ผ่านไปเพียง 3 เดือนหลังประกาศนโยบายถือครองยาบ้าไม่เกิน 5 เม็ดให้สันนิฐานว่าเป็นผู้เสพนำเข้าสู่รับการบำบัด แต่เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี สั่งให้มีการแก้ไขกฎกระทรวงสาธารณสุข ให้เหลือเพียง 1 เม็ดก็ถือเป็นผู้เสพ เพื่อลดกระแสสังคมที่พบเจอข่าวคนคลั่งยาสร้างความเดือดร้อนรายวัน
แต่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาของนโยบายยาเสพติดได้สร้างความสบสันต่อแนวทางการแก้ปัญหายาเสพติดว่าจะไปทางไหนกันแน่ เพราะการปรับลดถือครองยาบ้าเหลือ 1 เม็ดคือผู้เสพ ด้านหนึ่ง ถูกมองว่าแก้ปัญหาหนึ่ง แต่นำไปสู่อีกปัญหาหนึ่งที่ใหญ่กว่า แม้จะช่วยลดกระแสสังคมที่ไม่เห็นด้วย แต่ก็อาจยังมีอีกหลายเรื่อง ที่ต้องมองและพิจารณาไปพร้อมกันให้รอบด้าน
เราไม่ได้บอกว่า 1 เม็ด หรือ 5 เม็ด แบบไหน คือทางออกที่ดีกว่ากัน แต่เมื่อพูดถึงนโยบายการถือครองยาบ้าเท่าไรถือเป็นผู้เสพ อาจต้องกลับมาตั้งหลักให้ดี และทบทวนบทเรียนในอดีตที่ผ่านมา รวมถึงดูการจัดการปัญหาในต่างประเทศด้วย เพราะทั่วโลกมีแนวทางจัดการปัญหายาเสพติดอยู่เพียง 2 ทาง คือ 1.การปราบปรามให้สิ้นซาก และ 2.การบำบัดรักษา
ก่อนอื่น ต้องยอมรับว่า ยาเสพติดจะไม่มีวันหมดไปร้อยเปอร์เซ็น คำถามที่น่าสนใจ คือ เราจะอยู่ร่วมกับมันอย่างไร องค์การสหประชาชาติ ยืนยันว่าการเปิดช่องทางการบำบัดรักษา ลดอันตรายจากการใช้ยาเสพติด คือคำตอบ ของการแก้ปัญหายาเสพติด
กลุ่มภาคประชาสังคมที่ทำงานด้านการบำบัดยาเสพติด อย่าง มูลนิธิเพื่อสิทธิความหลากหลาย (FAIR) แสดงความกังวลว่าการปรับลดการถือครองยาบ้า อาจทำให้แนวทางการจัดการปัญหายาเสพติดในบ้านเราถอยหลัง และอาจนำไปสู่การละเมิดสิทธิมนุษย์ในกระบวนการยุติธรรม
เมื่อวันที่ 15 พ.ค. ที่ผ่านมา มูลนิธิฯยื่นหนังสือต่อกรรมการสิทธิมนุษยธรรม(กสม.) ขอให้ กสม. เป็นกลไกท้วงติงไปยังรัฐบาล ที่กำลังจะแก้กฎกระทรวงฯ โดยเครือข่ายมีข้อเสนอถึงการเกณฑ์กำหนดปริมาณยาเสพติดดังนี้
- ควรใช้เป็นกลไกคู่ไปกับการยกเลิกโทษทางอาญาแก่ผู้เสพ (decriminalization)
- พิจารณาถึงความเป็นไปของตลาดยาเสพติด รูปแบบการใช้ยา ปริมาณยาที่แต่ละคนน่าจะใช้ต่อวัน และรูปแบบการซื้อ
- ให้เครือข่ายผู้ใช้ยาเป็นผู้ร่วมกำหนดปริมาณยาเสพติดในการออกกฎกระทรวงนี้
- การพิจารณาว่าเป็นผู้เสพหรือผู้ค้า ไม่ควรพิจารณาแค่ปริมาณ แต่ต้องพิจารณาเรื่องพฤติการณ์หรือเจตนาตามประมวลกฎหมายอาญา
จารุณี ศิริพันธุ์ ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อสิทธิความหลากหลาย บอกว่า การที่นายกรัฐมนตรีมีข้อสั่งการกำหนดปริมาณยาเสพติดที่เพียง 1 เม็ด โดยไม่ได้ใช้หลักฐานเชิงประจักษ์ประกอบกับการสนับสนุน มีความสุ่มเสี่ยงที่จะส่งผลให้ผู้ใช้สารเสพติด มีแนวโน้มที่จะถูกจับกุมในข้อหาครอบครองยาเสพติดโดยไม่ได้รับอนุญาต หรือครอบครองยาเสพติดไว้เพื่อการค้า ตามประมวลกฎหมายยาเสพติด มาตรา 145(5) มากยิ่งขึ้น
ขณะที่ สุภัทรา นาคะผิว กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เห็นด้วยกับ ข้อเสนอของเครือข่ายภาคประชาชน พร้อมออกแถลงการณ์ว่านโยบายปรับลดปริมาณไม่สอดคล้องกับระดับสากล และกังวลว่าจะเกิดผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนต่อประชาชนอย่างกว้างขวาง โดยสนับสนุนใช้มาตรการลดอันตรายจากการใช้สารเสพติด (Harm Reduction) แทนมาตรการทางกฎหมายในส่วนของผู้เสพ
“หากผู้เสพสารเสพติดถูกดำเนินคดีทางอาญา และมีประวัติทางอาชญากรรมแล้ว อาจส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตและโอกาสในการทำงานได้ และเนื่องจากผู้เสพสารเสพติดควรถูกปฏิบัติในฐานะผู้ป่วย การนำผู้ที่มีสถานะเป็นผู้ป่วยทางการแพทย์ไปคุมขังที่เรือนจำนั้นจึงไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาใด ๆ และเป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ตรงจุด กลับกลายเป็นการสร้างภาระให้รัฐโดยใช่เหตุ”
สุภัทรา บอกอีกว่า ประเด็นเรื่องยาเสพติดกลายเป็นประเด็นทางการเมือง ที่ใช้เล่นกับกระแสและความรู้สึกของคน โดยไม่ได้ใช้ข้อมูลเชิงวิชาการและหลักฐานเชิงประจักษ์ และแนะว่ารัฐควรมีระบบบำบัด ดูแล และฟื้นฟูผู้เสพสารเสพติดอย่างมีประสิทธิผล ซึ่งต้องอาศัยการมีส่วนร่วมจากชุมชนและภาคส่วนอื่นๆ
หวั่นตีตราผู้ใช้ยา
เมื่อได้ยินคำว่า “เครือข่ายผู้ใช้ยา” สังคมมองอย่างไร อาจรู้สึกหวาดกลัว หรือไม่อยากคบหาด้วย หรือรู้สึกว่าคนกลุ่มนี้เป็นคนไม่ดี แต่เบื้องลึกของการใช้ยาเสพติดอาจมาจากหลายเหตุผล ซึ่งเราอาจมองเขาในแง่ลบ หรือตีตราไปก่อนแล้วทั้ง ๆ ที่ พวกเขาจำเป็นที่ต้องมีช่องทางเพื่อการบำบัด
ตัวอย่างเช่น ผู้ประกอบอาชีพขายบริการ ยอมรับการมีเพศสัมพันธ์กับคนแปลกหน้าไม่ใช่เรื่องง่าย หลายครั้งต้องใช้ยาเสพติดกระตุ้นประสาท ก่อนมีเพศสัมพันธุ์กับลูกค้า หรือ ลูกค้าบางรายก็ชวนให้ใช้เสพยาร่วมด้วย
พวกเขาและเธอต้องใช้ยาเสพติดเพราะความจำเป็น ขณะที่ก็เป็นห่วงสุขภาพของตัวเองจึงเข้ามาใช้บริการ Harm Reduction หรือการลดอันตรายจากการใช้สารเสพติด ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ 11 แห่งทั่วประเทศ หนึ่งในหน่วยบริการที่มีผู้ใช้บริการเยอะที่สุดคือ คลินิกเทคนิคการแพทย์ฟ้าสีรุ้ง ย่านรามคำแหง กทม.
หนึ่งในผู้ใช้บริการ Harm Reaction ยอมรับเคยเสพทั้งยาไอซ์และยาบ้า ในขณะมีเพศสัมพันธ์ ซึ่งหากมีการปรับลดยาบ้าเหลือ 1 เม็ดก็จะมีความเสี่ยงต่อการทำผิดกฎหมาย และจะไม่กล้าเข้ามาบำบัด เพราะกลัวถูกตีตรา
ผู้ใช้บริการบางราย แม้ไม่ได้ทำอาชีพให้บริการทางเพศ แต่ก็ใช้สารเสพติดในการมีเพศสัมพันธ์ การเข้าสู่กระบวนการ harm reduction ทำให้มีความตั้งใจที่จะเลิกเสพ และปรับเปลี่ยนพฤติกรรม แต่หากนโยบายยาเสพติดเปลี่ยนไป นอกจากจะไม่ช่วยแก้ปัญหายาเสพติดให้ลดน้อยลงแล้ว ยังเชื่อว่าจะทำให้คนอีกจำนวนมากไม่กล้าแสดงตัวเข้าสู่กระบวนการบำบัด
กำลังถอยหลัง หากกลับไปใช้นโยบายยาบ้า 1 เม็ด
ธีรศักดิ์ ประสานพิม รอง ผอ.สำนักงานนโยบายและแผน สมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย บอกว่า มีตัวยา 2 ชนิดที่ใช้ในกระบวนการ harm reduction คือมีเมทาโดนเป็นสารทดแทนทดแทนเฮโรอีนไม่ให้เกิดอาการลงแดง และนาล็อคโซนเป็นตัวยาที่ใช้รักษาอาการเสพยาเกินขนาด นอกจากนี้ ยังมีเข็มฉีดยาสะอาดไว้ให้บริการ เพื่อป้องกันการติดเชื้อ
“กระบวนการบำบัดผู้เสพยาของไทยนับว่าก้าวหน้าไปมากหลังจากการแก้ไขประมวลกฎหมายยาเสพติดเมื่อปี 2564 ที่มองผู้เสพเป็นผู้ป่วย แต่กำลังจะถอยหลังกลับไปหากมีการปรับนโยบาย ยาบ้า 1 เม็ด” ธีรศักดิ์ กล่าว
ขณที่ ดนัย ลินจงรัตน์ ที่ปรึกษาโครงการ CLYMAX สถาบันเพื่อการวิจัยและนวัตกรรมด้าน HIV ทำงานเพื่อช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง อย่างพนักงานบริการ ย้ำเจตนารมณ์ของประมวลกฎหมายยาเสพติด 2564 ผู้เสพคือผู้ป่วย และตั้งคำถามกับท่าทีรัฐบาลว่าตามกระแสหรือไม่ และทำระบบบำบัดถอยหลัง
การปราบปรามยาเสพติดให้หมดไปจากโลกนี้ไม่เป็นจริง มันจะอยู่กับเราตราบวันสิ้นโลก เราจะอยู่กับมันอย่างไรเพื่อจัดการได้ นี่คือหัวใจของการทำงานด้านยาเสพติด ต้องทำให้ประเทศมองผู้เสพเป็นผู้ป่วย และจัดการปัญหาเรื่องผู้ค้ารายใหญ่ให้ได้ ไม่ใช่ให้ตำรวจมาจัดการเอาผลงานจากคนเสพเล็กๆ เช่นถือครองยาบ้า 1 เม็ดโดนจับในฐานะผู้ค้า
นโยบายยาบ้า 1 เม็ด แสดงให้เห็นว่าไม่จริงใจกับการแก้ปัญหาจริง ๆ เป็นเพียงแค่การแสดงให้เห็นว่าเอาจริงเอาจังแล้ว แต่ไม่แก้ปัญหาที่ต้นตอ
20 ปี นโยบายเปลี่ยนไปมา
สมัยรัฐบาล ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในปี 2545 ยังกำหนดครอบครองยาบ้าไม่เกิน 15 เม็ด ให้จัดเป็นผู้เสพไม่ใช่ผู้ค้า ให้ส่งตัวไปบำบัดรักษาตามนิยามผู้เสพคือผู้ป่วย ไม่ต้องส่งไปเรือนจำในฐานะผู้ค้ายาเสพติด แต่การประกาศสงครามที่เริ่มต้นในวันที่ 1 ก.พ. 2546 และสิ้นสุดลงในเดือนเมษายน 2546 เป็นเวลาเพียง 3 เดือน แต่มีผลการดำเนินการจับกุมผู้ค้ายาเสพติดได้ 43,012 ราย จากจำนวน 46,522 ราย วิสามัญฆาตกรรมคนร้าย 37 ศพ เสียชีวิตด้วยสาเหตุอื่น หรือฆ่าตัดตอน จำนวน 1,612 ราย
ต่อมาในสมัยรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ประกาศนโยบายแก้ไขปัญหายาเสพติดเป็นวาระแห่งชาติ ปี 2554 ภายใต้แนวคิดหลัก “ผู้เสพ คือ ผู้ป่วย” เพื่อให้ผู้เสพติดได้รับการบำบัด
ต่อมาในปี 2564 สมัยรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกรัฐมนรี มีการปรับปรุงประมวลกฎหมายยาเสพติด ย้ำเจตนารมณ์ ผู้เสพคือผู้ป่วย กำหนดว่ายาเสพติดใน “ปริมาณเล็กน้อย” ที่ให้สันนิษฐานว่าเป็นผู้เสพนั้น คือปริมาณเท่าใด ซึ่งต่อมามีการออกเป็นกฎกระทรวงสาธารณสุข
แต่เมื่อปี 2565 อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เสนอให้มีการแก้กฎกระทรวงฯ ครอบครองยาบ้า 1 เม็ด เท่ากับผู้เสพ และ 2 เม็ดขึ้นไป เป็นผู้ค้า แต่เกิดการยุบสภาเสียก่อน เรื่องนี้จึงยังไม่เกิดขึ้น
ต่อมาเมื่อเดือน ต.ค. 2566 นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ยุครัฐบาลเศรษฐา ประกาศแก้ไขการครอบครองยาบ้า ร่วมกับ ป.ป.ส. หากครอบครอง 10 เม็ดขึ้นไป ถือเป็นผู้ค้า แต่หากน้อยกว่า 10 เม็ดให้เป็นผู้เสพเข้ารับการบำบัดรักษา เพื่อให้สอดคล้องกับเจตนารมย์ ประมวลกฎหมายยาเสพติด ปี 2564
แต่ พล.ต.ท.ภาณุรัตน์ หลักบุญ เลขาธิการ ป.ป.ส. เห็นตรงกับ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่จะใช้เกณฑ์ครอบครองยาบ้า 5 เม็ด จัดอยู่ในสถานะผู้เสพ ไม่ใช่ 10 เม็ด ตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ เพื่อป้องกันปมผู้ค้ารายย่อย
กระทั่งวันที่ 9 ก.พ. 2567 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาประกาศกฎทรวงสาธารณสุข ถือครองยาบ้า 5 เม็ดเป็นผู้เสพคือผู้ป่วย โดยย้ำว่า “ผู้เสพ” ยังคงมีความผิดตามกฎหมาย มีโทษทั้งจำและปรับ แต่หากสมัครใจเข้ารับการบำบัดรักษาในสถานบำบัด จะถือว่าพ้นจากความผิด แต่หากไม่ให้ความร่วมมือในการบำบัดรักษา ศาลยกคดีขึ้นพิจารณาต่อ ก็ต้องรับโทษในฐานะผู้เสพต่อไป
3 เดือนต่อมา นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีปรับครม. 1/1 เปลี่ยนตัวรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็น สมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข สั่งให้แก้กฎกระทรวงสาธารณสุข ปรับลดการถือครองยาบ้าเหลือ 1 เม็ด ลดกระแสสังคมโจมตีรัฐบาลทำยาเสพติดราคาถูกและระบาดหนัก ระบบบำบัดจะไม่เพียงพอรองรับ
จนล่าสุด 17 พ.ค. 2567 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ อัยการ สำนักงานกฤษฏีกา เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม มาร่วมพิจารณา และเริ่มทำประชาพิจารณ์รับฟังความรคิดเห็นผ่านระบบออนไลน์
1 ผู้เสพขยายผล 1 ผู้ค้า
สมศักดิ์ เทพสุทิน ระบุว่าการมีมติปรับลดปริมาณยาบ้าที่สันนิษฐานเป็นผู้เสพ เหลือ 1 เม็ด และสารบริสุทธิไม่เกิน 20 มิลลิกรัม ยังย้ำว่า ยาบ้า 1 เม็ด ก็มีความผิด เพราะต้องพิสูจน์ต่อด้วยว่าเป็นผู้เสพ หรือ ผู้ขาย หากเป็นผู้เสพก็ต้องเข้ารับการบำบัด
พร้อมต้องขยายผลตามแนวนโยบาย “1 ผู้เสพ ขยายผล 1 ผู้ขาย และขยายต่อเป็น 1 ผู้ผลิต” ดังนั้น มียาบ้า 1 เม็ด ก็ต้องถูกขยายผลเพื่อนำไปสู่การยึดอายัดทรัพย์ ซึ่งในขณะนี้มีผู้แทนแต่ละกระทรวง ที่อยู่ตามชุมชน ก็จะช่วยเป็นหูเป็นตา และหากใครแจ้งเบาะแสก่อน ก็รับรางวัลนำจับ 5%
นายสมศักดิ์ ย้ำเหตุผลในการปรับเหลือ 1 เม็ดว่า ประชาชนสะท้อนสิ่งที่เสียหายมาเป็นจำนวนมาก พร้อมพิจารณาสถิติการจับกุมที่สูงขึ้น ต้องถูกสอบสวนเพื่อขยายผลให้ได้ผู้ขาย และผู้ผลิตต่อไป จากนี้รับฟังความคิดเห็น 15 วัน หากเห็นตรงกันจะเสนอหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรี พิจารณาต่อไป
ทนายนักสิทธิมนุยชน กังวลซ้ำรอยประกาศสงครามยาเสพติด
สมชาย หอมละออ ที่ปรึกษาเครือข่ายผู้ถูกเลือกปฏิบัติ ในฐานะ ทนายความที่เคยสู้คดียาเสพติดในช่วงรัฐบาลทักษิณ ประกาศสงครามกับยาเสพติด ห่วงว่าการส่งสัญญาณผิดๆ จากรัฐ และการให้เจ้าหน้าที่ใช้ดุลพินิจ จะเปิดช่องให้กระทำการเกินขอบเขตหน้าที่แห่งกฎหมาย โดยเรียกรับผลประโยชน์ รวมถึงการใช้อำนาจ รีดไถ บังคับ ขู่เข็ญ กระทำการซ้อมทรมาน ย้ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้ใช้สารเสพติด ดังที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว
“จำได้ว่าช่วงประกาศสงครามยาเสพติด มีการส่งสัญญาณจากผู้นำ ไปให้เจ้าหน้าที่อย่างไม่ถูกต้อง เช่นส่งสัญาณไปว่าไม่ไปวัดก็ไปคุก ผลคือมีคนตาย 2000 คนถูกเจ้าหน้าที่ฆ่า สังหาร ขณะที่ล่าสุดบอกว่า ยึดทรัพย์ให้หมด อย่างนี้ หม้อข้าว หม้อแกง ตู้เย็น พัดลม ยึดหมด บ้านนั้นผัวถูกจับไป หรือเสียชีวิตไป ลูกไม่มีหม้อจะหุงข้าว” สมชาย กล่าว
นโยบายการแก้ปัญหายาเสพติดที่ใช้สาธารณสุขนำการปราบปราม ช่วยลดปัญหาการละเมิดสิทธิมนุยชน ลดการตีตราผู้ใช้ยาให้เข้าสู่การบำบัด คืนคนดีสู่สังคม ขณะที่ไทยก้าวหน้าเรื่องระบบการบำบัดและการลดอันตรายจากการใช้ยาไปมาก ช่วง 3 เดือนกับนโยบายถือครองยาบ้า 5 เม็ดอาจยังเก็บสถิติไม่เพียงพอที่จะรำมาใช้ในการประเมิน
แต่การปรับเปลี่ยนนโยบายอีกครั้งในรัฐบาลเศรษฐา ก็อาจถอยหลังกลับไปจากนโยบายยาเสพติดที่ไม่มีแน่นอน และไม่เอื้อต้องการเข้าสู่การบำบัด จึงต้องจับตาดูว่าเมื่อปรับลดการถือครองยาบ้าลงมาแล้วจะแก้ปัญหายาเสพติดได้จริงหรือไม่