คำแถลงนโยบายของนางสาวพินทองธาร ต่อรัฐบาลรวม 85 หน้าที่แจกจ่ายไปตามสื่อมวลชน หากพิจารณาโดยภาพรวมจะเห็นว่าไม่มีความแตกต่างจากนโยบายในยุคของนายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี มากนัก แต่ที่มีความต่างอย่างมีนัยสำคัญคือรายละเอียดในหลาย ๆ นโยบายมีความชัดเจนกว่าถึงสิ่งที่รัฐบาลจะดำเนินการ
มาตรการที่รัฐบาลของพรรคเพื่อไทย เน้นมาต่อเนื่องตั้งแต่สมัยพรรคไทยรักไทยในอดีต คือมาตรการแก้ปัญหาหนี้สิน และการให้ความช่วยเหลือกลุ่มเกษตรกรผู้มีรายได้น้อย ซึ่งผ่านมานานกว่าสองทศวรรษ จนมาเป็นพรรคเพื่อไทยในปัจจุบัน ก็ปรากฏว่าแนวนโยบายไม่ต่างจากเดิม เพียงแต่มีรายละเอียดต่างกันตามยุคสมัยที่เปลี่ยนไป
หากย้อนกลับไปดูนโยบายตั้งแต่สมัยอดีตพรรคไทยรักไทย ก็จะเห็นว่านโยบาย “ประชานิยม” จัดเป็น “ดีเอ็นเอ” ของพรรคเพื่อไทยตั้งแต่ต้น ในขณะที่นโยบายด้านการบริหารงานภาครัฐ ก็ไม่เคยแตะเรื่องปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน แต่มีนโยบายในเรื่องของการปฏิรูประบบราชการ และการปรับปรุงการทำงานที่มักจะอ้างเรื่องความมีประสิทธิภาพ
ลักษณะการดำเนินนโยบายของพรรคเพื่อไทย จะมี “ดีเอ็นเอ”ที่ตกทอดมาจากอดีต นั่นคือ การดำเนินนโยบาย “สองด้าน” ไปในคราวเดียวกัน อาทิ หากรัฐบาลดำเนินนโยบายที่สร้างความฮือฮา สร้างคะแนนนิยม หรือ มีลักษณะเป็นประชานิยม รัฐบาลก็มักจะดำเนินนโยบายอีกด้านที่เป็นการลงทุนขนาดใหญ่ไปในคราวเดียวกัน
นโยบายของพรรคเพื่อไทยจึงมี 2 ด้านใหญ่คู่ขนาน ด้านแรก เป็นนโยบายในลักษณะประชานิยม ซึ่งมีแนวโน้ม “สุดขั้ว” มากขึ้นเรื่อย ๆ จากนโยบายโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท เพื่อสร้างคะแนนนิยม อีกด้านคือการลงทุนขนาดใหญ่ หรือเป็นนโยบายส่งเสริมการลงทุน ซึ่งในด้านหลังนี้เองมักจะถูกกล่าวหาว่า “ผลประโยชน์ทับซ้อน”
นโยบายส่วนที่สองนี้เอง ที่ในอดีตเกิดข้อครหามากมาย และนำไปสู่การฟ้องร้องคดีความในคดีทุจริตคอร์รัปชัน ซึ่งไม่ว่าเป็นเรื่อง “กลั่นแกล้งทางการเมือง” หรือ “มีความผิดจริง” ก็สะท้อนให้เห็นว่าการดำเนินนโยบายในส่วนนี้มีปัญหาจริง อย่างน้อยก็ให้คนเกิดข้อสงสัยว่ามีการเอื้อประโยชน์ และเป็นเหตุผลหนึ่งนำไปสู่การปฏิวัติรัฐประหาร
อันที่จริง ประเด็นปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันในสังคมการเมืองไทย เป็นเรื่องที่รับรู้กันอยู่แล้ว และเป็นปัญหาใหญ่ที่แก้ได้ยาก ในแต่ละวัน คนไทยจะได้ยินเรื่องการทุจริตคอร์รัปชันอยู่เป็นประจำ ตั้งแต่ระดับชาติจนถึงระดับท้องถิ่น ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าปัญหามีอยู่ทั่วไป และบางคนเห็นว่ายิ่งมีความพยายามแก้มากเท่าไร แต่ปัญหากลับหนักขึ้น
ก่อนหน้านี้ เคยมีการสำรวจความคิดเห็นระดับเยาวชนที่สร้างความตื่นตระหนกให้กับคนในสังคมของสำนักวิจัยแห่งหนึ่ง เมื่อเยาวชนส่วนใหญ่ยอมรับได้หากมีการทุจริตคอร์รัปชัน ขอให้ทำงานได้ ซึ่งในครั้งนั้นสังคมได้ตื่นตัวอย่างมากในการแก้ปัญหา เพราะมีความกังวลว่าหากอนาคตของชาติมีทัศนคติแบบนี้ อนาคตของสังคมไทยน่าเป็นห่วงอย่างมาก
นับตั้งแต่มีการสำรวจครั้งนั้น คาดว่าปัจจุบันเยาวชนเหล่านั้นอยู่ในวัยทำงานแล้วและบางคนอาจมีบทบาทสำคัญในวงราชการหรือธุรกิจ ซึ่งก็ไม่รู้ว่ามีการเปลี่ยนแปลงทัศนคติหรือไม่ ในขณะที่นับตั้งแต่วันนั้นที่มีการรายงานผลสำรวจ สถานการณ์การทุจริตคอร์รัปชันในสังคมก็ยังคงอยู่ และในความรู้สึกของหลายคนเห็นว่าสถานการณ์รุนแรงขึ้น
ปัญหาเรื่องการทุจริตคอร์รัปชัน นับว่าเป็นปัญหาใหญ่ของสังคมไทย แต่พรรคเพื่อไทยกลับไม่มีบรรจุไว้ในนโยบายสมัยนี้ ซึ่งต่างจากรัฐบาลจากพรรคอื่น ๆ ที่มักจะมีการประกาศเป็นนโยบายสำคัญ แม้แต่สมัยนายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี ก็เคยระบุถึงการแก้ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน
ดังนั้น จึงต้องถามว่าเหตุใดจึงไม่มีในนโยบายของรัฐบาลนางสาวพินทองธาร ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่าอาจมองว่าเป็นเรื่องแก้ไขยาก หรือ อาจเห็นว่าไม่ได้เป็นปัญหาใหญ่ของประเทศ แต่หากไม่มีนโยบายนี้ ทำให้เกิดข้อสงสัยว่า รัฐบาลนี้ จะ“สร้างความหวังและอนาคตที่ดีกว่าให้ประเทศไทย จากวันนี้ไปถึงอนาคต” ตามคำแถลงนโยบายได้อย่างไร?