ที่ผ่านมาเราเห็น “พื้นที่สุขภาวะ” (Health Space) เกิดขึ้นในเมืองใหญ่ต่าง ๆ แต่จะดีมากแค่ไหนถ้าเราขยับขยาย “พื้นที่สุขภาวะ” สู่ทุกจังหวัดทั่วไทย สร้าง “เมืองสุขภาพดี” ที่ทุกคนเข้าถึงได้ และผลักดันนโยบายให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืน
เมื่อวันอาทิตย์ที่ 23 มีนาคม 2568 The Active – Policy Watch ไทยพีบีเอส ร่วมกับภาคีเครือข่าย ชวนถอดรหัส “เมืองสุขภาพดี” จากเมืองต้นแบบทั่วโลก พร้อมกำหนดเป้าหมายที่ “ใช่” ร่วมกัน เพื่อเปลี่ยนประเทศไทยกลายเป็นเมืองสุขภาวะที่ยั่งยืนผ่าน “Active Policy Forum : ขับเคลื่อนนโยบาย ขยายสู่ท้องถิ่น สร้างสรรค์เมืองสุขภาวะอย่างมีส่วนร่วม” ภายในงาน “Active City Forum: Activate City for Healthier Life ปลุกเมืองให้สุขภาพดี ด้วยเราทุกคน”
“เมือง” เกี่ยวโยงกับ “สุขภาพ” ของเรา
“สุขภาพดี” เกิดขึ้นได้จากสองส่วน คือ “พฤติกรรมของบุคคล” เช่น การออกกำลังกาย การรับประทานอาหาร และ “การออกแบบพื้นที่เมือง” ให้เอื้อต่อการเคลื่อนไหว ทั้งทางกายและทางใจ
“แต่จะออกแบบเมืองออกมาได้ดีมากขนาดไหน ถ้าไม่มีคนใช้ หรือไม่มีคนที่จะบอกว่า สิทธิ์ของตัวเองในการใช้พื้นที่ร่วมกันควรจะเป็นอย่างไร เมืองคงไม่มีชีวิต”
นิรมล ราศี ผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมวิถีสุขภาวะ สสส.
นี่จึงเป็นที่มาที่ สำนักสร้างเสริมวิถีสุขภาวะ สสส. พยายามสร้างกระบวนการทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วม แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และเชื่อมโยงการทำงานระหว่างกัน เพื่อขับเคลื่อนให้คนไทยทุกคนมีสุขภาพดี ผ่านการปรับหรือออกแบบเมืองใหม่ ให้เอื้อต่อการเคลื่อนไหว และใช้ได้จริง เพราะเชื่อว่า “เมืองที่ดี” จะเปิดโอกาสให้ทุกคนเข้าถึงการออกกำลังกาย อาหาร และการมีสุขภาพจิตดีได้อย่างเท่าเทียม
90% ของชีวิต เกี่ยวกับ “พื้นที่”
90% ของชีวิตเรา ล้วนเกี่ยวพันกับ “พื้นที่” อยู่ตลอด ไม่ว่าจะเป็น ถนนหนทางที่เดินทางไปทำงาน ร้านอาหารมื้อเช้า หรือออฟฟิศ ดังนั้นถ้ามีเมืองที่ดี ชีวิตของเราจะดีตาม
แต่เราจะเปลี่ยนคำว่า “ถ้า” ให้เป็นเรื่องจริงได้อย่างไร ? รศ.ปิยวัฒน์ เกตุวงศา ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายของประเทศไทย เปิดเผยข้อมูลจากการทบทวนวรรณกรรม พบว่า คนที่อาศัยอยู่ในเมืองที่ดี จะมีอายุขัยเฉลี่ยมากกว่า คนที่อยู่ในเมืองที่ไม่ดี อย่างน้อย 10 ปี ซึ่งค่าเฉลี่ยอายุขัยของประชากรทั่วโลกอยู่ที่ 73 ปี และของไทยอยู่ที่ 77 ปี นับว่าประเทศของเรามีต้นทุนทางพื้นที่ แต่ยังมีความท้าทายและอุปสรรค ที่ยังไม่ได้จัดการอีกหลายเรื่อง
การสร้างสภาพแวดล้อมที่ดี ตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก (WHO) คือ 1.) ทำชีวิตคนให้ผูกติดกับละแวกบ้านให้ได้ 2.) ทำเรื่องของขนส่งสาธารณะให้ดี 3.) ทำเรื่องความปลอดภัยทางถนนให้พร้อม 4.) ทำเรื่องของการเชื่อมต่อคนให้เข้าถึงพื้นที่สุขภาวะอย่างเท่าเทียม และ 5.) ชวนทุกภาคส่วนมาออกแบบผังเมือง ให้ใช้ชีวิตได้อย่างมีคุณภาพมากขึ้น เช่น เพิ่มพื้นที่สีเขียว และทางเดินเท้า
บทเรียนจากต่างประเทศ ต้นแบบ “เมืองสุขภาวะ”
ต้นแบบการสร้าง “เมืองสุขภาวะ” ของต่างประเทศ มีที่น่าสนใจ ดังนี้
- มาเลเซีย: ใช้กลไก “Think City” ดึงอะไรที่รัฐทำไม่ได้ และเอกชนทำไม่ได้ ไปเชื่อมทรัพยากรเหล่านั้นให้ทำงานด้วยกัน จนสามารถสร้าง “ปีนัง” ให้กลายเป็นเมืองสุขภาวะและเมืองมรดกโลก
- สิงคโปร์: มีนโยบายที่ชัดเจน กลายเป็นแคมเปญทั้งประเทศ เรียกว่า “City in Nature” และใช้กลไกภาครัฐ ในการให้ข้อมูลและแนวปฏิบัติแก่ทุกภาคส่วน
- เดนมาร์ก: ตั้งเป้าหมายเอาไว้ว่าจะเป็นที่ 1 ของเมือง “Healthy Cities” จึงมีนโยบายที่ชัดเจนมาก และมีการสื่อสารสองทาง (Two – Way Communication) ให้ความสำคัญกับการสื่อสารทั้งจากภาครัฐสู่ประชาชน และรับฟังความคิดเห็นของประชาชนกลับมา ทำให้เกิดการทำงานร่วมกันอย่างราบรื่น นอกจากนี้รัฐ ยังใช้บุคลากรเป็น ทำให้นโยบายที่ออกมามีคุณภาพและตอบโจทย์ความต้องการของประชาชน
- ญี่ปุ่น: ใช้รูปแบบความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน (Public Private Partnership) โดยมองว่า “ทุกที่ในเมืองคือพื้นที่สุขภาวะ” ไม่ว่าจะเป็น หน้าห้างสรรพสินค้า หรือลานดาดฟ้า ทำให้เกิดการสร้างสวนสาธารณะบนห้าง สะท้อนให้เห็นว่า เมืองโตได้ สุขภาวะก็เติบโตได้เช่นเดียวกัน
จะเห็นได้ว่าประเทศที่ประสบความสำเร็จ จะ “มีความเข้าใจร่วมกัน” และ “ส่งเสริมการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน” ประเทศไทยแม้มีต้นทุนทางสังคมที่เข้มแข็ง แต่ยังขาดทั้งสองประเด็นนี้
“เราต้องสร้างกระบวนการเรียนรู้และทำซ้ำ เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และสร้างเมืองที่ทุกคนมีสุขภาพดีอย่างยั่งยืน”
นายยศพล บุญสม หัวหน้าโครงการ We Park
เปลี่ยน “กรุง” ให้ตอบโจทย์ “คนเมือง” ทุกมิติ
การพัฒนา “พื้นที่” ของกรุงเทพฯ แม้ทำได้ดี แต่ ศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร มองว่า ยังมีอีกหลายโจทย์ใหญ่ที่ต้องแก้ หนึ่งคือ “เงื่อนไขของราชการ” ที่แม้ท้องถิ่นจะแข็งแรงแค่ไหน สุดท้ายก็ติดปัญหาของ “ผู้รับผิดชอบ” หรือ “เจ้าภาพ” ที่มีเยอะ จนทำให้การขับเคลื่อนเป็นไปได้ยาก ทั้งข้อจำกัดองค์กร หรืองบประมาณที่ขอไม่พร้อมกัน
การแก้ไขกฎหมายให้องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นมีอำนาจเบ็ดเสร็จ คือทางออกสำคัญที่จะปลดล็อกเงื่อนไขราชการ ให้สร้างพื้นที่สุขภาวะได้ง่ายขึ้น
สองคือ ต้องเพิ่มพื้นที่ที่ตอบโจทย์ความต้องการของคนเมืองในทุกมิติให้มากขึ้น โดยปรับพื้นที่รกร้าง หรือสวนสาธารณะแบบเดิม ๆ ให้กลายเป็น “สวนที่เป็นได้มากกว่าแค่สวน” ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ออกกำลังกาย พื้นที่ทำกิจกรรมชุมชน พื้นที่พักผ่อนหย่อนใจ เช่น แคมเปญสวน 15 นาที การพัฒนาพื้นที่สวนเบญจกิติ หรือสวนลุมพินี
และสามคือ การสร้างเมือง ให้เป็นเมืองสุขภาวะของทุกคน โดยการเพิ่มพื้นที่ปากท้อง เพราะสุขภาพที่ดีไม่ได้หมายถึงแค่สุขภาพกายและใจ แต่ยังรวมถึงสุขภาพทางเศรษฐกิจ
“หัวใจสำคัญของการสร้างเมือง คือการทำให้เป็นเมืองสุขภาวะของทุกคน ไม่ใช่แค่เฉพาะชนชั้นกลางอย่างเดียว ต้องสร้างพื้นที่ที่ทำให้คนมีรายได้ มีงานทำ ให้เงินเข้ากระเป๋าของคนรากหญ้า เพราะสิ่งเหล่านี้ล้วนทำให้เกิดเมือง ‘Healthy City’ หรือเมืองสุขภาวะอย่างครบวงจร”
ศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร
พลังชุมชน พลังโซเชียล พลิกโฉม “หาดใหญ่”
“หาดใหญ่” เป็นอีกหนึ่งพื้นที่พัฒนาได้ดีไม่แพ้กรุงเทพฯ โดยใช้ 3 แนวคิดหลักสำคัญมาขับเคลื่อน ได้แก่ Learning City, Green City และ Smart City ทำให้ได้รับรองจาก UNESCO ให้เป็นเมืองแห่งการเรียนรู้เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา
โดย รศ.วิชัย กาญจนสุวรรณ รองนายกเทศมนตรีนครหาดใหญ่ เล่าให้ฟังว่า แม้หาดใหญ่จะมีประชากรตามทะเบียนราษฎร์ รวมประชากรแฝงกว่า 500,000 คน หรือเกือบครึ่งหนึ่งของประชากรทั้งจังหวัดสงขลา แต่มีงบประมาณสำหรับการพัฒนาเพียง 200 กว่าล้านบาทต่อปี ซึ่งถือว่าน้อยมาก
เทศบาลฯ จึงได้ร่วมมือกับ สสส. และศูนย์ศึกษาเมือง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย ในการศึกษาข้อมูล 18 ชุมชน โดยให้ชุมชนเก็บข้อมูลด้วยตนเอง ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้นั้นน่าสนใจ เนื่องจากข้อมูลที่ชุมชนเก็บได้นั้นมีความทันสมัยและเป็นประโยชน์มากกว่าข้อมูลเดิมที่เทศบาลฯ มีอยู่
นอกจากนี้ยังร่วมมือกับนักศึกษาจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย ในการสำรวจและออกแบบปรับปรุงพื้นที่สีเขียวและพื้นที่สาธารณะต่าง ๆ โดยเริ่มต้นจาก “ลานซีกิมหยง” ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของเมือง
“เราให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ โดยให้ประธานชุมชนเป็นผู้กำหนดทิศทางการพัฒนา ไม่ใช่เทศบาลฯเพราะชุมชนจะรู้สึกว่าพื้นที่นี้เป็นของพวกเขา พวกเขาจะดูแลและรักษามันอย่างยั่งยืน”
รศ.วิชัย กาญจนสุวรรณ รองนายกเทศมนตรีนครหาดใหญ่
ขณะเดียวกันยังใช้พลังของโซเชียลมีเดียในการสร้างการรับรู้และกระตุ้นการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยการเผยแพร่ข้อมูลและเรื่องราวเกี่ยวกับโครงการต่างๆ ผ่านช่องทางต่าง ๆ เช่น TikTok ซึ่งได้รับความสนใจจากประชาชนเป็นจำนวนมาก ซึ่งบางครั้งสูงถึงหลักแสน หลักล้านคน
เทศบาลนครหาดใหญ่ จึงเชื่อว่า พลังของชุมชนและเทคโนโลยี จะนำไปสู่การพัฒนาเมืองที่ยั่งยืนและเป็นประโยชน์ต่อประชาชนทุกคน
ภูเก็ตผลักดันแนวคิด Go Green Go Digital เสริมสร้างสุขภาวะประชาชน
ไม่เพียงกรุงเทพฯ และหาดใหญ่ ที่มุ่งมั่นสร้างเมืองสุขภาวะ “ภูเก็ต” เมืองท่องเที่ยวชื่อดัง กำลังเร่งพัฒนาเมือง เพื่อรับมือกับความท้าทายจากเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างรวดเร็วเช่นเดียวกัน
มนต์ทวี หงส์หยก ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดภูเก็ต บอกว่า ปัญหาจราจรติดขัด และขยะล้นเมือง เป็นผลกระทบจากการท่องเที่ยวที่ขยายตัวอย่างก้าวกระโดด จังหวัดจึงเร่งผลักดันโครงการต่าง ๆ เพื่อสร้างเมืองที่ยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
- ส่งเสริมพลังงานสะอาด: ติดตั้งโซลาร์เซลล์ และสนับสนุนการใช้รถยนต์ไฟฟ้า (EV)
- พัฒนาระบบขนส่งสาธารณะ: พัฒนาระบบขนส่งครอบคลุมสถานที่สำคัญ ๆ แบบคลัสเตอร์
- สร้างมาตรฐาน Zero Waste และ Green Hotel: ส่งเสริมการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
- จัดงาน FTI Phuket Go Green Go Digital: อัปเดตนวัตกรรมด้านสิ่งแวดล้อมและเทคโนโลยี
แม้การพัฒนาพื้นที่สาธารณะของภูเก็ตจะยังไม่โดดเด่นเท่าเมืองอื่น แต่การแก้ปัญหาเฉพาะตัวเหล่านี้ ถือเป็นก้าวสำคัญในการสร้างสุขภาวะที่ดีให้กับคนในเมืองท่องเที่ยวแห่งนี้ได้อย่างตรงจุด
“คนรุ่นใหม่” ปลุกเมืองสุขภาวะเพื่อคนทุกวัย
ในยุคที่การพัฒนาเมือง ต้องตอบโจทย์ความหลากหลายของคนทุกกลุ่มอายุ การมีส่วนร่วมของคนรุ่นใหม่จึงเป็นสิ่งสำคัญ
เมฆ สายะเสวี Director at CROSSs เล่าให้ฟังว่า เขาและทีม ในฐานะคนรุ่นใหม่ เริ่มทำโครงการแรก จากโครงการโรงพยาบาลที่เกาะยาวใหญ่ จ.พังงา โดยระดมความคิดกับคนในชุมชน จนเกิดเป็นโรงพยาบาลที่มีห้องครัวขนาดใหญ่ เพื่อให้ญาติได้ทำอาหารให้ผู้ป่วยทาน
โครงการที่สองคือ การพัฒนาพื้นที่ 40 ไร่ของเทศบาลชัยภูมิ โดยระดมความคิดของคนในเมือง จนเกิดเป็นแผนแม่บทที่เทศบาลนำไปปฏิบัติจริง และโครงการที่สามคือ การสร้างพื้นที่สาธารณะริมแม่น้ำเจ้าพระยา จากการใช้โซเชียลมีเดียเป็นเครื่องมือในการระดมความคิดเห็นและสร้างการมีส่วนร่วม
ทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็นว่า การมีส่วนร่วมของคนในพื้นที่ ทำให้เกิดการออกแบบที่ตอบโจทย์ความต้องการอย่างแท้จริง และคนรุ่นใหม่คือจิ๊กซอว์สำคัญที่ทำให้เกิดการพัฒนาเมืองได้อย่างเป็นรูปธรรม
ปัจจุบัน กลุ่ม CROSSs ได้ร่วมกับ สสส. จัดอบรมให้คนรุ่นใหม่ที่มีความสนใจในการพัฒนาเมือง เพื่อสร้างเครือข่ายคนรุ่นใหม่ที่สามารถเป็นกระบอกเสียงในการพัฒนาเมือง โดยเน้นการเปิดพื้นที่สาธารณะรูปแบบใหม่อย่าง “บอร์ดเกม” เพื่อรับฟังความคิดเห็นของคนรุ่นใหม่เกี่ยวกับประเด็นต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเมือง เช่น การสร้างพื้นที่ตลาดและพื้นที่สาธารณะที่ส่งเสริมสุขภาพ
“การมีส่วนร่วม – องค์ความรู้” ปลดล็อกศักยภาพชุมชน สู่การพัฒนาเมืองสุขภาวะ
ในยุคที่ “ความเป็นเมือง” ทำให้วิถีชีวิตของผู้คนเปลี่ยน การสร้างเมืองสุขภาวะจึงไม่ใช่เรื่องของคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นภารกิจที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมแรงร่วมใจ ในองค์กรขับเคลื่อนได้สะท้อนปัญหาที่เจอแล้ว ด้านองค์กรสนับสนุนมองว่า การส่งเสริมให้เกิดการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง และทุกคนมีองค์ความรู้ จะช่วยปลดล็อกศักยภาพชุมชน สู่การพัฒนาเมืองสุขภาวะอย่างที่ควรจะเป็นได้
โดย นพ.สุเทพ เพชรมาก เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) มองเห็นความสำคัญของ “การมีส่วนร่วม” จึงชวนทุกคนที่ต้องการพัฒนาเมือง มาร่วมกันออกแบบนโยบาย และของบประมาณได้ผ่าน “กลไกสมัชชาสุขภาพ” เพื่อสร้างเมืองที่เอื้อต่อสุขภาวะใน 4 มิติ ได้แก่ กาย จิต ปัญญา และสังคม โดยไม่รอความช่วยเหลือจากภาครัฐเพียงอย่างเดียว
ขณะที่ สุวรรณชัย สมปอง ผู้อำนวยการกลุ่มงานวิชาการและวิจัย เพื่อการพัฒนาท้องถิ่น กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ย้ำถึงความสำคัญของ “การส่งเสริมความรู้” กรมฯ จึงร่วมมือกับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) ให้ความรู้ท้องถิ่นเรื่อง “เมืองอัจฉริยะ” (Smart City) ที่มี 2 องค์ประกอบหลักคือ Smart Environment และ Smart Live
พร้อมสนับสนุนการนำองค์ความรู้ไปสู่การปฏิบัติจริงผ่านแผนพัฒนาท้องถิ่น เพื่อขอรับงบประมาณ และการกำหนดตัวชี้วัด (KPI) ในการประเมินศักยภาพ ตั้งแต่ตอนยื่นเอกสารโครงการ (Proposal) ที่จะมีให้ระบุว่า เมืองเรามีปัญหาอะไร และเราจะพัฒนาอย่างไร หากมีผลลัพธ์ที่ดีจะสามารถขอรางวัลเป็นเขตส่งเสริมเมืองอัจฉริยะได้
อย่างไรก็ตามการส่งเสริมความรู้ อาจต้องรวมถึง “ประชาชน” ด้วย ประยงค์ โพธิ์ศรีประเสริฐ ประธานสาขาวิชาทางสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันอาศรมศิลป์ ชี้ให้เห็นว่า การที่ “พลเมืองตื่นรู้” (Active Citizen) จะทำให้เกิดความเข้าใจเรื่องเมืองสุขภาวะตรงกัน ซึ่งจะนำไปสู่การตัดสินใจ ในกระบวนการมีส่วนร่วมที่มีประสิทธิภาพ
พร้อมเสนอแนะให้แก้ไขกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการมีส่วนร่วม และขอฝากทิ้งท้ายการพัฒนาเมืองสุขภาวะไม่ใช่การลอกเลียนแบบ แต่เป็นการ “ต่อยอด” จากแนวคิดต้นแบบ โดยคำนึงถึงบริบทและความต้องการเฉพาะของแต่ละพื้นที่ พร้อมกำหนดตัวชี้วัด (KPI) ที่สอดคล้องกัน เพื่อให้เกิดการเคลื่อนนโยบายในภาพใหญ่ไปในทิศทางเดียวกัน แม้รายละเอียดการปฏิบัติจะแตกต่างกัน
ข้อเสนอประชาชน ปลุกเมืองอย่างไรให้สุขภาพดี
ข้อเสนอจากประชาชนภายในงาน มองเห็นว่า การจะปลุกเมืองให้สุขภาพดี ควรจะทำดังต่อไปนี้
- My Home My Life Our Way: นโยบายในการเพิ่ม “พื้นที่สีเขียว” ให้คนได้ออกมาเคลื่อนไหวทั้งทาง กาย จิต และสังคมมากขึ้น โดยประชาชนต้องมีสิทธิคิดโครงการได้เอง ร่วมกับรัฐ ประชาชน และภาคประชาสังคม
- หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง: องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคประชาสังคม เอกชน และ ประชาชน
- รายละเอียดนโยบาย: สร้างการรับรู้ให้กับผู้เกี่ยวข้อง โดยเชื่อมโยงผู้เชี่ยวชาญ เพื่อสร้างองค์ความรู้ และ สร้างกระบวนการมีส่วนร่วม ที่เกิดจากความต้องการของประชาชน เปิดให้สามารถใช้เครื่องมือและทรัพยากรร่วมกัน
- เครื่องมือที่ใช้: กระบวนการมีส่วนร่วม, การติดตามและประเมินผลการดำเนินงาน, กิจกรรมในพื้นที่ และSocial Platform
- การเชื่อมต่อการเข้าถึงระบบขนส่งสาธารณะ: นโยบายที่เพิ่มทางเลือกการเข้าถึงระบบขนส่งสาธารณะ เช่น เพิ่มการเดินทางทางเรือ
- หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง: องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น, สัมปทานรถสาธารณะ, ภาคประชาสังคม และ Big Data Institute
- รายละเอียดนโยบาย: เพิ่มจุดเชื่อมต่อ, เพิ่มเส้นทาง, พัฒนาคุณภาพการเดินทางด้วยรถไฟฟ้า (EV) และพัฒนาในระบบการเดินทางสามารถคำนวณเวลาได้
- เครื่องมือที่ใช้: Dashboard สรุปข้อมูล Mobility, Social Listening และ ช่องทางออนไลน์ ในการรับฟังความคิดเห็น และ สำรวจข้อมูลต่างๆ
- Decentralized Urban Mobility: นโยบายพัฒนาระบบการเดินทางในเมืองที่เน้นการกระจายอำนาจและการมีส่วนร่วมจากผู้ใช้
- หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง: องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น, กรมทางหลวง, กรมทางหลวงชนบท, ตำรวจจราจร, ผู้ประกอบการขนส่งสาธารณะ, ภาคประชาชน เช่น สภาองค์กรผู้บริโภร, สภาองค์กรชุมชน และ สมัชชาสุขภาพจังหวัด
- รายละเอียดนโยบาย: มีนโยบายควบคุมมลพิษ, การออกแบบผังเมืองเฉพาะท้องถิ่น, เพิ่มทางเลือกในการเดินทาง และท้องถิ่นสามารถวางแผนเส้นทางระบบขนส่งสาธารณะได้
- เครื่องมือที่ใช้: ฐานข้อมูลเมืองและชุมชน รัฐบาลสนับสนุนค่าโดยสารด้วยรายได้จากภาษีท้องถิ่น และกระบวนการมีส่วนร่วม
- Walk with Town: นโยบายส่งเสริมการเดิน ให้ประชาชนสามารถเดินได้วันละ 10,000 ก้าวต่อวัน ลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs)
- หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง: กระทรวงสาธารณสุข, กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา, องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น, สถาบันการศึกษา, ภาคเอกชน, ผู้เชี่ยวชาญด้านผังเมือง
- รายละเอียดนโยบาย: ปรับปรุงทางเท้า ให้เดินสะดวก ปลอดภัย มีความร่มรื่น, ออกแบบทางเดินเท้าให้มีสัดส่วนการเดิน และพื้นที่ค้าขาย/ ทำกิจกรรมที่เหมาะสม, ปรับปรุงประสิทธิภาพระบบขนส่งสาธารณะให้เชี่อมโยงถึงกัน, การพัฒนาถนนคนเดิน ส่งเสริมการค้า เศรษฐกิจสร้างสรรค์
- เครื่องมือที่ใช้: ฐานข้อมูลเมืองและชุมชน, เทศบัญญัติท้องถิ่น กฎหมายผังเมืองและกฎหมายทางเท้า และการให้รางวัล
- กำลังดี : นโยบายปลุกเมืองด้วยกิจกรรมสร้างสรรค์
- หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง: กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา, กระทรวงวัฒนธรรม, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม, กระทรวงศึกษาธิการ, กระทรวงมหาดไทย, องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น, สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ, สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ, สถาบันการศึกษา, ผู้ประกอบการร้านก๋วยเตี๋ยว กาแฟ แผงขายผัก และศาลเจ้า
- รายละเอียดนโยบาย: เลือกพื้นที่ต้นแบบในการผลักดันกิจกรรมสร้างสรรค์ต่าง ๆ โดยจะเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนเสนอกิจกรรมเพื่อสุขภาพที่ดีของประชาชน และเชื่อมซอย เพิ่มแสงสว่าง สร้างร่มเงาเย็นสบาย ให้การทำกิจกรรมต่าง ๆ เป็นไปอย่างราบรื่น
- เครื่องมือที่ใช้: สมัชชาสุขภาพ, การมีส่วนร่วมของชุมชน, ฐานข้อมูลเมืองและชุมชน
ปัจจุบันกรุงเทพฯ หาดใหญ่ และภูเก็ต กรุงเทพฯ ได้พัฒนาพื้นที่สุขภาวะให้เกิดขึ้นบ้างแล้ว จึงอยากชวนทุกคนหันกลับมามอง “บ้าน” ของเรา ว่าควรจะเป็นอย่างไร ? แล้วขับเคลื่อนเรื่องนี้ไปพร้อมกัน ผ่านการติดตามนโยบาย เพราะ “พื้นที่สุขภาวะ” ไม่ควรให้เราต้อง “ซื้อ” แต่ต้องสร้างให้เป็นของทุกคน และเข้าถึงได้ ไม่ว่าจะอาศัยอยู่ที่ไหน