รัฐบาลเตรียม “คิกออฟ” นโยบายซอฟต์พาวเวอร์ ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญของรัฐบาลในการผลักดันเศรษฐกิจของประเทศ โดยจะจัดงาน THACCA SPLASH : SOFT POWER FORUM 2024 ในวันที่ 28-30 มิ.ย. 2567 ที่ศูนย์การประชมแห่งชาติสิริกิติ์
ในงาน THACCA SPLASH ครั้งนี้ จะมีการจัดกิจกรรม 4 รูปแบบ ประกอบด้วย
- Vision Stage เวทีอภิปรายและแสดงวิสัยทัศน์ พบกับการนำเสนอวิสัยทัศน์และแนวโน้มของโลก การแลกเปลี่ยนการเรียนรู้จากกรณีศึกษาที่ประสบความสำเร็จในต่างประเทศ สร้างแรงบันดาลใจ สร้างโอกาสทางธุรกิจใน 11 อุตสาหกรรม จากวิทยากรระดับโลก
- Pathway Stage เวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นพบกับการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ความรู้และความคิดเห็น ถอดบทเรียนจากความสำเร็จจากกรณีศึกษาใน 11 อุตสาหกรรมที่ประสบความสำเร็จในต่างประเทศ สร้างแรงบันดาลใจให้อุตสาหกรรมรวมทั้งสร้างโอกาสทางธุรกิจ
- Performance Stage เวทีของคนรุ่นใหม่ได้แสดงความสามารถ
- Podcast Studio เวทีสัมภาษณ์สดเจาะลึกมุมมองแนวคิดของคนในอุตสาหกรรมสัมภาษณ์องค์ความรู้หรือ กระบวนการคิด เพื่อนำองค์ความรู้ไปขยายต่อกรอบความคิดได้
นายแพทย์สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี คณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟท์พาวเวอร์แห่งชาติ กล่าวว่าในวันที่ 28 มิ.ย.นี้ จะเป็นการคิกออฟอย่างเป็นทางการของนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ ในงาน THACCA SPLASH : SOFT POWER FORUM 2024 ระหว่างวันที่ 28-30 มิ.ย.นี้
“งานนี้เป็นการประกาศว่าเราพร้อมแล้วจะขับเคลื่อนนโยบายนี้ หลังจากมีการศึกษาและระดมความคิดเห็นมานานกว่า 8 เดือน ตอนนี้ถึงเวลาวางรากฐานอาคารในชั้นที่ 1 จะได้เริ่มเห็น”
เลิกถกเถียงคำนิยาม “ซอฟต์พาวเวอร์” หันมาหากระบวนการทำงาน
คำว่า “ซอฟต์พาวเวอร์” ถือว่าเป็นคำของยุคสมัย ไปที่ไหนก็มีคนพูดถึง แม้แต่ในการจัดทำงบประมาณก็มีคำนี้ค่อนข้างมาก มีการพูดถึงงบประมาณที่ใช้ เจ็ดพันล้านบาท หมื่นล้านบาท ซึ่งไม่มากขนาดนั้น แต่สะท้อนให้เห็นว่าเมื่อเป็นคำที่ฮิตติดปาก คนก็จะเข้าใจตามความคิดตัวเองและทำให้เข้าใจความหมายต่างกัน
นายแพทย์สุรพงษ์ กล่าวว่าความเข้าใจเรื่องความหมายซอฟต์พาวเวอร์แตกต่างกันไป แต่จริง ๆ แล้ว รัฐบาลเห็นว่าซอฟต์พาวเวอร์เป็นเครื่องมือที่นำไปสู่เป้าหมายที่เราต้องการ ซึ่งการดำเนินนโยบายครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ 2 ประการ คือ
1. เป็นเครื่องยนต์เศรษฐกิจตัวใหม่เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยให้พ้นจากกับดักประเทศที่มีรายได้ปานกลาง ซึ่งประเทศไทยเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลางมานานหลายทศวรรษ จนถึงขณะนี้ รายได้ต่อหัวของคนไทยประมาณ 7,000 เหรียญต่อปี ในขณะที่ประเทศรายได้สูง เกณฑ์อยู่ที่ 13,000 เหรียญต่อปี ซึ่งขณะนี้ มาเลเซีย ประเทศเพื่อนบ้าน มีรายได้หมื่นกว่าเหรียญแล้ว
2. เครื่องมือทางเศรษฐกิจจากซอฟต์พาวเวอร์ นำไปสู่เป้าหมายที่ 2 คือ การมีกระบวนการมาสนับสนุนให้สามารถเกิดขึ้นได้ เพราะหากไม่มีกระบวนการสนับสนุนก็จะนำปสู่ความเหลื่อมล้ำมากขึ้นอีก ซึ่งโครงการหนึ่งครอบครับหนึ่งซอฟท์พาวเวอร์ หรือนโยบาย1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์ (OFOS) จึงเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นและคู่ขนานอีกด้านคือ THACCA องค์กรที่จะเข้ามาสนับสนุน
“เรื่องซอฟต์พาวเวอร์ ไม่ง่าย มีคนทำมาเยอะ บางคนวิจารณ์ว่าความหมายคืออะไร เมื่อไม่เข้าใจว่าหมายถึงอะไรก็ไม่มีทางสำเร็จหรอก ผมจะบอกว่าแม้จะเข้าใจนิยามก็ไม่ประสบความสำเร็จหรอก หากไม่เข้าใจกระบวนการจริง ๆ เพราะฉะนั้น มันจึงมีคนตีความเยอะ”
นายแพทย์สุรพงษ์ กล่าวว่าซอฟต์พาวเวอร์ในอดีต เป็นเครื่องมือสร้างการครอบงำ แต่หากพูดให้ถึงที่สุดแล้ว คำนี้เกิดขึ้นในช่วงสงครามเย็น ซึ่งเป็นเครื่องมือทางการเมือง แต่หลังจากเปลี่ยนแปลงมา 20 กว่าปี ตอนนี้ไม่เป็นเครื่องมือทางการเมืองอีกต่อไป แต่เป็นเครื่องมือทางเศรษฐกิจ และซอฟต์พาวเวอร์ ไม่ใช่เรื่องที่เป็นความลับอีกต่อไป แต่เป็นเรื่องที่ดำเนินการได้อย่างเปิดเผยในหลายประเทศ
ปัจจุบัน มีสถาบันจัดอันดับซอฟต์พาวเวอร์อยู่ 4 สถาบัน บางแห่งจัดโดยยึดปัจจัยด้านการเมืองการปกครอง แต่บางแห่งก็ให้ความสำคัญด้านศิปวัฒนธรรม ดังนั้น อันดับของแต่ละประเทศในแต่ละสถาบันจึงมีความแตกต่างกัน อย่างเกาหลีใต้ มักจะถูกพูดถึงว่าเป็นแบบอย่างของการใช้ซอฟต์พาวเวอร์ แต่บางแห่งไม่ได้จัดอยู่ในท็อปเทน เพราะไปให้ความสำคัญเรื่องการเมืองการปกครอง แต่อีกแห่งติดท็อปเทน เพราะให้ความสำคัญด้านเศรษฐกิจ
ผลักดันรายอุตสาหกรรมแบบเดิมไม่ตอบโจทย์
นายแพทย์สุรพงษ์ ยังอธิบายให้เห็นไอเดียการทำพร้อมกัน 11 อุตสาหกรรม ว่าที่ผ่านมา การผลักดันนโยบายมักจะทำเป็นรายอุตสาหกรรม แต่ในยุคใหม่นี้ไม่เพียงพอ เพราะการแข่งขัน ดังนั้นเราจึงต้องคิดทำทั้งระบบ ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และ ปลายน้ำ ซึ่งต้นน้ำสำหรับซอฟต์พาวเวรอ์ คือ คน และมีสำนักงานส่งเสริมวัฒนธรรมสร้างสรรค์ (THACCA) เป็นส่วนสนับสนุนในการขับเคลื่อน ดังนั้น จึงเป็นคำตอบที่ว่าทำไมต้องมีการขับเคลื่อน นโยบาย 1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์ (OFOS) และมีการพัฒนาหลักสูตรขึ้นมา
สำหรับกลุ่มอาหาร จะมีโครงการ “1 เชฟ 1 อาหารไทย” โดยมีเป้าหมายในปีแรกจะหาเชฟ 6,500 คน เพื่อป้อนครัวอาหารไทยตามโรงแรมทั่วโลก และใน 4 ปี คาดว่าจะสร้างเชฟได้ 40,000 คน โดยจะเริ่มเปิดลงทะเบียนผ่านกองทุนหมู่บ้านสำหรับประชาชนที่สนใจตั้งแต่วันที่ 28 มิ.ย.นี้ และยังมีการเปิดลงทะเบียนในอุตสาหกรรมอื่นด้วย เพื่อพัฒนาคนป้อนในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ตามเป้าหมาย 11 ด้าน
พร้อมเปิดลงทะเบียน 225 หลักสูตร 28 มิ.ย.นี้
ดร.ชุติมา หาญเผชิญ ผู้อำนวยการสำนักงานขับเคลื่อนการปฎิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติและการสร้างความสามัคคีปรองดอง (สำนักงาน ป.ย.ป.) กล่าวการพัฒนาหลักสูตร OFOS ของแต่ละด้านอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ทั้ง 11 ด้านให้ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ประกอบการภาคเอกชน นำไปสู่การจับคู่งาน หรือ Job Matching ตลอดจนเพื่อแนะนำแนวทางการพัฒนามาตรฐานหลักสูตรและระบบคลังหน่วยกิตซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ (National Soft Power Credit Bank) มุ่งสู่การสร้างหลักสูตร OFOS ที่มีคุณภาพในอนาคต
ดร.สิริกร มณีรินทร์ ประธานคณะทำงานจัดการศึกษาหลักสูตร 1 ครอบครัว 1 ทักษะ ซอฟต์พาวเวอร์ กล่าวว่าการจัดทำซอฟต์พาวเวอร์คลังหน่วยกิตแห่งชาติ (National Soft Power Credit Bank) เพื่อเป็นมาตรฐานในการจัดทำหลักสูตรการเรียนรู้ และเมื่อผู้เรียนสำเร็จหลักสูตรสามารถเก็บสะสมหน่วยกิตได้ตลอดชีวิตเพื่อต่อยอดการเรียนรู้สู่ระดับที่สูงกว่าต่อไป
ดังนั้น การขับเคลื่อนหลักสูตร OFOS จึงเป็นโอกาสการเรียนรู้ตลอดชีวิตครั้งใหญ่ และไร้รอยต่อ
ดร.ศุภฤกษ์ ภู่พงศ์ศักดิ์ รองผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ย.ป. กล่าวว่าหลักสูตรที่คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ด้านต่าง ๆ ได้จัดทำขึ้น จำนวน 225 หลักสูตร และสำนักงาน ป.ย.ป. ได้จัดทำภาพกาทำงานร่วมกันเพื่อสร้างระบบนิเวศรองรับหลักสูตร OFOS หรือ OFOS Ecosystem เพื่อให้การขับเคลื่อนนโยบาย 1 ครอบครัว 1 ทักษะซอฟต์พาวเวอร์ (OFOS) เป็นไปอย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ รัฐบาลเตรียมเปิดตัวระบบลงทะเบียนระบบ OFOS ตามนโยบายสร้างคน ยกระดับศักยภาพ สร้างสรรค์ให้คนไทย มีทักษะสำหรับการประกอบอาชีพ โดยมีกำหนดการเริ่มลงทะเบียนอย่างเป็นทางการ ภายในงาน THACCA SPLASH: Soft Power Forum 2024 ในวันศุกร์ที่ 28 มิถุนายน 2567 เป็นต้นไป