สถาบันการจัดอันดับความน่าเชื่อถือประเมินเศรษฐกิจไทยในปี 2567 ขยายตัวในเกณฑ์ต่ำ ยังคงได้อานิสงส์จากภาคท่องเที่ยว แต่กังวลเรื่องการบริหารจัดการหนี้ แม้ว่าในระยะสั้นไม่มีเรื่องการชำระหนี้
ล่าสุดเมื่อ 11 เม.ย. 2567 มูดีส์ (Moody’s Investors Service) บริษัทจัดอันดับเครดิต คงอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทย ที่ Baa1 หรือเทียบเท่า BBB+ และคงมุมมองความน่าเชื่อถือของประเทศไทยในระดับมีเสถียรภาพ
นอกจากนี้ ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตร้อยละ 1.9 ในปี 2566 เป็นประมาณการร้อยละ 3 ในปี 2567-2568 จากการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของภาคส่งออกและภาคท่องเที่ยว โดยปริมาณนักท่องเที่ยวต่างชาติคาดว่าจะเพิ่มขึ้นจาก 28 ล้านคนในปี 2566 เป็น 35 ล้านคน ในปี 2567 และจะเพิ่มเป็น 40 ล้านคนในปี 2568 ซึ่งเป็นระดับเดียวกับก่อนเกิดการระบาดของโรคโควิด-19
ทั้งนี้การฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนจะช่วยกระตุ้นการบริโภคและการลงทุนของภาคเอกชนและการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป
ขณะเดียวกันการลงทุนของภาครัฐจะเพิ่มขึ้นภายหลังจากที่พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีมีผลบังคับใช้ อีกทั้งภาครัฐได้สนับสนุนการลงทุนของภาครัฐและเอกชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และเพิ่มการมีส่วนร่วมในข้อตกลงการค้าเสรี
ด้านภาคการคลังสาธารณะ ยังมีความเข้มแข็งแม้รัฐบาลจะดำเนินนโยบายขาดดุลทางการคลังอย่างต่อเนื่อง แต่ มูดีส์ คาดว่าในระยะปานกลางรัฐบาลจะสามารถบริหารจัดการภาระหนี้สาธารณะให้อยู่ในระดับมีเสถียรภาพ และจะกลับเข้าสู่การดำเนินนโยบายการคลังอย่างระมัดระวังได้
นอกจากนี้รัฐบาลยังมีความสามารถในการชำระหนี้ที่แข็งแกร่ง เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มประเทศที่มีอันดับความน่าเชื่อถือระดับเดียวกัน โดยสามารถใช้เครื่องมือการระดมทุนในประเทศที่หลากหลายด้วยต้นทุนต่ำ อีกทั้งหนี้สาธารณะส่วนใหญ่เป็นหนี้สกุลเงินบาท และมีอายุเฉลี่ยยาว
สำหรับปัจจัยที่ มูดีส์ จะติดตาม เพื่อวิเคราะห์อันดับความน่าเชื่อถือของไทย คือ ศักยภาพการผลิต การปฏิรูปด้านต่าง ๆ เพื่อเพื่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย และการบริหารจัดการภาระหนี้สาธารณะในระยะปานกลาง ตลอดจนการมุ่งเข้าสู่สมดุลทางการคลัง
อันดับความน่าเชื่อถือจากสถาบันอื่น
ที่ผ่านมามีหลายสถาบันการจัดอันดับความน่าเชื่อถือหลายแห่งที่ได้จัดอันดับความน่าเชื่อถือของไทย ได้แก่
บริษัท Japan Credit Rating Agency, Ltd. (JCR) เมื่อวันที่ 1 เม.ย. 2567 ให้ความน่าเชื่อถือไทยอยู่ที่ระดับ A และคงมุมมองความน่าเชื่อถือของประเทศไทยที่ระดับมีเสถียรภาพ ประเมินเศรษฐกิจไทยปี 2566 เติบโตที่ร้อยละ 1.9 จากการบริโภคและการลงทุนของภาคเอกชน และการกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างประเทศ ขณะที่การส่งออกสินค้าลดลง เนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศนำเข้าชะลอตัว
ทั้งนี้ การนำเข้าและส่งออกสินค้าและบริการมีความสำคัญอย่างมากต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทย โดยในปี 2566 สัดส่วนการนำเข้าและส่งออกสินค้าและบริการมีสัดส่วนถึงร้อยละ 65 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ จีดีพี (GDP) ขณะเดียวกันรัฐบาลไทยได้ใช้มาตรการทางภาษีเพื่อส่งเสริมและจูงใจนักลงทุนจากต่างประเทศ รวมถึงการเน้นความสำคัญกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่สำคัญ เช่น โครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของห่วงโซ่อุปทาน ด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมไฟฟ้า และอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
พร้อมมองว่ารัฐบาลยังคงรักษาระดับฐานะการคลังให้อยู่ในระดับดี แม้ต้องกู้เงินจำนวนมากในช่วงที่เกิดการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในระยะที่ผ่านมา ทำให้ต้องปรับเพดานสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพี จากร้อยละ 60 เป็นร้อยละ 70 ทั้งนี้ สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพี ณ สิ้นปี 2567 คาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 62.4 และรัฐบาลจะยังสามารถรักษาระดับหนี้สาธารณะต่อ GDP ให้อยู่ในระดับที่ต่ำกว่าร้อยละ 70 ได้
อย่างไรก็ตามหนี้สาธารณะส่วนใหญ่ยังคงเป็นหนี้ในประเทศและสัดส่วนหนี้ต่างประเทศต่อหนี้สาธารณะคงค้างอยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 1.4
บริษัท S&P Global Ratings (S&P) เมื่อวันที่ 28 พ.ย. 2566 ให้ความน่าเชื่อถือไทยอยู่ที่ระดับ BBB+ ประเมินเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัว และเติบโตอย่างรวดเร็วจากร้อยละ 2.5 ในปี 2566 เป็นร้อยละ 4.2 ในปี 2567 เนื่องจากการดำเนินมาตรการทางการคลังและการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว อีกทั้งอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่แท้จริง จะเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 3.2 ในช่วงปี 2566-2569 ขณะที่สัดส่วนการขาดดุลงบประมาณต่อจีดีพี (GDP) เฉลี่ยคาดว่าจะอยู่ต่ำกว่าร้อยละ 4 ในช่วงปี 2567 – 2569
นอกจากนี้รัฐบาลไทยจะยังคงเน้นการลงทุนตามยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศ ซึ่งรวมถึงโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก และโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งตามแผนแม่บท โดยคาดว่าการลงทุนของรัฐวิสาหกิจและความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน จะมีบทบาทสำคัญในขับเคลื่อนโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ซึ่งการลงทุนอย่างต่อเนื่องจะช่วยฟื้นฟูความสามารถในการแข่งขันของเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป
ส่วนหนี้ภาครัฐบาลสุทธิอยู่ในระดับปานกลาง ขณะที่ภาคการเงินต่างประเทศ แข็งแกร่งอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าดุลบัญชีเดินสะพัดจะยังคงเกินดุลตั้งแต่ปี 2567 – 2569 เนื่องจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวเป็นสำคัญ
บริษัท Rating and Investment Information, Inc. (R&I) เมื่อวันที่ 21 ธ.ค. 2566 ให้ความน่าเชื่อถือไทยอยู่ที่ระดับ A- และคงมุมมองความน่าเชื่อถือของประเทศไทยอยู่ในระดับที่มีเสถียรภาพ ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวด้วยการขับเคลื่อนจากการบริโภคภาคเอกชนและภาคการท่องเที่ยวเป็นสำคัญ
นอกจากนี้ การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคอุตสาหกรรมการผลิตอุปกรณ์ไฟฟ้า อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และรถยนต์ เป็นปัจจัยพื้นฐานสำคัญของเศรษฐกิจไทย โดยรัฐบาลมีมาตรการเชิงรุกต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมหลักในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก และสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจและสภาพแวดล้อมทางธุรกิจเพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ ตลอดจนสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศในระยะปานกลางถึงระยะยาว ขณะที่ภาคการส่งออกชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจโลก
แม้การขาดดุลทางการคลังจะยังอยู่ในระดับสูงกว่าก่อนเกิดวิกฤตการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 แต่ R&I เชื่อว่ารัฐบาลจะยังคงสามารถบริหารจัดการภาระหนี้สาธารณะให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 และยังมีพื้นที่ทางการคลังคงเหลือเพื่อใช้สนับสนุนการดำเนินนโยบายการคลัง