เศรษฐกิจไทยในปี “งูเล็ก” หรือปี 2568 จะมีความเสี่ยงเพิ่มมากขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา เนื่องจากสถานการณ์ภูมิรัฐศาสตร์โลก หลัง โดนัลด์ ทรัมป์ เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาเป็นครั้งที่ 2 คาดการณ์ว่าแนวนโยบายของสหรัฐฯจะทำให้เกิดความไม่แน่นอน และความปั่นป่วนในเศรษฐกิจโลกจากสงครามการค้าที่สหรัฐฯจะขึ้นภาษีนำเข้า
กิริฎา เภาพิจิตร ผู้อำนวยการวิจัย นโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศและการพัฒนา และ ผู้อำนวยการโครงการวิเคราะห์เศรษฐกิจเชิงลึก สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ระบุว่า ประเทศไทยก็จะได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าด้วย เพราะสหรัฐฯเป็นตลาดใหญ่ที่สุดของไทย มีมูลค่าการส่งออกไปที่สหรัฐฯราวร้อยละ 18 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของไทย
ไทยถูกสหรัฐฯเพ่งเล็งขึ้นภาษีนำเข้า
ทั้งนี้การขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ จะเพ่งเล็งไปที่ประเทศที่สหรัฐฯขาดดุลการค้า ซึ่งในปี 2567 ไทยเป็นประเทศในอันดับที่ 12 ที่สหรัฐฯขาดดุลด้วย โดยวิธีการลดขาดดุลของสหรัฐฯมี 2 วิธีคือ การขึ้นภาษีนําเข้ากับสินค้าจากประเทศไทย และอาจจะมีเจรจาขอให้ไทยนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯมากขึ้น ซึ่งสหรัฐฯต้องการขายสินค้าสินค้าเกษตรให้กับไทยมาหลายปีแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเนื้อหมู แต่ที่ผ่านมาไทยไม่อนุญาตให้นำเข้าเนื้อหมูจากสหรัฐฯ เพราะมีสารเร่งเนื้อแดงเกินมาตรฐานที่ไทยกำหนด ดังนั้นไทยจึงมีความเสี่ยงที่จะถูกบีบให้เปิดการนำเข้าเนื้อหมูและสินค้าสินค้าเกษตรอื่น ซึ่งหากเป็นเช่นนี้จะส่งผลกับผู้เลี้ยงหมูในประเทศไทย
ขณะเดียวกันจะมีสินค้าจากจีนที่ถูกกำแพงภาษีสหรัฐฯกีดกัน ก็จะทะลักเข้าไทยมากขึ้น ส่งผลกระทบกับหลายธุรกิจในประเทศ เช่น เหล็ก ปิโตรเคมี พลาสติก และสิ่งทอ แต่จะเป็นผลดีกับธุรกิจที่นำเข้าวัตถุดิบ ชิ้นส่วน หรือเครื่องจักรจากจีน ที่นำไปต่อยอดผลิตสินค้าและบริการของตน
จีนย้ายโรงงานเลี่ยงภาษีสหรัฐฯ
นอกจากนี้แนวนโยบายอเมริกามาก่อน (America First) อาจส่งผลให้สหรัฐฯไม่อยากยุ่งเกี่ยวกับความขัดแย้งระหว่างจีนกับไต้หวัน ซึ่งสถานการณ์ความตึงเครียดในช่องแคบไต้หวันอาจเพิ่มมากขึ้น และส่งผลต่อค่าระวางเรือขนส่งสินค้า จากญี่ปุ่น และจีนมาไทยแพงขึ้น
แต่ในอีกด้านหนึ่งบริษัทในไต้หวันหลายแห่งก็เริ่มกังวลถึงความเสี่ยง จึงโยกย้ายธุรกิจจากไต้หวัน และจีน มาลงทุนในภูมิภาคอาเซียน รวมถึงไทยมากขึ้น โดยตัวเลขจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) พบว่า มีบริษัทต่างชาติหลายประเทศเข้ามาขอลงทุนในไทยผ่านบีโอไอ เนื่องจากมองว่าไทยเป็นพื้นที่ปลอดภัย เพราะวางตัวเป็นกลาง ไม่ได้เข้าข้างฝ่ายใด เรื่องนี้จึงถือเป็นปัจจัยบวกกับเศรษฐกิจของประเทศ แต่ก็มีความเสี่ยงว่าหากบริษัทจีนย้ายโรงงานมาไทยเพื่อส่งออกสินค้าไปสหรัฐฯจำนวนมาก ก็อาจทำให้ถูกสหรัฐฯเพ่งเล็ง และกีดกันการนำเข้าเนื่องจากมองว่าเป็นสินค้าของบริษัทจีนได้
แม้เหรียญจะมีสองด้าน แต่ความเสี่ยงที่แทบจะไม่มีด้านบวกเลย คือปัญหาความไม่สงบในตะวันออกกลาง ซึ่งทรัมป์ มีท่าทีสนับสนุนอิสราเอล ดังนั้นความตึงเครียดระหว่างอิสราเอลกับอิหร่านจะยังคงอยู่ต่อไป โดยหากเกิดความไม่สงบขึ้นอาจจะส่งผลให้มีการปิดช่องแคบฮอร์มุซ ที่เป็นเส้นทางขนส่งน้ำมัน ก็จะกระทบต่อราคาพลังงานทั่วโลก
เงินบาทผันผวนกระทบนำส่งออก
นอกจากประเด็นทางภูมิรัฐศาสตร์แล้ว เรื่องค่าเงิน และอัตราดอกเบี้ย ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่จะส่งผลสำคัญกับระบบเศรษฐกิจโลก โดยหากสหรัฐฯขึ้นภาษีนำเข้าจะทำให้ต้นทุนการผลิตของสหรัฐฯเพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้เงินเฟ้อในสหรัฐฯลดลงช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้ จึงมีแนวโน้มว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) อาจจะลดดอกเบี้ยนโยบายเพียง 2 ครั้ง หรือ 0.5% จากเดิมที่นักวิเคราะห์คาดการณ์กันว่าตลอดทั้งปีจะลดถึง 4 ครั้ง หรือ 1% ขณะที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทย คาดว่าจะลดลง 0.25% ในปี 2568 ส่วนค่าเงินบาท ประมาณการว่าจะเฉลี่ยอยู่ที่ 35 บาทต่อดอลล่าร์สหรัฐ และผันผวนระหว่างปี ซึ่งถือเป็นความเสี่ยงของไทย เนื่องจากไทยพึ่งพาการนําเข้าและส่งออกมาก
ผู้อำนวยการโครงการวิเคราะห์เศรษฐกิจเชิงลึก ทีดีอาร์ไอ ประเมินว่า สงครามการค้าจะทําให้เศรษฐกิจโลกโตช้าลง ทำให้ไทยไม่ได้รับผลกระทบเฉพาะแค่การส่งออกไปสหรัฐฯเท่านั้น แต่ตลาดส่งออกหลักของไทยทั้งยุโรป ญี่ปุ่น ก็กระทบไปด้วย เพราะเศรษฐกิจของประเทศเหล่านี้ก็ชะลอตัวลงเช่นกัน คาดการณ์ในปีนี้การส่งออกไทยอาจจะโตแค่ประมาณ 1- 2% จากเดิมที่ปี 2567 เติบโต 4-5%
แนะรัฐเก็บกระสุนรับมือวิกฤตโลก
ท่ามกลางความไม่แน่นอนเกิดขึ้นในโลกมากมาย ผู้อำนวยการโครงการวิเคราะห์เศรษฐกิจเชิงลึก ทีดีอาร์ไอ แนะนำว่า สิ่งรัฐบาลจะต้องมีคือ “กระสุน” หรือ เงินงบประมาณ เพราะหากมีวิกฤตอะไรเกิดขึ้น เช่น ราคาน้ำมันพุ่งขึ้น ภัยธรรมชาติ หรือ โรคระบาด จะต้องมีงบประมาณที่จะใช้จ่ายในการช่วยเหลือประชาชน
รัฐบาลอาจไม่ต้องถึงกับมีเงินเก็บ แต่ว่าถ้าเราไม่สร้างหนี้เยอะในวันนี้ ก็แปลว่าในอนาคตเราสามารถที่จะกู้เงินได้เพิ่มถ้าจําเป็น แต่ถ้าวันนี้เรากู้เงินจนเต็มเพดานแล้ว พอมีวิกฤตเกิดขึ้นตอนนั้นรัฐบาลก็จะช่วยประชาชนได้ยาก
เพราะฉะนั้นรัฐบาลจะต้องใช้เงินอย่างระมัดระวัง และมีประสิทธิภาพ ตอบโจทย์กับการพัฒนาประเทศที่ยั่งยืน ไม่ใช่มาตรการระยะสั้น เพราะความไม่แน่นอนเหล่านี้ ไม่ได้อยู่แค่เฉพาะปีนี้ แต่จะอยู่ระยะยาวอย่างน้อย 4 ปี ตามวาระของประธานาธิบดีสหรัฐฯ
นอกจากนี้รัฐบาลควรลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัล เช่น สัญญาณอินเทอร์เน็ตให้เร็วและแรง เพราะเป็นปัจจัยที่ภาคธุรกิจด้านดิจิทัลและเทคโนโลยีใหม่ ๆ ต้องการ ซึ่งหากพัฒนาในเรื่องนี้ได้จะสามารถดึงดูดให้เข้ามาลงทุนในไทยได้ รวมไปถึงการส่งเสริมการผลิตพลังงานสะอาด การยกระดับทักษะแรงงาน และการลดข้อจำกัดในการลงทุน โดยปรับปรุงกฎหมาย และกฎระเบียบการขออนุญาตต่างๆที่ยังมีความซ้ำซ้อนอยู่ ให้เอื้อต่อการลงทุนและการทำธุรกิจ ซึ่งจะช่วยให้เศรษฐกิจไทยขับเคลื่อนไปได้
สงครามการค้ารอบใหม่ฉุดส่งออกไทยปี 68
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจไทยปี 2568 จะขยายตัวช้าลงที่ 2.4% ต่ำกว่าปีก่อนหน้าเล็กน้อยที่คาดว่าจะเติบโต 2.6% จากแรงส่งการท่องเที่ยว การบริโภค และการส่งออกที่อ่อนแอลง โดยในปี 2568 การส่งออกไทยคาดว่าจะขยายตัวที่ 2.5% ชะลอลงจากปี 2567 เนื่องจากปัจจัยลบ ได้แก่ 1. สงครามการค้ารอบใหม่ และ 2. โครงสร้างการส่งออกไทยที่ไม่ตอบโจทย์ความต้องการ
ตลาดโลก
อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยยังมีอยู่ในระดับสูงจากความไม่แน่นอนเกี่ยวกับสงครามการค้า การชะลอตัวของเศรษฐกิจหลักของโลก โดยเฉพาะจีน รวมถึงการแข่งขันในภาคการผลิตภายในประเทศที่สูงขึ้นจากปัญหาเชิงโครงสร้างและสินค้าจีนทะลักกดดันการแข่งขัน
สำหรับมาตรการกระตุ้นการบริโภคเพิ่มเติมของภาครัฐ เช่น มาตรการโอนเงิน และซื้อสินค้าลดหย่อนภาษี คาดว่าจะช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายได้ในระยะสั้น แต่หนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงจะส่งผลกระทบต่อการบริโภคโดยรวมและนำไปสู่การชะลอตัว
นอกจากนี้รัฐบาลยังเผชิญความเสี่ยงจากการขาดดุลการคลังสูงอย่างต่อเนื่อง อาจส่งผลให้รัฐบาลต้องปรับขึ้นภาษี เช่น การเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่ม (Vat) เพื่อหนุนรายได้ของรัฐบาล โดยในปี 2567 รัฐบาลมีรายได้จากการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มอยู่ที่ 9.47 แสนล้านบาท อย่างไรก็ตามการปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม 1% คาดว่าจะลดการเติบโตของ GDP ลงในระยะสั้น 0.1 – 0.3% เนื่องจากการบริโภคภาคครัวเรือนที่ลดลงและอัตราเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นทันที โดยภาษีมูลค่าเพิ่มที่ปรับขึ้นทุก 1% จะทำให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้น 0.6%
อ่านเนื้อหาที่เกี่ยวข้อง