นายอัตถพงษ์ ฉันทานุมัติ วิศวกรอิสระ รายงานผลการศึกษาเรื่อง “แลนด์บริดจ์กับแผนพัฒนาภาคใต้” โดยประเมินว่าโครงการขนาดใหญ่ แลนด์บริดจ์ ในจังหวังชุมพรและระนอง ที่รัฐบาลหวังให้เป็นเส้นทางขนส่งสินค้าทางทะเลในภาคใต้ที่สำคัญของไทย ที่เชื่อมโยงระหว่างมหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิก เป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและศักยภาพการค้าของไทยกับกลุ่มประเทศที่อยู่ในด้านมหาสมุทรอินเดีย แต่เป็นโครงการที่ต้องประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอ่างรอบคอบ
ที่ผ่านมาเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้พยายามโรดโชว์ต่อนานาชาติว่าเป็นโครงการที่สำคัญ ซึ่งสามารถลดระยะเวลาขนส่งสินค้าที่ผ่านช่องแคบมะละกาในสิงคโปร์ ที่ปัจจุบันมีสภาพการจราจรหนาแน่น และเรือมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นแตะ 400,000 ลำ อีกทั้งเพื่อดึงดูดต่างประเทศให้เข้ามาลงทุนทำธุรกิจเป็นฐานช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ
แลนด์บริดจ์ อาจจะสามารถสร้างคุณประโยชน์ให้ไทยได้ในเชิงเศรษฐกิจ แต่ก็เป็นโครงการใหญ่ที่ต้องใช้พื้นที่จำนวนมากในการสร้างท่าเรือน้ำลึก เส้นทางขนส่งสินค้า รวมถึงพื้นที่ทางทะเลที่จะเป็นเส้นทางเดินเรือเข้าเทียบท่า
เริ่มจากท่าเรือแห่งที่หนึ่ง บริเวณแหลมอ่าวอ่าง อ.เมืองระนอง จ.ระนอง ตั้งอยู่นอกชายฝั่ง มีพื้นที่ขนาด 6,975 ไร่ ท่าเทียบเรือยาว 9,350 เมตร มีกำแพงกันคลื่น 3 แห่ง ความยาว 3,120 เมตร, 340 เมตร และ 290 เมตร
หากท่าเรือนี้เกิดขึ้นจะกระทบสิ่งแวดล้อมทางทะเลโดยรอบของท่าเรือ พื้นที่ป่า เกาะ สถานที่ท่องเที่ยว และการทำประมงของชาวบ้าน เนื่องจากการเดินเรือตามร่องน้ำลึก ระบบนิเวศน์ที่อาจได้รับผลกระทบ คือ
- อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะระนอง (เดิมชื่ออุทยานแห่งชาติหมู่เกาะพยาม) มีพื้นที่ครอบคลุม 2 แสนไร่ ลักษณะพื้นที่ประกอบด้วยชายฝั่งทะเล ป่าชายเลย ป่าดงดิบ และป่าชายหาด
- พื้นที่ชุ่มน้ำ อุทยานแหลมสน-ปากน้ำกระบุรี-ปากคลองกระเปอ จ.ระนอง มีพื้นที่ทั้งหมด 6 แสนไร่ เป็นป่าชายเลนขนาดใหญ่ที่สุดที่เหลืออยู่ในไทยและเขตอินโด-แปซิฟิก ลักษณะพื้นที่ประกอบด้วย หาดเลน หาดทราย แหล่งปะการัง แหล่งหญ้าทะเล และป่าชายเลน
- อุทยานแห่งชาติน้ำตกหงาว เป็นพื้นที่ต้นน้ำ เป็นป่าดิบชื้น มีต้นไม้ใหญ่ ไม้มีค่า และไม้พื้นล่างขึ้นอยู่หนาแน่นที่สำคัญ คิดเป็น 8% ของพื้นที่ทั้งหมด มีลักษณะเป็นเทือกเขาสลับซับซ้อน มีที่ราบน้อย วางตัวยาวตามแนวเหนือ-ใต้ ประกอบด้วยเขาแดน และเขานมสาว โดยสันเขาที่เป็นแนวยาวนี้แบ่งเขตจังหวัดระนองกับจังหวัดชุมพร และเป็นแหล่งต้นน้ำลำธารที่สำคัญ เช่น คลองสวี คลองเพรา คลองตะโก และคลองหลังสวน ในจ.ชุมพร คลองละอุ่น คลองระวิ คลองหาดส้มแป้น คลองบางริ้น คลองหงาว และคลองราชกรูด ใน จ.ระนอง
- เขตคุ้มครองสัตว์ป่าคลองนาคา มีเนื้อที่ราว 3 แสนไร่ เป็นผืนป่าอันอุดมสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งในภาคใต้ มียอดเขาต่าง ๆ ที่สูงชันและเป็นแหล่งต้นน้ำลำธารหลายแห่ง เช่น เขาหลังคาตึก เขาพระหมี เขานาคา เขาพ่อตาหลวงแก้ว และเขาเหมืองโชน นอกจากนี้ในพื้นที่ยังมีสัตว์ป่าที่สำคัญโดยเฉพาะนกเงือกกาฮัง หรือ นกกก เป็นนกเงือกที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในจำนวน 13 ชนิดของนกเงือกในประเทศไทย
- เกาะพยายาม (ฉายามัลดีฟเมืองไทย) เป็นเกาะใหญ่อันดับสองของจังหวัดระนอง ตั้งอยู่ระหว่างเกาะช้างกับเกาะค้างคาว มีพื้นที่ประมาณ 35 กิโลเมตร และมีชาวบ้านในท้องถิ่น อาศัยอยู่ประมาณ 160 ครัวเรือน โดยลักษณะของเกาะนี้ตอนกลางเป็นพื้นที่ภูเขา ป่าไม้ยังคงอุดมสมบูรณ์ และมีสัตว์ป่าหากยาก ส่วนบริเวณรอบเกาะเป็นพื้นที่ชายหาดสลับกับโขดหิน และมีหาดทราย เช่น อ่าวแม่หม้าย อ่าวใหญ่ อ่าวเขาควาย อ่าวหินขาว อ่าวไม่ไผ่ และอ่าวปีบ แหลมหิน
- อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ จ.พังงา มีเนื้อที่ 8.8 หมื่นไร่ เป็นเกาะที่ตั้งอยู่ในทะเลอันดามัน และติดชายแดนเมียนมา ประกอบด้วย 5 เกาะ คือ เกาะสุรินทร์เหนือ เกาะสุรินทร์ใต้ เกาะรี เกาะไข่ และเกาะกลาง โดยในหมู่เกาะนี้ยังมีพื้นที่ป่าอุดมสมบูรณ์ เป็นลักษณะทั้ง ป่าดงดิบ ป่าชายหาด และป่าชายเลน
ท่าเรือแห่งที่สอง บริเวณแหลมริ่ว อำเภอหลังสวน จ.ชุมพร ตั้งอยู่นอกชายฝั่ง มีพื้นที่ขนาด 5,800 ไร่ ท่าเทียบเรือมีความยาว 7,580 เมตร มีกำแพงกันคลื่น 2 แห่ง ยาว 5,400 เมตร และ 685 เมตร นอกจากนี้จะมีการขุดร่องน้ำแอ่งจอดเรือง และกลับลำเรือ ซึ่งทรายที่ขุดขึ้นมาจะนำไปถมทะเลบริเวณแหลมริ่ว โดยระบบนิเวศน์ที่อาจได้รับผลกระทบ คือ
- อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะชุมพร ครอบคลุมพื้นที่ 1.98 แสนไร่ ครอบคลุม 5 อำเภอ พื้นที่ทางทะเลประกอบด้วยเกาะน้อยใหญ่รวม 40 เกาะ ครอบคลุมตั้งแต่เกาะจระเข้ในเขตอำเภอปะทิวจดเกาะง่ามใหญ่ เกาะง่ามน้อย เกาะเสม็ด เกาะมะพร้าว เกาะมาตรา เกาะทองหลาง เกาะลังกาจิว บริเวณอ่าวทุ่งคาในเขตอำเภอเมือง และหมู่เกาะในเขตอำเภอสวี อำเภอทุ่งตะโก
- เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า อุทยานเสด็จในกรม กรมหลวงชุมพร ด้านทิศเหนือ พื้นที่ 4.15 แสนไร่ ครอบคลุมตำบลร่อนทอง อำเภอบางสะพาน และตำบลข้างแรก อำเภอสะพานน้อย จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ตำบลสลุย ตำบลหงส์เจริญ และตำบลรับล่อ อำเภอท่าแซะ จังหวัดชุมพร โดยเป็นพื้นที่ภูเขาสลับซ้อน มีป่าเบญจพรรณ ป่าดิบชื้นสมบูรณ์ ในเทือกเขาตะนาวศรีตอนล่าง และมีพื้นที่ด้านทิศตะวันตกติดประเทศเมียนมา
- เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า อุทยานเสด็จในกรม กรมหลวงชุมพร ด้านทิศใต้ มีเนื้อที่ 1.96 แสนไร่ มีสภาพเป็นป่าดงดิบชื้นที่สมบูรณ์ ภูมิประเทศเป็นเทือกเขาสลับซับซ้อน เป็นป่าต้นน้ำลำธาร มีสัตว์ป่าสงวนและสัตว์ป่าคุ้มครองหลายชนิดอาศัยอยู่ชุกชุม
นอกจากท่าเรือทั้งสองแห่ง รัฐบาลยังมีแผนก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองเพื่อลำเลียงสินค้าระหว่างท่าเรือ โดยถนนเส้นนี้มีขนาด 6 ช่องจราจร ระยะทาง 89.35 กิลโลเมตร สร้างคู่ขนานไปกับเส้นทางรถไฟขนาด 4 ทาง ผ่านพื้นที่ 2 จังหวัด ใน 3 อำเภอ โดยจะตัดไปบนพื้นที่ราบสลับกับเทือกเขาที่วางตัวแนวเหนือ-ใต้ขวางการเชื่อมโยง
ระบบนิเวศน์ที่จะได้รับผลกระทบจากเส้นทางถนน คือ พื้นที่ราบชายฝั่งทะเลของทั้งสองฝั่ง เทือกเขาที่เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำและต้นน้ำ และพื้นที่อนุรักษ์หลายแห่ง ได้แก่ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งระยะ – นาสัก รวมไปถึงอุทยานแห่งชาติน้ำตกหงาว เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าควนแม่ยายหมอน และอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะระนอง เนื่องจากการวางแนวถนนลัดเลาะในพื้นที่ระหว่างเขตพื้นที่อนุรักษ์ซึ่งมีพื้นที่ไม่มาก แนวถนนจึงคดโค้ง
อย่างไรก็ตามรัฐบาลยังคงเดินหน้าผลักดันโครงการแลนด์บริดจ์ ท่ามกลางเสียงคัดค้านของคนในชุมชนเจ้าของพื้นที่ เพราะเกรงว่าจะทำลายทรัพยากรทางธรรมชาติที่มีอยู่เดิม จนกระทบกับแหล่งท่องเที่ยว การทำประมง รวมถึงที่ดินทำกินของชาวบ้าน
ผลกระทบกับวงจรชีวิตใต้น้ำ
- การกัดเซาะชายฝั่งใน
- วงจรชีวิตสัตว์น้ำ
- วงจรปะการังใต้น้ำ
- การเปลี่ยนวงจรการไหลเวียนของน้ำในทะเลและชายฝั่ง
- การฟุ้งกระจายจากการขุดลอกร่องน้ำ และการถมสร้างท่าเรือ
- ผลกระทบกับเขตอนุรักษ์ในพื้นที่ จากการก่อสร้าง การเดินเรือ ฯลฯ
ผลกระทบกับวงจรชีวิตบนบก
- การตัดถนน ทางรถไฟ และแนวท่อน้ำมันกับสิ่งแวดล้อม
- การเจาะอุโมงค์รถไฟ และการกองวัสดุ
- วงจรชีวิตสัตว์ป่าในเขตอุทยาน สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จากการพัฒนาระบบคมนาคมขนส่ง และการพัฒนาเมืองหลังท่า
- การตัดเขาและการบุกรุกพื้นที่ป่า อุทยาน และพื้นที่ชุ่มน้ำ
- การเดินระบบไฟฟ้าแรงสูงเพื่อเข้าในพื้นที่
ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
- มลพิษทางอากาศจากการคมนาคมขนส่ง เนื่องจากปริมาณรถขนส่งสินค้า เรือขนส่งสินค้า ฯลฯ เนื่องจากรถไฟสามารถบรรทุกได้ 80 TEU (TEU คือ ตู้คอนเทนเนอร์ขนาด 20 ฟุต) นอกจากนั้นต้องใช้รถบรรทุกในการขนส่ง เพราะสินค้าจากเรือจะมีประมาณ 5,000 – 10,000 TEU ซึ่งจะส่งผลต่อมลพิษในอากาศและคุณภาพชีวิตของประชาชน
- การลดลงของพื้นที่สีเขียวจากการพัฒนา
- น้ำเสีย สารเคมี คราบน้ำมัน ที่มาจากเรือสินค้า และตู้สินค้า
- น้ำขึ้นลงและคลื่นลมจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิประเทศ
- มาตรการในการบริหารความเสี่ยงในพื้นที่ ในกรณีที่มีอุบัติเหตุและอุบัติภัยในพื้นที่ท่าเรือ
ผลกระทบกับประชาชนและการมีส่วนร่วมของประชาชน
- ผลกระทบจากการตัดถนน ทางรถไฟ และแนวท่อน้ำมันกับสิ่งแวดล้อม กับคุณภาพชีวิตประชาชน
- ผลกระทบการเวนคืนที่ดิน ต่อสภาพความเป็นอยู่ของประชาชน
- การขอใช้ใช้พื้นที่ป่า ที่มีผลกระทบกับวงจรชีวิตสัตว์
- การไหลของน้ำ และการระบายน้ำ ที่มีผลต่อสภาพแวดล้อม
- การแก้ไขและผลกระทบจากการเจาะอุโมงค์รถไฟ และการกองวัสดุ
- ผลกระทบกับผู้ประกอบอาชีพประมงน้ำตื้น และประมงชายฝั่ง
- ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนที่ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมาย
ผลกระทบด้านอื่น ๆ
- ปัญหาน้ำดิบเพื่อทำระบบประปา เพื่อสนับสนุนท่าเรือทั้ง 2 แห่ง ศูนย์บริการทางหลวง (Service Center) และ จุดพักรถ เนื่องจากในจังหวัดระนองและจังหวัดชุมพร ไม่มีแหล่งน้ำดิบขนาดใหญ่ ซึ่งปัจจุบันในพื้นที่มีปริมาณน้ำไม่มากพอที่จะสนับสนุนกิจกรรมการพัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่เป็นข้อจำกัดในการพัฒนาเนื่องจากต้องทำในพื้นที่ป่าและพื้นที่อุทยาน การผันน้ำจะต้องมีค่าลงทุนในการเดินท่อที่สูงและอาจก่อให้เกิดปัญหาข้อขัดแย้งในพื้นที่
- ปัญหาในการจัดการระบบน้ำเสียและสารปนเปื้อนที่มากับน้ำ ซึ่งอาจจะก่อให้เกิดปัญหาด้านสาธารณะสุขในพื้นที่ เนื่องจากไม่ได้กล่าวในรายงาน
- ระบบไฟฟ้าเพื่อการสนับสนุนพื้นที่โครงการ เนื่องจากระบบไฟฟ้าในพื้นที่ตาม grid Line ของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคนั้น ไม่เพียงพอที่จะรองรับการใช้ไฟในพื้นที่ และไม่มีแนวทางในการดำเนินการในรายงานศึกษา
- การขยายตัวของเมืองหลังท่า เนื่องจากนโยบายรัฐบาลจะเสนอให้พัฒนาเมืองหลังท่า ทั้งโรงงานอุตสาหกรรม โรงกลั่นน้ำมัน อสังหาริมทรัพย์ โรงแรม ซึ่งยังไม่กำหนเขตให้ชัดเจนทั้งระบบสาธารณูปโภค ระบบสาธารณสุข น้ำประปา และไฟฟ้า รวมถึงการกำหนดผังเมือง
- นโยบายการเวนคืน เนื่องจากประชาชนผู้ถูกผลกระทบมีจำนวนมาก รวมถึงเสียโอกาสในอาชีพ และส่งผลกระทบกับคุณภาพชีวิต รัฐต้องกำหนดนโยบายให้ชัดเจน
“แลนด์บริดจ์” เมกะโปรเจกต์ขาจร ไร้เงาในแผนระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้
โครงการแลนด์บริดจ์: 7 ประเด็นปัญหาสิทธิมนุษยชน