คนไทยแห่ส่งลูกเรียนหลักสูตรต่างชาติ
สถิติการเกิดของเด็กไทยมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้มีจำนวนนักเรียนลดลงตามไปด้วย โดยจากสถิติในระหว่างปี 2555-2567 จำนวนเกิดใหม่ลดลงเฉลี่ยต่อปีอยู่ที่ 4.5% และจำนวนนักเรียนในระบบมีอัตราลดลงอยู่ที่ 0.9% จะเห็นได้ว่าอัตราการลดลงของนักเรียนไปในทิศทางเดียวกับจำนวนเด็กเกิดใหม่ที่ลดลง
แต่กลับกันจำนวนนักเรียนของโรงเรียนนานาชาติ มีอัตราการเติบโตที่สูงขึ้นเฉลี่ย 6.9% ต่อปี จากบทวิเคราะห์ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย พบว่า แนวโน้มที่เพิ่มขึ้นของนักเรียนโรงเรียนนานาชาติ เกิดมาจากปลายปัจจัย หนึ่งในนั้น คือ การเพิ่มขึ้นของนักเรียนต่างชาติที่สอดคล้องกับจำนวนชาวต่างชาติในตำแหน่งผู้บริหารที่เข้ามาทำงานในไทย ที่เติบโตเฉลี่ย 0.6% ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา
ขณะเดียวกันความนิยมในหลักสูตรการศึกษาต่างประเทศก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน เนื่องจากมีการพัฒนาหลักสูตรให้ทันสมัย และทันการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอเมื่อเทียบกับหลักสูตรไทย รวมไปถึงศักยภาพการลงทุนด้านการศึกษาของผู้ปกครองที่สูงขึ้น สะท้อนจากคาดการณ์จำนวนคนที่มีทรัพย์สินมากกว่า 1 ล้านดอลลาร์ฯในไทย จะเพิ่มขึ้น 24% ระหว่างปี 2566-2571 ซึ่งยังเป็นปัจจัยหลักที่สนับสนุนการเติบโตของจำนวนนักเรียนโรงเรียนนานาชาติ
โรงเรียนนานาชาติโตเฉลี่ย 5.0% ต่อปี
ย้อนกลับมาที่ภาครวมจำนวนนักเรียนที่มีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง ทำให้ระหว่างปีการศึกษา 2555-2567 เกิดการทยอยปิดตัวของโรงเรียน โดยโรงเรียนรัฐบาลมีอัตราการลดลงเฉลี่ยถึง 0.6% ต่อปี รวมไปถึงโรงเรียนเอกชนหลักสูตรไทยก็มีแนวโน้มลดลงเฉลี่ย 0.7% ต่อปี ในทางตรงกันข้าม จำนวนโรงเรียนนานาชาติกลับเติบโตเฉลี่ย 5.0% ต่อปี สวนทางโรงเรียนประเภทอื่น สะท้อนให้เห้นถึงแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของกิจการโรงเรียนสู่หลักสูตรการศึกษาต่างประเทศมากขึ้น
โรงเรียนนานาชาติมีแนวโน้มขยายตัวสู่นอกกรุงเทพฯมากขึ้น ในช่วงปี 2555-2567 อัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีของจำนวนนักเรียนและจำนวนโรงเรียนนานาชาติที่ตั้งในภูมิภาคอื่น จะสูงกว่าของกรุงเทพฯ ถึง 4.3% และ 6.3% ตามลำดับ
การแข่งขันในธุรกิจโรงเรียนนานาชาติที่เพิ่มขึ้น และพื้นที่ในกรุงเทพฯ ที่จำกัด ทำให้ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาธุรกิจโรงเรียนนานาชาติต้องสำรวจตลาดใหม่ ๆ ในหัวเมืองหลัก เช่น เชียงใหม่ ระยอง และภูเก็ต เป็นต้น ทั้งนี้ เศรษฐกิจใน 21 เมืองหลักได้เติบโตในอัตราที่สูงกว่ากรุงเทพฯ โดยในปี 2565 อัตราการเติบโต GDP ต่อหัวของ 21 เมืองหลักสูงกว่ากรุงเทพฯ ถึง 2% ซึ่งทำให้ตลาดนอกกรุงเทพฯ ดูน่าสนใจมากขึ้น
แนวโน้มดังกล่าวแสดงให้เห็นโอกาสขยายธุรกิจโรงเรียนนานาชาติไปยังพื้นที่นอกกรุงเทพฯ โดยเฉพาะภาคกลางและตะวันออก ซึ่งน่าจะเป็นตลาดศักยภาพ เพราะมีจานวนครัวเรือนรายได้เกิน 100,000 บาทต่อเดือน รองจากกรุงเทพฯ และปริมณฑล
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากจำนวนครัวเรือนที่เป็นกลุ่มเป้าหมายในแต่ละภูมิภาคมีน้อยกว่ากรุงเทพฯ ทำให้ผู้ประกอบการอาจจะต้องปรับลดค่าเล่าเรียนให้สอดคล้องกับรายได้ผู้ปกครองที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่
สำหรับตลาดโรงเรียนนานาชาติไทย คาดว่าในปี 2567 มูลค่าจะเติบโตราวร้อยละ 13 จากปี 2566 ที่ระดับ 8.7 หมื่นล้านบาท
ความท้าทายโรงเรียนนานาชาติ
1.การเพิ่มขึ้นของค่าเล่าเรียนโรงเรียนนานาชาติ อาจทำให้ผู้ปกครองพิจารณาส่งบุตรหลานไปศึกษาในต่างประเทศแทน เนื่องจากช่องว่างระหว่างค่าเล่าเรียนเริ่มลดลง ในปีการศึกษา 2567
2.โรงเรียนนานาชาติอาจเผชิญกับความท้าทายจากการแข่งขันกับโรงเรียนเอกชนหลักสูตรไทยที่พัฒนาคุณภาพและมีค่าใช้จ่ายต่ำกว่า ผู้ปกครองอาจตัดสินใจเปลี่ยนไปเลือกโรงเรียนเอกชนหลักสูตรไทยที่มีการเปิดสอนโปรแกรมภาษาอังกฤษ และสอนหลายภาษา เช่น ไทย อังกฤษ และจีน เป็นต้น ซึ่งท้าทายจุดแข็งของโรงเรียนนานาชาติในด้านภาษา
3.การพัฒนาทางเทคโนโลยีทำให้การเรียนโฮมสคูลง่ายขึ้น และเนื่องจากค่าใช้จ่ายในการเรียนโฮมสคูลต่ำกว่าการเรียนในโรงเรียนนานาชาติ จึงอาจส่งผลกระทบต่อจำนวนนักเรียนในโรงเรียนนานาชาติได้ โดยค่าใช้จ่ายในการสอบ GED (เทียบวุฒิมัธยมปลายของสหรัฐฯ) รวมกับค่ากวดวิชาแบบเรียนตัวต่อตัว 100 ชั่วโมง จะอยู่ที่ประมาณ 160,800 บาท
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
- 10 ปีผ่านไป นโยบายแจกแท็บเล็ตเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง
- ตั้งกองทุนเพื่อพัฒนาการอุดมศึกษา หวังความเป็นเลิศ
- เช็กสุขภาวะทางดิจิทัล 2567 แต่ละ Gen เป็นอย่างไร ?
ที่มา : ศูนย์วิจัยกสิกรไทย