รัฐบาลกำลังเร่งผลักดันนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายเพื่อให้สามารถเปิดใช้ได้จริงทันวันที่ 30 ก.ย. 68 โดยกระทรวงคมนาคมเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบการดำเนินอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสูงสุด 20 บาท ตลอดสาย ภายในเดือนพ.ค.นี้
แผนงานกระทรวงคมนาคม หลังจากครม.เห็นชอบ ในช่วง พ.ค.-ก.ย.68 หน่วยงานกำกับสัญญาร่วมทุนของโครงการรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล จะเร่งรัดดำเนินการเจรจากับคู่สัญญาสัมปทานรถไฟฟ้า เพื่อปรับปรุงแก้ไขสัญญาสัมปทาน หรือจัดทำบันทึกข้อตกลง ให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน
ขณะเดียวกัน สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) จะพัฒนาระบบบริหารจัดการรายได้กลาง (Central Clearing House : CCH) เชื่อมโยงระบบแอปพลิเคชัน “ทางรัฐ” เพื่อเปิดให้ประชาชนลงทะเบียนรับสิทธิ์ค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายระยะที่ 2 ในเดือน ส.ค.68
สำหรับการเสนอดำเนินมาตรการอัตราค่าโดยสารฯ ครั้งนี้ ได้กำหนดกรอบระยะเวลา 1 ปี (1 ต.ค.68-30 ก.ย.69) หรือตามที่ ครม.กำหนด สาเหตุที่ต้องกำหนดกรอบตั้งแต่ 1 ต.ค.68 เนื่องจากหน่วยงานจะเสนอเป็นปีงบประมาณ แต่ขึ้นอยู่กับ ครม.พิจารณาว่าจะดำเนินการอย่างไร โดยกระทรวงคมนาคมจะเร่งดำเนินการในระยะที่ 2 ตั้งแต่ 30 ก.ย. 68 โดยยังมีเวลาเหลืออีกเกือบ 5 เดือน ต้องเดินหน้ามาตรการฯ ได้ตามเป้าหมาย
ส่วนการดำเนินนโยบายอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ระยะ2 จะขยายการดำเนินการครอบคลุมรถไฟฟ้าทุกสาย ใช้เงินสนับสนุนประมาณ 8 พันล้านบาทต่อปี ใช้เงินรายได้สะสมของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ซึ่ง รฟม. ได้เสนอใช้เงินสนับสนุนเผื่อไว้เป็นประมาณ 9.5 พันล้านบาท แต่เป็นการขอเผื่อไว้ก่อน แต่ใช้จริงไม่ถึงจำนวนนี้
สำหรับรถไฟฟ้าที่ขยายเพิ่ม จากเดิมที่ดำเนินการไปแล้ว 2 สาย คือ รถไฟฟ้าสายสีม่วง และ รถไฟชานเมืองสายสีแดง โดยจะขยายเพิ่มอีก 5 สาย ประกอบด้วย
- รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินช่วงบางซื่อ – ท่าพระ และหัวลำโพง – หลักสอง
- รถไฟฟ้าสายสีชมพูช่วงแคราย – มีนบุรี
- รถไฟฟ้าสายสีเหลืองช่วงลาดพร้าว – สำโรง
- รถไฟเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ หรือแอร์พอร์ตเรลลิ้งค์ช่วงพญาไท – สนามบินสุวรรณภูมิ
- รถไฟฟ้าสายสีเขียว
ประเมินชดเชยรายได้ 9.5 พันล้าน
นอกจากนี้ กระทรวงคมนาคม การประเมินตัวเลขชดเชยรายได้เอกชนคาดว่าจะใช้วงเงินชดเชยหรืออุดหนุน 9,500 ล้านบาท โดยจะนำเงินรายได้สะสมของรฟม.มาใช้ แต่ต้องมีการแก้ไข พ.ร.บ.การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2543 เพิ่มเติม เรื่องการสนับสนุนเพื่อบูรณาการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม เป็นการเปิดทางให้นำเงินรายได้สะสมของรฟม.มาใช้ได้ในนโยบาย 20 บาทตลอดสายได้ เนื่องจาก ในพ.ร.บ.การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนฯ พ.ศ.2543 ไม่มีการระบุเรื่องการนำเงินสะสมของรฟม.มาใช้ทำอะไรได้บ้าง
ดังนั้นการจะนำมาใช้ทันที จึงเสี่ยงผิดระเบียบและกฎหมาย รวมถึงวินัยการเงินการคลัง
ทั้งนี้ การดำเนินการตามนโยบาย 20 บาท ตลอดสาย ปัจจัยสำคัญ คือ ทุกกระบวนการทุกขั้นตอนต้องเสร็จเรียบร้อยครบถ้วน ถูกต้องตามระเบียบและกฎหมาย เพื่อความรอบคอบ กว่าปัจจัยเรื่องเวลาจึงจะสามารถเดินหน้า เพราะมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องหลายฉบับ โดยเฉพาะกฎหมายการเงิน ที่ กระทรวงการคลังกำกับอยู่ด้วย
ส่วนความคืบหน้าการแก้ไขร่าง พ.ร.บ. รฟม. เพื่อให้สามารถนำรายได้ไปสนับสนุนมาตรการรถไฟฟ้า 20 บาทได้นั้น ขณะนี้ รฟม. ปิดรับฟังความคิดเห็นแล้ว คาดว่าจะเสนอกระทรวงคมนาคม และ ครม. พิจารณาได้ภายในเดือน พ.ค.68
ก่อนหน้านี้นางมนพร เจริญศรี รมช.คมนาคม เคยให้สัมภาษณ์ว่า หาก ครม. เห็นชอบ จะเสนอร่าง พ.ร.บ. รฟม. เข้าสู่การประชุมสภาผู้แทนราษฎรสมัยวิสามัญในวันที่ 28-30 พ.ค.นี้เลย เนื่องจากเป็นเรื่องเร่งด่วนพิเศษที่ต้องดำเนินการให้ทันวันที่ 30 ก.ย.68
คาด กทม.ขอชดเชย 8,000 บาท
ส่วนการชดเชยรายได้รถไฟฟ้าสายสีเขียว ซึ่งคาดว่า กทม.น่าจะเสนอชดเชยรายได้เต็มจำนวน 8,000 ล้านบาท เนื่องจาก กทม.มีต้นทุนค่าจ้างเดินรถส่วนต่อขยาย 1 ช่วงอ่อนนุช–แบริ่ง และช่วงสะพานตากสิน-บางหว้า และ ส่วนต่อขยาย 2 ช่วงแบริ่ง-เคหะสมุทรปราการ และช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ปีละ 8,000 ล้านบาท/ปี
ปัจจุบันกทม.แบกภาระขาดทุนอยู่ 6,000 ล้านบาท เนื่องจากเก็บค่าโดยสารได้เพียง 2,000 ล้านบาท/ปี ดังนั้น กทม. อาจจะเสนอค่าชดเชยรายได้เต็มจำนวน ไม่ขอแค่ส่วนที่ขาดจากรายได้ค่าโดยสาร
กรมรางฯคาดชดเชยรายได้ไม่ถึง 9.5 พันล้าน
อย่างไรก็ตาม พิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) บอกว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ในการผลักดันให้เกิดนโยบาย 20 บาทเพื่อทำให้เกิดขึ้นได้จริง โดยเงินการชดเชยอาจจะไม่สูง 9.5 พันล้านบาทอย่างที่หลายฝ่ายคาดการณ์
ขณะที่ กทม.เองก็ไม่ได้เสนอขอชดเชยมากถึง 8 พันล้านบาท ทำให้เชื่อว่าการดำเนินการตามนโยบาย 20 บาท สามารถดำเนินการได้จริงโดยที่รัฐชดเชยรายได้เอกชนไม่มาก
นอกจากนี้หากพิจารณาจากการดำเนินการตามนโยบาย 20 บาท ของรถไฟฟ้าสายสีแดง และรถไฟฟ้าสายสีม่วง พบว่ารถไฟฟ้าสาย 2 สายมีผู้โดยสารเพิ่มขึ้น 13.21% หรือ 103,914 คน-เที่ยว /วัน เช่นเดียวกับมีรายได้เพิ่มขึ้น 10.53 % จึงถือเป็นสัญญาณที่ดีว่า หากมีการดำเนินการ 20 บาทตลอดสายจะมีผู้โดยสารเพิ่มมากขึ้น และหมายถึงการชดเชยรายได้ให้กับเอกชนน้อยลงด้วยเช่นกัน
“เมื่อรัฐบาลมีนโยบาย 20 บาทเข้ามา รัฐก็ต้องหาแหล่งเงินมาอุดหนุนส่วนที่เอกชนขาดรายได้ไป ซึ่งกระทรวงจะไม่ใช้งบประมาณในการเข้าไปจ่ายอุดหนุน เพราะมีกระแสวิจารณ์ถึงการเอาภาษีของคนทั้งประเทศไปอุดหนุนคนกรุงเทพฯ กระทรวงคมนาคมจึงเอาเงินส่วนแบ่งรายได้ของรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน เพื่อดำเนินการก็คาดว่าจะเพียงพอในการอุดหนุนรถไฟฟ้าทุกสายทางเพื่อให้เกิดขึ้นได้ ”
ผู้บริโภคหนุนเดินหน้า 20 บาทตลอดสาย
ขณะที่สภาองค์กรของผู้บริโภค พร้อมสนับสนุนและร่วมผลักดันนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายโดยเชื่อว่าการสนับสนุนราคาค่าโดยสารที่เป็นธรรมจะช่วยให้ผู้บริโภคเข้าถึงและใช้บริการรถขนส่งสาธารณะมากขึ้น ซึ่งหากนโยบายนี้ได้รับการตอบรับ มีผู้ใช้บริการเพิ่มมากขึ้น จะส่งผลให้การอุดหนุนของรัฐมีจำนวนลดน้อยลง
ทั้งนี้ รัฐบาลต้องสนับสนุนให้รถไฟฟ้าเป็นขนส่งสาธารณะทุกคนขึ้นได้ เช่นเดียวกับที่รัฐบาลได้ลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานอื่น ๆ เช่น การสร้างถนนทั่วประเทศ เพื่อให้ทุกคนเดินทางได้ เช่นเดียวกับการอุดหนุนค่าโดยสารรถไฟฟ้าก็เพื่อลดภาระค่าโดยสารและทำให้ประชาชนเข้าถึงการเดินทางมากขึ้น โดยผู้บริโภคควรจะเป็นค่าใช้จ่ายไม่เกินร้อยละ 10 ของรายได้ขั้นต่ำ และค่าโดยสารที่ลดลงทำให้มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น ลดการใช้น้ำมัน ลดมลพิษเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ส่วนกรณีโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว สนับสนุนข้อเสนอของนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่กำลังศึกษาการโอนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวให้กระทรวงคมนาคมรับผิดชอบ เนื่องจากเห็นว่ารถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ ควรมีผู้บริหารจัดการหน่วยงานเดียว (Single Owner) เพราะจะทำให้การบริหารจัดการ การกำหนดอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าที่เป็นไปในทิศทางเดียวกันนั้น แต่อย่างไรก็ดีขณะนี้สภาผู้บริโภคอยู่ระหว่างทำการศึกษาความเป็นไปได้ในการคืนรถไฟฟ้าสายสีเขียวให้รัฐบาลในการบริหาร ซึ่งคาดว่าผลการศึกษาจะออกมาช่วงเดือนสิงหาคมนี้
เริ่มลงทะเบียน แอป “ทางรัฐ” ส.ค.นี้
สำหรับการดำเนินการ รถไฟฟ้านโยบายอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสูงสุด 20 บาท รัฐบาลได้เตรียมการ ลงทะเบียนผ่านแอป “ทางรัฐ” เพื่อใช้เป็นเครื่องมือกลางในการเคลียร์รายได้ของรถไฟฟ้าแต่ละสาย ระหว่างผู้ประกอบการแต่ละรายโดยจะเริ่มลงทะเบียนได้ภายใน ส.ค. 68
ทั้งนี้ผู้ได้รับสิทธิ์ค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย จะดำเนินการเฉพาะผู้โดยสารที่ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการผ่าน แอปทางรัฐ โดยการใช้งานบัตรโดยสารปัจจุบัน มีดังนี้
- บัตรแรบบิท ใช้กับรถไฟฟ้า 4 สาย มี บีทีเอส เป็นผู้ให้บริการ คือ สายสีเขียว สายสีทอง สายสีเหลือง และสายสีชมพู
- บัตร MRT Plus ใช้กับรถไฟฟ้า 2 สาย ของ รฟม. โดย BEM ให้บริการคือ สายสีน้ำเงิน และสายสีม่วง
- บัตร Europay Mastercard and Visa (EMV) Contactless Card ใช้กับรถไฟฟ้า 6 สาย ได้แก่ สายสีแดง, สีน้ำเงิน, สีม่วง, สีชมพู และสายสีเหลือง ส่วนสายสีเขียวของบีทีเอส ไม่รับบัตร EMV
- บัตรประเภทเติมเงิน ของรถไฟฟ้าสายสีแดง และรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ (ARL)
เงื่อนไขสำคัญ ก่อนเปิดบริการ 30 ก.ย.68
แม้รัฐบาลจะมั่นใจเดินหน้า นโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย เพื่อให้เสร็จทันวันที่ 30 ก.ย. 68 ตามเป้าหมาย แต่จะสามารถดำเนินการได้หรือไม่ ขึ้นกับ 2 เงื่อนไข
- คณะรัฐมนตรีจะเห็นชอบข้อเสนอของกระทรวงคมนาคมในการเดินหน้านโยบายระยะที่ 2 รวมไปถึงการ เจรจาเอกชนในการแก้ไขสัญญาสัมปทานเพื่อให้รถไฟฟ้าทุกสายเข้าร่วมนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาท
- การบังคับใช้ พ.ร.บ.ตั๋วร่วม จะเสร็จก่อน 30 ก.ย. หรือไม่ เพื่อให้การจัดตั้งกองทุนตั๋วร่วมสามารถดำเนินการชดเชยรายได้ให้กับเอกชนได้ จึงถือเป็นความท้าทายสำคัญในการผลักดดันนโยบายนี้
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง :