หลักสูตรสมรรถนะ ดูจะเป็นหนึ่งในทางเลือกที่ดีที่สุดในการเปลี่ยนหลักสูตรการศึกษาไทย เพราะเป็นการเรียนการสอนที่ส่งเสริมให้เด็กเกิดสมรรถนะด้านต่างๆ ที่สอดคล้องต่อชีวิตจริง ตัวอย่างเช่น โรงเรียนแม่คือวิทยาในจังหวัดเชียงใหม่ ใช้โอกาสทองของ พรบ. พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ปี 62 เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงและยกระดับคุณภาพการศึกษาในโรงเรียน และเพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตให้แก่เด็ก
โรงเรียนแม่คือวิทยา จ. เชียงใหม่
โรงเรียนแม่คือวิทยา ตั้งอยู่ในอำเภอสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ สอนตั้งแต่ระดับ ป. 1 จนไปถึง ม. 3 เป็นโรงเรียนที่อยู่ชายขอบของจังหวัด โดยนักเรียนมาจากหลากหลายพื้นที่ 50% เป็นคนพื้นเมืองเชียงใหม่ อีก 50% เป็นไทยใหญ่และเมียนมา
เพราะฉะนั้นเด็กมีความหลากหลายทั้งด้านครอบครัว พื้นฐาน ภาษา และวัตนธรรม เด็กนักเรียนส่วนใหญ่ในโรงเรียนเป็นเด็กที่ด้อยโอกาส ฐานะทางบ้านอาจจะขาดความพร้อมด้านทรัพยากรที่จะส่งไปเรียนในเมือง โดย เป้าหมายของเด็กนักเรียนชั้น ม. 3 ส่วนใหญ่ถึง 70% จบแล้วไปประกอบอาชีพ หรือ เรียนสายอาชีพต่อ มีเพียงส่วนน้อยที่จะเรียนต่อในด้านสายสามัญ
จุดเปลี่ยนในโรงเรียน เริ่มขึ้นเมื่อ สุริยน สุริโยดร ผู้อำนวยการของโรงเรียนแม่คือวิทยา มองเห็นว่า เด็กนักเรียนไม่มีความสนใจหรือสนุกกับการเรียน “นักเรียนมาแค่เรียนให้ผ่านเฉย ๆ แต่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับสิ่งที่ทำอยู่” ประกอบกับหลักสูตรการศึกษาแกนกลางปี 51 ที่ไม่ตอบโจทย์ต่อนักเรียนของโรงเรียน ผอ. สุริยนจึงมีความคิดที่อยากจะเปลี่ยนหลักสูตรให้ตรงต่อความต้องการของเด็กที่แท้จริง
การเปลี่ยนแปลงไม่ไปต่อ หากทุกฝ่ายไม่อยากเปลี่ยน
การเปลี่ยนแปลงจะไม่สามารถเกิดขึ้นด้วยได้คนเดียว ดังนั้น ผอ. สุริยนเริ่มต้นด้วยการนำแนวความคิด (Concept) ของหลักสูตรสมรรถนะ และแนวทางของโรงเรียนไปนำเสนอต่อผู้ปกครองและคุณครู ซึ่งผลลัพธ์เป็นที่น่าพอใจ
- ครอบครัว ผู้ปกครอง ส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการที่จะเปลี่ยนแปลงการสอนจากหลักสูตรปี 51 มาเป็นหลักสูตรสมรรถนะถึงแม้ว่าจะเป็นการทำสิ่งใหม่ ๆ ก็ตาม เพราะเห็นว่าจะตรงต่อสิ่งที่ลูกหลานสนใจมากกว่า
- ครู มีความปรารถนาที่อยากจะให้เด็กนักเรียนได้ดี สิ่งต่าง ๆ ที่จะทำให้ชีวิตของนักเรียนดีขึ้น ครูก็พร้อมจะสนับสนุน ฉะนั้นแล้ว ครูจึงเห็นด้วยและพร้อมที่จะลองให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหลักสูตรภายในโรงเรียน ซึ่ง Mindset ของครูนั้นสำคัญมากในการที่จำสร้างความเปลี่ยนแปลง
นอกจากนี้ ผอ. สุริยนชี้ให้ครูเห็นถึง ช่องว่างระหว่างโลกการเรียนรู้และโลกความเป็นจริงว่ามันโตไม่เท่ากัน
สมรรถนะประเภทที่ 3
หลักสูตรสมรรถนะมี อยู่ 4 ประเภทด้วยกัน
- ประเภทที่หนึ่ง ยังคงใช้หลักสูตรแกนกลางปี 51 แต่มีการเสริมการเรียนรู้สมรรถนะเข้าไป
- ประเภทที่สอง ยังคงใช้หลักสูตรแกนกลางปี 51 เพิ่มการเรียนรู้สมรรถนะมากกว่าแบบแรก
- ประเภทที่สาม ไม่นำหลักสูตรแกนกลางปี 51 มาใช้ในการเรียนการเลย
- ประเภทที่สี่ นำหลักสูตรจากต่างประเทศเข้ามาสอน
สำหรับโรงเรียนแม่คือวิทยา เลือกที่จะใช้หลักสมูตรสมรรถนะประเภท 3 ซึ่งเป็นการไม่นำหลักสูตรการศึกษาแกนกลางปี 51 มาใช้แม้แต่นิดเดียว โดยเริ่มพัฒนาหลักสูตรตั้งแต่ปี 2562 และได้รับอนุมัติปี 2563 และนำมาใช้จริงตั้งแต่ปีการศึกษา 2564 เป็นต้นมา ซึ่งผอ. สุริยน ชี้ว่าการพัฒนาหลักสูตรยังคงต้องทำต่อเนื่องเมื่อนำมาใช้จริงแล้ว
เป้าหมายเล็กลง แต่เชื่อมโยง
ผอ.สุริยน เล่าให้ฟังว่าในการทำหลักสูตรใหม่นี้ ได้ถูกออกแบบและตั้งเป้าหมายเป็น 3 ช่วงสำหรับแต่ระดับชั้น
1) เป้าหมายแรก “Build Up” เป็นเรื่องของการสร้าง เสริมทักษะ การคิด คำนวณ อ่านออก เขียนได้ในเบื้องต้น สำหรับนักเรียน ป. 1 – ป. 3
2) เป้าหมายที่สอง “Search For” หรือ ค้นหา เป้าหมายนี้สำหรับนักเรียนระดับชั้น ป. 4 – ป. 6 และมีการนำทฤษฎีพหุปัญญาเข้ามา หรือการส่งเสริมปัญญาในหลายๆ ด้าน โรงเรียนมีความตั้งใจที่จะให้นักเรียนค้นหาสิ่งที่ตัวเองชอบหรือที่สนใจ ซึ่งก่อนหน้านี้คำว่า เด็กเก่งมีความหมายเดียว คือเด็กที่เก่งวิชาการ
แต่ทว่าโรงเรียน ครู และสิ่งแวดล้อมต้องทำความเข้าใจใหม่ว่า เด็กเก่ง คือ เก่งในแบบของตัวเอง เช่น เด็กเก่งดนตรี = เด็กที่เก่งคณิตศาสตร์ = เด็กที่เก่งพละศึกษา เป็นต้น ก่อนหน้านี้ไม่มีพื้นที่ให้ ‘เด็กหลังห้อง’ หรือเด็กที่มีความถนัดในด้านอื่น ๆ ยืน
3) เป้าหมายที่สาม “Be Inspired” หรือ สร้างแรงบันดาลใจ สำหรับนักเรียน ม.1 – ม.3 หลังจากที่เด็กมีความเข้าใจในตัวเองมากขึ้นแล้ว โรงเรียนต้องส่งเสริมต่อในเรื่องของการสร้างแรงบันดาลใจ ให้นักเรียนรู้ว่าตัวเองมีความชอบด้านไหน จะได้เดินก้าวต่อไปอย่างมั่นใจและชัดเจนมากขึ้น
ในการแบ่งเป้าหมายออกเป็น 3 ช่วงแบบนี้จะทำให้ทั้งครูและนักเรียน มุ่งต่อการเรียนรู้ได้ดีขึ้น ซึ่งไม่ใช่แค่การเรียนรู้ในห้องเรียน แต่รวมถึงการเรียนรู้เกี่ยวกับตัวเอง และนอกห้องเรียนด้วย
เปลี่ยนห้องเรียนเป็น “ห้องสร้างอาชีพ”
เนื่องจากนักเรียนส่วนใหญ่มีความต้องการที่จะทำงานสายอาชีพ โรงเรียนจึงมีการเซ็นสัญญา MOU ขึ้นมากับวิทยาลัยสารพัดการช่าง เชียงใหม่ เพื่อเปิดโลกการเรียนรู้ที่เสมือนจริงมากขึ้นให้แก่นักเรียนช่วงที่ 3 ชั้น ม. 1 – ม. 3
ในทุกช่วงเปิดเทอม โรงเรียนแม่คือวิทยาจะขอรายวิชาชีพที่วิทยาลัยเปิดสอน ประมาณ 7-8 วิชา เช่นทำขนม ทำเครื่องดื่ม ตัดผม ช่างยนต์ เป็นต้น โดยโรงเรียนจะดูแลเรื่องค่าลงทะเบียนและผู้ปกครองเป็นคนรับผิดชอบเรื่องค่าใช้จ่ายการเดินทาง
นักเรียนม. 1 – ม. 3 จะได้เรียนวิชาชีพหลังเลิกเรียนทั้งหมด 6 เทอม (เทอมละหนึ่งสายอาชีพ) ซึ่งแปลได้ว่าตอนที่นักเรียนเรียนจบชั้นม. 3 เขาจะได้ทดลองทำงานแล้วถึง 6 อาชีพ ผอ. สุริยนเน้นว่า “เราไม่ได้คาดหวังว่าเขาจะชอบหรือไม่ชอบ เจตนาคืออยากให้เด็กได้ลอง”
“ไม่ต้องกลัวเด็กหาย”
ผอ. สุริยนพูดด้วยความภูมิใจว่า “ไม่ต้องกลัวเด็กหายเลย พอถึงเวลาเด็กเข้าจะวิ่งเข้าหาครูเอง” ประโยคนี้สื่อให้เห็นว่าเด็กมีความสนใจในการเรียนมากขึ้น มีความกระตือรือร้นยิ่งขึ้น ซึ่งสุดท้ายแล้วจะเป็นข้อดีต่อตัวเด็กเอง
มากไปกว่านี้ สิ่งที่สำคัญอีกอย่างคือ Self-esteem หรือความมั่นใจในตัวเด็กที่เพิ่มมากขึ้น สิ่งนี้เกิดขึ้นได้เพราะทุกคนมีที่ยืนและช่องทางของความสำเร็จตัวเอง เด็กที่แต่ก่อนถูกนิยามว่าเป็นเด็กหลังห้องไม่ใช่เด็กหลังห้องอีกต่อไป ในอดีต เด็กกลุ่มนี้แค่ไม่มีที่ยืน ไม่มีพื้นที่ที่เขาชอบ สุดท้ายแล้วเมื่อนักเรียนได้ทำในสิ่งที่ชอบและมีคนให้คุณค่ากับสิ่งนั้น เขาก็คือเด็กเก่งเหมือนกัน
การสร้าง Self-esteem สำคัญมากต่อทุกคนเพราะจะสามารถต่อยอดไปให้ไกลขึ้น เขาจะมองเห็นคุณค่าของตัวเอง มีความเชื่อมั่นในตัวเอง และมีแนวโน้มที่จะสร้างความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นต่อคนอื่นๆ
หลักจากเปลี่ยนหลักสูตรใหม่ เด็กส่วนใหญ่ยังคงอยากเรียนสายอาชีพต่อ แต่สิ่งที่เปลี่ยนแปลงคือ ‘ความชัดเจน’ ในตัวเด็กที่รู้และเข้าใจว่าตัวเองว่าอยากไปด้านไหนต่อ ซึ่งทำให้เด็กไม่เสียเวลาและเงินในการทดลองเรียนสิ่งที่ไม่ชอบ ชัดขึ้นว่าจะไปสายสามัญหรืออาชีพ หรือชอบอาชีพไหน
พรบ. นวัตกรรมพื้นที่การศึกษา คือประตูสำคัญ
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ทำให้โรงเรียนแม่คือวิทยาสามารถปรับเปลี่ยนหลักสูตรได้คือ พรบ. พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ปี 2562
พรบ. ฉบับนี้นิยาม “พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา” ว่าเป็นพื้นที่ที่คณะรัฐมนตรีประกาศกำหนดให้เป็นพื้นที่ ปฏิรูปการบริหารและการจัดการศึกษาเพื่อสนับสนุนการสร้างนวัตกรรมการศึกษา
วัตถุประสงค์ของ พรบ. มีดังนี้
- คิดค้นและพัฒนานวัตกรรมการศึกษาและการเรียนรู้เพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา ของผู้เรียน รวมทั้งเพื่อดำเนินการให้มีการขยายผลไปใช้ในสถานศึกษาขั้นพื้นฐานอื่น
- ลดความเหลื่อมล้ำในการศึกษา
- กระจายอำนาจและให้อิสระแก่หน่วยงานทางการศึกษาและสถานศึกษาน าร่องในพื้นที่ นวัตกรรมการศึกษาเพื่อเพิ่มความคล่องตัวในการบริหารและการจัดการศึกษาให้มีคุณภาพและ ประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
- สร้างและพัฒนากลไกในการจัดการศึกษาร่วมกันระหว่างภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา
หลายๆ โรงเรียนที่เข้ามาเยี่ยมชมหลักสูตรสมรรถนะของโรงเรียนแม่คือวิทยามักจะมีคำถามว่า “ทำแบบนี้ได้ด้วยหรอ?” ซึ่งแสดงให้เห็นว่า โรงเรียนต่างๆ อาจยังขาดความเข้าใจต่อ พรบ. พื้นที่นวัตกรรมการศึกษาอยู่ ถึงสิ่งที่ทำได้และขีดข้อจำกัด ซึ่งหนึ่งในเหตุผลที่หลายโรงเรียนในเขตพื้นที่นวัตกรรมยังไม่เปลี่ยนแปลงหลักสูตร มาจากการที่ไม่เห็นผลประโยชน์ของ พรบ.
ผอ. สุริยน เน้นว่า ความรู้เรื่องพรบ. พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา นั้นสำคัญมากว่าจะช่วยอะไรเราได้ และเปิดโอกาสอะไรได้
“พรบ. พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา เป็นเครื่องมือที่ดี เพราะให้อิสระเยอะแยะมากมาย เปิดโอกาสให้โรงเรียนสามารถได้ใช้ประโยชน์ในการแก้ไขหลักสูตร ที่ไม่มีกฎหมายรองรับ”
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง:
เพศวิถีศึกษา: สะท้อนกระทรวงศึกษาธิการ “ล้าหลัง” ตามไม่ทันปัญหา