กระทรวงพลังงาน เตรียมยกเลิกพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2562 และร่างกฎหมายฉบับใหม่ เพื่อให้ครอบคลุมไปถึงการใช้เงินในกองทุนฯ และการมีอำนาจกำหนดเพดานภาษี รวมถึงปรับโครงสร้างการเรียกเก็บภาษีจากผู้ใช้น้ำมันที่มีความซับซ้อน ซึ่งส่งผลให้ราคาน้ำมันในไทยมีราคาแพงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน โดยพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน คาดการณ์ว่ากฎหมายฉบับใหม่จะเสร็จภายในปี 2567
ที่ผ่านมากองทุนฯมีปัญหาในหลายด้าน ทั้งแผนรองรับวิกฤตการณ์ด้านน้ำมันเชื้อเพลิงที่กำหนดขึ้นไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่เปลี่ยนไปอย่าวรวดเร็ว, สถานะของกองทุนฯกระทบต่อความคล่องตัวในการดำเนินงาน, กรอบวงเงินของกองทุนที่กำหนดไว้ในกฎหมายอาจไม่เพียงพอต่อการบริหารจัดการ, การยื่นคำขอรับเงินคืนจากองทุนกรณีส่งเงินเข้ากองทุนโดยไม่มีหน้าที่ หรือส่งเงินเกิน ทำให้การพิจารณาคำขอล่าช้า
ด้าน สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) ได้เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็น การประเมินผลสัมฤทธิ์พระราชบัญญัติกองทุนน้ำมันเขื้อเพลิง พ.ศ.2562 และกฎหมายลำดับรอง วันที่ 9 ส.ค. 2567 มีผู้เข้าร่วมทั้งฝ่ายหน่วยงานภาครัฐ ผู้ประกอบการเอกชน และตัวแทนจากผู้บริโภค ควบคู่ไปกับรับฟังความเห็นผ่านระบบออนไลน์ ตั้งแต่ 7 ส.ค. – 5 ก.ย. 2567
ใช้เงินกองทุนน้ำมันฯ ผิดวัตถุประสงค์
ภายในเวทีรับฟังความเห็นมีการถกเถียงกัน ในมาตรา 3 ที่บัญญัติ “วิกฤตการณ์ด้านน้ำมันเชื้อเพลิง” หมายความว่า สถานการณ์ที่ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงมีการปรับราคาขึ้นอย่างรวดเร็ว หรือ ผันผวนอันอาจเกิดผลกระทบต่อการดำรงชีพประชาชน หรือ สถานการณ์ที่ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงอาจขาดแคลน และไม่เพียงพอต่อการใช้ภายในประเทศ ทั้งนี้ตามที่กำหนดในแผนรองรับวิกฤตการณ์ด้านน้ำมันเชื้อเพลิง
และในมาตรา 5 ที่บัญญัติวัตถุประสงค์ของกองทุนฯ ไว้ว่า เพื่อรักษาเสถียรภาพระดับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศอยู่ในระดับที่เหมาะสมในกรณีที่เกิดวิกฤตการณ์ด้านน้ำมันเชื้อเพลิง
ประเด็นนี้ รสนา โตสิตระกูล อนุกรรมการด้านบริการสาธารณะ พลังงาน และสิ่งแวดล้อม สภาผู้บริโภค มองว่า การดำเนินงานของกองทุนน้ำมันฯ ไม่ตรงกับวัตถุประสงค์ในกฎหมายที่ต้องการรักษาระดับราคาน้ำมัน อีกทั้งปัจจุบันน้ำมันเบนซินในประเทศถูกปล่อยลอยตัวตามราคาตลาดโลก และปรับราคาขึ้นลงหลายครั้งจนผันผวน ไม่ได้เป็นการรักษาเสถียรภาพระดับราคา และไม่ได้แบ่งกองทุนฯตามประเภทน้ำมัน ส่งผลให้ปัจจุบันเงินที่จัดเก็บเข้ากองทุนฯจากน้ำมันเบนซิน ต้องไปชดเชยให้กับราคาน้ำมันดีเซล ถือไม่เป็นธรรมกับผู้บริโภค ขณะที่กฎหมายฉบับนี้ยังนิยามคำว่า “วิกฤตการณ์ด้านน้ำมันเชื้อเพลิง” ไม่ชัดเจน
รวมถึงในส่วนน้ำมันชีวภาพ ก็ไม่ได้กำหนดเพดานราคาน้ำมันชีวภาพ (เอทานอลและไบโอดีเซล) ว่าจะต้องสูงกว่าราคาน้ำมันพื้นฐานเท่าไหร่จึงไม่ควรนำมาผสมกับน้ำมัน และถ้าปล่อยให้ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงสูงกว่าราคาน้ำมันพื้นฐานตลอดเวลา เมื่อนำเงินกองทุนฯเข้ามาชดเชยราคาน้ำมันชีวภาพ อาจเป็นการชดเชยให้กับผู้ประกอบการโรงกลั่นน้ำมัน แต่ไม่ได้ชดเชยเกษตรกรอย่างแท้จริง รวมถึงมีการปกปิดราคาน้ำมันชีวภาพ เพื่อไม่ให้ทราบว่าสูงกว่าราคาพื้นฐานเท่าไหร่
เวลานี้ราคาน้ำมันเบนซินอยู่ที่ 20 บาท ราคาเอทานอลอยู่ที่ 30 บาทแล้วที่ผ่านมา ก่อนที่จะลดออกไป และราคาไบโอดีเซล 35 บาท เพราะฉะนั้น ส่วนเหล่านี้กลายเป็นว่าเราไม่ได้เอากองทุนน้ำมันมาชดเชยราคาน้ำทันในตลาดโลกที่เราคุมไม่ได้ แต่เรากลับเอาเงินกองทุนน้ำมัน ซึ่งเป็นเงินในกระเป๋าประชาชน มาชดเชยในสิ่งที่รัฐบาลไม่ควบคุม ไม่ว่าจะเป็นราคาไบโอดีเซล ราคาเอทานอล รวมไปถึงส่วนอื่น ๆ ราคาต้นทุนน้ำมันจากตลาดโลก
นอกจากนี้ พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันฯ ไม่ได้กำหนดเพดานเงินที่ต้องเก็บเข้ากองทุนฯ ส่งผลให้ปัจุบันน้ำมันเบนซินถูกจัดเก็บเข้ากองทุนฯมากถึง 10.78 บาท และเมื่อราคาน้ำมันโลกลง ก็ไม่ลดการจัดเก็บลงตาม โดยรัฐบาลอ้างว่าต้องนำไปชดใช้หนี้ของกองทุนฯ ดังนั้นหากปล่อยให้ราคาเบนซินลอยตัว ก็ไม่ควรจัดเก็บเงินเข้ากองทุนฯ เพราะเบนซินไม่ได้รับการชดเชย ๆ
บัญชร ส่งสัมพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักมาตรฐานและพัฒนาการจัดเก็บภาษี 2 เรียกร้องให้ทบทวนกฎหมายมาตรา 5 ใหม่ เพราะมองว่า ปัจจุบันกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงฯ ไม่ได้ทำหน้าที่รักษาเสถียรภาพระดับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศ ตามวัตถุประสงค์ในกฎหมาย แต่เป็นการอุดหนุนราคาน้ำมันโดยตรง (Subsidy) และอุดหนุนราคาน้ำมันแบบไขว้ (Cross-Subsidy) ซึ่งไม่ถือเป็นวิกฤตการณ์ด้านน้ำมันเชื้อเพลิง โดยเป็นประเด็นที่ท้าทายที่สุดของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง
ขณะเดียวกันกองทุนน้ำมันฯ เริ่มมีบทบาทน้อยลง เพราะปัจจุบันราคาน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปค่อนข้างจะสมดุลกันแล้ว ซึ่งไทยสามารถเชื่อมกับราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกได้มากขึ้น และยังใช้กลไกจากโรงกลั่นน้ำมันในประเทศช่วยสนับสนุนได้ ประกอบกับการซื้อน้ำมันเก็บไว้ล่วงหน้าเป็นระยะเวลาหลายเดือน โดยสิ่งเหล่านี้เป็นกลไกที่สามารถรักษาเสถียรภาพด้านราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศได้เช่นกัน
แผนรองรับวิกฤตไม่ยืดหยุ่น
ฐานะการเงินของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ปัจจุบันอยู่ในสถานะติดลบกว่า 1 แสนล้านบาท เขมภัทร ทฤษฎิคุณ นักวิจัยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ระบุว่า ควรจะต้องประเมินผลในเงินทุนหมุนเวียนกองทุนน้ำมันฯก่อน ว่าบรรลุตามวัตถุประสงค์ตามกฎหมาย และมีประสิทธิภาพในการบริหารงานหรือไม่ ถ้ายังอยากจะให้มีกองทุนฯนี้ต่อไป
ขณะเดียวกัน กองทุนน้ำมันฯ ไม่ควรอยู่ภายใต้พระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) ที่กำหนดให้ต้องส่งเงินคืนคลัง เพราะถือเป็นกองทุนฯที่มีเงินหมุนเวียนเข้า-ออกตลอดเวลา จึงไม่เหมาะสม และปัจจุบันกองทุนน้ำมันฯ มีแนวโน้มขาดดุลต่อเนื่อง การกู้เงินควรจะต้องพิจารณาตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง เพราะเป็นการเพิ่มภาระทางการคลังของประเทศในเวลาต่อมา
แผนรองรับวิกฤตการณ์ด้านน้ำมันเชื้อเพลิง ที่กำหนดให้กองทุนน้ำทันฯสามารถเข้ารักษาเสถียรภาพราคาได้ หากราคาขายปลีกดีเซลสูงเกิน 30 บาทต่อลิตร และก๊าซหุงต้ม (LPG) ถังขนาด 15 กิโลกรัม สูงเกิน 363 บาท อรรคณัฐ วันทนะสมบัติ นักวิจัยสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองว่า การกำหนดราคานี้ไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ตลาดโลกที่ผันผวน ดังนั้นควรแก้ไข โดยเฉพาะการจำลองเหตุการณ์วิกฤตให้ทันสมัยและคล่องตัวตลอดเวลา อีกทั้งปัญหาเชิงโครงสร้างกองทุนน้ำมันฯ หากออกแบบไม่ดีจะเป็นการเปิดโอกาสให้ฝ่ายการเมืองสามารถเข้ามาแทรกแซงได้ง่าย
สำหรับ มาตรา 55 กำหนดให้กองทุนฯจ่ายเงินชดเชยให้กับน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีส่วนผสมของเชื้อเพลิงชีวภาพ นักวิจัยสถาบันเอเชียศึกษา ระบุว่า หากน้ำมันชีวภาพราคาสูงกว่าน้ำมันเชื้อเพลิง ก็จะเป็นภาระให้กับกองทุนฯที่ต้องเข้าไปจ่ายชดเชย ซึ่งรัฐบาลควรใช้มาตรการอื่นเข้ามาจัดการ อย่างไรก็ตามกฎหมายดังกล่าวใกล้จะหมดเวลาดำเนินการเร็ว ๆ นี้ ซึ่งควรพิจารณาประเด็นดังกล่าวด้วย เพราะมีแนมโน้มว่าจะถูกต่อเวลาออกไปอีก
เอกชนเปิดอกค่าการตลาดน้ำมัน
ฝ่ายผู้ประกอบการเอกชน ได้ขึ้นชี้แจงกรณีถูกกล่าวหาว่าเงินกองทุนน้ำมันฯถูกนำไปชดเชยค่าการตลาดให้กับผู้ค้าน้ำมัน ศรีรัชต์ ธนะรัชต์ กรรมการบริหาร ฝ่ายรัฐกิจและองค์กรสัมพันธ์ และฝ่ายพัฒนาธุรกิจก๊าซธรรมชาติและก๊าซธรรมชาติเหลว บริษัท เชลล์แห่งประเทศไทย จำกัด ระบุว่า ความจริงค่าการตลาดน้ำมันเป็นเพียงกำไรขั้นต้นเท่านั้น และยังแฝงค่าใช้จ่ายจำนวนมาก เนื่องจากเวลาที่ราคาน้ำมันปรับขึ้น-ลง กองทุนน้ำมันฯไม่ได้ชดเชยในส่วนต่างราคาตลาดโลกอย่างเต็มที่ ซึ่งเป็นฝ่ายผู้ประกอบการที่ให้ความช่วยเหลือ หลายคนก็ทราบกันดีว่าสถานการณ์ของผู้ประกอบการก็ลำบาก เพราะล่าสุดบริษัทน้ำมันต่างชาติรายใหญ่แห่งหนึ่งก็เพิ่งถอนตัวออกจากประเทศไทย
ทั้งนี้ เห็นด้วยว่าควรจะมีกองทุนน้ำมันฯต่อไป แต่ควรดำเนินงานให้ถูกต้อง คือ ไม่ควรทำ Cross-Subsidy จนเป็นภาระให้กับประชาชน อีกทั้งไทยยังคงต้องนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศ ซึ่งกองทุนน้ำมันฯจะเป็นตัวกันชนป้องกันความผันผวนราคาตลาดโลกให้กับประชาชนในประเทศ
ผู้บริหารบริษัท เชลล์ ยังได้แสดงถึงความกังวลสภาพคล่องกองทุนน้ำมันฯที่ติดลบ เพราะเมื่อถึงช่วงที่ต้องจ่ายคืนให้กับผู้ประกอบการเอกชนอาจจะมีปัญหาด้านสภาพคล่องเหมือนช่วงครั้งก่อนหน้า ที่รัฐบาลต้องกู้เงินธนาคารมาจ่าย อย่างไรก็ตามขอเสนอ ให้กองทุนน้ำมันฯกำหนดกลุ่มช่วยเหลือเฉพาะให้ชัดเจน เช่น กลุ่มเปราะบาง เพราะจะได้ประโยชน์มากกว่าการอุดหนุนราคาน้ำมันให้กับคนทุกกลุ่ม และไม่เป็นภาระมหาศาลให้กับกองทุนน้ำมันฯในภายหลัง
ขยายเพดานกองทุน 40,000 ล้านบาท?
ใน พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง มีการกำหนดวินัยในการใช้เงินกองทุนไว้เพดานสูงสุด ไม่เกิน 40,000 ล้านบาท และกู้เงินได้อีกไม่เกิน 20,000 ล้านบาท (ปัจจุบันรัฐบาลขยายถึง 150,000 ล้านบาท) ผู้บริหารบริษัทเชลล์ มองว่า การใช้เงินกองทุนได้ไม่เกิน 40,000 ล้านบาท อาจไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ตลาดโลกปัจจุบัน แต่การเพิ่มสภาพคล่องกองทุนฯ ก็ควรจะต้องมีหลักเกณฑ์การดำเนินงานที่ชัดเจนว่าจะทำอะไรบ้าง เพื่อสร้างความชัดเจนให้กับประชาชน
แต่ รสนา ระบุว่า ในอดีตกองทุนฯ มีสภาพคล่องเพียงพอ แต่เพราะไม่มีหลักเกณฑ์ชัดเจน ทำให้ปัจจุบันกองทุนน้ำมันฯถูกนำไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ ดังนั้นควรเปลี่ยนวัตถุประสงค์กองทุนฯให้ชัดเจนว่าวิกฤตการณ์และเสถียรภาพราคาน้ำมันคืออะไร นอกจากนี้รัฐบาลควรใช้กลไกภาษีลดราคาน้ำมัน เพื่อไม่ให้เป็นภาระกองทุนน้ำมันฯ และไม่ต้องขยายเพดานกู้เงิน ดังนั้นนโยบายรัฐต้องพร้อมปรับตัวตลอดเวลา มีความยืดหยุ่นตอบสนองต่อปัญหาได้
อย่างไรก็ตาม พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ฉบับปัจจุบันถูกใช้มาตั้งแต่ปี 2562 ก่อนเกิดโควิด-19 และการสงครามยูเครน-รัสเซีย ซึ่ง พรชัย จิรกุลไพศาล ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผน (สนผ.) เห็นด้วยกับการทบทวนวัตถุประสงค์ และการนิยามต่าง ๆ ส่วนการขยายฐานะของกองทุนน้ำมัน จะต้องพิจารณาจาก พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงฉบับใหม่ก่อน ว่าจะเป็นอย่างไร และจะต้องทำอะไรก่อน เพื่อนำมาเป็นกำหนดเป็นตัวเลขเบื้องต้น
ในเวทียังมีการพูดถึง มาตรา 55 ที่กำหนดให้กองทุนฯจ่ายเงินชดเชยให้กับน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีส่วนผสมของเชื้อเพลิงชีวภาพ โดยให้จ่ายเงินกองทุนเป็นระยะเวลา 3 ปี นับตั้งพระราชบัญญัตินี้บังคับใช้ และลดการจ่ายเงินทุก ๆ 1 ปี รวมถึงสามารถขยายเวลาต่อไปได้อีก 2 ครั้ง ครั้งละไม่เกิน 2 ปี
รสนา กล่าวว่า กฎหมายกำหนดให้ลดการสนับสนุนลงเรื่อย ๆ แต่ความจริงไม่มีการลดลงเลย อาจเป็นเพราะคิดว่าจะแก้กฎหมายเพื่อขยายเวลาดำเนินการหรือไม่ จึงไม่พยายามลดการสนับสนุน ส่วนตัวมองว่าหากเกิดภาวะสงครามในต่างประเทศ และไทยมีเอทานอลราคาถูกก็จะเป็นประโยชน์กับคนไทยมาก
แต่ปัจจุบันเมื่อนำเอทานอลผสมกับเบนซิน กลับทำให้ราคาน้ำมันแพงขึ้น ซึ่งเกษตรกรอาจไม่ได้รับประโยชร์ แต่เป็นประโยชน์กับโรงกลั่นมากกว่า ดังนั้นรัฐบาลควรช่วยเหลือเกษตรกรในทางอื่นมากกว่าฝากไว้ที่ราคาน้ำมัน และระหว่างที่ยังไม่แก้ไขอะไร ก็ควรกำหนดว่าราคาน้ำมันชีวภาพจะต้องสูงเกินกี่เปอร์เซ็นต์ถึงจะเลิกอุดหนุน
กองทุนน้ำมันฯทำงานแต่เชิงรับ
ในเวทีได้มีการพูดคุยถึง กฎหมายลำดับรอง ของ พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งเป็นกฎหมายเกี่ยวกับการสรรหาผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง, การส่งเงินและรับเงินชดเชยจากกองทุนฯ และการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล
สำหรับการส่งเอกสารทางอิเล็กทรอนิกส์ในสำนักงานกองทุนน้ำมัน ได้มีตั้งข้อสงสัยจากผู้เข้าร่วมงานว่าจะกระทบการร้องเรียนของประชาชนหรือไม่ โดย บุญญภัทร์ ชูเกียรติ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ อธิบายว่าตาม พ.ร.บ.การอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตและการให้บริการแก่ประชาชน และ พ.ร.บ.การปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ ทั้ง 2 ฉบับ มุ่งเน้นอำนวยความสะดวกประชาชน และใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งบังคับหน่วยงานภาครัฐให้ยอมรับจดหมายเล็กทรอนิกส์เสมือนเอกสารฉบับจริง
แต่หากมีความจำเป็นก็สามารถใช้เอกสารกระดาษได้ เช่น เอกสารสำคัญ แต่การส่งเอกสารทางอิเล็กทรอนิกส์จะเพิ่มความสะดวกและความรวดเร็วให้ประชาชนและหน่วยงาน แต่ก็คงต้องดูเรื่องความปลอดภัย ความถูกต้องของข้อมูล และหลักฐานที่ใช้ว่าเหมาะสมหรือไม่ อย่างไรก็ตามหลักฐานที่เป็นข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ ยังมีอีกข้อดี คือ หากส่งเข้าไปในระบบจะมีการบันทึกเวลาชัดเจนว่าปลายทางได้รับเมื่อไหร่ ต่างจากเอกสารกระดาษที่ไม่มีการบันทึกเวลาแน่นอน
กองทุนน้ำมันฯคนทำงานไม่เพียงพอ
ขณะที่ วิศักดิ์ วัฒนศัพท์ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ยืนยันว่า การส่งเอกสารทางอิเล็กทรอนิกส์มีความสะดวกและรวดเร็วจริง เพราะที่ผ่านมาสำนักงานกองทุนน้ำมันฯ ได้ใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์มาระยะหนึ่งแล้ว ทำให้การยื่นเอกสารผ่านระบบจะมีความรวดเร็ว อีกทั้งเจ้าหน้าที่สามารถตรวจสอบเอกสารได้ง่ายกว่าและเกิดควาดผิดพลาดได้น้อย ซึ่งที่ผ่านมาผู้ค้าน้ำมันต่างก็ปรับตัว และใช้ระบบนี้เกือบทั้งหมด
ส่วนในด้านการการทำงานของกองทุนน้ำมันฯ ยอมรับว่า 4 ปีที่ผ่านมา เน้นบริหารงานเชิงรุกเท่านั้น เพราะมีสถานการณ์สงครามยูเครน-รัสเซีย อีกทั้งมีเจ้าหน้าที่เพียง 20 คน อย่างในช่วงปี 2565 มีการประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง จำนวน 188 ครั้ง จนเจ้าหน้าที่ทำเอกสารการประชุมเกือบไม่ทัน จึงได้ทำเรื่องขอกำลังคนเพิ่ม และเพิ่งได้รับอนุมัติมาไม่นาน
ฝั่งผู้ประกอบการเอกชน เสนอให้กระบวนการนำส่งเงินกองทุน และการขอรับเงินคืน ไม่ต้องแยกส่วนกัน เพื่อลดเวลาการดำเนินงาน และไม่ต้องรอเงินนาน อีกทั้งหน่วยภาครัฐก็จะได้ลดขั้นตอนการตรวจสอบด้านสภาพคล่อง
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
ครม.ต่ออายุตรึงดีเซลไม่เกิน 33 บาท/ลิตร ถึงต.ค.67
รัฐเลิกอุดหนุนราคาพลังงาน ดันต้นทุนเพิ่ม กระตุ้นเงินเฟ้อพุ่ง
มุมมองทีดีอาร์ไอ ขึ้นราคาดีเซลขั้นบันไดเหมาะสม ไม่กระทบประชาชนมาก