การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 16 ต.ค. 2567 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า กนง.จะยังมีมติไม่เป็นเอกฉันท์ คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 2.50% ต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม คาดว่า กนง. คงมีท่าทีผ่อนคลายต่อทิศทางนโยบายการเงินมากขึ้น โดยส่งสัญญาณเปิดโอกาสในการปรับลดดอกเบี้ยในระยะข้างหน้า ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่า กนง. อาจเริ่มปรับลดดอกเบี้ยอย่างเร็วสุดในเดือน ธ.ค. 2567
ปัจจัยสนับสนุนหลัก คือ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยเป็นไปอย่างเปราะบางและเผชิญความเสี่ยงสูงขึ้น แม้เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวสูงขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้ ท่ามกลางแรงหนุนจากการส่งออก การท่องเที่ยว การใช้จ่ายภาครัฐ และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ
แต่ปัญหาอุทกภัยคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อไปยังภาคการเกษตร การท่องเที่ยว และกำลังซื้อของผู้บริโภค ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว
ขณะที่แรงกดดันเงินเฟ้อมีแนวโน้มยังอยู่ในระดับต่ำ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในไตรมาส 4/2567 มีแนวโน้มกลับเข้าสู่กรอบล่างของเป้าหมายของ ธนารคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ 1-3% โดยส่วนหนึ่งมาจากปัจจัยฐานต่ำในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าตามมาตรการภาครัฐช่วยเหลือค่าครองชีพด้วยการตรึงราคาค่าไฟฟ้าและราคาขายปลีกน้ำมันดีเซล แต่ในภาพรวมทั้งปี 2567 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ที่ 0.5%
เศรษฐกิจไทยตกต่ำจริงหรือไม่?
ที่ผ่านมารัฐบาลพยายามส่งสัญญาณถึง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายมาโดยตลอด ซึ่งมักอ้างเหตุผลว่าเศรษฐกิจไม่ดี โดย สมชัย จิตสุชน ผู้อํานวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ (TDRI) ในฐานะอดีต กนง. ระบุว่า หลักคิดของนโยบายการเงิน คือเรื่องของเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ หากใช้มุมมองของรัฐบาลที่พยายามจะฉายภาพว่าเศรษฐกิจตกต่ำอย่างรุนแรง การรักษาเสถียรภาพด้วยการลดดอกเบี้ยถือว่าถูกต้อง
แต่ต้องถามกลับว่า เศรษฐกิจตกต่ำจริงหรือไม่ เพราะการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปีนี้คาดกันว่าขยายตัวประมาณ 2.5-2.9% ขณะเดียวกันยังมีเม็ดเงินจากดิจิทัลวอลเล็ตล็อตแรก ที่เข้ามาในระบบในปีนี้ และอีกงวดในปีหน้า
ตัวเลขที่ผู้กำหนดนโยบายการเงินใช้ คือ ความแตกต่างระหว่าง แนวโน้มอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจและการขยายตัวตามศักยภาพที่หมายถึงระดับการขยายตัวที่เป็นไปได้ภายใต้โครงสร้างและความสามารถในการแข่งขันปัจจุบัน ซึ่งมองไปข้างหน้าความแตกต่างนี้ไม่ชัดเจน
หาก กนง. มองว่า มีความเป็นไปได้สูงที่การขยายตัวจะใกล้เคียงระดับศักยภาพที่ประมาณ 2.8-3.0% แนวทางที่ควรจะเป็น คือ การคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่อัตราในปัจจุบัน แต่การที่ กนง.บอกว่ายังไม่ลดดอกเบี้ยก็ไม่ได้หมายความว่ารอบหน้าจะไม่ลด เพราะถ้ามีตัวเลขเข้ามาใหม่บ่งชี้ว่าเศรษฐกิจซบเซากว่าที่คิด ก็มีความเป็นไปได้ที่ กนง.จะลดดอกเบี้ยได้
‘ลดดอกเบี้ย’เงินจะไปกองกับคนรวย
สำหรับผลที่จะเกิดขึ้นจากการลดดอกเบี้ยโดยไม่มีเหตุจำเป็นนั้น สมชัย กล่าวว่า จะทำให้ประเทศเข้าสู่ภาวะดอกเบี้ยต่ำเกินควร ซึ่งเป็นเรื่องดีสำหรับรัฐบาลและภาคธุรกิจ แต่สําหรับภาพรวมของประเทศไม่ค่อยดี เพราะเมื่อดอกเบี้ยต่ำส่งผลให้ประชาชนก่อหนี้มากขึ้น และเป็นสาเหตุหนึ่งแม้จะไม่ใช่ทั้งหมด ที่ในระยะเวลา 10 กว่าปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน หนี้ครัวเรือนของไทยเพิ่มมากว่า 90% ซึ่งถือว่าเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้เศรษฐกิจไม่ขยายตัว เพราะคนต้องไปจ่ายหนี้ไม่มีเงินจับจ่ายใช้สอย
ขณะเดียวกัน การลดดอกเบี้ยแต่ละครั้ง ธปท.จะต้องอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจด้วย แต่สภาพคล่อง และเงินจะไปกองอยู่กับคนรวย บริษัทใหญ่ และธนาคารพาณิย์ โดยที่เงินไม่ได้ไปสู่เอสเอ็มอี เนื่องจากธนาคารไม่กล้าปล่อยสินเชื่อให้รายย่อย เพราะไม่แน่ใจว่าปล่อยกู้ไปแล้วจะได้เงินคืนหรือไม่
การลดดอกเบี้ยเพิ่มสภาพคล่องจริง แต่สภาพคล่องที่เพิ่มอาจจะไปไม่ถึงคนที่ต้องการสภาพคล่องอยู่ดี อันนี้จึงเป็นเหตุที่ว่าไม่ว่าธปท.หรือใครก็ตาม ถึงพยายามเร่งรัดในเรื่องของการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างก่อน เพราะว่าถ้าไม่ทำ ธนาคารพาณิชย์ก็จะไม่ปล่อยกู้อยู่ดีเพราะกลัวหนี้เสีย สุดท้ายรายย่อย ประชาชนก็ต้องไปกู้หนี้ยืมสินนอกระบบอีก
แก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง-เพิ่มความสามารถแข่งขัน
ส่วนเรื่องการแก้ไขปัญหาดังกล่าว สมชัย ระบุว่า ต้องเดินหน้าการปรับโครงสร้างหนี้ที่ธปท.กำลังทำคลินิกแก้หนี้อยู่ นอกจากนี้อาจจะต้องมีเรื่องของการดูแลสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ที่มีความเชี่ยวชาญในการปล่อยกู้ให้กับรายย่อย ให้สามารถทําการปล่อยกู้ได้มากขึ้นพร้อม ๆ กับปลอดภัยมากขึ้นด้วย โดยเพิ่มความสามารถในการวิเคราะห์ลูกค้าให้ดีขึ้น ใช้บิ๊กดาต้า (Big Data) เข้ามาช่วยในการวิเคราะห์ ซึ่งหากร่วมมือกันทํา สุดท้ายก็สามารถปล่อยเงินกู้ไปสู่รายย่อยและประชาชนได้ ส่วนทางด้านนโยบายการคลัง จำเป็นต้องใช้งบประมาณเพื่อเพิ่มทักษะทั้ง Upskill และ Reskill คอร์สระยะสั้นให้กับทั้งลูกจ้าง และผู้ประกอบการ ซึ่งวิธีการนี้เป็นการเพิ่มความสามารถการแข่งขันที่ดีที่สุด
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง