ไม่เลื่อนเงินหมื่นเฟส 3
รัฐบาลประกาศเริ่มโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจเฟสที่ 2 ด้วยการแจกเงินสด 10,000 บาท ให้กับผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปทั่วประเทศ จำนวนกว่า 3 ล้านคน ผ่านระบบพร้อมเพย์รอบแรก ในวันที่ 27 ม.ค. 2568 และจะแจกซ้ำอีก 3 รอบ สำหรับผู้ที่ยังไม่ได้รับเงินในวันที่ 28 ก.พ. 28 มี.ค. และ 28 เม.ย. 2568 ซึ่งถือเป็นหนึ่งในนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล
ส่วนความคืบหน้าโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจเฟสที่ 3 ให้กับกลุ่มผู้มีอายุ 16 – 60 ปีทั่วประเทศ ที่ไม่ติดเงื่อนไขมีทรัพย์สินและรายได้เกินกำหนด จำนวนประมาณ 16 ล้านคน จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ระบุว่า โครงการเฟสที่ 3 ยังคงเดินหน้าตามกำหนดเดิมในช่วงไตรมาส 2 ปี 68 หรือช่วงเดือน เม.ย. – มิ.ย. ซึ่งได้เตรียมวงเงินไว้ประมาณ 160,000 ล้านบาท ส่วนคุณสมบัติของผู้ลงทะเบียนยังคงไม่มีการเปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด ตอนนี้เหลือเพียงทำระบบต่าง ๆ ให้เรียบร้อย และมีกลไกการตรวจสอบ
การจ่ายเงินเฟสที่ 3 จะอยู่ในรูปแบบดิจิทัลวอลเล็ต มีบล็อกเชนเป็นฐานข้อมูล ส่วนการเชื่อมระบบชำระเงินจะใช้ระบบ Open Loop ซึ่งสถาบันการเงินทุกแห่งมีควมมพร้อมในการเชื่อมต่อระบบร่วมกัน ซึ่งเหลือเพียงขั้นตอนในรายละเอียดปลีกย่อย และการทดสอบระบบจ่ายเงิน
กลุ่มที่ไม่มีสมาร์ทโฟน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ยืนยัน กำลังจะมีการเปิดให้มีการลงทะเบียน เพราะระบบลงทะเบียนมีความพร้อมแล้ว แต่อยู่ในขั้นตอนนำเสนอคณะกรรมการนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต เพื่อให้มีการสั่งดำเนินการ
เงื่อนไขผู้ได้รับสิทธิดิจิทัลวอลเล็ตเฟส 3 ที่ได้ลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชันทางรัฐแล้วเมื่อ 15 ก.ย.2567
- ประชาชนที่มีชื่อและที่อยู่ในทะเบียนบ้าน
- อายุตั้งแต่ 16 ปี บริบูรณ์ขึ้นไป ณ วันที่ปิดรับลงทะเบียน (15 ก.ย. 2567)
- ไม่เป็นผู้ที่มีรายได้ 840,000 บาทต่อปี ในปีภาษี 2566
- ไม่เป็นผู้ที่ถูกระงับสิทธิ หรือถูกเรียกเงินคืน ในมาตรการ/โครงการอื่น ๆ ของรัฐ
- ไม่เป็นผู้ฝ่าฝืนเงื่อนไขของมาตรการ/โครงการอื่น ๆ ของรัฐ
- ไม่เป็นผู้ที่มีเงินฝากธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ รวมกันเกิน 500,000 บาท (ณ วันที่ 31 มี.ค. 67) โดยจะตรวจสอบเงินฝาก 6 ประเภท ได้แก่ 1.เงินฝากกระแสรายวัน 2.เงินฝากออมทรัพย์ 3.เงินฝากประจำ 4.บัตรเงินฝาก 5.ใบรับเงินฝาก และ 6.ผลิตภัณฑ์เงินฝากในชื่อเรียกอื่นใดที่มีลักษณะเดียวกับข้อ 1. – 5 ทั้งนี้เงินฝากหมายความถึงเฉพาะเงินฝากที่อยู่ในรูปสกุลเงินบาทเท่านั้น และไม่รวมถึงเงินฝากในบัญชีร่วม
- ไม่เป็นผู้ที่อยู่ระหว่างต้องโทษจำคุกในเรือนจำ
วิธีตรวจสอบสิทธิผ่านแอปทางรัฐ
- เปิดแอปทางรัฐ เข้าสู่ระบบให้เรียบร้อย
- จากนั้นกดปุ่ม ตรวจสอบสถานะ
- ระบบจะขึ้นข้อความว่าได้รับสิทธิตามโครงการเติมเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ตหรือไม่
- หากได้รับสิทธิ ระบบจะแสดงสถานะว่า “ได้รับสิทธิ”
- หากไม่ได้รับสิทธิ ระบบจะแสดงสถานะว่า “ไม่ได้รับสิทธิและเกณฑ์ที่ไม่ผ่านคุณสมบัติ”
ย้อนที่มาดิจิทัลวอลเล็ต
โครงการเติมเงินผ่านกระเป๋าเงินดิจิทัล 10,000 บาท หรือดิจิทัลวอลเล็ต (Digital Wallet) เป็นนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลเพื่อไทย ที่เคยหาเสียงสมัยช่วงเลือกตั้ง และเริ่มผลักดันอย่างรวดเร็วในสมัยนายกรัญมนตรี เศรษฐา ทวีสิน
เดิมดิจิทัลวอลเล็ต ตั้งงบประมาณที่จะใช้ไว้ที่ 500,000 ล้านบาท ซึ่งรัฐบาลตั้งใจจะเริ่มโครงการนี้ในทันทีหลังจัดตั้งรัฐบาลเสร้จ แต่ก็ถูกนักวิชาการและหน่วยงานต่าง ๆ ออกมาท้วงติงถึงความเหมาะสมของเงินจำนวนมหาศาลที่จะใช้กับโครงการดังกล่าว เพราะแหล่งที่มาของเงิน คือ เงินกู้ระยะยาวของรัฐบาล ที่จะต้องใช้เงินภาษีประชาชนในอนาคตนำมาใช้คืนภายหลัง ซึ่งจะสร้างภาระทางการคลังรัฐบาลระยะยาว และอาจไม่มีเงินเหลือพอใช้ในยามประเทศเกิดภาวะวิกฤตเหมือนตอนเกิดการแพร่ระบาดโควิด-19 ไปทั่วโลก สร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างหนัก
แต่โครงการนี้ก็ต้องยืดเยื้อออกไปเรื่อย ๆ เพราะรัฐบาลก็ยังไม่รู้ว่าจะหาแหล่งเงินทุนจำนวนมหาศาลจากไหนมาใช้โดยที่ไม่ผิดกฎหมายอย่าง พระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ที่กำหนดให้รัฐบาลต้องรักษาวินัยการเงินการคลังอย่างเคร่งครัด เพื่อให้ฐานะทางการเงินการคลังของรัฐมีเสถียรภาพและมั่นคงอย่างยั่งยืนตามกฎหมาย
เพราะรัฐบาลชุดที่ผ่านมาได้กู้เงินจำนวนมากมาใช้พยุงเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 จนต้องมีการขยายเพดานหนี้สาธารณะจากไม่เกิน 60% ของจีดีพี เป็นไม่เกิน 70% ของจีดีพี แม้รัฐบาลปัจจุบันจะสามารถขยายเพดานเพิ่มอีกได้ แต่คงไม่เป็นผลดีต่อรัฐบาลเอง เพราะหากยิ่งก่อหนี้เกินตัวมากเกินไป ก็จะทำให้ความน่าเชื่อถือ (เครดิต) ของรัฐบาลในมุมมองนักลงทุนลดลง ซึ่งจะทำให้ต้นทุนการกู้ยืมเงินรัฐบาลเพิ่มมากขึ้น
หรืออีกความหมายก็คือ หากเครดิตรัฐบาลไม่ดี คนก็ไม่อยากปล่อยกู้ให้รัฐบาล ทำให้จำเป็นต้องเพิ่มอัตราผลตอบแทนพันบัตรรัฐบาลให้มากขึ้นเพื่อจูงใจนักลงทุนนั่นเอง แน่นอนว่าจะกระทบเป็นลูกโซ่ถึงตลาดทุนของเอกชนอย่างตราสารหนี้ด้วย เพราะต้องปรับขึ้นอัตราผลตอบแทนให้เหนือกว่าพันธบัตรรัฐบาล เพื่อจูงใจนักลงทุนมาปล่อยกู้กับภาคเอกชนเช่นกัน
ต่อมารัฐบาลไม่มีทางเลือก ยอมลดวงเงินลงมาเหลือ 450,000 ล้านบาท โดยจะกู้เงินบางส่วนจาก ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ที่อยู่ภายใต้การดูแลของรัฐบาล แต่ก็เกิดแรงกระเพื่อมต่อต้านจากคนภายในธนาคาร และเกษตรกร ที่กังวลว่าจะทำให้ธนาคารขาดสภาพคล่อง จนในที่สุดรัฐบาลก็ยอมที่จะไม่ใช้เงินกู้จาก ธ.ก.ส. แต่เปลี่ยนมาเป็นบริหารจัดการเงินจากในงบประมาณฯแทน
เดือน ส.ค. 67 แพทองธาร ชินวัตร ได้เข้ามารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ต่อจาก เศรษฐา ทวีสิน ที่โดนศาลรัฐธรรมนูญถอดถอนจากตำแหน่ง พร้อมประกาศเดินหน้าโครงการดิจิทัลวอลเล็ตต่อทันที แต่เปลี่ยนรูปมาเป็นแจกเงินสดในชื่อ “โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ”
ระยะที่ 1 (เฟส 1) แจกเงินสดกลุ่มเปราะบาง และกลุ่มผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 12.4 ล้านคน และกลุ่มผู้ถือบัตรประจำตัวคนพิการ 2,149,286 คน รวมเป็น 14,555,240 คน ผ่านระบบพร้อมเพย์ วงเงิน 145,552.40 ล้านบาท เริ่มจ่ายวันที่ 25-30 ก.ย. 2567 และจ่ายซ้ำอีก 3 ครั้ง วันที่ 22 ต.ค. 22 พ.ย. และ 22 ธ.ค. 2567 ซึ่งผลปรากฏว่าจ่ายได้สำเร็จ 14,450,168 คน
ระยะที่ 2 (เฟส 2) แจกเงินสดกลุ่มผู้สูงอายุตั้งแต่ 60 ขึ้นไปทั่วประเทศ จำนวนกว่า 3,000,000 คน ผ่านระบบพร้อมเพย์ วงเงินประมาณ 40,000 ล้านบาท เริ่มจ่ายวันที่ 27 ม.ค. 2568 และจะจ่ายซ้ำอีกวันที่ 25 ก.พ. 28 มี.ค. และ 28 เม.ย. 2568
โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจที่รัฐบาลใช้งบประมาณทั้งหมดกว่า 340,000 ล้านบาท โดยตั้งความหวังไว้ว่าจะช่วยกระตุ้นให้เศรษฐกิจไทยในปี 2567 สามารถเติบโต 2.8% และปี 2568 เติบโต 3% จึงต้องติดตามต่อไปว่าหลังจากสิ้นสุดโครงการฯแล้วจะช่วยกระะตุ้นเศรษฐกิจได้ตามตัวเลขที่รัฐบาลตั้งเป้าหมายไว้ และคุ้มค่ากับงบประมาณที่เสียไปหรือไม่
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง