เศรษฐกิจในเดือนสิงหาคมได้แรงหนุนหลักจากการส่งออก ขณะที่การฟื้นตัวในรายสาขาอื่นยังเปราะบาง ธปท. รายงานเศรษฐกิจโดยรวมเดือนสิงหาคมทรงตัวจากเดือนก่อน โดยการส่งออกสินค้าที่ไม่รวมทองคำขยายตัวต่อเนื่อง (+3.6% MoM sa) ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นปัจจัยชั่วคราวจากการเร่งส่งออกสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปไปยังประเทศคู่ค้าที่ขาดแคลน การส่งออกยางไปอินเดีย
ขณะที่ภาคท่องเที่ยวชะลอลงตามจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ลดลง (-6.7%) โดยเฉพาะจากจีนและมาเลเซียหลังเร่งไปมากในช่วงก่อนหน้า ด้านการใช้จ่ายในประเทศ การบริโภคภาคเอกชนปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย (+0.5%) ตามการใช้จ่ายในหมวดสินค้าไม่คงทน ส่วนการลงทุนภาคเอกชนลดลง (-3.3%) จากหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ ด้านการผลิตอุตสาหกรรมกลับมาหดตัว (-3.0%) หลังจากเร่งไปในเดือนก่อน กอปรกับสินค้าคงคลังในหลายหมวดยังอยู่ในระดับสูง
วิจัยกรุงศรีประเมินแรงส่งจากการใช้จ่ายในประเทศที่แผ่วลงในช่วงไตรมาส 3 อาจกลับมากระเตื้องขึ้นได้ในไตรมาสสุดท้ายของปี โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการโอนเงินให้กับกลุ่มเปราะบางรายละ 10,000 บาท วงเงินรวม 1.45 แสนล้านบาท โดยภาครัฐดำเนินการโอนแล้วในช่วงปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา ซึ่งคาดว่าจะส่งผลบวกต่อ GDP ปีนี้ +0.2% ถึง +0.3%
อย่างไรก็ตาม วิจัยกรุงศรียังคงประมาณการอัตราการเติบโตของ GDP ในปี 2567 ไว้ที่ 2.4% เนื่องจากผลบวกจากมาตรการข้างต้นอาจถูกลดทอนด้วยผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัยที่สร้างความเสียหายในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ โดยในกรณีฐาน (Base Case) วิจัยกรุงศรีคาดว่าจะมีพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมจะอยู่ที่ประมาณ 8.6 ล้านไร่ ก่อให้เกิดความเสียหายต่อผลผลิตทางการเกษตรและทรัพย์สินอื่นๆ รวมแล้วประมาณ 46.5 พันล้านบาท หรือคิดเป็น -0.27% ของ GDP และหากกรณีเลวร้ายสุด (Worst case) พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบเพิ่มเป็น 11 ล้านไร่ มีมูลค่าความเสียหายรวม 59.5 พันล้านบาท หรือคิดเป็น -0.34% ของ GDP
คาดกนง.ยังคงดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมเดือนตุลาคมนี้ แต่มีแนวโน้มเริ่มปรับลดในช่วงครึ่งแรกของปี 2568 รมว.คลังเปิดเผยว่าหลังหารือกับผู้ว่าธปท.ในหลายประเด็น อาทิ กรอบเงินเฟ้อ การแก้ไขหนี้ครัวเรือน และการแลกเปลี่ยนสถานการณ์เศรษฐกิจ พร้อมกับยืนยันว่ายังสนับสนุนหลักการการลดดอกเบี้ยนโยบายเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)
สำหรับการประชุมกนง.ครั้งล่าสุดในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา มีมติ 6 ต่อ 1 ให้คงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.50% เนื่องจากประเมินว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายปัจจุบันยังอยู่ในระดับที่สอดคล้องกับการขยายตัวของเศรษฐกิจที่โน้มเข้าสู่ศักยภาพและการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจและการเงิน ส่วนการประชุมครั้งถัดไปจะมีขึ้นสัปดาห์หน้าในวันที่ 16 ตุลาคม ซึ่งนับเป็นการประชุมครั้งที่ 5 ของปีนี้
วิจัยกรุงศรีคาดการณ์ว่ากนง.จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.50% ตลอดช่วงที่เหลือของปีนี้ จากปัจจัยสนับสนุน ดังนี้
- การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ต่อเนื่อง โดยคาดว่าการเติบโตของ GDP จะปรับดีขึ้นสู่ 3.6% ในไตรมาส 4 จากราว 2.3% ในไตรมาส 3 จากแรงส่งของภาคท่องเที่ยวและการใช้จ่ายภาครัฐที่เร่งขึ้นหลังจากล่าช้าในช่วงก่อนหน้า
- มาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศจากการโอนเงินช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางที่จะช่วยกระตุ้นการบริโภคและกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศ
- อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มเพิ่มเข้าสู่กรอบเป้าหมายที่ 1-3% ภายในสิ้นปี 2567 ล่าสุดอัตราเงินเฟ้อเดือนกันยายนอยู่ที่ 0.61%
วิจัยกรุงศรีคาดว่ากนง.จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 2 ครั้งๆ ละ 0.25% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2568 เนื่องจาก
- ภาวะการเงินที่มีแนวโน้มตึงตัวขึ้น โดยการเพิ่มขึ้นของหนี้เสีย (NPLs) จะส่งผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจจริง
- ผลเชิงบวกจากมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายทยอยลดลง
- ช่องว่างอัตราดอกเบี้ยนโยบายระหว่างสหรัฐฯ และไทยที่แคบลง หลังธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด) มีแนวโน้มปรับลดดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่อง รวมถึงแรงกดดันจากการผ่อนคลายนโยบายการเงินของธนาคารกลางประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคเดียวกัน
จากปัจจัยเหล่านี้ คาดว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยจะลดลงสู่ระดับ 2.00% ภายในสิ้นปี 2568
เงินเฟ้อต่ำหนุนกนง.ผ่อนคลายนโยบายการเงิน
นักวิเคราะห์จาก Krungthai Compass มองว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือน ก.ย. อยู่ที่ 0.61% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ขยับขึ้นเล็กน้อยจาก 0.35% ในเดือนก่อน ตามราคาผักสดและผลไม้สดที่ปรับตัวขึ้นตามปัญหาอุทกภัย อีกทั้งผลของฐานต่าในปีก่อนจากมาตรการบรรเทาภาระรายจ่ายพลังงาน ด้านอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 0.77% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนสูงกว่าเดือนก่อนเล็กน้อย จากราคาอาหารสำเร็จรูป และเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ที่เพิ่มขึ้นเป็นสำคัญ
ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อทั่วไป 9 เดือนแรกของปีอยู่ที่ 0.20% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 0.48% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
โมเมนตัมการปรับตัวของราคาสินค้าเทียบรายเดือนยังแผ่วลง โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปหดตัว 0.10% เมื่อเทียบกับเดือนที่แล้ว ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่มีสัดส่วนถึง 2
ใน 3 ของตะกร้าเงินเฟ้อยังทรงตัวต่ำ สะท้อนอุปสงค์ภายในประเทศที่ยังอ่อนแอ
นักวิเคราะห์ประเมินว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยทั้งปี 2567 และ 2568 จะอยู่ที่ 0.7% และ 1.6% ตามลำดับ ซึ่งปัจจัยดังกล่าวอาจสนับสนุนให้ กนง. มีท่าทีผ่อนคลายต่อการดำเนินนโยบายการเงินมากขึ้น