กระทรวงการคลัง มีเป้าหมายให้ไทยเป็นประเทศศูนย์กลางทางการเงินอย่างครบวงจร (Financial Hub) เพื่อดึงดูดธุรกิจธนาคารและสถาบันการเงินของต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศ ด้วยการอำนวยความสะดวกในการจัดตั้งธุรกิจ พร้อมส่งเสริมและให้สิทธิประโยชน์ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ด้วยกฎหมายพระราชบัญญัติศูนย์กลางการประกอบธุรกิจทางการเงิน (พ.ร.บ.ศูนย์กลางการประกอบธุรกิจทางการเงิน)
คณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อ 4 ก.พ. ได้มีมติอนุมัติหลักการ ร่าง พ.ร.บ.ศูนย์กลางการประกอบธุรกิจทางการเงิน พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฏีกา ตรวจพิจารณาเป็นเรื่องด่วนโดยให้รับความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (สำนักงาน ก.พ.) สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (สำนักงาน ก.พ.ร.) สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎรต่อไป
ทั้งนี้ ครม. รับทราบแผนในการจัดทำกฎหมายลำดับรอง กรอบระยะเวลา และกรอบสาระสำคัญของกฎหมายลำดับรองที่ออกตามร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ พร้อมให้ กระทรวงการคลัง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งประชาสัมพันธ์ให้กับประชาชนเพื่อสร้างการรับรู้ ความเข้าใจ และประโยชน์ที่จะได้รับของการจัดตั้งศูนย์กลางการประกอบ ธุรกิจทางการเงินขึ้นในประเทศไทย ซึ่งเป็นการผลักดันให้เศรษฐกิจไทยสามารถเติบโตได้เต็มประสิทธิภาพต่อไป
ธปท.ห่วงเป็นแหล่งฟอกเงิน
ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะผู้ทำหน้าที่ในการรักษาเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจการเงินในประเทศไทย ได้ส่งหนังสือถึงเลขาธิการคณะรัฐมนตรี แสดงความเห็นต่อร่าง พ.ร.บ.ศูนย์กลางการประกอบธุรกิจทางการเงิน ลงชื่อโดย เศรษฐพุฒิ สิทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการ ธปท. ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฏีกา และสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ได้มีหนังสือด่วนที่สุด ขอให้ ธปท. พิจารณาและยืนยันความเห็นต่อร่าง พ.ร.บ.ดัังกล่าว
หนังสือดังกล่าวมีใจความว่า ธปท. ขอเรียนย้ำความเห็นเกี่ยวกับประเด็นที่ต้องคำนึงถึงในการจัดตั้งศูนย์กลางทางการเงิน (Financial Hub) ในประเทศไทย ซึ่งเคยได้หยิบยกในการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายและยกร่างกฎหมายเพื่อจัดตั้งศูนย์กลางทางการเงิน การประชุมคณะอนุกรรมการยกร่างกฎหมายเพื่อจัดตั้งศูนย์กลางทางการเงิน และการประชุมเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ของคณะกรรมการกฤษฎีกา รวมถึงเคยได้มีหนังสือแจ้งความเห็นให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาเมื่อ 27 ม.ค. 68 ด้วยแล้ว ดังนี้
ธปท.ห่วงเป็นแหล่งฟอกเงิน
1. กำกับดูแลความเสี่ยงด้านการฟอกเงิน หรือการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย (AML/CFT) ของการประกอบธุรกิจใน Financial Hub ในระดับที่ไม่ต่ำกว่ามาตรฐานในระบบการเงินหลักของประเทศและสอดคล้องกับมาตรฐานสากล
เนื่องจากกฎเกณฑ์ใน Financial Hub ผ่อนคลายมากกว่าปกติ Financial Hub บางแห่งจึงถูกจับตามอง หรือมีภาพลักษณ์ในการเป็นแหล่งสนับสนุนธุรกรรมทางการเงินที่ไม่ถูกกฎหมาย เช่น การฟอกเงิน การสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย หรือการละเมิดสิทธิมนุษยชน ดังนั้น เพื่อลดความเสี่ยงที่ Financial Hub ในประเทศไทยจะกลายเป็นแหล่งสนับสนุนธุรกรรมทางการเงินที่ผิดกฎหมาย
การประกอบธุรกิจใน Financial Hub จึงจำเป็นต้องอยู่ภายใต้มาตรฐานการกำกับดูแลการป้องกันความเสี่ยงด้าน AML/CFT ที่ไม่ต่ำกว่ามาตรฐานในระบบการเงินหลักของประเทศและเป็นสากล รวมถึงต้องมีกลไกการบังคับใช้ที่ชัดเจนและเพียงพอ เพื่อให้มั่นใจว่าการกำกับดูแลด้าน AML/CFT จะเป็นไปอย่างเข้มงวด
มิฉะนั้น อาจทำให้การจัดตั้ง Financial Hub กลายเป็นการสร้างช่องทางในการหลบเลี่ยงกฎเกณฑ์และเป็นช่องทางในการฟอกเงิน ซึ่งจะกระทบต่อความเชื่อถือของระบบการเงินหลักและสร้างความเสียหายต่อประเทศในระยะยาวได้
ห้ามปนกับระบบการเงินหลักในประเทศ
2. ป้องกันไม่ให้การประกอบธุรกิจใน Financial Hub กระทบต่อเสถียรภาพของระบบการเงินและระบบเศรษฐกิจของประเทศ โดยต้องกำหนดหลักการและแนวทางบริหารความเสี่ยงที่สำคัญเหล่านี้ไว้ในร่าง พ.ร.บ. ดังนี้
– ไม่ให้ผู้ประกอบธุรกิจใน Financial Hub ให้บริการแก่คนในประเทศ เนื่องจากกฎเกณฑ์และการกำกับดูแลที่ผ่อนปรนจะทำให้ความเสี่ยงในการประกอบธุรกิจสูงกว่าในระบบการเงินหลัก รวมทั้งเกณฑ์การคุ้มครองผู้ใช้บริการอาจเข้มงวดน้อยกว่า ซึ่งหากเกิดความเสียหายกับผู้ใช้บริการคนไทย อาจส่งผลกระทบในวงกว้างและต่อเนื่องมายังเสถียรภาพของระบบการเงินหลักได้
นอกจากนี้ หากให้ผู้ประกอบธุรกิจใน Financial Hub ให้บริการแก่คนในประเทศ จะเป็นการให้บริการในลักษณะเดียวกับผู้ประกอบธุรกิจในระบบการเงินหลัก แต่อยู่ภายใต้บังคับของกฎเกณฑ์ที่มีความเข้มงวดน้อยกว่า และได้รับการอุดหนุนหรือสิทธิประโยชน์บางประการเป็นพิเศษ ดังนั้นจึงต้องกำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจใน Financial Hub ให้บริการเฉพาะผู้มีถิ่นที่อยู่นอกประเทศ (non-resident: NR) เท่านั้น (ร่างมาตรา 57)
– แยกธุรกิจใน Financial Hub ไม่ให้ปะปนกับธุรกิจในระบบการเงินหลักทั้งในแง่ของนิติบุคคลผู้ประกอบธุรกิจและพื้นที่ในการประกอบธุรกิจ โดยกำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจใน Financial Hub แยกนิติบุคคลออกจากระบบการเงินหลักให้ชัดเจน จะช่วยจำกัดความเสียหายในกรณีที่เกิดปัญหาใน Financial Hub ซึ่งอาจลุกลามจนส่งผลต่อธุรกิจในระบบการเงินหลักและเสถียรภาพในวงกว้าง (ร่างมาตรา 38)
ส่วนการกำหนดให้มีพื้นที่ที่มีขอบเขตเฉพาะสำหรับ Financial Hub นอกจากจะเอื้อต่อการกำหนดสิทธิประโยชน์ให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจใน Financial Hub และสนับสนุนการบังคับใช้กฎหมายและการกำกับดูแลทั้งในระบบแบบ off-site และ on-site แล้ว ยังจะช่วยลดความสับสนให้กับผู้ใช้บริการและสาธารณชน และลดความเสี่ยงที่จะกระทบความเชื่อมั่นต่อระบบการเงินหลักที่เป็นระบบสำคัญต่อเศรษฐกิจประเทศ
ตัวอย่างการกำหนดพื้นที่เฉพาะสำหรับ Financial Hub เช่น รัฐดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ กำหนดให้ Dubai International Financial Centre มีขอบเขตพื้นที่ที่ชัดเจนไว้เป็นการเฉพาะสำหรับการผลักดันการสร้าง Financial Free Zone (ร่างมาตรา 37)
– มีกลไกให้หน่วยงานกำกับดูแลในระบบการเงินหลักสามารถออกกฎเกณฑ์หรือมีคำสั่งให้ผู้ประกอบธุรกิจใน Financial Hub ต้องปฏิบัติตามได้ในภาวะวิกฤต โดยหน่วยงานกำกับดูแลการประกอบธุรกิจใน Financial Hub จะมีบทบาทส่งเสริมการประกอบธุรกิจที่เน้นความคล่องตัวและกฎเกณฑ์ที่ผ่อนปรนเป็นหลัก
อย่างไรก็ดี ในภาวะวิกฤต หรือในกรณีที่มีเหตุอันอาจส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของระบบการเงิน หรือระบบเศรษฐกิจของประเทศ หรือกระทบต่อประโยชน์ของประชาชนอย่างร้ายแรงนั้น จำเป็นต้องมีกลไกให้หน่วยงานกำกับดูแลในระบบการเงินหลักสามารถออกกฎเกณฑ์ หรือมีคำสั่งให้ผู้ประกอบธุรกิจใจ Financial Hub ต้องปฏิบัติตามได้ เพื่อรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินแบบองค์รวม (ร่างมาตรา 41 และร่างมาตรา 71)
เตรียมหน่วยงานกำกับดูแลให้พร้อม
3. เตรียมหน่วยงานกำกับดูแลการประกอบธุรกิจใน Financial Hub ให้พร้อมก่อนอนุญาตให้มีการประกอบธุรกิจใน Financial Hub
เนื่องจาก Financial Hub จะประกอบด้วยธุรกิจทางการเงินที่มีความหลากหลายหน่วยงานกำกับดูแล การประกอบธุรกิจใน Financial Hub จึงต้องทำหน้าที่เสมือนหน่วยงานกำกับดูแลหลักทั้งหมดรวมกัน (ธปท. สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) และสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.)) และในระยะเริ่มต้นจะมีภารกิจในการยกร่างกฎหมายลำดับรอง และกำหนดหลักเกณฑ์การกำกับดูแลสำหรับธุรกิจแต่ละประเภท
ดังนั้น จึงควรจัดตั้งและเตรียมการอย่างเหมาะสม ทั้งด้านการวางโครงสร้างพื้นฐานขององค์กร การวางแผนจัดสรรทรัพยากรให้เพียงพอ และการวางระบบประสานงานกับผู้กำกับดูแลหลัก โดยการให้ใบอนุญาตแก่ผู้ประกอบธุรกิจควรเริ่มต้นดำเนินการเมื่อมีความพร้อม เพื่อมิให้เกิดความเสี่ยงต่อเสถียรภาพของระบบการเงินและระบบเศรษฐกิจ และกระทบต่อความน่าเชื่อถือของประเทศ
ตั้งเป้าหมาย’ไฟแนนเชียลฮับ’ให้ชัดเจน
นอกจากที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว ประเด็นสำคัญอีกสองประการที่จำเป็นต้องคำนึงถึงควบคู่กันไป คือ การกำหนดเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ที่ชัดเจนในการจัดตั้ง Financial Hub โดยประเมินจุดแข็งของประเทศ เพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันและดึงดูดให้มีการประกอบธุรกิจใน Financial Hub เป็นลำดับแรก รวมถึงพิจารณาความเสี่ยงต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นอย่างนัดกุมและรอบด้าน เพื่อให้การจัดตั้ง Financial Hub ในประเทศไทยบรรลุเป้าประสงค์ในการดึงดูดเงินลงทุนเข้าประเทศ สนับสนุนให้เกิดการจ้างงาน และเกิดการถ่ายทอดความรู้ความชำนาญให้กับคนไทยได้ โดยตัวอย่างประเทศที่ประสบความสำเร็จในการจัดตั้ง Financial Hub เช่น สิงคโปร์ ได้กำหนดเป้าหมายในการเป็นศูนย์กลางด้านการบริหารความมั่นคงและเทคโนโลยีทางการเงิน
นอกจากนี้ยังจำเป็นต้องมีระบบนิเวศน์ที่พร้อมรองรับและสนับสนุนการจัดตั้ง Financial Hub โดยระบุจุดที่ต้องยกระดับความพร้อมของประเทศไทยให้ชัดเจน นอกเหนือไปจากการมีกฎเกณฑ์การประกอบธุรกิจที่คล่องตัว และการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี เช่น ระบบกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมที่เอื้อต่อการประกอบธุรกิจของบริษัทข้ามชาติ แรงงานที่มีทักษะสูงและสื่อสารภาษาอังกฤษได้ดี ระบบธรรมภิบาลและการบังคับใช้กฎหมายที่เข้มแข็ง โครงสร้างพื้นฐานการเงินที่แข็งแกร่ง และปัจจัยสนับสนุนทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมในระดับสูง
คณะกรรมการกฤษฎีกาแก้ร่างกฎหมาย
ต่อมา สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้รวบรวมความเห็นจากหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อปรับแก้ไขร่าง พ.ร.บ.ศูนย์กลางการประกอบธุรกิจทางการเงิน จากนั้นเปิดรับฟังความเห็นจากประชาชนผ่านออนไลน์ ระบบกลางทางกฎหมาย และเมื่อวันที่ 15 ก.ค. ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ศูนย์กลางการประกอบธุรกิจทางการเงิน ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เสนอ
สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ คือ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา โดยคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) ได้ตรวจพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.ศูนย์กลางการประกอบธุรกิจทางการเงิน พ.ศ….เสร็จแล้วประกอบด้วยบททั่วไป หมวด 1 คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมศูนย์กลางการประกอบธุรกิจทางการเงิน หมวด 2 สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมศูนย์กลางการประกอบธุรกิจทางการเงิน
หมวด 3 ผู้อำนวยการ หมวด 4 การอนุญาตให้ประกอบธุรกิจเป้าหมาย หมวด 5 การส่งเสริมและสิทธิประโยชน์ หมวด 6 การกำกับดูแลการประกอบธุรกิจเป้าหมาย หมวด 7 พนักงานเจ้าหน้าที่ หมวด 8 มาตรการปรับเป็นพินัย หมวด 9 โทษทางอาญา และบทเฉพาะกาล จำนวน 94 มาตรา (เดิม 96 มาตรา) รวมทั้งกำหนดบัญชีท้ายอัตราค่าธรรมเนียม ซึ่งมีการแก้ไขเพิ่มเติมในสาระสำคัญ ดังนี้
1. บททั่วไป (ร่างมาตรา 1 – 4)
วันใช้บังคับ แก้ไขระยะเวลาใช้บังคับหมวด 4 – หมวด 6 เมื่อพ้นกำหนด 180 วัน (เดิม 360 วัน) นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป (ร่างมาตรา 2)
- เหตุผล : ระยะเวลา 180 วัน เป็นระยะเวลา ที่เหมาะสมและไม่นานจนเกินไป
บทนิยาม (ร่างมาตรา 3) เช่น
- แก้ไขบทนิยามคำว่า “ธุรกิจเป้าหมาย” ได้แก่ 1) ธุรกิจธนาคารพาณิชย์ 2) ธุรกิจบริการการชำระเงิน 3) ธุรกิจหลักทรัพย์ 4) ธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า 5) ธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล 6) ธุรกิจประกันภัย 7) ธุรกิจนายหน้าประกันภัยต่อ และ 8) ธุรกิจทางการเงินหรือธุรกิจอื่นที่เกี่ยวเนื่องหรือสนับสนุนธุรกิจทางการเงินตามที่คณะกรรมการฯ ประกาศกำหนดโดยอนุมัติของคณะรัฐมนตรี
- แก้ไขบทนิยามคำว่า “ผู้มีถิ่นที่อยู่นอกประเทศ” กรณีใน (5) บุคคลธรรมดาซึ่งไม่มีสัญชาติไทย และมีถิ่นที่อยู่ในต่างประเทศหรือเข้าเมืองโดยชอบด้วยกฎหมายแต่ไม่มีใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวหรือใบสำคัญถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย
เหตุผล : เพื่อให้เกิดความชัดเจนว่ากรณีของคนต่างด้าวที่เข้าเมืองมานั้น จะต้องมิใช่ผู้ซึ่งมีถิ่นที่อยู่ในไทย และเข้าเมืองโดยชอบด้วยกฎหมาย
2. หมวด 1 คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมศูนย์กลางการประกอบธุรกิจทางการเงิน (ร่างมาตรา 5 – 12)
– แก้ไของค์ประกอบของคณะกรรมการฯ โดยตัดเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาออก และให้ผู้อำนวยการแต่งตั้งพนักงานของสำนักงานจำนวนไม่เกิน 2 คน เป็นผู้ช่วยเลขานุการ (ร่างมาตรา 5)
- เหตุผล : เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาไม่มีหน้าที่และอำนาจโดยตรง
– แก้ไขลักษณะต้องห้ามของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ โดยตัดกรณี ต้องไม่เป็นกรรมการหรือที่ปรึกษาของรัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานของรัฐอื่นและกรณีต้องไม่เป็นผู้มีอำนาจในการจัดการหรือมีส่วนได้เสียอย่างมีนัยสำคัญในนิติบุคคลซึ่งมีประโยชน์ได้เสียเกี่ยวข้องกับหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการฯ และเพิ่มเติมบทบัญญัติให้นายกรัฐมนตรีเสนอให้คณะรัฐมนตรีเป็นผู้วินิจฉัยการพ้นจากตำแหน่งของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในกรณีที่ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้าม (ร่างมาตรา 6 และมาตรา 8)
- เหตุผล : หากกำหนดลักษณะต้องห้ามของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิมากจนเกินสมควร อาจจะส่งผลให้ไม่สามารถหาบุคคลที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ในด้านธุรกิจทางการเงินมาเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
– กำหนดเพิ่มเติมให้เรื่องในทางนโยบายและการให้สิทธิประโยชน์ให้เสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอนุมัติหรือเห็นชอบ (เดิมกำหนดให้เป็นอำนาจของคณะกรรมการฯ เท่านั้น) เช่น การกำหนดประเภทและขอบเขตของการอนุญาตในการประกอบธุรกิจเป้าหมายแนวทางการส่งเสริมการประกอบธุรกิจเป้าหมายและการให้สิทธิประโยชน์แก่ธุรกิจเป้าหมาย และการกำหนดเขตพื้นที่ของสถานที่ประกอบธุรกิจเป้าหมายเพื่อดำเนินการตราพระราชกฤษฎีกา ทั้งนี้การปฏิบัติหน้าที่และการใช้อำนาจของคณะกรรมการฯ จะต้องคำนึงถึงการรักษาและป้องกันผลกระทบต่อเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจและระบบการเงินของประเทศด้วย (ร่างมาตรา 9)
3. หมวด 2 สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมศูนย์กลางการประกอบธุรกิจทางการเงิน (ร่างมาตรา 13 – 25)
– กำหนดเพิ่มเติมให้สำนักงานฯ จะต้องคำนึงถึงการรักษาและป้องกันผลกระทบต่อเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจและระบบการเงินของประเทศ โดยมีหน้าที่และอำนาจจัดทำร่างนโยบาย แผนการดำเนินงาน และมาตรการเพื่อส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการประกอบธุรกิจทางการเงินเสนอต่อคณะกรรมการฯ เพื่อพิจารณา (ร่างมาตรา 15)
– แก้ไขหลักเกณฑ์การนำส่งเงินรายได้ของสำนักงานฯ เป็นรายได้ของรัฐโดยให้นำส่งหลังจากหักค่าใช้จ่ายสำหรับการดำเนินงานและค่าภาระต่าง ๆ ที่เหมาะสมตามที่ กค. กำหนดเพื่อใช้จ่ายในกิจการของสำนักงานฯ แล้ว (ร่างมาตรา 17)
- เหตุผล : แก้ไขถ้อยคำเพื่อให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561
– เพิ่มบทบัญญัติกรณีสำนักงานฯ ต้องให้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจเป้าหมายแก่หน่วยงานหลักที่มีหน้าที่กำกับดูแล ธุรกิจทางการเงินของประเทศร้องขอ ได้แก่ ธปท. สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (สำนักงาน ก.ล.ต.) หรือสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (สำนักงาน คปภ.) ในขณะเดียวกัน ทั้งสามหน่วยงานดังกล่าว ก็จะต้องให้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องตามที่จำเป็นเมื่อสำนักงานฯ ร้องขอ ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ในการรักษาเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจและระบบการเงินของประเทศด้วย (ร่างมาตรา 25)
- เหตุผล : เป็นไปตามความเห็นของ ธปท. ในชั้นการตรวจพิจารณาร่างพระราชบัญญัตินี้
4. หมวด 3 ผู้อำนวยการ (ร่างมาตรา 26 – 34)
– แก้ไขผู้ที่มีอำนาจแต่งตั้งผู้อำนวยการ เป็น คณะกรรมการฯ โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี (เดิมคณะรัฐมนตรีโดยคำแนะนำของนายกรัฐมนตรี) และกำหนดให้ชัดเจนว่าให้ผู้อำนวยการเป็นผู้บังคับบัญชาพนักงานและลูกจ้างของสำนักงานฯ โดยมีหน้าที่รับผิดชอบในการดำเนินงานของสำนักงานฯ และขึ้นตรงต่อคณะกรรมการฯ (ร่างมาตรา 26)
-แก้ไขลักษณะต้องห้ามของผู้อำนวยการ โดยตัดกรณีต้องไม่เคยเป็นกรรมการหรือผู้ดำรงตำแหน่งใดในธุรกิจประเภทเดียวกับธุรกิจเป้าหมายหรือในธุรกิจเป้าหมายออก และตัดกรณีต้องไม่เคยต้องคำพิพากษา ถึงที่สุดว่ากระทำความผิดตามกฎหมายเกี่ยวกับธุรกิจทางการเงินออกไปทั้งหมด (เดิมกำหนดเพียงว่าเป็นการกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจสถาบันการเงิน กฎหมายว่าด้วยระบบการชำระเงิน กฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ กฎหมายว่าด้วยสัญญาซื้อขายล่วงหน้า กฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจ สินทรัพย์ดิจิทัล กฎหมายว่าด้วยการประกันชีวิต และกฎหมายว่าด้วยการประกันวินาศภัย โดยมิได้กำหนดประเภทการกระทำความผิดลักษณะใดและความหนักเบาของสภาพแห่งข้อหาเพียงใด) (ร่างมาตรา 27)
- เหตุผล : การตัดกรณีต้องไม่เคยเป็นกรรมการฯ เพื่อมิให้เป็นการจำกัดขอบเขตให้แคบจนเกินไปและการกำหนดเพียงไม่เคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดตามกฎหมายใด โดยมิได้กำหนดประเภทของการกระทำความผิดและความหนักเบาตามสภาพแห่งข้อหา เป็นการขัดหรือแย้งต่อมาตรา 26 ของรัฐธรรมนูญฯ
– เพิ่มบทบัญญัติเกี่ยวกับรองผู้อำนวยการ โดยให้คณะกรรมการฯ มีอำนาจกำหนดจำนวน คุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม การแต่งตั้งและการพ้นจากตำแหน่ง (ร่างมาตรา 31)
5. หมวด 4 การอนุญาตให้ประกอบธุรกิจเป้าหมาย (ร่างมาตรา 35 – 50)
– แก้ไขให้การประกาศกำหนดประเภทและขอบเขตของการอนุญาตประกอบธุรกิจเป้าหมายของคณะกรรมการฯ จะต้องได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (เดิมกำหนดเป็นอำนาจของคณะกรรมการฯ เท่านั้น) และในกรณีที่การกำหนดประเภทและขอบเขตของการอนุญาตประกอบธุรกิจเป้าหมายดังกล่าวมีความเกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจภายใต้การกำกับดูแลของหน่วยงานกำกับดูแลอื่นให้คณะกรรมการฯ หารือร่วมกับหน่วยงานกำกับดูแลที่เกี่ยวข้องนั้นก่อนด้วย (ร่างมาตรา 35)
- เหตุผล : เพื่อให้คณะรัฐมนตรีมีอำนาจในการอนุมัติกำหนดประเภท และขอบเขตของการอนุญาต
– กำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจเป้าหมายตามร่างพระราชบัญญัตินี้ได้รับยกเว้นไม่นำกฎหมายเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจทางการเงินจำนวน 7 ฉบับ (กฎหมายหลัก) มาใช้บังคับ เว้นแต่กฎหมายหลักจำนวน 7 ฉบับดังกล่าว มีบทบัญญัติว่าด้วยการกำกับดูแลกลุ่มธุรกิจและผู้ประกอบ ธุรกิจเป็นบริษัทในกลุ่มธุรกิจ ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยการกำกับดูแลกลุ่มธุรกิจและบทกำหนดโทษที่เกี่ยวข้องมาใช้บังคับแก่ผู้ประกอบ ธุรกิจเป้าหมายตามร่างพระราชบัญญัตินี้ด้วย (ร่างมาตรา 36)
– กำหนดให้สถานที่ประกอบธุรกิจเป้าหมายต้องอยู่ในบริเวณเขตพื้นที่ตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา (ร่างมาตรา 37)
– กำหนดให้การประกอบธุรกิจเป้าหมายจะกระทำได้เฉพาะบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดที่จดทะเบียนในประเทศไทยหรือสาขาของนิติบุคคลต่างประเทศ โดยให้ผู้อำนวยการโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการฯ (เดิมคณะกรรมการฯ โดยคำแนะนำของสำนักงานฯ) เป็นผู้มีอำนาจอนุญาต (ร่างมาตรา 38)
- เหตุผล : คงหลักการเดิม โดยแก้ไขถ้อยคำเล็กน้อย
– เพิ่มบทบัญญัติให้ผู้ประกอบธุรกิจเป้าหมายต้องใช้ชื่อซึ่งมีคำว่า “ธุรกิจการเงินพิเศษ (ประเทศไทย)” หรือ “Special Financial Entity (Thailand)” กำกับชื่อธุรกิจเป้าหมายและห้ามผู้อื่นใช้ชื่อดังกล่าวในธุรกิจของตน
(ร่างมาตรา 39 – 40)
- เหตุผล : เพื่อให้เกิดความชัดเจนระหว่างธุรกิจเป้าหมายตามร่างพระราชบัญญัตินี้กับธุรกิจการเงินในระบบหลัก
– แก้ไขการกำหนดกลไกให้คณะกรรมการฯ หารือร่วมกับ ธปท. สำนักงาน ก.ล.ต. หรือสำนักงาน คปภ. (เดิมคณะกรรมการฯ ตามข้อเสนอแนะของสำนักงานฯ ธปท. สำนักงาน ก.ล.ต. หรือสำนักงาน คปภ.) เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ หรือเงื่อนไขเพิ่มเติมให้ผู้ประกอบธุรกิจเป้าหมายต้องปฏิบัติ ในกรณีที่มีเหตุที่อาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคง ของระบบเศรษฐกิจและระบบการเงินของประเทศหรือประโยชน์ของประชาชน (ร่างมาตรา 41)
- เหตุผล : เพื่อให้คณะกรรมการฯ มีกลไกในการกำหนดหลักเกณฑ์ฯ เพื่อแก้ไขผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น
6. หมวด 5 การส่งเสริมและสิทธิประโยชน์ (ร่างมาตรา 51 – 56)
– แก้ไขหลักเกณฑ์การพิจารณากำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของกรรมการผู้มีอำนาจในการจัดการผู้ถือหุ้นใหญ่ และกรรมการหรือผู้มีอำนาจในการจัดการของผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของนิติบุคคลภายหลังจากที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจเป้าหมาย (เดิมพิจารณาในขณะที่ยื่นคำขอประกอบธุรกิจเป้าหมาย) (ร่างมาตรา 42)
- เหตุผล : เพื่อให้ครอบคลุมตลอดการประกอบธุรกิจและเป็นไปตามมาตรฐานสากลเรื่องการป้องกันการฟอกเงินของ The Financial Action Task Force (FATF)
– แก้ไขขอบเขตการประกอบธุรกิจของผู้ประกอบธุรกิจเป้าหมายให้ชัดเจนเฉพาะที่ได้รับอนุญาต โดยจะประกอบธุรกิจอื่นใดที่มิใช่ธุรกิจเป้าหมายด้วยมิได้ (ร่างมาตรา 43)
– แก้ไขการมอบหมายให้บุคคลอื่นเป็นผู้รับดำเนินการในงานที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจเป้าหมายได้ (เฉพาะในลักษณะที่เป็น Outsourcing) (เดิมอาจมอบหมายให้บริหารจัดการทั้งหมดได้) โดยต้องได้รับอนุญาตจากผู้อำนวยการโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการฯ ก่อน (ร่างมาตรา 44)
- เหตุผล : เพื่อกำหนดขอบเขตการมอบหมายให้บุคคลอื่นเป็นผู้รับดำเนินการแทนผู้ประกอบธุรกิจ
– ปรับปรุงแก้ไขสิทธิประโยชน์ที่ให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจเป้าหมายจากเดิม 1) สิทธิในการถือกรรมสิทธิ์ในห้องชุดเพื่อการประกอบธุรกิจภายใต้การส่งเสริมหรือการอยู่อาศัย 2) สิทธิในการนำคนต่างด้าวเข้ามาและอยู่ในราชอาณาจักร 3) สิทธิในการทำธุรกรรมทางการเงิน และ 4) สิทธิประโยชน์อื่น เป็น 1) สิทธิในการถือกรรมสิทธิในห้องชุดเพื่อการประกอบธุรกิจเป้าหมายภายใต้การส่งเสริมหรือการอยู่อาศัย 2) สิทธิในการนำคนต่างด้าวเข้ามาและอยู่ในราชอาณาจักร 3) สิทธิในการที่จะได้รับประโยชน์ทางภาษีตามประมวลรัษฎากร (เพิ่มเติม) และ 4) สิทธิประโยชน์อื่น (ร่างมาตรา 51) [ทั้งนี้ สิทธิในการทำธุรกรรมทางการเงินนำไปกำหนดในหมวด 6 การกำกับดูแลการประกอบธุรกิจเป้าหมาย (ร่างมาตรา 60)]
- เหตุผล : เพื่อเพิ่มแรงจูงใจให้ผู้ประกอบธุรกิจเป้าหมายในการได้รับประโยชน์ทางภาษีตามประมวลรัษฎากร และตัดสิทธิในการทำธุรกรรมทางการเงิน ออกเนื่องจากไม่ใช่เป็นการให้สิทธิประโยชน์
– กำหนดสิทธิประโยชน์อื่นให้มีความชัดเจน ได้แก่ ให้ได้รับยกเว้นการนับเป็นสัดส่วนคนต่างด้าวที่ถือกรรมสิทธิ์ในห้องชุด (พระราชบัญญัติอาคารชุด กำหนดให้คนต่างด้าวมีสิทธิถือกรรมสิทธิ์ในห้องชุด โดยนับเป็นสัดส่วนไม่เกินร้อยละ 49 ของเนื้อที่ของห้องชุดทั้งหมดในอาคารชุด) และให้ผู้ประกอบธุรกิจเป้าหมายใช้บริการจากผู้ประกอบวิชาชีพเฉพาะจากต่างประเทศกับประเภทของธุรกิจเป้าหมายได้ (เช่น พระราชกฤษฎีกากำหนดในอาชีพและวิชาชีพที่ห้ามคนต่างด้าวทำฯ ห้ามมิให้คนต่างด้าวประกอบอาชีพการให้บริการทางกฎหมาย) (ร่างมาตรา 52 และ 55)
- เหตุผล : เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบธุรกิจเป้าหมายในการอยู่อาศัยและการดำเนินธุรกิจ
– แก้ไขบทบัญญัติที่เป็นการรองรับสิทธิประโยชน์ของผู้ประกอบธุรกิจเป้าหมายให้มีความชัดเจน ในกรณีผู้ประกอบธุรกิจเป้าหมายซึ่งได้รับอนุญาตให้เลิกประกอบธุรกิจเป้าหมายหรือถูกยกเลิกใบอนุญาต ด้วยเหตุที่มีการควบกิจการหรือโอนกิจการ ให้ได้รับสิทธิประโยชน์ต่อไป อีกไม่เกิน 90 วัน (เดิมไม่เกิน 3 เดือน) เว้นแต่สิทธิประโยชน์ทางภาษีอากรให้สิ้นสุดนับแต่วันที่ได้รับอนุญาตให้เลิกหรือถูกยกเลิก ในกรณีที่ถูกเพิกถอนการอนุญาต ให้สิทธิประโยชน์สิ้นสุดนับแต่วันที่ถูกเพิกถอนการอนุญาต ส่วนผู้ประกอบธุรกิจเป้าหมายซึ่งได้รับใบอนุญาตเนื่องมาจากการควบกิจการหรือโอนกิจการนั้น ให้ได้รับสิทธิประโยชน์ตามที่ผู้ประกอบธุรกิจเป้าหมายเดิมมีอยู่ด้วย (ร่างมาตรา 56)
- เหตุผล : เพื่อให้การเพิกถอนสิทธิประโยชน์มีความชัดเจน และเพิ่มสิทธิประโยชน์ในกรณีการควบกิจการหรือโอนกิจการให้ชัดเจน
7. หมวด 6 การกำกับดูแลการประกอบธุรกิจเป้าหมาย (ร่างมาตรา 57-71)
– การประกอบธุรกิจเป้าหมายตามร่างพระราชบัญญัตินี้มีหลักการสำคัญว่าจะต้องเป็นการให้บริการเฉพาะผู้ที่มีถิ่นที่อยู่นอกประเทศเท่านั้น ยกเว้นกรณี 1) การให้บริการระหว่างผู้ประกอบธุรกิจเป้าหมายด้วยกันเอง และ 2) การให้บริการแก่ผู้ประกอบธุรกิจตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ กฎหมายว่าด้วยสัญญาซื้อขายล่วงหน้า หรือกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล (ร่างมาตรา 57) โดยได้ตัดกรณีการให้บริการแก่ผู้มีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทยในลักษณะอื่นตามที่คณะกรรมการฯ กำหนดออก
- เหตุผล : คำว่า “ผู้มีถิ่นที่อยู่ในลักษณะอื่น” อาจหมายถึง “คนไทย” ได้ ซึ่งการให้บริการแก่คนไทยอาจกระทบต่อความเชื่อมั่นและเกิดปัญหากับระบบการเงินในภาพรวมได้
– เพิ่มบทบัญญัติห้ามมิให้ผู้ใดถือหุ้นของผู้ประกอบธุรกิจเป้าหมายแห่งใดแห่งหนึ่งไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมจนเป็นเหตุให้บุคคลดังกล่าวเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ (ถือหุ้นเกินร้อยละ 10) และมิให้นำบทบัญญัติเกี่ยวกับการตรวจสอบการถือหุ้นและการจำหน่ายหุ้นส่วนเกินมาใช้บังคับแก่ผู้ประกอบธุรกิจเป้าหมายซึ่งมีสถานะเป็นสาขาของนิติบุคคลต่างประเทศ (ร่างมาตรา 64 และ 68)
- เหตุผล : เพื่อมิให้มีผลกระทบต่อส่วนงานอื่นของผู้ประกอบธุรกิจเป้าหมายนอก Financial Hub (ร่างมาตรา 68)
– แก้ไขกลไกให้ผู้อำนวยการโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการฯ (เดิมคณะกรรมการฯ โดยคำแนะนำของสำนักงานฯ) เป็นผู้มีอำนาจเพิกถอนการอนุญาตในกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจเป้าหมายไม่ประกอบธุรกิจหรือหยุดประกอบธุรกิจเป้าหมายโดยไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการฯ กำหนด และให้ผู้อำนวยการ (เดิมคณะกรรมการฯ) มีอำนาจอนุญาตให้ผู้ประกอบธุรกิจเป้าหมายหยุดประกอบธุรกิจเป้าหมายเป็นการชั่วคราวได้ (ร่างมาตรา 69)
– แก้ไขกลไกให้ผู้อำนวยการ (เดิมสำนักงานฯ) โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการฯ มีอำนาจเพิกถอนการอนุญาตในกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจเป้าหมายฝ่าฝืนไม่ระงับการดำเนินงานเป็นการชั่วคราวหรือดำเนินงานที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายซ้ำอีก หรือในกรณีที่จะส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงแก่ประชาชน (ร่างมาตรา 70)
– แก้ไขกลไกให้ผู้อำนวยการโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการฯ (เดิมคณะกรรมการฯ ตามข้อเสนอแนะของสำนักงานฯ) มีอำนาจประกาศห้ามผู้ประกอบธุรกิจเป้าหมายทำธุรกรรมอย่างหนึ่งอย่างใด สั่งระงับการดำเนินกิจการทั้งหมดหรือแต่บางส่วน หรือเพิกถอนการอนุญาต หากพบว่าการกระทำดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคง เสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจและระบบการเงินของประเทศ หรือประโยชน์ของประชาชนอย่างมีนัยสำคัญ ในกรณีที่ได้รับข้อเสนอแนะจาก ธปท. สำนักงาน ก.ล.ต. หรือสำนักงาน คปภ.ว่ามีเหตุดังกล่าว ผู้อำนวยการจะต้องหารือกับทั้งสามหน่วยงานดังกล่าวก่อนที่จะมีคำสั่งดังกล่าวข้างต้น (ร่างมาตรา 71)
- เหตุผล : เพื่อให้ผู้อำนวยการมีกลไกในการออกคำสั่งเพื่อแก้ไขผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น
8. หมวด 7 พนักงานเจ้าหน้าที่ (ร่างมาตรา72-74)
– มิได้แก้ไขเพิ่มเติมในสาระสำคัญ โดยพนักงานเจ้าหน้าที่ยังคงมีอำนาจ 1) เข้าไปในสถานที่ประกอบธุรกิจหรือสถานที่ตั้งของผู้ประกอบธุรกิจใน Financial Hub เพื่อตรวจสอบกิจการ สินทรัพย์ และหนี้สิน รวมทั้งสมุดบัญชี เอกสาร หลักฐาน ระบบคอมพิวเตอร์หรือข้อมูล 2) ยึดหรืออายัดทรัพย์สิน เอกสาร หลักฐาน หรือระบบคอมพิวเตอร์ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด เพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบหรือดำเนินคดี และ 3) สั่งให้กรรมการ พนักงาน ลูกจ้าง หรือผู้สอบบัญชีของผู้ประกอบธุรกิจใน Financial Hub มาให้ถ้อยคำส่งสำเนา หรือแสดงสมุดบัญชี เอกสาร ดวงตรา หรือหลักฐานอื่นเกี่ยวกับการดำเนินกิจการ
9. หมวด 8 มาตรการปรับเป็นพินัย (ร่างมาตรา 75-77) และหมวด 9 โทษทางอาญา (ร่างมาตรา 78-89)
– ตัดบทบัญญัติที่กำหนดให้เป็นความผิดและมีโทษทางอาญาซึ่งมีองค์ประกอบความผิดเหมือนหรือคล้ายคลึงกับความผิดที่ได้กำหนดไว้แล้วในภาคความผิดของประมวลกฎหมายอาญา
– ให้ใช้มาตรการปรับเป็นพินัยสำหรับกรณีที่เป็นการกระทำความผิดหรือฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามกฎหมายนี้ อันเป็นการกระทำที่มิใช่ความผิดร้ายแรงหรือมิได้ส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจหรือระบบการเงินของประเทศ เช่น การไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์เกี่ยวกับสถานที่ประกอบกิจการ เป็นต้น
– ให้ใช้โทษทางอาญาสำหรับกรณีที่เป็นการกระทำความผิดหรือฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามกฎหมายนี้ อันเป็นการกระทำความผิดที่ร้ายแรงหรืออาจส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจหรือระบบการเงินของประเทศ เช่น การประกอบธุรกิจเป้าหมายโดยไม่ได้รับอนุญาต เป็นต้น ในกรณีที่การกระทำความผิดนั้นมิได้ส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจและมีโทษปรับสถานเดียว กำหนดให้เป็นความผิดที่เปรียบเทียบได้
10. บทเฉพาะกาล (ร่างมาตรา 90-94)
– มิได้แก้ไขเพิ่มเติมในสาระสำคัญ โดยยังคงกำหนดให้ในวาระเริ่มแรกให้รัฐบาลจัดสรรทุนประเดิมให้แก่สำนักงานฯ ตามความจำเป็นและให้คณะกรรมการฯ โดยตำแหน่งปฏิบัติหน้าที่ไปพลางก่อนโดยให้ผู้อำนวยการเป็นกรรมการและเลขานุการ และดำเนินการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิให้แล้วเสร็จภายใน 90 วัน ให้ข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้าง หรือผู้ปฏิบัติงานในหน่วยงานของรัฐที่นายกรัฐมนตรีแต่งตั้งทำหน้าที่ผู้อำนวยการไปพลางก่อน โดยให้มีการแต่งตั้งผู้อำนวยการและจัดตั้งสำนักงานให้แล้วเสร็จภายใน 180 วัน และให้ข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้างหรือผู้ปฏิบัติงานอื่นใดในส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐมาปฏิบัติงานเป็นพนักงานของสำนักงานฯ เป็นการชั่วคราวภายในระยะเวลาที่คณะรัฐมนตรีกำหนด
11. อัตราค่าธรรมเนียม มิได้แก้ไขเพิ่มเติมในสาระสำคัญ โดยยังคงกำหนดอัตราค่าธรรมเนียม ดังนี้
- การขอรับใบอนุญาต ครั้งละ 1,400,000 บาท
- ใบอนุญาตครั้งแรก ฉบับละ 40 ล้านบาท และรายปี (กรณีใบอนุญาตที่ไม่ได้กำหนดอายุ) ปีละ 6 ล้านบาท
- ใบอนุญาต (ต่ออายุ) รายปี ปีละ 6 ล้านบาท
- ใบแทนใบอนุญาต ฉบับละ 8,000 บาท
ทั้งนี้ สคก. ได้แจ้งให้กระทรวงการคลัง (สำนักงานปลัดกระทรวงและสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง) สำนักงาน ก.ล.ต. สำนักงาน คปภ. และ ธปท. มีหนังสือยืนยันให้ความเห็นชอบกับการแก้ไขเพิ่มเติมร่างพระราชบัญญัติศูนย์กลางการประกอบธุรกิจทางการเงิน พ.ศ. …. และเสนอมายังสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีโดยตรงภายใน 3 วัน นับจากวันที่ได้รับร่างพระราชบัญญัติฯ ที่ สคก. ตรวจพิจารณาแล้ว
ต่อมากระทรวงการคลัง (สำนักงานปลัดกระทรวงและสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง) สำนักงาน ก.ล.ต. และสำนักงาน คปภ. ได้มีหนังสือยืนยันให้ความเห็นชอบกับการแก้ไขเพิ่มเติมร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวด้วยแล้ว ส่วนธนาคารแห่งประเทศไทยมีความเห็นและข้อสังเกตต่อร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวในประเด็นที่ต้องคำนึงถึงในการจัดตั้งศูนย์กลางทางการเงิน (Financial Hub) ในประเทศไทย
โดยเฉพาะในประเด็นการป้องกันไม่ให้การประกอบธุรกิจใน Financial Hub กระทบต่อระบบเสถียรภาพของระบบการเงินและระบบเศรษฐกิจของประเทศโดยต้องกำหนดหลักการและแนวทางบริหารความเสี่ยงที่สำคัญเหล่านี้ไว้ในพระราชบัญญัติฯ เช่น ไม่ให้ผู้ประกอบธุรกิจใน Financial Hub ให้บริการแก่คนในประเทศ เป็นต้น ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้นำความเห็นและข้อสังเกตของธนาคารแห่งประเทศไทยดังกล่าวมาพิจารณาในชั้นการตรวจพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว
สำหรับประเด็นการเตรียมหน่วยงานกำกับดูแลการประกอบธุรกิจใน Financial Hub ให้พร้อมก่อนอนุญาตให้มีการประกอบธุรกิจใน Financial Hub เนื่องจากในระยะเริ่มต้น สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมศูนย์กลางการประกอบธุรกิจทางการเงินจะมีภารกิจในการยกร่างกฎหมายลำดับรองและกำหนดหลักเกณฑ์การกำกับดูแลสำหรับธุรกิจแต่ละประเภท จึงควรมีการจัดตั้งและเตรียมความพร้อมอย่างเหมาะสมทั้งด้านการวางโครงสร้างพื้นฐานขององค์กร การวางแผนจัดสรรทรัพยากรให้เพียงพอ และการวางระบบประสานงานกับผู้กำกับดูแลหลัก โดยการให้ใบอนุญาตแก่ผู้ประกอบธุรกิจเป้าหมายควรเริ่มดำเนินการเมื่อมีความพร้อม เพื่อมิให้เกิดความเสี่ยงต่อเสถียรภาพของระบบการเงินและระบบเศรษฐกิจ และกระทบต่อความน่าเชื่อถือของประเทศ
ที่มา : การประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 15 ก.ค. 68
อ่านเนื้อหาที่เพิ่มเติม
ดันร่างพ.ร.บ.ไฟแนนซ์เชียลฮับ ชิงศูนย์กลางการเงิน