มีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เขียนบทความชื่อว่า “บันทึกไว้กันลืม” ในหนังสือ “ความในใจของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ 2560 โดยกล่าวถึงที่มาที่ไปของรัฐธรรมนูญ 2560 โดยมีการกล่าวถึงเรื่อง “ที่มาของสมาชิกวุฒิสภา” และเชื่อว่าเป็นแนวคิด “ฮ้อแร่ด” หมายถึง ที่สมบูรณ์และยอดเยี่ยม อีกทั้งยังยอมรับว่าคนวิพากษ์วิจารณ์เพราะสร้างความเข้าใจไม่มากพอ
รายละเอียดถึงที่มาที่ไปของสมาชิกวุฒิสภา มีดังนี้
+++++
เรื่องที่มาของสมาชิกวุฒิสภา ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ เรื่องหนึ่งนั้น เราไม่ได้คิดอย่างหลักลอย หากแต่มีที่มาจากกรอบของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวมาตรา 35 ที่ต้องการให้ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างแท้จริง เราก็เคยคิดว่าทำไมเราไม่แปลงวุฒิสภาให้เป็นองค์กรที่สร้างความมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างนัยสำคัญ
แต่เดิมมานั้น การมีวุฒิสภา มักจะเกิดจากแนวคิดว่าสภาผู้แทนยังไม่พร้อม ควรมีสภาพี่เลี้ยงเพื่อประคับประคองกันไป ต่อมาก็ว่าเป็นสภากลั่นกรองเพื่อให้เกิดความสมดุล ที่มาของสมาชิกวุฒิสภาในตอนต้นจึงมาจากการแต่งตั้ง เพื่อให้ได้คนที่มีคุณวุฒิสูง มีประสบการณ์มาก ๆ ต่อมาก็ให้มาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากแต่ละจังหวัด โดยให้ตัดจากพรรคการเมือง จะได้เป็นอิสระในการกลั่นกรองกฎหมายโดยไม่อยู่ภายใต้อาณัติของพรรคการเมือง แต่มาถึงปัจจุบันต้องยอมรับว่าคนมีความรู้ มีปริญญาสูง ๆ ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมากขึ้น คนที่มิได้มีปริญญาสูง ๆ ก็มีประบการณ์ที่สะสมมามากเพียงพอที่จะไม่ต้องการพี่เลี้ยงอีก
ในขณะเดียวกันในการจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา โดยให้ปลอดจากการเมือง ก็เห็นได้ว่าเป็นไปไม่ได้ เพราะลำพังผู้สมัครเพื่อรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภาถ้าไม่ไปศิโรราบกับพรรคการเมือง หรือนักการเมืองในพื้นที่ ย่อมยากที่จะได้รับเลือกตั้ง ความมุ่งหมายที่จะให้สมาชิกวุฒิสภาไม่อยู่ภายใต้พรรคการเมืองจึงเป็นไปได้ยาก
เราจึงคิดว่า ทำไมเราไม่เปลี่ยนวุฒิสภาให้เป็นสภาที่จะรับรู้ความตองการหรือความเดือดร้อน หรือส่วนได้เสียของคนกลุ่มต่าง ๆ เพื่อให้ประชาชนทุกสาขาอาชีพได้เข้ามามีส่วนร่วมในทางการเมืองอย่างแท้จริงและความต้องการของเขาได้รับการพิจารณาอย่างจริงจัง
นั่นจึงเป็นที่มาของวุฒิสภาที่จะมาจากประชาชนทุกหมู่เหล่า ทุกอาชีพ ทุกลักษณะ
อันที่จริง วุฒิสภาที่เราคิดสร้างขึ้นนั้น ก็คล้ายกับสภาสูงของอังกฤษ เพียงแต่สภาสภาสูงของอังกฤษ เป็นการรักษาประโยชน์ของชนชั้นสูง ส่วนวุฒิสภาที่เราสร้างขึ้น เป็นการรักษาประโยชน์ของคนทุกระดับชั้น
เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ และเป็นการเปลี่ยนโฉมหน้า และแนวคิดอย่าง 360 องศา ไม่น่าเชื่อว่าพอเสนอแนวคิดนี้ขึ้น กรธ.ทั้งคณะร้องฮ้อแร่ด ขึ้นพร้อมกัน ทั้ง ๆ ที่รู้ดีว่าการจะทำให้คนอื่นเข้าใจถึงวัตถุประสงค์ของการมีวุฒิสภาที่เปลี่ยนแปลงไป กับขบงนการในการจัดการเลือกที่จะไม่ให้เกิดการฮั้วกันนั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย
ในเรื่องแรก เราออกจะประมาทอยู่ไม่น้อย เพราะไม่ได้ชี้แจงซ้ำแล้วซ้ำอีกให้เห็นถึงแนวคิดของการมีวุฒิสภาที่เปลี่ยนแปลงไปว่าเราไม่ได้มุ่งหมายให้มีผู้ทรงคุณวุฒิมาคอยกลั่นแกล้งงานของสภาผู้แทนราษฎร หรือเป็นพี่เลี้ยงของสภาผู้แทนราษฎรอีกแล้ว เพราะสภาผู้แทนราษฎรมีขีดความสามารถในการปฏิบัติภารกิจของตนได้โดยสมบูรณ์แล้ว (เว้นแต่เป็นกรณีที่จงใจจะใช้อำนาจเพื่อประโยชน์ส่วนตนหรือพวกพ้อง) สิ่งที่ยังขาดอยู่ก็คือ สภาผู้แทนราษฎรยังปฏิบัติตามนโยบายของรัฐบาล ซึ่งเป็นนโยบายที่มาจากพรรคการเมือง ที่อ้าง ๆ กันว่าเรามาจากประชาชน เราเป็นผู้แทนของปวงชนชาวไทยนั้น เอาเข้าจริงบางทีก็มองข้ามความทุกข์ยากของประชาชน ทั้งในระยะสั้นหรือระยะยาว เพราะหลายกรณีมุ่งแต่จะให้พรรคเป็นที่นิยม โดยไม่ได้นึกถึงอันตรายในระยะยาว หรือ ความเดือดร้อนที่จะเกิดขึ้นแก่สังคมหรือประเทศชาติได้ ดังที่เห็น ๆ กันอยู่แต่นั่นก็เป็นระบบที่เรียกว่าประชาธิปไตย เราจึงไม่อาจหลีกเลี่ยงได้
แนวคิดในเรื่องที่มาของสมาชิกวุฒิสภา จึงมุ่งที่จะทำให้ จึงมุ่งที่การทำให้ประชาชนทุกภาคส่วนได้มีส่วนร่วมทางการเมือง ในขณะเดียวกันให้ทุกภาคส่วนสามารถบอกเล่าความคับแค้น อุปสรรค และเสนอแนะแนวทางการแก้ไขในส่วนของเขาได้อย่างมีนัยสำคัญผู้ที่จะมาเป็นสมาชิกวุฒิสภาจึงมิใช่ผู้ทรงคุณวุฒิหรือผู้มีประสบการณ์ล้นฟ้าอีกต่อไป หากแต่เป็นผู้ที่มาจากคนทุกหมู่เหล่าที่ประกอบอาชีพหรือมีคุณลักษณะเฉพาะ เพื่อจะได้สะท้อนถึงความต้องการขงอเขาอย่างแท้จริง
เราออกจะหย่อนในการทำความเข้าใจในเรื่องนี้ไปหน่อยเพราะเมื่อในเวลาที่เราทำกฎหมายลูกเกี่ยวกับการเลือกสมาชิกวุฒิสภา แม้แต่สภานิติบัญญัติแห่งชาติยังไม่เข้าใจ ยังกังวลว่าด้วยวิธีการเลือกอย่างที่กำหนดไว้ จะทำให้ได้ผู้ทรงคุณวุฒิได้อย่างไร
เราแบ่งกลุ่มออกเป็น 20 กลุ่ม เพื่อให้สามารถกระจายกันไปแต่ละกลุ่มจะมีหลักประกันว่าจะมีตัวแทนของคนอยู่ในวุฒิสภา มีคนตั้งข้อสงสัยว่าการกำหนดไว้ 20 กลุ่ม ไม่มีเหตุผลอะไร ทำไม่จึงไม่เป็น 25 กลุ่ม 30 กลุ่ม หรือ 40 กลุ่ม แล้วเลยเสนอให้ลดลงเหลือ 10 กลุ่ม ซึ่งว่าที่จริง การลดลงเหลือ 10 กลุ่มก็ย่อมต้องเผชิญกับปัญหาอย่างเดียวกันว่าทำไมถึง 10 กลุ่ม
การที่กรธ. กำหนดไว้ 20 กลุ่ม ไม่ได้เกิดจากการเสี่ยงทาย หรือหยิบขึ้นมาเฉย ๆ หากแต่เกิดจากการพยายามคิดอาชีพและคุณลักษณะทั้งหมดของประชาชนทุกหมู่เหล่า (โดยใช้ข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติเป็นหลัก) และจับอาชีพหรือคุณลักษณะที่ใกล้เคียงมากที่สุดเข้าไว้ในกลุ่มเดียวกัน เมื่อรวมแล้วได้ 19 กลุ่ม บวกกับกลุ่มเผื่อเหลือเผื่อขาด เพื่อให้ทุกคนมีที่ลงได้ จึงเพิ่มอีก 1 กลุ่ม คือ “กลุ่มอื่น ๆ” รวมเป็น 20 กลุ่ม
ถามว่าทำไมไม่เป็น 30 หรือ 40 กลุ่ม คำตอบก็คือเราต้องคำนึงถึงจำนวนที่แต่ละอาชีพหรือแต่ละคุณลักษณะจะพึงมี เพื่อให้ได้สัดส่วนของผู้แทนของแต่ละอาชีพ หรือ คุณลักษณะจะไม่ทัดเทียมกันที่สำคัญในระหว่างร่างรัฐธรรมนูญก็ดี เราได้ออกไปรับฟังความคิดเห็นของประชาชนมาทุกภาค ผลการรับฟังความคิดเห็น ประชาชนส่วนใหญ่เห็นว่าการกำหนดเป็น 20 กลุ่มเป็นจำนวนที่เหมาะสมที่สุด
เรากำหนดกลุ่มสตรีแยกไว้ต่างหาก ก็เพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญมาตรา 27 และมาตรา 90 วรรคสาม จริงอยู่สตรีอาจสมัครเข้าในกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งตามอาชีพ หรือคุณลักษณะอย่างอื่นของตนได้ แต่ในการเลือกย่อมยากที่จะกำหนดให้ผู้เลือกต้องเลือกสตรีเพราะจะเป็นการจำกัดสิทธิของคนอื่น การที่จะเกิดความแน่นอนว่ากลุ่มสตรีแยกไว้ต่างหาก แต่สนช.ไม่เข้าใจเจตนารมณ์ในเรื่องนี้ จึงจับสตรีไปอยู่ในกลุ่มเปราะบาง หรือกลุ่มด้อยโอกาส ซึ่งไม่มีหลักประกันว่าสตรีจะได้รับเลือกมา การกำหนดจำนวนกลุ่มน้อยเท่าไร โอกาสที่คนหลายอาชีพ หลายคุณลักษณะจะไม่มีตัวแทนในวุฒิสภาย่อมมีมากขึ้นเท่านั้น
ที่มา: ความในใจของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ 2560