การระงับงบประมาณของ USAID อาจส่งผลกระทบโดยตรงต่อการป้องกันและควบคุมเอชไอวีในกลุ่มเสี่ยง รวมถึงคุณภาพของการรักษาและการเข้าถึงยาต้านไวรัสในบางกลุ่มประชากร ซึ่งอาจทำให้สถานการณ์การแพร่ระบาดของเอชไอวีในประเทศไทยซับซ้อนขึ้นกว่าที่เป็นอยู่
จากข้อมูลของกรมควบคุมโรค ณ วันที่ 12 มีนาคม 2567 ประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่ยังมีชีวิตอยู่ประมาณ 580,000 คน คิดเป็น 0.88% ของประชากรไทย โดยในจำนวนนี้ 474,675 คน กำลังได้รับยาต้านไวรัส ขณะที่มีผู้เสียชีวิตจากโรคเอดส์ในปีที่ผ่านมาประมาณ 12,000 คน และยังคงมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 9,100 คน ต่อปี
ขณะที่บทบาทหน้าที่ในการป้องกันและควบคุมโรคเอชไอวีในประเทศไทย ส่วนใหญ่มาจากกลุ่มองค์กรภาคประชาสังคมที่ทำงานด้านเอชไอวี ซึ่งรับเงินสนับสนุนจาก USAID สหรัฐอเมริกา มากกว่าภาครัฐอย่างกระทรวงสาธารณสุข
ข้อมูลของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ปี 2567 พบว่าการดำเนินงานด้าน HIV โดยภาคประชาสังคมมีบทบาทสำคัญในการให้บริการแก่ประชาชน โดยในมาตรการ RRTTPR (Reach-Recruit-Test-Treat-Prevention-Retain เข้าถึง-เข้าสู่บริการ-คัดกรอง-รักษา-ป้องกัน-คงอยู่ในระบบ) มีผู้รับบริการรวม 694,192 คน ซึ่ง 85% หรือ 594,613 คน มาจากภาคประชาสังคม ขณะที่ภาครัฐให้บริการเพียง 99,579 คน
นอกจากนี้ บริการเพร็พ (PrEP) เพื่อป้องกันการติดเชื้อ HIV กว่า 15,000 คนต่อปี หรือ 60% ของจำนวนผู้รับบริการทั้งหมดในประเทศ (25,000 คน) ก็อยู่ภายใต้การดำเนินงานของภาคประชาสังคม รวมถึงการให้บริการยืนยันเพศสภาพที่ให้บริการมากกว่า 10,000 คนต่อปี
การลดงบประมาณสนับสนุนจาก USAID ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการดำเนินงานขององค์กรภาคประชาสังคมด้านเอชไอวี โดยเฉพาะค่าตอบแทนเจ้าหน้าที่ผู้ให้บริการ 339 คน ที่ได้รับผลกระทบแตกต่างกันไป นอกจากนี้ยังมีปัญหาด้านค่าใช้จ่ายอื่น ๆ เช่น ค่าเช่าสำนักงานที่ถูกตัดลดลง และการขาดแคลนเงินทุนและอุปกรณ์สำหรับให้บริการ เช่น ชุดตรวจ น้ำยาตรวจ และอุปกรณ์ในห้องปฏิบัติการ ซึ่งส่งผลกระทบต่อผู้รับบริการโดยตรง
นิมิตร์ เทียนอุดม ที่ปรึกษาผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ (AIDS Access) เปิดเผยกับ Policy Watch ว่าการดำเนินงานขององค์กรเหล่านี้ต้องอาศัยงบประมาณจากหลายแหล่ง โดยสามารถแบ่งออกเป็น งบประมาณภายในประเทศ 60% และ งบประมาณจากต่างประเทศ 40% ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการพึ่งพาแหล่งเงินทุนภายนอกที่ยังคงมีอยู่ในระดับสูง
งบประมาณภายในประเทศ (60%) องค์กรภาคประชาสังคมได้รับการสนับสนุนจากงบประมาณของหน่วยงานรัฐภายในประเทศ เช่น กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กองทุนเอดส์ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) งบ PPA เขต (งบสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคระดับเขตของ สปสช.) กองทุนหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่นของ สปสช.
แม้ว่าจะมีแหล่งเงินทุนภายในประเทศที่สนับสนุนอยู่ แต่ยังไม่เพียงพอ ทำให้ต้องพึ่งพางบประมาณจากต่างประเทศเป็นสัดส่วนที่สูง
งบประมาณจากต่างประเทศ (40%) ส่วนนี้มาจากองค์กรและหน่วยงานต่างประเทศ โดยมีแหล่งที่สำคัญ ได้แก่ USAID (30%) ซึ่งเป็นแหล่งเงินทุนหลักจากรัฐบาลสหรัฐฯ ที่สนับสนุนโครงการด้านเอชไอวีในประเทศไทย สถานทูตต่าง ๆ และหน่วยงานการกุศล (10%) ที่ให้เงินสนับสนุนผ่านโครงการพิเศษหรือความร่วมมือระดับนานาชาติ
จากการตัดงบประมาณ USAID คาดว่าผู้รับบริการตามมาตรการ RRTTPR จำนวน 93,186 คน อาจได้รับผลกระทบ โดยแบ่งเป็น การติดเชื้อเอชไอวีในกลุ่มชายมีเพศสัมพันธ์กับชาย (MSM)/ ผู้หญิงข้ามเพศ (TGW)/ กลุ่มพนักงานบริการ (SW) 92,970 คน และ ผู้ที่ฉีดยาเสพติด (PWID) 650 คน นอกจากนี้ ผู้รับบริการตรวจและรักษาโรค HIV, โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (STIs) และไวรัสตับอักเสบซี (Hep C) รวม 52,263 คน รวมถึงผู้รับบริการข้ามเพศ 4,372 คน ก็อาจเผชิญกับข้อจำกัดในการเข้าถึงบริการ
แม้ว่าบริการเพร็พจะยังสามารถเบิกจ่ายผ่าน สปสช. ได้ แต่ค่าตอบแทนผู้ให้บริการในชุมชนเดิมที่ได้รับจาก USAID จะหายไป ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อศักยภาพในการให้บริการเพร็พทั่วประเทศ โดยคาดว่าจำนวนผู้รับบริการที่อาจสูญเสียไปอาจสูงถึง 101,306 คน ในขณะที่ภาคประชาสังคมต้องเผชิญกับ ช่องว่างด้านงบประมาณกว่า 277.6 ล้านบาท (หรือประมาณ 8.25 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อความต่อเนื่องของการให้บริการและการควบคุมการแพร่ระบาดของ HIV ในประเทศไทย
ปัจจุบันประเทศที่พึ่งพางบประมาณจากสหรัฐฯ มากที่สุดสำหรับยารักษา HIV มี 20 ประเทศในการจัดหายารักษา HIV โดยบางประเทศได้รับเงินทุนจากสหรัฐฯ สูงถึง 100% เช่น สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก เฮติ โมซัมบิก แทนซาเนีย แซมเบีย และยูกันดา เป็นต้น ซึ่งการตัดงบประมาณอาจส่งผลกระทบรุนแรงต่อระบบสาธารณสุขของประเทศเหล่านี้
พัชรา เบญจรัตนาภรณ์ ผู้อำนวยการ โครงการเอดส์แห่งสหประชาชาติ (UNAIDS) ประเทศไทย เปิดเผยคาดการณ์ผลกระทบจากการไม่ต่ออายุโครงการแผนฉุกเฉินของประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาสำหรับการบรรเทาทุกข์โรคเอดส์ หรือ PEPFAR (2025-2029) UNAIDS คาดการณ์ว่าหากโครงการ PEPFAR ของสหรัฐฯ ไม่ได้รับการต่ออายุระหว่างปี 2025-2029 และไม่มีแหล่งงบประมาณอื่นมาทดแทน อาจนำไปสู่ผลกระทบที่รุนแรง ดังนี้
• มีผู้เสียชีวิตจากเอดส์เพิ่มขึ้น 6.3 ล้านคน
• มีเด็กกำพร้าจากเอดส์เพิ่มขึ้น 3.4 ล้านคน
• มีเด็กติดเชื้อ HIV รายใหม่เพิ่มขึ้น 350,000 คน
• มีผู้ใหญ่ติดเชื้อ HIV รายใหม่เพิ่มขึ้น 8.7 ล้านคน
โครงการ PEPFAR (President’s Emergency Plan for AIDS Relief) เป็นโครงการสนับสนุนระดับโลกของรัฐบาลสหรัฐฯ ที่มีบทบาทสำคัญในการลดจำนวนผู้ติดเชื้อ HIV/AIDS และช่วยควบคุมการแพร่ระบาดของโรคมาตั้งแต่ต้นทศวรรษ 2000
ขณะที่ USAID เป็นหน่วยงานที่รับเงินทุนบางส่วนจาก PEPFAR เพื่อนำไปดำเนินโครงการในประเทศต่างๆ ดังนั้น USAID เป็นเพียงหนึ่งในกลไกที่ช่วยขับเคลื่อน PEPFAR แต่ไม่ใช่หน่วยงานเดียวที่ทำงานด้านเอชไอวีของสหรัฐ
ปัจจุบัน หลายประเทศใกล้ถึงจุดที่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ โดยมีอัตราการตรวจพบเชื้อสูงถึง 95% อัตราการเข้าถึงการรักษา 95% และอัตราการกดเชื้อจนไม่แพร่ต่อให้ผู้อื่น 95% อย่างไรก็ตาม หากโครงการนี้ต้องหยุดดำเนินงาน จะส่งผลให้ความก้าวหน้าที่ใช้เวลาหลายสิบปีต้องสูญเสียไป
หาก PEPFAR ถูกระงับภายในปี 2025 (อีก 2 ปีข้างหน้า) การลดลงของอัตราผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตจาก HIV ที่เกิดขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมาอาจย้อนกลับไปเหมือนเมื่อ 10 ปีที่แล้ว จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่อาจเพิ่มขึ้นถึง 99% และจำนวนผู้เสียชีวิตจากโรคเอดส์อาจเพิ่มขึ้นถึง 17% ส่งผลให้ระบบสาธารณสุขต้องเผชิญกับภาระที่เพิ่มขึ้นและทำให้ความสามารถในการควบคุมโรคลดลง
ภายในปี 2030 (อีก 7 ปีข้างหน้า) หากไม่มี PEPFAR ผลกระทบจะรุนแรงยิ่งขึ้น โดยคาดการณ์ว่าจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่อาจเพิ่มขึ้นถึง 231% หรือมากกว่า 4 ล้านราย ขณะที่จำนวนผู้เสียชีวิตจากโรคเอดส์อาจเพิ่มขึ้น 155% หรือมากกว่า 1 ล้านราย นี่หมายความว่าความก้าวหน้าที่เกิดขึ้นในช่วง 25 ปีที่ผ่านมา จะถูกลบล้างไปอย่างสิ้นเชิง และอาจทำให้สถานการณ์โรคเอดส์กลับไปอยู่ในระดับเดียวกับช่วงต้นทศวรรษ 2000
ยิ่งไปกว่านั้น ผลกระทบในระยะสั้นของปี 2025 อาจรุนแรงยิ่งกว่าการคาดการณ์ โดยเฉพาะอัตราการเสียชีวิตจากโรคเอดส์ เนื่องจากระบบสาธารณสุขของหลายประเทศพึ่งพางบประมาณจาก PEPFAR หากการสนับสนุนนี้หยุดลง ระบบสาธารณสุขอาจประสบปัญหาขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ การหยุดชะงักของบริการตรวจหาเชื้อ และการรักษาผู้ป่วย ซึ่งอาจทำให้สถานการณ์แย่ลงอย่างรวดเร็ว
“แนวโน้มจำนวนผู้ติดเชื้อ HIV รายใหม่และผู้เสียชีวิตจากโรคเอดส์จะเพิ่มขึ้นอย่างมากหากไม่มี PEPFAR เส้นกราฟที่พุ่งสูงขึ้นเป็นเครื่องยืนยันถึงภัยคุกคามที่อาจเกิดขึ้นต่อสุขภาพของประชากรทั่วโลก ซึ่งแนวโน้มลักษณะนี้จะส่งผลกระทบมาถึงไทยที่อาจจะเสี่ยงการระบาดรอบใหม่”
พัชรา เสนอว่า การยุติปัญหาเอดส์ในประเทศไทยจำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยนแนวทางการดำเนินงาน มุ่งเน้นการพึ่งพาตนเอง (Self-Reliance) โดยเฉพาะการมองหาแหล่งงบประมาณภายในประเทศ และเพิ่มประสิทธิภาพของระบบสาธารณสุขในการตอบสนองต่อปัญหา HIV ในมีความรวดเร็ง
ปัจจัยที่สำคัญคือ การให้ความสำคัญกับระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิ (Primary Care) โดยเน้นบทบาทสำคัญของบริการสุขภาพขั้นพื้นฐาน และสนับสนุนให้ชุมชน และองค์กรภาคประชาสังคม เข้ามามีส่วนร่วมในการให้บริการด้าน HIV เพื่อให้เกิดการเข้าถึงบริการอย่างครอบคลุมและทั่วถึง
นอกจากนี้ ยังมีความจำเป็นต้องดำเนินมาตรการเร่งด่วนในการ เพิ่มประสิทธิภาพของการป้องกันและการให้บริการ PrEP (ยาป้องกันการติดเชื้อ HIV) ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญในการลดจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ รวมถึง การส่งเสริมบทบาทของชุมชน (Community Role) โดยขยายการเข้าถึงบริการตรวจ HIV ด้วยตนเอง (HIV self-testing) ให้สามารถดำเนินการได้สะดวกและครอบคลุมกลุ่มประชากรที่มีความเสี่ยง
ขณะเดียวกัน การจัดสรรงบประมาณที่เป็นธรรมและยั่งยืน ถือเป็นความจำเป็นเร่งด่วน รัฐไทยควรให้การสนับสนุนทางการเงินแก่บริการที่นำโดยองค์กรภาคประชาสังคม รวมถึงให้ความสำคัญกับสิทธิมนุษยชน
สุดท้าย การพัฒนา กลไกใหม่ (New Mechanism) เพื่อสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรมโดยรัฐบาลไทย จะช่วยให้ประเทศไทยสามารถวางรากฐานที่มั่นคงในการยุติปัญหาเอดส์ในระยะยาว และเสริมสร้างระบบสาธารณสุขที่สามารถตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนได้อย่างราบรื่น.