนายก, นครพนม, นครสวรรค์, น่าน, บึงกาฬ, บุรีรัมย์, ประจวบคีรีขันธ์, พะเยา,พัทลุง, พิจิตร, พิษณุโลก, เพชรบุรี, เพชรบูรณ์, แพร่, มหาสารคาม, มุกดาหาร, แม่ฮ่องสอน, ยโสธร, ร้อยเอ็ด, ราชบุรี, ลพบุรี, ลำปาง, ลำพูน, เลย, ศรีสะเกษ, สกลนคร, สตูล, สมุทรสงคราม, สระแก้ว, สุโขทัย, สุพรรณบุรี, สุรินทร์, หนองคาย, หนองบัวลำภู, อ่างทอง, อำนาจเจริญ, อุดรธานี, อุตรดิตถ์, อุทัยธานี และอุบลราชธานี
- ค่าแรงขั้นต่ำ 308 บาท มี 13 จังหวัด กระบี่, ขอนแก่น, ฉะเชิงเทรา, ชลบุรี, เชียงใหม่, นครราชสีมา, ปราจีนบุรี, พระนครศรีอยุธยา, พังงา, ระยอง, สงขลา, สระบุรี และสุราษฎร์ธานี
- ค่าแรงขั้นต่ำ 310 บาท มี 7 จังหวัด กรุงเทพฯ, นนทบุรี, ปทุมธานี, นครปฐม, สมุทรสาคร, สมุทรปราการ และภูเก็ต.
ปี 61 ปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 7 ระดับ ตั้งแต่ 308 บาท, 310 บาท, 315 บาท, 318 บาท , 320 บาท, 325 บาท และ 330 บาท
- ค่าแรงขั้นต่ำที่ต่ำที่สุด คือ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้อยู่ที่ 308 บาท/วัน ส่วนค่าแรงขั้นต่ำสูงที่สุดมี 3 จังหวัด ได้แก่ ภูเก็ต ชลบุรี และระยอง อยู่ที่ 330 บาท/วัน ขณะที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ค่าแรงขั้นต่ำอยู่ที่ 325 บาท/วัน นับเป็นครั้งแรกที่อัตราค่าแรงของ 3 จังหวัดติดทะเลแซงหน้า กทม.และปริมณฑล
ปี 63 ปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ ชลบุรี และภูเก็ต เป็น 336 บาท/วัน ระยองที่มีค่าแรงขั้นต่ำ 335 บาท/ วัน ขณะที่ กทม.และปริมณฑลอยู่ที่ 331 บาท/วัน.
ปี 65 ค่าแรงขั้นต่ำครั้งสุดท้ายมีผลบังคับใช้วันที่ 1 ตุลาคม 2565 ปรับขึ้น 9 อัตรา ประกอบด้วย
- ค่าแรงขั้นต่ำ 328 บาท มี 5 จังหวัด ได้แก่ นราธิวาส, น่าน, ยะลา, ปัตตานี และอุดรธานี
- ค่าแรงขั้นต่ำ 332 บาท มี 22 จังหวัด ได้แก่ กำแพงเพชร, ชัยภูมิ, ชุมพร, เชียงราย, ตรัง, ตาก, พิจิตร, นครศรีธรรมราช, แพร่, มหาสารคาม, แม่ฮ่องสอน, ระนอง, ราชบุรี, ลำปาง, ลำพูน, ศรีสะเกษ, สตูล, สิงห์บุรี, สุโขทัย หนองบัวลำภู, อำนาจเจริญ และอุทัยธานี
- ค่าแรงขั้นต่ำ 335 บาท มี 19 จังหวัด ได้แก่ กาญจนบุรี, ชัยนาท, นครพนม, นครสวรรค์, บึงกาฬ, บุรีรัมย์, ประจวบคีรีขันธ์, พะเยา, พัทลุง, เพชรบุรี, พิษณุโลก, เพชรบูรณ์, ยโสธร, ร้อยเอ็ด, เลย, สระแก้ว, สุรินทร์ อ่างทอง และอุตรดิตถ์
- ค่าแรงขั้นต่ำ 338 บาท มี 6 จังหวัด ได้แก่ กาฬสินธุ์, จันทบุรี, นครนายก, มุกดาหาร, สกลนคร และสมุทรสงคราม
- ค่าแรงขั้นต่ำ 340 บาท มี 14 จังหวัด ได้แก่ กระบี่, ขอนแก่น, เชียงใหม่, ตราด, นครราชสีมา, ปราจีนบุรี, พังงา, ลพบุรี, สงขลา, สระบุรี, สุพรรณบุรี, สุราษฎร์ธานี, หนองคาย, และอุบลราชธานี ค่าแรงขั้นต่ำ 343 บาท มี 1 จังหวัด คือ พระนครศรีอยุธยา
- ค่าแรงขั้นต่ำ 345 บาท มี 1 จังหวัด คือ ฉะเชิงเทรา
- ค่าแรงขั้นต่ำ 353 บาท มี 6 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร, นนทบุรี, นครปฐม, ปทุมธานี, สมุทรปราการ และสมุทรสาคร
- ค่าแรงขั้นต่ำ 354 บาท มี 3 จังหวัด ได้แก่ ชลบุรี ระยอง และภูเก็ต.
ปี 67 มีอัตราค่าแรงขั้นต่ำอยู่ที่ 330 บาท/วัน มาจนถึง 370 บาท โดยแบ่งเป็นอัตราค่าแรงที่แตกต่างกันถึง 17 อัตรา ดังนี้
- ค่าแรงขั้นต่ำ 330 บาท มี 3 จังหวัด ได้แก่ นราธิวาส, ปัตตานี และยะลา ,ค่าแรงขั้นต่ำ 338 บาท มี 4 จังหวัด ได้แก่ ตรัง, แพร่, น่าน และพะเยา ,ค่าแรงขั้นต่ำ 340 บาท มี 16 จังหวัด ได้แก่ อุดรธานี, ระนอง, สตูล, หนองบัวลำภู, มหาสารคาม, ศรีสะเกษ, อำนาจเจริญ, แม่ฮ่องสอน, ลำปาง, สุโขทัย, กำแพงเพชร, พิจิตร, อุทัยธานี, ราชบุรี, เลย และอุตรดิตถ์ ,ค่าแรงขั้นต่ำ 341 บาท มี 5 จังหวัด ได้แก่ สิงห์บุรี, ชัยภูมิ, ชัยนาท, พัทลุง และอ่างทอง
- ค่าแรงขั้นต่ำ 342 บาท มี 5 จังหวัด ได้แก่ นครศรีธรรมราช, บึงกาฬ, ร้อยเอ็ด, เพชรบูรณ์ และกาฬสินธุ์ ,ค่าแรงขั้นต่ำ 343 บาท มี 3 จังหวัด ได้แก่ ลำพูน, ยโสธร และนครสวรรค์ ,ค่าแรงขั้นต่ำ 344 บาท มี 3 จังหวัด ได้แก่ ชุมพร, เพชรบุรี และสุรินทร์
- ค่าแรงขั้นต่ำ 345 บาท มี 15 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย, ตาก, กาญจนบุรี, ประจวบคีรีขันธ์, สระแก้ว, นครพนม, บุรีรัมย์, พิษณุโลก, จันทบุรี, มุกดาหาร, สกลนคร, สุราษฎร์ธานี, สงขลา และอุบลราชธานีค่าแรงขั้นต่ำ 347 บาท มี 2 จังหวัด ได้แก่ กระบี่ และตราด
- ค่าแรงขั้นต่ำ 348 บาท มี 3 จังหวัด ได้แก่ สุพรรณบุรี, หนองคาย และนครนายก ,ค่าแรงขั้นต่ำ 349 บาท มี 1 จังหวัด ได้แก่ ลพบุรี ค่าแรงขั้นต่ำ 350 บาท มี 6 จังหวัด ได้แก่พระนครศรีอยุธยา, สระบุรี, ปราจีนบุรี, ขอนแก่น, เชียงใหม่ และฉะเชิงเทรา
- ค่าแรงขั้นต่ำ 351 บาท มี 1 จังหวัด ได้แก่ สมุทรสงคราม ,ค่าแรงขั้นต่ำ 352 บาท มี 1 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา ,ค่าแรงขั้นต่ำ 361 บาท มี 2 จังหวัด ได้แก่ ชลบุรี และระยอง ฃ
- ค่าแรงขั้นต่ำ 363 บาท มี 6 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร, นครปฐม, นนทบุรี, ปทุมธานี, สมุทรปราการ และสมุทรสาคร และค่าแรงขั้นต่ำ 370 บาท มี 1 จังหวัด ได้แก่ ภูเก็ต
ปี 68 มีผลบังคับใช้เมื่อ 1 ม.ค 68 ที่ผ่านมา ให้ปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มเป็นวันละ 7-55 บาท ซึ่งพิจารณาจากค่าครองชีพและโครงสร้างทางเศรษฐกิจเป็นสำคัญ โดยมีอัตราสูงสุดคือวันละ 400 บาท และอัตราต่ำสุดคือวันละ 337 บาท
- ค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 400 บาท ใน 4 จังหวัด และ 1 อำเภอ ได้แก่ จังหวัดภูเก็ต, ฉะเชิงเทรา, ชลบุรี, ระยอง และอำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี
- ค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 380 บาท ในอำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ และอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา
- ค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 372 บาท ในเขตท้องที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล รวม 6 จังหวัด (เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.5)
- ค่าจ้างขั้นต่ำ 67 จังหวัดที่เหลือ ให้ปรับค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มขึ้นร้อยละ 2
ปรับขึ้นค่าจ้าง 600 บาทไปไม่ถึงฝัน
กฤษฎา ธีระโกศลพงศ์ อาจารย์ประจำคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ระบุว่า ค่าจ้าง 600 บาทอาจจะไปไม่ถึงฝันเพราะค่าจ้างขั้นต่ำไม่ใช่ประเด็นทางเศรษฐกิจอย่างเดียว แต่การปรับค่าจ้างมีมติการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง โดยจะเห็นได้จากการประชุมคณะกรรมการไตรภาคีฝ่ายรัฐและฝ่ายนายจ้างเกือบจะเป็นเสียงเดียวกัน
ขณะที่ฝ่ายลูกจ้างที่เป็นตัวแทนลูกจ้างเองบางครั้งไม่ได้ปกป้องผลประโยชน์กับลูกจ้าง แต่กลับไปเห็นใจนายจ้าง ขณะที่มีเหตุผลจำนวมากที่ไม่สามารถปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำได้ ทั้ง ผลกระทบเศรษฐกิจและผลกระทบจากสงครามการค้า
“ผมคิดว่าปัญหากลไกไตรภาคีที่ทำงานผ่านระบบผู้แทนไม่เหมาะสม ไม่สามารถเป็นปากเป็นเสียงให้กับลูกจ้างได้อย่างแท้จริงเราอาจต้องหากลไกอื่นเพื่อเป็นตัวแทนในการเจรจาเพื่อปกป้องผลประโยชน์ให้เกิดการจ้างที่เป็นธรรม”
กฤษฎา กล่าวว่า ถ้าให้ประเมิน การปรับขึ้นค่าจ้าง 600 บาท ของรัฐบาลคงไปไม่ถึง เพราะหากพิจารณาเวลาที่เหลืออยู่ไม่ถึง 2 ปี กับการปรับเพิ่ม GDP 5 % ที่รัฐบาลประกาศไว้ อัตราการเติบโต คงไม่ทันแล้ว และธนาคารแห่งประเทศออกมาประเมิน GDP ปี 68 โตแค่ 1.3 %เพราะฉะนั้นการปรับค่าจ้าง 600 บาทคงจะเป็นไปไม่ได้แล้ว ขณะที่ขบวนการแรงงานก็ไม่แข็งแรงในการเรียกร้องค่าแรงก็ไม่มีพลังพอที่จะกดดันให้เกิดขึ้น
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง:
คนไทย 40 ล้านเป็น”ผู้มีงานทำ” ทำอะไรและอยู่ที่ไหน