พระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 ได้กำหนดขั้นตอนการกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่น แต่ในทางปฏิบัติพบว่า อปท. มีอำนาจและหน้าที่ในการจัดทำบริการสาธารณะในพื้นที่ของตนได้ แต่ทว่ายังคงมีข้อจำกัดด้านทรัพยากรงบประมาณ ที่ยังกระจายไปสู่ท้องถิ่นต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้มาโดยตลอด
ขณะที่การปลดล็อกการกระจายอำนาจท้องถิ่น ต้องกระจายงบประมาณให้ท้องถิ่นเพื่อบริหารจัดการทรัพยากรของตัวเองได้ แต่การกระจายงบประมาณของท้องถิ่นยังไม่อิสระเพียงพอ “ดวงมณี เลาวกุล” คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงประเด็นดังกล่าว ในงานเสวนาหัวข้อ “ความสามารถและศักยภาพขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไทย: มุมมองด้านเศรษฐศาสตร์ รัฐศาสตร์ และนิติศาสตร์” ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อไม่นานมานี้ว่า การจัดการงบประมาณที่รัฐบาลจัดสรรให้ท้องถิ่นต่ำกว่า พ.ร.บ.กำหนดแผนฯปี2542 ทำให้ท้องถิ่นไม่สามารถพัฒนาศักยภาพของตัวเองได้ โดยหากพิจารณาจากสัดส่วนการกระจายรายได้ตามข้อกำหนดของ พ.ร.บ.กำหนดแผนฯ 2542 พบว่าการกำหนดสัดส่วนรายได้ท้องถิ่นต่อรายได้รัฐบาลสุทธิต่ำกว่าขั้นต่ำที่กฎหมายกำหนดมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
- พ.ศ. 2544 กำหนดสัดส่วนรายได้ท้องถิ่นต่อรายได้รัฐบาลสุทธิไม่ต่ำกว่า 20%
- พ.ศ. 2549 กำหนดสัดส่วนรายได้ท้องถิ่นต่อรายได้รัฐบาลสุทธิใม่ต่ำกว่า 35%
- พ.ศ. 2562 กำหนดสัดส่วนรายได้ท้องถิ่นต่อรายได้รัฐบาลสุทธิใม่ต่ำกว่า 30% แต่เมื่อถึงที่สุดแล้ว สัดส่วนรายได้ท้องถิ่นมีประมาณ 29%
- พ.ศ. 2567 กำหนดสัดส่วนรายได้ท้องถิ่นมีประมาณ 19-20%
นอกจากการจัดสรรงบประมาณไปยังท้องถิ่นในสัดส่วนที่น้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดแล้ว การจัดเก็บรายได้ของ อปท. เองก็มีสัดส่วนค่อนข้างน้อยด้วยเช่นกัน โดยพบว่า อปท.ทั้่วประเทศสามารถจัดเก็บรายได้อยู่ที่ประมาณ 10% ของรายได้ ในขณะที่ประเทศที่พัฒนาแล้วการกระจายอํานาจจะมีสัดส่วนรายได้อยู่ที่ 50% ดังนั้นแหล่งรายได้หลักของ อปท.จึงมาจาก 4 แหล่งได้แก่
- งบประมาณที่รัฐบาลจัดสรรให้ ซึ่งเป็นรายได้ที่สำคัญที่สุด ในการสนับสนุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการดำเนินงานในท้องถิ่น ตาม พ.ร.บ.กำหนดแผนฯ 2542 ซึ่งปริมาณเงินอุดหนุนขึ้นอยู่กับภาวะทางเศรษฐกิจและนโยบายของรัฐบาลในแต่ละปี
- เงินอุดหนุนจากรัฐบาล สำหรับการดำเนินกิจกรรมที่มีเป้าหมายเฉพาะ ซึ่งสะท้อนความสำคัญของ อปท. และปัญหาในแต่ละท้องถิ่น เช่น การจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน, ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก, สงเคราะห์เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ, สงเคราะห์เบี้ยยังชีพคนพิการ,สนับสนุนศูนย์บริการทางสังคม,สถานสงเคราะห์คนชรา, โครงการแก้ไขปัญหายาเสพติด, การชดเชยรายได้ที่ลดลงจากเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
- รายได้จากการบริการของ อปท. เอง เช่น ค่าบริการจัดการขยะหรือการบริการสุขภาพในพื้นที่
- รายได้ที่ อปท. การจัดเก็บภาษีเอง เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT), ภาษีภาษีสุราและสรรพสามิต, ภาษีการพนัน, ภาษีบำรุงองค์การบริหารส่วนจังหวัดจากผู้พักในโรงแรม, ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง, ภาษีและค่าธรรมเนียมรถยนต์และล้อเลื่อนภาษีบำรุงท้องที่, ภาษีป้าย, อากรฆ่าสัตว์, ค่าธรรมเนียม, ค่าปรับและใบอนุญาต, รายได้จากอุทยาน
“การเพิ่มรายได้ของ อปท. ควรเริ่มจากอิสรภาพในการกำหนดประเภทภาษีที่จัดเก็บได้เอง เพื่อเพิ่มศักยภาพทางการคลังของอปท. รวมทั้งอิสรภาพในการกำหนดการใช้จ่ายเพื่อดำเนินการกิจกรรมต่างๆ ของตนเอง โดยให้สภาท้องถิ่นมีอำนาจในการจัดการงบประมาณ ปรับปรุงระบบการจัดเก็บรายได้ให้มีประสิทธิภาพและเป็นธรรม”
การขยายฐานภาษีของ อปท.ที่สอดคล้องกับท้องถิ่นนั้นๆจึงน่าจะเป็นคำตอบในการสร้างรายได้ให้กับท้องถิ่นได้ เช่นภาษีการท่องเที่ยว เพราะว่าในหลายพื้นที่เวลามีนักท่องเที่ยวเข้าไปจำนวนมาก มีการทิ้งขยะ หรือทําให้ทรัพยากรธรรมชาติแย่ลง เพราะฉะนั้นการเก็บภาษีการท่องเที่ยวจะเป็นอีกรายได้ของ อปท. ที่เหมาะสม เนื่องจาก ท้องถิ่นสามารถนำรายได้ตรงนี้ไปจัดการกับขยะ หรือพัฒนาสิ่งแวดล้อม สถานที่ท่องเที่ยว
อย่างไรก็ตาม การปลดล็อกการจัดเก็บภาษีของท้องถิ่น อปท. ต้องรวมไปถึงการพัฒนาศักยภาพของบุคลากร นำเทคโนโลยีเข้ามาจัดเก็บและทำแผนที่ภาษี ฐานข้อมูลของผู้เสียภาษีที่ครบถ้วนและอัพเดท รวมถึงการทําร่วมกันระหว่างหน่วยงานจัดเก็บภาษีของหน่วยงานส่วนกลาง โดยเชื่อมโยงฐานข้อมูลเข้าด้วยกัน พร้อมกับพัฒนาระบบเร่งรัดติดตามผู้ค้างชำระภาษีเพื่อเพิ่มศักยภาพในการหารายได้ของท้องถิ่นมากขึ้น
ขณะเดียวกันต้องสื่อสารให้ประชาชนเข้าใจได้ว่าภาษีที่เสียไป อปท. นำไปใช้ประโยชน์ว่าพัฒนาท้องถิ่นอย่างไรบ้าง การจ่ายภาษีสำคัญอย่างไร มีทิศทางการพัฒนาของ อปท. เป็นอย่างไร การจัดบริการสาธารณะของท้องถิ่นมีอะไรบ้าง พร้อมกับปรับปรุงการบริการสาธารณะ เมื่อประชาชนเห็นเป็นรูปธรรมจะมีความยินดีที่จะจ่ายภาษีมากขึ้น ช่วยกระตุ้นพฤติกรรมของผู้เสียภาษี รวมทั้งทำระบบให้การบริจาคเงินไปที่ท้องถิ่นสามารถเอาไปหักลดหย่อนภาษีได้ เพื่อจูงใจให้ประชาชนบริจาคเงินให้กับ อปท.
หนุนท้องถิ่นเก็บ“ภาษีบ้านเกิด”
นอกจากนี้ควรจะเพิ่มทางเลือกของภาษีบุคคลธรรมดา ให้มีภาษีบ้านเกิด โดย “ดวงมณี” เสนอว่า การจัดเก็บภาษีรายได้บุคคลธรรมดา ควรทำเป็นระบบภาษีบ้านเกิด ผู้เสียภาษีสามารถระบุได้ว่า จะจ่ายภาษีหรือจะบริจาคเงินในท้องถิ่นพื้นที่ใด ประชาชนต้องมีสิทธิเลือกสนับสนุนท้องถิ่นด้วยตนเอง ไม่ใช่ให้รัฐศูนย์กลางมาตัดสินใจเอง
ข้อเสนอดังกล่าวสอดคล้องกับ “เนวิน ชิดชอบ” ประธานบริหารสโมสฟุตบอลบุรีรัมย์ยูไนเต็ด ที่เคยกล่าวในงานบรรยายพิเศษหัวข้อ “แนวทางการพัฒนาจังหวัดบุรีรัมย์ยุคใหม่ ภายใต้ความร่วมมือระหว่างผู้ว่าราชการจังหวัดและองค์การบริหารส่วนจังหวัด” แก่ผู้ว่าราชการจังหวัดและนายก อบจ. ทั่วประเทศ ที่สนามช้างอารีน่า อ.เมือง จ.บุรีรัมย์เมื่อ 4 เม.ย. 2568 ว่า การกระจายท้องถิ่นอย่างยั่งยืน ต้องเริ่มต้นจากการแก้ไขกฎหมายให้อำนาจโดยตรงแก่ประชาชนผู้เสียภาษี ให้สามารถเลือกได้ว่า ภาษีที่ต้องจ่ายไปนั้นจะส่งไปพัฒนาท้องถิ่นพื้นที่ใด เพื่อให้ท้องถิ่นนั้นเข้มแข็งมากขึ้น เป็น “ภาษีบ้านเกิดเมืองนอน” ในแบบฟอร์มเสียภาษี ภ.ง.ด.9 ภาษีรายได้บุคคลธรรมดา เหมือนกับที่รัฐให้อำนาจประชาชนสามารถเลือกบริจาคเงินเข้าพรรคการเมืองได้ รัฐก็ควรให้อำนาจประชาชนที่จะส่งเงินไปพัฒนาบ้านเกิดเมืองนอนของตนเองได้ ที่ผ่านมาภาษีทั้งหมดไปกองอยู่ที่เดียวคือที่ส่วนกลาง กลายเป็นการเสียภาษีให้กรุงเทพ กรุงเทพเอากำไรไปจากพื้นที่ท้องถิ่น
อปท. คือ “รัฐใกล้บ้าน”
การกระจายอำนาจในการจัดการงบประมาณ ถือเป็นปัจจัยในการปลดล็อกการเพิ่มศักยภาพของท้องถิ่น ขณะที่บทบาทของ อปท. ต้องให้ความสำคัญกับการบริการสาธารณะกับประชาชนตามพื้นที่ต่างๆ ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับประชาชนใกล้ชิดกันมากขึ้น สามารถวิพากษ์วิจารณ์ได้ ทำให้ชุมชนกับรัฐสามารถร่วมมือกันพัฒนาพื้นที่ของตัวเองได้
“วสันต์ เหลืองประภัสร์ “ผู้อำนวยการสถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บอกว่า นับตั้งแต่เหตุการณ์พฤษภาคม 2535 เกิดความพยายามกระจายอำนาจให้กับท้องถิ่น จนมาถึงปัจจุบัน ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการกระจายอำนาจมีทิศทางไปในทางบวกมาขึ้นเรื่อยๆ อปท.ขยายบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆ ช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ผ่านบริการสาธารณะดูแล ดับทุกข์บำรุงสุขประชาชน ลดช่องว่างระหว่างรัฐกับประชาชน
อปท. กลายเป็น “รัฐใกล้บ้าน” ของประชาชนในพื้นที่ จนทำให้เกิดการปลดปล่อยพลังท้องถิ่น ให้สามารถจัดการตนเองได้ สร้างศักยภาพ ความเปลี่ยนแปลงได้ด้วยตนเอง นำไปสู่พัฒนาเศรษฐกิจชุมชน และมีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น แม้ว่าจะไม่เป็นไปตามเป้าหมายรัฐธรรมนูญ 2540 ก็ตาม แต่กล่าวได้ว่า ภูมิทัศน์การเมืองท้องถิ่นเริ่มเปลี่ยนแปลงอย่างมหาศาล นักการเมืองท้องถิ่นมีความสำคัญต่อการเมืองระดับชาติ ทำให้การเลือกตั้งท้องถิ่นคึกคักมากขึ้น
ปัจจัยที่ทำให้การเลือกกตั้งท้องถิ่นได้รับความสำคัญมากขึ้น ประกอบด้วย
- ท้องถิ่นมีศักยภาพทำงานในเชิงพื้นที่ จะเห็นได้ว่า ผู้นำท้องถิ่นบางคนเมื่อไปเป็น สส.ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้เต็มที่ เพราะหน้าที่หลักเป็นเรื่องของนิติบัญญัติในสภา สส. นักการเมืองหลายคนในสภาจึงหันไปเป็นนักการเมืองท้องถิ่นดีกว่า
- พรรคการเมืองตระหนักได้ว่า หากยึดกุมท้องถิ่นได้ จะเป็นหลักประกันสร้างคะแนนนิยมในพื้นที่นั้นๆ นักการเมืองท้องถิ่นสามารถทำงานได้ตลอดเวลา ได้ใกล้ชิดประชาชนมากกว่าอยู่ในสภา
บทบาทของ อปท. สัมพันธ์กับประชาชนในพื้นที่ต่างๆ ตั้งแต่เกิดจนตาย โดย อปท. มีคณะกรรมการบริหารศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก มีศูนย์พัฒนาเด็กเล็กในแต่ละท้องถิ่น ทำให้เด็กเล็กมีที่รองรับ มีนมให้ดื่มมีอาหารมีคนดูแล ส่งเสริมพัฒนาการเรียนรู้ ทำให้เด็กในท้องถิ่นมีพัฒนาการตามเกณฑ์มาตราฐาน และทำให้ผู้ปกครองที่ต้องออกไปทำงานนอกบ้านสามารถออกไปทำงานได้อย่างเต็มที่ รวมถึงการดูแลผู้สูงอายุในท้องถิ่นที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ยังไม่สามารถดูแลได้ทั่วถึงเพียงพอ
เพิ่มพื้นที่ปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ
ความแตกต่างจากของแต่ละท้องถิ่น ทั้งเรื่องทรัพยากรต่างกันและความเป็นเมืองที่ไม่เท่ากัน เช่น แหลมฉบัง เป็นท่าเรือนานาชาติที่สําคัญของประเทศไทย สมุย ภูเก็ต เป็นเมืองท่องเที่ยวระดับโลก ขณะที่มาบตาพุดเป็นเมืองอุตสาหกรรมที่สําคัญ ซึ่งเมืองเหล่านี้มีทรัพยากรจำนวนมากที่สามารถพัฒนาได้ แต่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีอำนาจดูแลพื้นที่ได้อย่างจำกัด ทำให้การบริหารจัดการไม่สอดคล้องกับศักยภาพที่มี ดังนั้น การปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษจึงเกิดกับพื้นที่ที่มีความเป็นเมืองศักยภาพสูง มีปัญหาที่มากกว่า ซับซ้อนกว่า เพื่อทำลายอำนาจหน้าที่ที่จำกัด โดยในหลายพื้นที่ควรได้รับการพัฒนาให้เกิดการปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ เหมือนกรุงเทพ และพัทยา
เช่นเดียวกับการกำหนดเขตเศรษฐกิจพิเศษที่เป็นการกระจายอำนาจให้พื้นที่นั้นๆ สามารถกำหนดกฎเกณฑ์กติกา บริหาร มีอำนาจตัดสินใจในภารกิจที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจเชิงพื้นที่ เช่นโครงสร้างพื้นฐาน สิทธิประโยชน์การลงทุน การบริหารแรงงาน การให้บริการจุดเดียวเบ็ดเสร็จ หรือ สร้างความร่วมมือกันระหว่าง อปท. นักธุรกิจ และประชาสังคม
“หลายท้องถิ่น เริ่มมีเครือข่ายการพัฒนาการเมือง ที่มีเป้าประสงค์ร่วมกันคือการพัฒนาเมืองด้วยตนเอง มีการดึงนักลงทุนนักธุรกิจและภาคประชาสังคมมาทำงานร่วมกันในการพัฒนาเมือง เช่น ขอนแก่นถือเป็นจังหวัดแรกๆ ที่เริ่มมีบริษัทพัฒนาเมือง จากนั้นจึงเริ่มเกิดขึ้นในจังหวัดต่างๆ ซึ่งถือว่าประสบผลสำเร็จพอสมควร ”
“วสันต์”บอกว่า การกระจายอำนาจ แม้ประชาชนในท้องถิ่นไม่ใช่ผู้บริหารจัดการทรัพยากร แต่ควรเป็นผู้กำหนดยุทธศาสตร์การใช้ทรัพยากรอย่างมีทิศทาง มีแผนแม่บท หรือแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาในเชิงพื้นที่ได้ด้วยตัวเอง ผ่านภาคประชาสังคม ภาคธุรกิจ แต่ที่ผ่านมา อปท. ทำแผนเสนอผู้ว่าราชการจังหวัดเพื่อให้ผู้ว่าฯทำแผนพัฒนาจังหวัด แต่แผนดังกล่าวต้องตอบโจทย์ยุทธศาสตร์แห่งชาติและแนวนโยบายของรัฐศูนย์กลาง ทำให้ไม่สอดคล้องกับความต้องการในพื้นที่
อีกทั้งยังมีปัญหาการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ว่าราชการจังหวัดที่อยู่ในตำแหน่งในระยะสั้นๆ ทำให้แผนพัฒนาจังหวัดขาดความต่อเนื่องและผู้บริหารขาดความเข้าใจพื้นที่อย่างแท้จริง จนทำให้เกิดการกระจายอำนาจแบบลุ่มๆ ดอนๆ ทำให้ท้องถิ่นไม่สามารถแสดงศักยภาพได้เพียงพอ
นอกจากนี้ การกระจายอำนาจสามารถเกิดขึ้นได้ในมิติอื่นๆ นอกเหนือจากเศรษฐกิจ เช่น การกระจายอำนาจทางการศึกษาเชิงพื้นที่ เช่น พ.ร.บ.พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 ให้แต่ละพื้นที่ออกแบบจัดการการศึกษาให้สอดรับกับความต้องการกลุ่มเป้าหมาย เด็ก เยาวชน ผู้เรียน ตามเงื่อนไขของประชากร สังคมและเศรษฐกิจ ซึ่งจะตอบรับผู้เรียนมากกว่าการศึกษาแบบรวมศูนย์อำนาจ
ความร่วมมือระหว่าง อปท. กับประชาชน
การเพิ่มศักยภาพและความสามารถของ อปท. นั้น คือการถ่ายโอนอำนาจมายังราชการส่วนท้องถิ่น รวมทั้งเพิ่มจำนวนข้าราชการส่วนท้องถิ่น ซึ่งจำเป็นต้องมีการปรับแก้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง
“ยอดพล เทพสิทธา” สาขาวิชานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมธิราช กล่าวว่า อปท. เป็นหน่วยงานราชการที่ใกล้ชิดและเป็นมิตรกับประชาชนมากกว่าหน่วยงานราชการส่วนกลาง โดยจะสังเกตได้ชัดจากอาคารสถานที่ไม่ได้สร้างสถาปัตยกรรมใหญ่โต่โอ่อ่า จนประชาชนที่เข้ามาติดต่อหรือใช้บริการรู้สึกตัวเล็กลง มองราชการเป็นเจ้าคนนายคนที่ต้องพินอบพิเทา
ดังนั้น การปลดล็อก อปท.สามารถทำได้ทั้งแก้ระเบียบกฎหมาย และแสวงหาความร่วมมือกับภาคประชาชน ภาคธุรกิจ เพราะระเบียบกฎหมายมักมีข้อจำกัดว่าจะต้อง “ไม่ทับซ้อนกับหน่วยราชการอื่นๆ” ทำให้ อปท. ไม่สามารถดำเนินการต่างๆได้อย่างเต็มที่
ส่วนการจัดเก็บรายได้ เช่น รายได้จากภาษีสรรพสามิต ยังต้องดำเนินการผ่านกรมสรรพสามิต ทำให้ไม่สามารถรับรายได้จากภาษีสรรสามิตเต็มจำนวน เพราะจะต้องถูกหักออกไปส่วนหนึ่ง อีกทั้ง การจัดเก็บค่าบริการต่างๆ ไม่ได้มีการปรับอัตราการเก็บมา เป็นเวลานานและอาจไม่สอดคล้องกับบริบททางเศรษฐกิจ ซึ่งต้องพิจารณาอย่างละเอียด หากต้องเพิ่มอัตราค่าบริการ เช่น ค่าจัดเก็บขยะ ที่อัตรา 20 บาทต่อครัวเรือนมาเป็นเวลาหลายปี
แม้ว่าอัตรานี้จะคำนึงถึงผลกระทบครอบครัวที่มีรายได้น้อย แต่ก็ทำให้ อปท. มีงบประมาณไม่เพียงพอในการบริการสาธารณะ การแก้กฎหมายเพื่อขยายฐานเก็บภาษีของ อปท. ก็เช่นกัน ต้องพิจารณาอย่างถี่ถ้วนเพื่อไม่ให้กระทบผู้มีรายได้น้อย
ในการแสวงหาความร่วมมือระหว่างอปท.กับประชาชน และชุมชนในพื้นที่ ขึ้นอยู่กับแต่ละท้องถิ่น เช่นการสร้างพื้นที่สร้างสรรค์เพื่อเศรษฐกิจสร้างสรรค์ สามารถเริ่มต้นที่การพัฒนาปรับปรุงห้องสมุดประชาชนเทศบาล ห้องสมุด อบจ. และในพื้นที่ที่ประสบภัยน้ำท่วม อปท. สามารถเปลี่ยนผู้ประสบภัยเป็นผู้มีประสบการณ์ ทำระบบพื้นที่เก็บน้ำ วางระบบส่งน้ำ ให้ชาวบ้านเป็นผู้ร่วมลงทุนเก็บน้ำเพื่อผันน้ำใช้ในช่วงแล้ง เพราะมีกฎหมายที่อนุญาตให้หน่วยงานของรัฐเป็นร่วมลงทุนกับเอกชนได้อย่าง พ.ร.บ. การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562
นักวิชาการชี้ “เรายังกระจายอำนาจไม่พอ”
จากงานเสวนาหัวข้อ “ความสามารถและศักยภาพขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไทย: มุมมองด้านเศรษฐศาสตร์ รัฐศาสตร์ และนิติศาสตร์” นักวิชาการทั้ง 3 ศาสตร์ เห็นพ้องต้องกันว่า การกระจายอำนาจเป็นกระบวนการที่สำคัญในการสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในระดับท้องถิ่น และพัฒนาเศรษฐกิจในท้องถิ่น สามารถลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นประชาธิปไตยในการบริหารจัดการทรัพยากรของรัฐ ซึ่งกลไกนี้สามารถทำได้ด้วยการปลดล็อก อปท. ให้สามารถพัฒนาในด้านการบริหารจัดการการเงิน การจัดการทรัพยากรบุคคล และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่สามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงในสังคมได้อย่างยั่งยืน
การกระจายอำนาจที่มีประสิทธิภาพจะส่งผลให้ท้องถิ่นสามารถจัดการทรัพยากรในพื้นที่นั้นๆ และการบริการสาธารณะได้อย่างมีประสิทธิภาพและตอบสนองความต้องการของประชาชน การกระจายอำนาจนั้นมีทั้งด้านการเงิน การบริหารทรัพยากร และการพัฒนากฎหมายที่เอื้อให้ท้องถิ่นสามารถดำเนินการได้อย่างมีเสรีภาพ โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพิงจากรัฐบาลกลางทางเดียว
การกระจายอำนาจทางการคลังและเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษีโดยท้องถิ่นเองจะเป็นกลไกสำคัญในการเพิ่มอิสระในการบริหารจัดการของ อปท. อีกทั้งยังช่วยลดการพึ่งพาการสนับสนุนจากรัฐบาลส่วนกลางและเสริมสร้างการพัฒนาเศรษฐกิจในท้องถิ่นทำให้เกิดการสร้างแหล่งรายได้หลักในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการให้บริการสาธารณะ เช่น การศึกษา การดูแลสุขภาพ และการพัฒนาสาธารณูปโภคต่าง ๆ
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในเทศบาลเมืองบึงยี่โถ อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี จากการถ่ายโอนอำนาจด้านอนามัยสาธารณสุข ทำให้เกิดการพัฒนาศูนย์การแพทย์และสถานพยาบาลท้องถิ่น เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับการดูแลสุขภาพที่มีคุณภาพ
นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาโครงการดูแลผู้สูงอายุที่ตอบสนองต่อความต้องการของกลุ่มประชากรสูงอายุในพื้นที่ เช่น การพัฒนาโปรแกรมการดูแลสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุ การสร้างพื้นที่ออกกำลังกาย และการพัฒนาโครงการช่วยเหลือทางสังคม ซึ่งผู้สูงอายุสามารถเดินทางมารักษาพยาบาลมากายภาพได้ใกล้บ้าน
สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งคือ การตรวจสอบการทำงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญในการรักษาความโปร่งใสและความรับผิดชอบในการใช้จ่ายงบประมาณสาธารณะ การตรวจสอบนี้ไม่ได้มีเพียงแค่การตรวจสอบตามระเบียบกฎหมายที่มีอยู่ แต่ยังรวมถึงการการเลือกตั้งและการให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจในเรื่องต่าง ๆ เช่น การจัดสรรงบประมาณ การพัฒนาโครงการ และการติดตามผลการดำเนินงาน เหตุที่ประชาชนควรเป็นผู้ตรวจสอบการทำงานของท้องถิ่นนั้น เพราะประชาชนเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงในพื้นที่
ขณะเดียวกันในการตรวจสอบ อปท. ควรได้รับการปรับปรุง เพราะ อปท. ถือว่าองค์กรรัฐที่ถูกตรวจสอบมากกว่าองค์กรอื่น จากทั้งส่วนกลางและมีการเลือกตั้งเป็นกลไกทางการเมืองที่ตรวจสอบ อปท. อยู่แล้ว การตรวจสอบจากส่วนกลางนั้นไม่ใช่การตรวจสอบเชิงบวก หรือการตรวจสอบที่พึงมี เช่น ส่งเสริมการทำงานหรือจัดอบรม พัฒนาบทบาททักษะ หากแต่มีลักษณะเป็นการตรวจสอบตามหลัง เป็นการควบคุมกำกับและใช้อำนาจจากส่วนกลาง จน อปท. มีปัญหาในการทำงาน เกิดความหวาดกลัวว่าจะกระทำผิด ภายใต้การควบคุมตรวจสอบของส่วนกลาง ไม่นำไปสู่การการกระจายอำนาจที่แท้จริง ซึ่งเท่ากับว่า “เรายังกระจายอำนาจไม่พอ”
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง