คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบและอนุมัติ มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวภายในประเทศ ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ดังนี้
- เห็นชอบมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการจัดอบรมสัมมนาภายในประเทศ (สำหรับนิติบุคคล)
- เห็นชอบมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวในประเทศ (สำหรับบุคคลธรรมดา)
- อนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….
ทั้งนี้ เพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวภายในประเทศในช่วงนอกฤดูกาลท่องเที่ยว (Low Season) (เดือน พ.ค. ถึงเดือน พ.ย. 2567) ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวไทยให้เป็นไปอย่างต่อเนื่องและทั่วถึง รวมทั้งช่วยกระตุ้นและฟื้นฟูการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจภายในประเทศ
ข้อเท็จจริงและสาระสำคัญของมาตรการและร่างกฎหมายในเรื่องนี้ที่กระทรวงการคลังเสนอ คือ
1.ปัจจุบันภาคการท่องเที่ยวไทยกำลังอยู่ในช่วงการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องจากสถานการณ์โรคติดเชื้อโควิด-19 โดยจำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศ ในปี 2566 มีประมาณ 28 ล้านคน เมื่อเทียบกับจำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยในปี 2562 (ก่อนเกิดสถานการณ์โควิด-19) มีประมาณ 39 ล้านคน ซึ่งเป็นการสะท้อนให้เห็นว่าภาคการท่องเที่ยวของไทยยังไม่ฟื้นตัวอย่างเต็มที่
นอกจากนี้ ภาคการท่องเที่ยวของประเทศไทยยังเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงอีกหลายปัจจัย เช่น สถานการณ์เศรษฐกิจของสาธารณรัฐประชาชนจีนที่ประสบปัญหา และการเติบโตของเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง ตลอดจนความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์โลกซึ่งทำให้อาจส่งผลต่อจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย
2. กระทรวงการคลังพิจารณาแล้วเห็นว่า เพื่อช่วยกระตุ้นภาคการท่องเที่ยวของประเทศไทยซึ่งเป็นภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากสถานการณ์ โควิด-19 และปัญหาเกี่ยวกับการเติบโตของเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงของสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งส่งผลต่อจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย รวมทั้งช่วยกระตุ้นให้เกิดการท่องเที่ยวภายในประเทศมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีกับระบบเศรษฐกิจของประเทศไทยในภาพรวม
ทั้งนี้จึงเห็นควรเสนอมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวภายในประเทศ เพื่อกำหนดการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีอากรแก่บุคคลธรรมดาและบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สำหรับการท่องเที่ยวและการจัดอบรมสัมมนาในจังหวัดท่องเที่ยวรองและในจังหวัดท่องเที่ยวอื่นภายในประเทศ ในช่วงโลว์ซีซัน (Low Season) ประกอบด้วย 2 มาตรการ ได้แก่ มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการจัดอบรมสัมมนาภายในประเทศ (สำหรับนิติบุคคล) และ มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวในประเทศ (สำหรับบุคคลธรรมดา) ดังนี้
มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการจัดอบรมสัมมนาภายในประเทศ (สำหรับนิติบุคคล) มีกลุ่มเป้าหมายคือบริษัทและห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลในจังหวัดท่องเที่ยวรอง แบ่งเป็นพื้นที่ทั้งจังหวัด 55 จังหวัดและพื้นที่บางอำเภอในจังหวัดท่องเที่ยวหลัก 15 จังหวัด ส่วนพื้นที่อื่น (จังหวัดท่องเที่ยวหลัก) เช่น จังหวัดภูเก็ต จังหวัดชลบุรี และกรุงเทพมหานคร โดยมาตรการเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. – 30 พ.ย. 2567 โดยได้สิทธิประโยชน์ทางภาษี คือ
- หักรายจ่ายได้ 2 เท่าของรายจ่ายตามที่จ่ายจริง สำหรับการอบรมสัมมนาที่จัดในจังหวัดท่องเที่ยวรองหรือในเขตพื้นที่ท่องเที่ยวอื่นใดที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนดโดยคำแนะนำของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (กก.) (พื้นที่บางอำเภอในจังหวัดท่องเที่ยวหลัก)
- หักรายจ่ายได้ 1.5 เท่าของรายจ่ายตามที่จ่ายจริง สำหรับการอบรมสัมมนาที่ไม่ได้จัดขึ้นในจังหวัดท่องเที่ยวรองหรือในเขตพื้นที่ท่องเที่ยวอื่นใดที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนดฯ (จังหวัดท่องเที่ยวหลัก)
- ให้หักรายจ่ายได้ 1.5 เท่าของรายจ่ายตามที่จ่ายจริง ในกรณีไม่สามารถแยกได้ว่าเกิดขึ้นในท้องที่ใด เนื่องจากการจัดอบรมสัมมนาครั้งหนึ่ง ๆ เกิดขึ้นในพื้นที่ต่อเนื่องกัน และให้หักรายจ่ายที่สามารถแยกได้ว่าเกิดขึ้นในท้องที่ใดตาม 1) หรือ 2) แล้วแต่กรณี ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด
มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวในประเทศ (สำหรับบุคคลธรรมดา) มีกลุ่มเป้าหมาย คือ ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา แต่ไม่รวมถึงห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล เฉพาะในพื้นที่จังหวัดท่องเที่ยวรองเท่านั้น มาตรการเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. – 30 พ.ย. 2567 โดยสามารถหักลดหย่อนค่าบริการได้ ดังนี้
- ค่าบริการที่จ่ายให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยว ตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์
- ค่าที่พักในโรงแรมตามกฎหมายว่าด้วยโรงแรม
- ค่าที่พักโฮมสเตย์ไทย
- ค่าที่พักในสถานที่พักที่ไม่เป็นโรงแรม
สำหรับหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไข เดินทางท่องเที่ยวในจังหวัดท่องเที่ยวรองได้ตามที่จ่ายจริง แต่ต้องไม่เกิน 15,000 บาท และต้องมีใบกำกับภาษีแบบเต็ม7 ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์และใบรับอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice & e-Receipt) ของกรมสรรพากรเท่านั้น
อย่างไรก็ตามทั้ง 2 มาตรการดังกล่าว จะดำเนินการออกเป็นร่างพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. จำนวน 1 ฉบับ ซึ่ง กระทรวงการคลัง จึงได้ดำเนินการยกร่างพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวมาด้วยแล้ว
3. กระทรวงการคลังได้จัดทำประมาณการการสูญเสียรายได้และประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับตามมาตรา 27 และมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 แล้ว โดยคาดการณ์ว่า
3.1 การดำเนินมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการจัดอบรมสัมมนาภายในประเทศ (สำหรับ นิติบุคคล) จะทำให้รัฐบาลสูญเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลประมาณ 1,200 ล้านบาท โดยคำนวณจากจำนวนบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่คาดว่าจะใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษี จำนวน 2,000 ราย ซึ่งประมาณการค่าใช้จ่ายที่ใช้ในการสัมมนารายละ 3 ล้านบาท รวมประมาณ 6,000 ล้านบาท
3.2 การดำเนินมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวในประเทศ (สำหรับบุคคลธรรมดา) จะทำให้รัฐบาลสูญเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ประมาณ 581.25 ล้านบาท โดยคำนวณจากจำนวนบุคคลธรรมดาที่คาดว่าจะใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีจำนวน 250,000 ราย
อย่างไรก็ตาม มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวภายในประเทศดังกล่าวจะช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวไทยให้เป็นไปอย่างต่อเนื่องและทั่วถึง ช่วยกระตุ้นและฟื้นฟูการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจภายในประเทศ สร้างรายได้ให้แก่ผู้ประกอบการทั้งในและนอกอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว รวมทั้งยังเป็นการสนับสนุนการบริโภคและส่งเสริมการจ้างงาน ซึ่งจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ
4. ต่อมาได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เมื่อวันที่ 27 เม.ย. 2567 กระทรวงการคลังจึงได้ยืนยันเรื่องดังกล่าวมาเพื่อพิจารณาดำเนินการอีกครั้งหนึ่ง