Policy Watch รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับกัญชาอย่างรอบด้าน มาเปรียบเทียบ เพื่อให้สังคมร่วมกันตัดสินใจ ในช่วงเวลาที่ “กระทรวงสาธารณสุข” ยังเปิดรับฟังความคิดเห็น (ร่าง) ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ. …. ซึ่งจะสิ้นสุดลงในวันที่ 25 มิ.ย. 2567 นี้
คนไทยราว 10 ล้านเข้าถึง “กัญชา” หลังไม่เป็นยาเสพติด
ศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติด จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยผลวิจัยพฤติกรรมคนไทยเกี่ยวกับการใช้กัญชา ระหว่างปี 2563 – 2566 พบว่าในปี 2565 ซึ่งช่วงกลางปีมีการปลดล็อกกัญชาออกจากบัญชียาเสพติด ทำให้มีผู้ใช้กัญชาสูงถึง 11.6 ล้านคน
ใกล้เคียงกับปี 2566 ซึ่งมีผู้ใช้กัญชา 11 ล้านคน โดยเป็นการใช้ทางการแพทย์ 1.1 ล้านคน และใช้แบบสันทนาการ 9.9 ล้านคน ในจำนวนนี้ 8 ล้านคน ใช้กัญชาผ่านการกินผสมในอาหาร และอีก 2 ล้านกว่าคน ใช้สูบ ส่วนอีก 1 ล้านกว่าคนใช้ทั้งกินทั้งสูบ
หากเปรียบเทียบก่อนการปลดล็อกกัญชาออกจากบัญชียาเสพติด ปี 2564 มีผู้ใช้กัญชาเพียง 1.8 ล้านคนเท่านั้น หมายความว่าหลังการปลดล็อกมีผู้ใช้กัญชาสูงขึ้นกว่า 6 เท่า
เสพกัญชาป่วย เข้ารับบำบัดมากขึ้น ครองแชมป์อันดับ 3
เมื่อดูจำนวนและร้อยละของผู้ป่วยยาเสพติดทั้งหมดของ สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) จำแนกตามปีงบประมาณ 2562-2566 พบว่า ในส่วนของกัญชา ก่อนปลดล็อกออกจากยาเสพติด ปี 2564 มีผู้ป่วยเข้ารับการบำบัด 306 คน ขณะที่หลังปลดล็อกมีผู้ป่วยเข้ารับการบำบัดเพิ่มขึ้น ปี 2565 จำนวน 531 คน ปี 2566 จำนวน 934 คน
ปี 2566 พบว่าสัดส่วนผู้ป่วยกัญชาที่เข้ารับการบำบัดอยู่ที่ 13.08% มากเป็นอันดับ 3 ของผู้ป่วยเข้ารับการบำบัดมากสุด โดยอันดับ 1 เฮโรอีน อันดับ 2 ยาบ้า อันดับ 3 กัญชา อันดับ 4 สุรา
ขณะที่ย้อนไป ปี 2564 ก่อนปลดล็อกออกจากยาเสพติด สัดส่วน 7.39% อยู่ที่อันดับ 6 จากจำนวนผู้ป่วยที่เข้ารับการบำบัด
กัญชามีฤทธิ์เสพติดน้อยว่าบุหรี่-สุรา?
จากประเด็นที่มีการถกเถียงกันเกี่ยวกับเรื่องผลกระทบจากการใช้กัญชา หนึ่งในประเด็นที่ถูกพูดถึงมากเป็นพิเศษคือฤทธิ์การเสพติด โดยด้านหนึ่ง ศ.นพ.ชวนันท์ ชาญศิลป์ นายกสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย บอกว่า กัญชาเป็นสารเสพติด ผู้ใหญ่มีโอกาสเสพติดประมาณ 9% เด็ก วัยรุ่น 17% และมีผลกระทบต่อการทำงานของสมอง
ขณะที่ รศ.พญ.รัศมน กัลยาศิริ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาปัญหายาเสพติด มองว่ายิ่งตัวเลขของผู้ใช้กัญชามีสูงมากเท่าไหร่ ในจำนวนนี้จะมี 8-10% ที่จะได้รับผลกระทบทางสุขภาพ เช่นเกิดอาการแพ้ หรือทำให้มีภาวะทางจิต
ด้าน เครือข่ายเขียนอนาคตกัญชาไทย อ้างข้อมูลงานวิจัยผลกระทบของนโยบายกัญชาเสรีต่อเด็กและเยาวชนบทเรียนจากนานาชาติ รศ.นพ.ปัตพงษ์ เกษสมบูรณ์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ระบุบุหรี่มีฤทธิ์เสพติด 67.5% ส่วน แอลกอฮอล์ 22.7% ขณะที่กัญชามีฤทธิ์เสพติดเพียง 8.9%
กัญชานำไปสู่การใช้สารเสพติดอื่น ?
เกรียงไกร พึ่งเชื้อ มูลนิธิศูนย์วิชาการสารเสพติด บอกว่า หลังปลดล็อกกัญชาพบว่า มีจำหน่ายกัญชากว่า 7,700 จุด ทำให้นำไปสู่ปัจจัยเสี่ยงที่จะไปใช้ยาเสพติดชนิดอื่นต่อ เพราะจากการสำรวจในภาคตะวันตก พบว่า ผู้ที่ใช้เฮโรอีน 40% เริ่มมาจากการใช้กัญชามาก่อน
ด้านเครือข่ายเขียนอนาคตกัญชาไทย อ้างสถิติรัฐโคโรราโด สหรัฐอเมริกา พบว่าเยาวชน 12-17 ปี ใช้กัญชาเพิ่มจาก 7.6% เป็น 9.8% แต่สูบบุหรี่ลดลงจาก 14.2% เป็น 4.1% และดื่มสุราลดลงจาก 18.2% เป็น 10.7%
กัญชาทำลายสมองเยาวชน?
สมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข อ้างข้อมูลของสหรัฐอเมริกาพบว่า ไอคิวของเด็กที่ใช้กัญชา ลดลงไป 8-9 หน่วย สอดคล้องกับ นายกสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย ระบุจากการทำ MRI เยาวชนที่ใช้กัญชาพบสมองเล็กลง รอยหยักเปลี่ยนไป เกี่ยวข้องกับความสามารถในการเรียนรู้และสติปัญญา ไอคิวลด มีผลต่อความจำ ความสามารถในการใช้เหตุผล สมาธิ ทักษะแก้ปัญหาชีวิต มีปัญหาความยับยั้งชั่งใจ ส่งผลต่อพฤติกรรมความรุนแรง
ด้านเครือข่ายเขียนอนาคตกัญชาไทย อ้างงานผลการวิจัยโดย คิงส์ คอลเลจ ติดตามเด็กคู่แฝด จำนวน 1,989 คู่ โดยให้คนหนึ่งใช้กัญชา อีกคนไม่ได้กัญชา พบว่าการใช้กัญชาไม่มีผลต่อสติปัญญา (IQ) และความสามารถในการปฏิบัติหน้าที่แต่สิ่งที่มีผลต่อ IQ และ EF คือ ปัจจัยด้านครอบครัว
กัญชาทำให้เป็นโรคจิต?
วารสารทางการแพทย์ เดอะแลนซิต ในหมวดจิตเวชศาสตร์ (The Lancet Psychiatry) เมื่อเดือน มี.ค. 2019 ศึกษาในเมืองต่าง ๆ ในยุโรป ประเมินว่า มีผู้ป่วยจิตเวชรายใหม่ประมาณ 1 ใน 10 คน ที่อาจเชื่อมโยงกับการใช้กัญชาที่มีความเข้มข้นสูง
BBC รายงานว่า นักวิจัยจากคิงส์ คอลเลจ ลอนดอน ได้ศึกษาการใช้กัญชาของผู้คนใน 11 เมืองของยุโรป รวมถึงกรุงลอนดอน และภูมิภาคหนึ่งของบราซิล พบว่า ผู้ที่ใช้กัญชาเป็นประจำทุกวัน มีแนวโน้มที่จะได้รับการวินิจฉัยเป็นโรคจิตเวชขั้นต้นสูงถึง 3 เท่า เมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่เคยใช้กัญชา
ด้านเครือข่ายเขียนอนาคตกัญชาไทย อ้างผลการศึกษาของมหาวิทยาลัยแคมบริดจ์ ระบุว่าแม้ว่าจะมีการใช้กัญชาในอังกฤษเพิ่มมากขึ้นถึง 20 เท่าใน ระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา แต่สถิติอุบัติการณ์และความชุกของการเป็นโรคจิตในอังกฤษก็ยังคงมีอัตราคงที่มาโดยตลอด
ขณะที่ ประสิทธิชัย หนูนวล บอกว่า ผู้มีอาการทางจิตเพราะใช้กัญชาร่วมกับสารเสพติดตัว อื่น เช่น ยาบ้า
กัญชาเพิ่มความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย ?
ศ.นพ.มานิต ศรีสุรภานนท์ ราชวิทยาลัยจิตแพทย์แห่งประเทศไทย บอกว่าการเสพกัญชาทำให้รู้สึกดีในช่วงแรก ไม่ต่างจากเฮโรอีน แต่พอหมดฤทธิ์ จะเกิดอาการดิ่งลงหนักกว่าเดิมเพิ่มความเสี่ยงการฆ่าตัวตาย และต้องเสพเพิ่มขึ้นอีก ขณะที่ ศ.นพ.ชวนันท์ ชาญศิลป์ นายกสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย เห็นตรงกัน ระบุพบพฤติกรรมฆ่าตัวตายในวัยรุ่นที่ใช้กัญชา สูง 3-4 เท่า
ด้านเครือข่ายเขียนอนาคตกัญชาไทย อ้างการศึกษาที่ประเทศสหรัฐอเมริกาพบว่า รัฐที่แก้กฎหมายให้ใช้กัญชาทางการแพทย์ได้จะมีอัตราการฆ่าตัวตายลดลง มากกว่ารัฐที่ยังไม่ได้แก้กฎหมาย เพราะยากัญชามีฤทธิ์ในการลดความเครียด ภาวะเครียด
กัญชาทำต้นทุนการรักษาโรคเพิ่มหรือลดลง?
สมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า รัฐบาลพยายามควบคุมค่าใช้จ่าย แต่ก็ต้องมารักษาโรคเกี่ยวกับกัญชา ที่สูงมากขึ้นโดยช่วงปี 2562-2564 มีต้นทุนการรักษา 3,200 – 3,800 ล้านบาท แต่ปี 2565-2566 เพิ่มเป็น 15,000 – 21,000 ล้านบาท จึงถือเป็นสิ่งที่น่ากังวล
ด้าน รศ.ดร.นพ.ปัตพงษ์ เกษสมบูรณ์ หน่วยเวชศาสตร์ครอบครัว คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เปิดเผยสถิติการเจ็บป่วยของคนไทยที่เป็นดัชนีบอกถึงผลการดำเนินงานต่าง ๆ ในภาพรวม จากสถิติปี พ.ศ. 2564-2566 ฐานข้อมูลออนไลน์ จากกระทรวงสาธารณสุข พบว่า คนไทยป่วยและมารับบริการน้อยลง 26.7 ล้านครั้ง ประหยัดค่าใช้จ่ายได้อย่างน้อย 1.9 หมื่นล้านบาท สมควรมีการศึกษาวิจัยเชิงลึกต่อไปว่า จำนวนที่ลดลงเป็นเพราะเหตุปัจจัยใดบ้าง
สำหรับในมุมมอง ท่าที และ จุดยืน ต่อกัญชาที่จะกลับมาเป็นยาเสพติดนั้น หลายฝ่ายยังมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันทั้งฝ่ายที่สนับสนุน และคัดค้าน จากการสำรวจเบื้องต้นสามารถจำแนกออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่
ฝ่ายหนุนกัญชากลับเป็นยาเสพติด
- กระทรวงสาธารณสุข
- ศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติด (ศศก.) จุฬาฯ
- ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์
- ราชวิทยาลัยจิตแพทย์
- เครือข่ายเยาวชนไม่นะกัญชาและยาเสพติด (YNAC)
- กลุ่มนักลงทุนธุรกิจกัญชา
ฝ่ายค้านกัญชากลับเป็นยาเสพติด
- เครือข่ายเขียนอนาคตกัญชาไทย
- วิสาหกิจชุมชนพืชสมุนไพร
- มูลนิธิข้าวขวัญ (อ.เดชา)
- กลุ่มผู้ป่วยที่ใช้กัญชาตามครัวเรือน
- วิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต (ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ คณบดี)