คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet หรือ ดิจิทัลวอลเล็ต
กระทรวงการคลัง ได้รายงานการรวบรวมข้อมูล ความเห็น ข้อเท็จจริงและข้อเสนอแนะของหน่วยงานต่าง ๆ โดยคณะทำงานรวบรวมข้อมูล ความเห็น ข้อเท็จจริงและข้อเสนอแนะของทุกภาคส่วน
ทั้งนี้ ครม.เห็นชอบในหลักการกรอบหลักการโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet (โครงการฯ) และหน่วยงานตามที่คณะกรรมการนโยบายฯ มอบหมาย โดยให้ดำเนินการ ดังนี้
- มอบหมายให้สำนักงบประมาณ (สงป.) กระทรวงการคลัง และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับแหล่งเงินการดำเนินโครงการฯ
- มอบหมายคณะอนุกรรมการกำกับการดำเนินโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet (คณะอนุกรรมการกำกับการดำเนินโครงการฯ) ที่จะจัดตั้งขึ้นร่วมกับ กค. กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) (สพร.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประชาสัมพันธ์และสร้างความรู้ความเข้าใจให้ประชาชนรับทราบละเอียดโครงการฯ การลงทะเบียนโครงการฯ และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
- ในการดำเนินโครงการฯ ควรมุ่งเน้นการกำกับดูแลการดำเนินการในเรื่องต่าง ๆ ให้มีประสิทธิภาพ และเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของโครงการฯ ข้อกฎหมายรวมถึงรักษากรอบวินัยการเงินการคลังอย่างรอบคอบ และเคร่งครัด
สาระสำคัญของเรื่อง
1. คณะรัฐมนตรีมีมติ (3 ต.ค. 2566) เห็นชอบในหลักการในการแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายฯ เพื่อกำกับดูแลและขับเคลื่อนการดำเนินโครงการฯ ให้เป็นไปอย่างรอบคอบ โปร่งใส และมีประสิทธิภาพ ต่อมานายกรัฐมนตรีได้ลงนามในคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 262/2566 เรื่อง การแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายฯ ลงวันที่ 4 ตุลาคม 2566 โดยมีหน้าที่และอำนาจ เช่น กำหนดนโยบายโครงการฯ วัตถุประสงค์โครงการฯ แนวทางการดำเนินโครงการฯ หลักเกณฑ์และเงื่อนไขของโครงการฯ และแหล่งที่มาของเงินที่จะนำมาใช้ในโครงการฯ เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี กำกับ ดูแล ติดตาม และตรวจสอบการดำเนินโครงการฯ ให้เป็นไปตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ เป็นต้น
2. คณะรัฐมนตรีมีมติ (20 ก.พ. 2567) รับทราบข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับนโยบายรัฐบาล กรณีการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet1 (ข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริตฯ) ตามที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติเสนอ และมอบหมายให้คณะกรรมการนโยบายฯ รับเรื่องนี้ไปพิจารณาให้ได้ข้อยุติและนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป
ทั้งนี้ คณะกรรมการนโยบายฯ ในคราวการประชุมครั้งที่ 1/2567 เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2567 ได้มีมติรับทราบข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริตฯ ของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติแล้วและมีมติให้จัดตั้งคณะทำงานฯ เพื่อรวบรวมข้อเท็จจริงและความเห็นของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยรับฟังความคิดเห็นให้รอบคอบและครบถ้วน รวมทั้งรายงานผลการรวบรวมข้อเท็จจริงและความเห็นให้คณะกรรมการนโยบายฯ ทราบ เพื่อรายงานผลต่อคณะรัฐมนตรีต่อไป
ต่อมานายกรัฐมนตรีได้ลงนามในคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 83/2567 เรื่อง แต่งตั้งคณะทำงานรวบรวมข้อมูล ความเห็น ข้อเท็จจริงและข้อเสนอแนะของทุกภาคส่วน ลงวันที่ 23 ก.พ. 2567 เพื่อรวบรวมข้อเท็จจริงและความเห็นของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง กับการดำเนินโครงการฯ
ต่อมาคณะรัฐมนตรีมีมติ (9 เม.ย. 2567) รับทราบความคืบหน้าการดำเนินการเกี่ยวกับข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริตฯ ตามที่คณะกรรมการนโยบายฯ เสนอ และให้คณะกรรมการนโยบายฯ เร่งดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2567 เพื่อสรุปผลการพิจารณา/ผลการดำเนินการ/ความเห็นในภาพรวม เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป
3. คณะกรรมการนโยบายฯ ในคราวการประชุม ครั้งที่ 3/2567 เมื่อวันที่ 10 เม.ย. 2567 มีมติ (1) รับทราบผลการรวบรวมข้อมูล ความเห็น ข้อเท็จจริง และข้อเสนอแนะของหน่วยงานต่าง ๆ (เบื้องต้น) ที่คณะทำงานฯ ได้ดำเนินการ (2) เห็นชอบกรอบหลักการโครงการฯ (3) เห็นชอบการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการกำกับการดำเนินโครงการฯ ทั้งนี้ ที่ประชุมได้ให้การรับรองมติการประชุมดังกล่าวและมอบหมายให้ กค. ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการนโยบายฯ นำเสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรีต่อไป ซึ่งต่อมาเมื่อวันที่ 17 เม.ย. 2567
คณะทำงานฯ ได้รวบรวมข้อมูล ความเห็น และข้อเสนอแนะของทุกภาคส่วนสำหรับโครงการฯ เพิ่มเติมจากที่เคยเสนอคณะกรรมการนโยบายฯ เช่น การดำเนินโครงการฯ ทำให้เกิดสภาวะเงินเฟ้อ มีจำนวน 14 หน่วยงานตอบในกลุ่มคำถามนี้ ซึ่งมีหน่วยงานเห็นด้วยร้อยละ 86 โดยให้เหตุผลหลัก คือ ภาครัฐควรต้องมีการควบคุมราคาสินค้าในช่วงดำเนินโครงการนี้ และไม่เห็นด้วยร้อยละ 21 เนื่องจากราคาสินค้าปรับตัวสูงขึ้นชั่วคราวในช่วงที่มีโครงการและไม่ควรดำเนินโครงการนี้เนื่องจากสิ้นเปลืองงบประมาณ และมีเหตุผลอื่นร้อยละ 36 โดยให้เหตุผลหลัก คือ โครงการไม่ส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจ ไม่ยั่งยืน ทำให้เกิดเงินเฟ้อและเศรษฐกิจหดตัวเมื่อสิ้นสุดโครงการ เป็นต้น (ยังไม่ได้นำเสนอคณะกรรมการนโยบายฯ รับทราบ)
เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พร้อมด้วยแกนนำพรรคร่วมรัฐบาล แถลงหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี ณ โถงกลางตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล วันที่ 23 เมษายน 2567
4. คณะกรรมการนโยบายฯ ในคราวประชุมครั้งที่ 3/2567 เมื่อวันที่ 10 เม.ย. 2567 ได้มีมติเห็นชอบกรอบหลักการโครงการฯ โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
วัตถุประสงค์
เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการส่งเสริมให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในพื้นที่และช่วยบรรเทาภาระค่าครองชีพ ยกระดับและพัฒนาคุณภาพชีวิตให้แก่ประชาชนที่ต้องการได้รับความช่วยเหลือ เช่น กลุ่มเปราะบาง เกษตรกร เป็นต้น ซึ่งเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนกลุ่มดังกล่าวและชุมชนมีความเข้มแข็งในด้านเศรษฐกิจ สามารถพึ่งพาตนเองได้ รวมทั้งสร้างและเพิ่มโอกาสในการประกอบอาชีพของประชาชนและสนับสนุนการพัฒนาให้เกิดนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคม
กลุ่มเป้าหมาย
ประชาชนผู้เข้าร่วมโครงการฯ ต้องมีคุณสมบัติ ดังนี้
- กลุ่มประชากรที่มีที่อยู่ในทะเบียนบ้าน
- สัญชาติไทย
- มีอายุเกิน 16 ปี ณ เดือนที่มีการลงทะเบียน
- ไม่เป็นผู้มีเงินได้พึงประเมินเกิน 840,000 บาทต่อปีภาษี
- เป็นผู้ที่มีเงินฝากกับธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจรวมกันไม่เกิน 500,000 บาท
แนวทางการเข้าร่วมโครงการฯ
- ประชาชนทุกคนต้องยืนยันตัวตนก่อนเข้าร่วมโครงการฯ โดยให้กลุ่มผู้ใช้สิทธิยืนยันตัวตนผ่านแอปพลิเคชันในสมาร์ตโฟนเพื่อเข้าร่วมโครงการฯ
- ตรวจสอบสถานะบุคคลและที่อยู่ตามทะเบียนบ้านกับข้อมูลกรมการปกครองของผู้ใช้สิทธิ
- ประชาชนเปิดแอปพลิเคชันเพื่อแสกน QR Code ณ ร้านค้าในพื้นที่ตามทะเบียนบ้าน
ทั้งนี้ ผู้จัดทำระบบจะต้องดำเนินการให้เป็นไปตามแนวทางการเข้าร่วมโครงการฯ ของประชาชนข้างต้น ตลอดจนเงื่อนไขอื่นที่อาจเพิ่มเติมภายหลัง (หากมี)
เงื่อนไขการใช้จ่ายระหว่างประชาชนกับร้านค้า
- การใช้จ่ายเชิงพื้นที่ระหว่างประชาชนและร้านค้าในระดับอำเภอ (878 อำเภอ)
- การชำระเงินภายใต้โครงการฯ ต้องเป็นแบบพบหน้า (Face to Face)
- กำหนดให้ประชาชนใช้จ่ายกับร้านค้าขนาดเล็กและร้านสะดวกซื้อขนาดเล็ก
ประเภทร้านค้า
ร้านค้าที่จะเข้าโครงการฯ แบ่งตามการรับการใช้จ่ายได้ ดังนี้
- ร้านค้าที่สามารถรับการใช้จ่ายจากประชาชนต้องเป็นร้านค้าขนาดเล็กรวมถึงร้านสะดวกซื้อขนาดเล็ก โดยไม่รวมห้างสรรพสินค้า ห้างค้าปลีก-ค้าส่งสินค้าขนาดใหญ่ระดับประเทศและระดับท้องถิ่น
- ร้านค้าที่สามารถรับการใช้จ่ายจากร้านค้าไม่มีการกำหนดเงื่อนไข
ทั้งนี้ รูปแบบและขั้นตอนการยืนยันตัวตน และเงื่อนไขการสมัครและวิธีการสมัครของร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการฯ ให้เป็นไปตามที่กระทรวงพาณิชย์กำหนด
ประเภทสินค้า
กำหนดให้สินค้าทุกประเภทเข้าร่วมโครงการฯ ได้ ยกเว้นสินค้าที่ไม่สามารถเข้าร่วมโครงการฯ ได้ (Negative List) ซึ่งได้แก่ สลากกินแบ่งรัฐบาล เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยาสูบ กัญชา กระท่อม พืชกระท่อม ผลิตภัณฑ์กัญชาและกระท่อม บัตรกำนัล บัตรเงินสด ทองคำ เพชร พลอย อัญมณี น้ำมันเชื้อเพลิง และก๊าซธรรมชาติ ทั้งนี้ มอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์พิจารณาสินค้าที่ไม่สามารถเข้าร่วมโครงการฯ เพิ่มเติมได้การใช้จ่ายตามโครงการฯ ไม่รวมถึงบริการ
เงื่อนไขการใช้จ่ายระหว่างร้านค้า
ไม่กำหนดเงื่อนไขการใช้จ่ายเชิงพื้นที่ระหว่างร้านค้ากับร้านค้าในระดับอำเภอและการชำระเงินภายใต้โครงการฯ ต้องเป็นแบบพบหน้า (Face to Face)
เงื่อนไขคุณสมบัติร้านค้าที่สามารถถอนเงินสดจากโครงการฯ ได้
ร้านค้าที่อยู่ในระบบภาษีที่สามารถถอนเงินสดจากโครงการฯ ได้แก่
- ภาษีมูลค่าเพิ่ม (Value Added Tax: VAT) หรือ
- ภาษีเงินได้นิติบุคคล (Corporate Income Tax: CIT) หรือ
- ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (Personal Income Tax: PIT) เฉพาะผู้มีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากร
เงื่อนไขการใช้จ่ายเงินในโครงการฯ และการถอนเงินสดจากโครงการฯ
(1) วิธีการใช้จ่ายเงิน : การใช้จ่ายเงินสามารถใช้จ่ายได้หลายรอบ
- รอบที่ 1 เป็นการใช้จ่ายระหว่างประชาชนกับร้านค้าขนาดเล็กจนถึงร้านค้าสะดวกซื้อขนาดเล็กเท่านั้น ทั้งนี้ เงื่อนไขร้านค้าที่สามารถเข้าร่วมโครงการฯ เป็นไปตามที่กระทรวงพาณิชย์กำหนด
- ตั้งแต่รอบที่ 2 ขึ้นไป เป็นการใช้จ่ายระหว่างร้านค้ากับร้านค้า ทั้งนี้ ไม่มีการกำหนดเงื่อนไขร้านค้า
(2) ร้านค้าไม่สามารถถอนเงินสดได้ทันที หลังประชาชนใช้จ่าย แต่ร้านค้าจะสามารถถอนเงินสดได้เมื่อมีการใช้จ่ายตั้งแต่ในรอบที่ 2 เป็นต้นไป
(3) ร้านค้าที่จะสามารถถอนเงินสดได้เฉพาะร้านที่มีคุณสมบัติตามที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบ โดยมีการยื่นขอเบิกจ่ายผ่านผู้จัดทำระบบและผู้จัดทำระบบมีหน้าที่โอนเงินให้ร้านค้าที่เบิกจ่ายโดยตรง
ผู้พัฒนาและดำเนินการระบบ
มอบหมายให้ สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) และ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นผู้พัฒนาและดำเนินการระบบสำหรับ ดิจิทัลวอลเล็ต โดยมีรายละเอียด ดังนี้
(1) ประชาชน
- ระบบลงทะเบียนและตรวจสอบคุณสมบัติกลุ่มเป้าหมายตามเงื่อนไขโครงการฯ เช่น อายุ เงินได้พึงประเมิน เงินฝาก เป็นต้น
- ระบบยืนยันตัวตนสำหรับประชาชนและการตรวจสอบข้อมูลกับกรมการปกครอง
(2) ร้านค้า
ระบบลงทะเบียนและตรวจคุณสมบัติร้านค้า (ตามเงื่อนไขที่กระทรวงพาณิชย์กำหนด)
(3) ระบบการใช้จ่าย
-
- ระบบการใช้จ่ายรอบที่ 1: การใช้จ่ายระหว่างประชาชนกับร้านค้าขนาดเล็กจนถึงร้านสะดวกซื้อขนาดเล็กเท่านั้น
- ระบบการใช้จ่ายรอบที่ 2 ขึ้นไป: การใช้จ่ายระหว่างร้านค้ากับร้านค้า ทั้งนี้ ไม่มีการกำหนดเงื่อนไขร้านค้า
(4) ระบบการชำระเงิน
- ระบบการใช้จ่ายสำหรับการชำระบัญชี (Clearing and Settlement) ระหว่างบัญชีของประชาชนและบัญชีของร้านค้าที่ธนาคารที่รับชำระเงิน (Open Loop)
- ระบบการชำระเงินให้ผู้ประกอบการร้านค้าโดยให้เป็นไปตามเงื่อนไขแหล่งเงิน
- ตรวจสอบร้านค้าที่ตรงตามเงื่อนไขในการถอนเงินได้ (ร่วมกับกรมสรรพากร)
- ระบบเชื่อมโยงข้อมูลกับหน่วยรับงบประมาณและเบิกจ่ายเงิน โดยจะต้องกระทบยอด (Reconcile) ความถูกต้องของเงินที่จะเบิกจ่าย
ทั้งนี้ ระบบการใช้จ่ายระหว่างประชาชนและร้านค้าเป็นระบบเปิด (Open Loop) ที่ต้องมีการตรวจสอบความถูกต้องของทุกรายการใช้จ่ายตามเงื่อนไข รวมถึงการชำระบัญชีของโครงการฯ ตามเงื่อนไขทั้งหมดจนจบโครงการและบริหารจัดการภายใต้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง
(5) ระบบอื่น ๆ เช่น
(5.1) ระบบตรวจสอบธุรกรรม (Transaction) ที่มีความต้องสงสัยเข้าข่ายการกระทำผิดเงื่อนไข (Fraud)
(5.2) ระบบอื่น ๆ ที่จะต้องดำเนินการเพื่อให้โครงการฯ สามารถขับเคลื่อนได้สำเร็จ
- กำหนดวันที่ในการลงทะเบียนร้านค้า วันที่ลงทะเบียนประชาชน และวันที่เริ่มใช้จ่าย
- ระบบที่เตรียมให้ประชาชนและร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการฯ จะต้องมีการให้ยืนยันหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และความยินยอม
- สำหรับประชาชนและร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการฯ (Consent)
(5.3) กำหนดชื่อเว็บไซต์และจำทำเว็บไซต์ (Website) สำหรับใช้ดำเนินโครงการ
แหล่งเงินในการดำเนินโครงการดิจิทัลวอลเล็ต
เป็นเงินจำนวน 500,000 ล้านบาท จำแนกได้ ดังนี้
(1) เงินงบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 จำนวน 152,700 ล้านบาท โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาปรับกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 เพื่อให้มีแหล่งเงินในการรองรับการดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล
(2) การดำเนินโครงการผ่านหน่วยงานของรัฐ จำนวน 172,300 ล้านบาท ซึ่งจะพิจารณานำมาสนับสนุนการดำเนินนโยบายรัฐภายใต้วัตถุประสงค์และกฎหมายจัดตั้งของหน่วยงานรัฐนั้นในการพัฒนาคุณภาพชีวิตและให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่เกษตรกร
ทั้งนี้ ในการดำเนินการต้องสอดคล้องกับกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐและอยู่ภายใต้ขอบเขตหน้าที่และอำนาจของหน่วยงานดังกล่าวด้วย
(3) การบริหารจัดการเงินงบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จำนวน 175,000 ล้านบาท ทั้งนี้ เนื่องจากพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 มีความล่าช้าในการประกาศใช้ จึงอาจพิจารณาแนวทางการบริหารเงินงบประมาณในปี 2567 ร่วมกับสำนักงบประมาณให้สอดคล้องกับสถานการณ์การใช้งบประมาณ เช่น การปรับลดงบประมาณที่ไม่จำเป็นหรืองบประมาณที่หน่วยรับงบประมาณไม่สามารถเบิกจ่ายได้ทันในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 การใช้งบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เป็นต้น
ระยะเวลาการดำเนินโครงการดิจิทัลวอลเล็ต
เนื่องจากมีแนวทางการใช้แหล่งเงินงบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 และ พ.ศ. 2568 ในการดำเนินโครงการฯ
ดังนั้น จึงจะต้องมีการพิจารณาระยะเวลาดำเนินโครงการฯ ให้สอดคล้องกับแหล่งเงินดังกล่าว โดยระยะเวลาดำเนินโครงการฯ จะต้องไม่เกินเดือนกันยายน 2569
แนวทางการตรวจสอบและวินิจฉัยเกี่ยวกับเรื่องเข้าข่ายผิดหลักเกณฑ์
คณะกรรมการนโยบายฯ ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการ 2 คณะ เพื่อให้การดำเนินโครงการฯ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ดังนี้
(1) คณะอนุกรรมการด้านการตรวจสอบการกระทำที่อาจเข้าข่ายผิดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของโครงการฯ โดยมีหน้าที่และอำนาจ เช่น กำหนดแนวทางการตรวจสอบ พิจารณา และวินิจฉัยเกี่ยวกับการกระทำที่อาจเข้าข่ายผิดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขโครงการฯ รวมถึงการกระทำที่อาจฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติของกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ตรวจสอบกรณีมีการร้องเรียนเกี่ยวกับการดำเนินการตามโครงการฯ เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงเป็นที่ยุติเสนอแนะแนวทางการขับเคลื่อนโครงการฯ ต่อคณะกรรมการนโยบายฯ โดยมีรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเป็นประธาน
(2) คณะอนุกรรมการกำกับการดำเนินโครงการฯ ซึ่งสามารถกำหนดรายละเอียดที่ไม่ขัดต่อกรอบหลักการเพื่อใช้ในการดำเนินโครงการฯ ได้ โดยมีรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง (นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์) เป็นประธาน
ประโยชน์จากดิจิทัลวอลเล็ต
จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเพิ่มเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจให้กระจายตัวไปสู่ท้องถิ่นและชุมชน โดยการดำเนินโครงการฯ ที่มีขอบเขตและเงื่อนไขที่เหมาะสมกับบริบทเศรษฐกิจในปัจจุบัน ซึ่งจะส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจในภาพรวมและช่วยดูแลความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดียิ่งขึ้น
ทั้งนี้ คณะกรรมการนโยบายฯ ได้พิจารณากำหนดกรอบการดำเนินโครงการฯ ที่ระมัดระวังและป้องกันความเสี่ยงทางด้านการคลัง เพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศและประชาชนโดยรวม ตลอดจนรักษาวินัยการเงินการคลังของรัฐอย่างเคร่งครัด