จุดเด่นของ ‘เชียงใหม่โมเดล’ คือการเปิดให้ภาคส่วนต่าง ๆ ในพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา ไม่ใช่รอให้ส่วนกลางหรือคนนอกพื้นที่มาเป็นฝ่ายสั่งการ ทำให้การแก้ไขปัญหาเป็นไปอย่างตรงจุด รวดเร็วและตอบโจทย์พื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งเปลี่ยนจากการสั่งการแบบบนลงล่าง เป็นล่างขึ้นบน
ทั้งนี้ เรื่องฝุ่นมลพิษเป็นเรื่องใหญ่ ที่ไม่อาจปล่อยให้หน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งเข้ามาแก้ไขแต่เพียงลำพัง อีกทั้งที่ผ่านมาในพื้นที่มีหลายฝ่ายพยายามแก้ปัญหากันมาอย่างต่อเนื่องเพราะเห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญที่กระทบกับทุกคน แต่รูปแบบการแก้ปัญหาเป็นแบบต่างคนต่างทำ จนไม่สามารถขับเคลื่อนกระบวนการแก้ปัญหาได้ทั้งระบบ
จนกระทั่งปี 2562 เริ่มมีความพยายามรวมกลุ่มกันเพื่อแก้ปัญหา ทำให้จากที่ต่างคนต่างมองปัญหากันคนละส่วน กลายเป็นการเห็นภาพปัญหาร่วมกัน และมองไปสู่เป้าหมายปลายทางเดียวกัน จนค่อย ๆ พัฒนามาเป็นแพลตฟอร์มการแก้ปัญหาที่เป็นระบบ เชื่อมโยงภาคส่วนต่าง ๆ เข้ามาทำงานร่วมกัน โดยใช้ฐานข้อมูล และนวัตกรรม เป็นเครื่องมือแก้ปัญหา
ทบทวนแนวคิดจาก “ห้ามเผา” เป็นการบริหารจัดการเชื้อเพลิง
ชัชวาลย์ ทองดีเลิศ ประธานคณะกรรมการอำนวยการสภาลมหายใจเชียงใหม่ อธิบายว่า จากการทำงานแก้ปัญหาอย่างต่อเนื่องมา 14 ปี แต่ก็ยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้ และปัญหายังหนักขึ้นทุกปี นำมาสู่การปรับแนวคิดว่า ถ้ายังแก้ปัญหาแบบเดิมก็ไม่สามารถแก้ได้ ต้องมาทบทวนแนวคิด ตั้งแต่สาเหตุของมลพิษฝุ่นควันมิใช่เพียงแค่การเผาพื้นที่เกษตร และพื้นที่ป่า แต่เกิดจากการเผาไหม้ทุกชนิดทั้ง คมนาคมขนส่ง โรงงาน อุตสาหกรรม โรงงานไฟฟ้า การเผาในพื้นที่เกษตร และพื้นที่ป่า รวมทั้งแหล่งกำเนิดจากประเทศเพื่อนบ้าน
นอกจากนี้ ในเรื่องไฟป่าได้มีการทบทวนแนวคิดจาก Zero Burning หรือ ห้ามเผาเด็ดขาด มาเป็น Fire Management หรือ การบริหารจัดการเชื้อเพลิง โดยกำหนดพื้นที่เป็น 1. พื้นที่สำคัญ ห้ามเผา 2. พื้นที่จำเป็น บริหารการเผาแบบควบคุม และ 3. ลดปริมาณเชื้อเพลิง
พัฒนาแอปพลิเคชัน Fire D ตัดสินใจบนข้อมูลวิชาการ
ในส่วนของการบริหารจัดการเผาแบบควบคุม จะใช้ระบบการจองเผาในพื้นที่เกษตรผ่านแอปพลิเคชัน Fire D ที่จะมีข้อมูลพื้นฐานทั้งปริมาณฝุ่น PM 2.5 ฮอตสปอต กระแสลมแบบเรียลไทม์ และพยากรณ์ล่วงหน้าได้ 3-5 วัน ซึ่งจะใช้ประกอบการพิจารณาในการจองคิวเผา ว่าเวลาเผาได้ หรือไม่ควรเผา เป็นการจัดการโดยใช้ข้อมูลวิชาการ
โดยทั้งหมดให้ทางพื้นที่เป็นฝ่ายพิจารณาจัดคิวเผา โดยมี 12 ตำบลนำร่องพิจารณาด้วยตัวเอง ส่วนที่เหลือจะเป็นระดับอำเภอเป็นผู้พิจารณา ซึ่งหากเป็นพื้นที่ที่มีขนาดใหญ่การเผาก็จะซอยแปลงให้มีขนาดเล็กลงเพื่อควบคุมดูแลป้องกันการลุกลาม โดยปีที่แล้วมียอดจองเผาผ่านแอปพลิเคชันเพียงแค่ 10 % แต่ ปีนี้เพิ่มขึ้นเป็น 60% ซึ่งตั้งเป้าจะทำให้ถึง 100%
เปลี่ยนจาก ‘คำสั่ง’ เป็นการมีส่วนร่วมยึดโยงทุกภาคส่วนร่วมวางแผน
อีกด้านหนึ่งในการแก้ปัญหาต้องเปลี่ยนจาก ‘คำสั่ง’ มาเป็น ‘การมีส่วนร่วม’ โดยใช้พื้นที่เป็นตัวตั้ง ชุมชนเป็นแกนหลัก อปท. เป็นแกนประสาน ภาครัฐ ธุรกิจ วิชาการสนับสนุน ประชาสังคมเชื่อมโยง เปลี่ยนแผนเฉพาะหน้า เป็นแผนยั่งยืนแก้ทุกเหตุระยะสั้น กลาง ยาว
นอกจากนี้ยังมี วอร์รูม ตั้งอยู่ที่ อบจ.เชียงใหม่ ที่จะเป็นศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ บริหารจัดการจองเผา และติดตาม ฮอตสปอต รวมไปถึงจัดการไฟในพื้นที่ระดับจังหวัด โดยทำงานร่วมกับทางสถาบันวิชาการทำงานวิจัยฝุ่นควัน ศูนย์การแก้ปัญหาฝุ่นควัน เดินหน้าติดตั้งเครื่องวัดคุณภาพอากาศทุกตำบล
รวมทั้งในส่วนการทำงานเชิงรณรงค์ไม่ให้เผา จะมีกลไกเข้าไปช่วยสนับสนุนชาวบ้านทั้งรถไถกลบ ค่าน้ำมัน ทั้งหมดเป็นการทำงานร่วมกันของภาคประชาสังคมที่ทำงานสิ่งแวดล้อม ร่วมกับในพื้นที่
ปรับแผนเพิ่มประสิทธิภาพคุมไฟผ่าน 7 กลุ่มพื้นที่ป่า
การบริหารป้องกันดูแลไฟป่าและการบริหารจัดการเชื้อเพลิง จากเดิมที่ใช้รูปแบบการทำงานเชิงพื้นที่แบบตำบล อำเภอ จังหวัด ปัจจุบันเปลี่ยนมาเป็นพื้นที่แบบนิเวศป่าที่มี 7 พื้นที่ ได้แก่ 1. กลุ่มพื้นที่ป่าอำเภออมก๋อย 2. กลุ่มพื้นที่ป่าอำเภอแม่แจ่ม 3. กลุ่มพื้นที่ป่าดอยอินทนนท์ 4. กลุ่มพื้นที่ป่าดอยสุเทพ 5. กลุ่มพื้นที่ป่าอำเภอสันทราย 6. กลุ่มพื้นที่ป่าศรีลานนา และ 7. กลุ่มพื้นที่ป่าดอยหลวงเชียงดาว ทำให้เกิดประสิทธิภาพในการดูแลพื้นที่ได้ดีขึ้น
อีกด้านหนึ่งยังมีการคณะกรรมการด้านคมนาคมขนส่ง โรงงาน การก่อสร้าง คณะทำงานที่ดินป่าไม้ คณะทำงานอนุรักษ์ต้นยาง คณะทำงานด้านลดฝุ่นควัน คณะทำงานข้อมูลวิชาการและการสื่อสารควบคู่ไปกับคณะกรรมการแก้ไขปัญหาฝุ่นควันระดับจังหวัด ตามกฎหมายป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย รวมทั้งสร้างกระบวนการทำงานโดยให้ชุมชนร่วมกันพัฒนาแผนป้องกัน และแก้ไขปัญหาฝุ่นควันระดับชุมชนเชื่อมโยงเป็นแผนระดับตำบล โดยมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นแกนประสานสนับสนุน
ความสำเร็จที่เกิดขึ้นจะเห็นว่าในช่วงเดือน ม.ค. – ก.พ. ปีนี้ สถานการณ์ฝุ่นในพื้นที่ดีขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา แต่สถานการณ์กำลังหนักขึ้นในช่วงเดือน มี.ค. ซึ่งยังเป็นโจทย์ที่จะต้องถอดบทเรียนและปรับปรุงให้ ‘เชียงใหม่โมเดล’ ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นต่อไป