รัฐบาลเร่งเดินหน้ารถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ใน 13 เส้นทาง โดยใช้ได้ถึง 30 ก.ย. 68 ใช้งบประมาณปี 2569 สนับสนุน ในขณะที่ร่างพระราชบัญญัติตั่วร่วมกับร่างแก้ไขพระราชบัญญัติรฟม. อยู่ระหว่างการพิจารณาของรัฐสภา ซึ่งหากจะทำเต็มรูปแบบต้องมีกฎหมายบังคับใช้เพื่อดึงเงินจากรฟม.และเปิดทางมีการใช้บริการได้มากขึ้นจากตั๋วร่วม
เป็นที่น่าสังเกตุว่าหากร่างกฎหมายที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของรัฐสภาในขณะนี้ไม่ผ่านการพิจารณา หรือ มีอุปสรรคสำคัญทำให้ล่าช้าออกไป การบริการรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายก็จะดำเนินการได้ถึงปลายปีหน้า ซึ่งจะครบวาระรัฐบาล ส่วนจะดำเนินการต่อหรือไม่ ขึ้นกับว่าพรรคร่วมรัฐบาลในปัจจุบันจะกลับมาอีกหรือไม่
การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อ 8 ก.ค.68 มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงคมนาคม เสนอ โดยทบทวนมติ ครม. เมื่อวันที่ 29 พ.ย. 67 การดำเนินมาตรการอัตราค่าโดยสารสูงสุด 20 บาทตลอดสาย ตามนโยบายรัฐบาล สำหรับรถไฟฟ้าสายสีม่วงและรถไฟฟ้าสายสีแดง จากกรอบเวลาสิ้นสุดมาตรการวันที่ 30 พ.ย. 68 ให้ทบทวนจากเดิมเป็นสิ้นสุดมาตรการถึงวันที่ 30 ก.ย. 68
ครม. ได้เห็นชอบแนวทางการดำเนินมาตรการอัตราค่าโดยสารสูงสุด 20 บาท ตลอดสายตามนโยบายรัฐบาล (ระยะที่ 2) (มาตรการฯ ระยะที่ 2) ตามที่กระทรวงคมนาคม เสนอ เพื่อขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาล เรื่อง การกำหนดโครงสร้างอัตราค่าโดยสารร่วมในเขตกรุงเทพมหานคร (กทม.) และปริมณฑล เพื่อรองรับนโยบาย “ค่ายโดยสารราคาเดียว” ตลอดสาย และมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการต่อไป
มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ ดังนี้
1. สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) (สพร.) ดำเนินการปรับปรุงแอปพลิเคชัน “ทางรัฐ” เพื่อให้รองรับการยืนยันตัวตน ลงทะเบียนบัตรโดยสาร และการเข้าถึงข้อมูลการใช้สิทธิของประชาชน และพัฒนาระบบบริหารจัดการรายได้กลาง (Central Clearing House : CCH)
2. กทม. พิจารณาดำเนินการมาตรการฯ ระยะที่ 2 ในส่วนโครงการรถไฟฟ้าภายใต้การกำกับของ กทม. ให้สอดคล้องตามแนวทางการดำเนินมาตรการฯ ระยะที่ 2 ที่ กระทรวงคมนาคม เสนอ และเป็นไปตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 (พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง)
3. รฟม. และ กทม. ในฐานะหน่วยงานกำกับสัญญาร่วมทุนโครงการรถไฟฟ้าในเขต กทม. และปริมณฑล เร่งรัดดำเนินการเจรจากับคู่สัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าเพื่อปรับปรุงแก้ไขสัญญาสัมปทานหรือจัดทำบันทึกข้อตกลง ให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน เพื่อรองรับการดำเนินมาตรการฯ ระยะที่ 2 ให้เป็นไปตามแผนงานที่กำหนด
นอกจากนี้ ครม.รับทราบการดำเนินมาตรการฯ ระยะที่ 2 สำหรับรถไฟฟ้ามหานครสายเฉลิมรัชมงคล (สายสีน้ำเงิน) สายฉลองรัชธรรม (สายสีม่วง) สายนัคราพิพัฒน์ (สายสีเหลือง) และสายสีชมพู ของการรถไฟฟ้าขนส่งแห่งประเทศไทย (รฟม.) เป็นระยะเวลา 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 69 ถึง 30 ก.ย. 69
พร้อมอนุมัติหลักการการดำเนินมาตรการฯ ระยะที่ 2 สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดงและโครงการรถไฟฟ้าเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (แอร์พอร์ตลิงก์) ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เป็นเวลา 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 68 ถึง 30 ก.ย. 69
สำหรับค่าใช้จ่ายและแหล่งเงินในการดำเนินการมาตรการ ให้ดำเนินการตามความเห็นของสำนักงบประมาณ (สงป.) รวมถึงให้กระทรวงคมนาคม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รับความเห็นหน่วยงานไปพิจารณา และดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมาย ระเบียบ มติ ครม. ที่เกี่ยวข้องต่อไป
เปิด 13 เส้นทางรถไฟฟ้า 20 บาท
รัฐบาลได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภา เมื่อวันที่ 12 ก.ย. 67 ว่า รัฐบาลจะกำหนดโครงสร้างอัตราค่าโดยสารร่วมในเขต กทม. เพื่อรองรับนโยบาย “ค่าโดยสารราคาเดียว” ตลอดสาย เพื่อลดภาระค่าเดินทางของประชาชน ซึ่งในปัจจุบันกระทรวงคมนาคม ได้ดำเนินการมาตรการค่าโดยสารสูงสุด 20 บาท ตลอดสาย สำหรับรถไฟฟ้าสายสีแดงของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และรถไฟฟ้าสายสีม่วงของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) แล้ว ซึ่งมีกำหนดสิ้นสุดมาตรการในวันที่ 30 พ.ย. 68
ดังนั้น กระทรวงคมนาคม จึงได้เสนอมาตรการอัตราค่าโดยสารสูงสุด 20 บาท ตลอดสาย ตามนโยบายรัฐบาล (ระยะที่ 2) (มาตรการฯ ระยะที่ 2) เพื่อดำเนินมาตรการอย่างต่อเนื่องภายใต้นโยบายของรัฐบาล รวมถึงขยายผลการดำเนินมาตรการค่าโดยสารรถไฟฟ้าสูงสุด 20 บาท ตลอดสายตามนโยบายรัฐบาล ให้ครอบคลุมโครงข่ายรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพมหานคร (กทม.) และปริมณฑล จำนวน 13 เส้นทาง (จากเดิม 3 เส้นทาง ได้แก่ สายสีแดงอ่อน สายสีแดงเข้ม และสายสีม่วง) ทั้งในส่วนรถไฟฟ้าที่อยู่ในความรับผิดชอบของ รฟท. รฟม. และ กทม.
โครงข่ายรถไฟฟ้าที่จะดำเนินการตามมาตรการฯ ระยะที่ 2 จำนวน 13 เส้นทาง ได้แก่
- สายสีแดง : เส้นทาง กรุงเทพอภิวัฒน์ – รังสิต
- สีแดงอ่อน : เส้นทาง กรุงเทพอภิวัฒน์ – ตลิ่งชัน
- แอร์พอร์ตลิงก์ : เส้นทาง พญาไท – สุวรรณภูมิ
- สีน้ำเงิน : เส้นทาง บางซื่อ – หัวลำโพง, หัวลำโพง – บางแค (หลักสอง), บางซื่อ – ท่าพระ
- สีม่วง : เส้นทาง บางใหญ่ – เตาปูน
- สีเหลือง : เส้นทาง ลาดพร้าว – สำโรง
- สีชมพู : เส้นทาง แคราย – มีนบุรี
- สีเขียว (สุขุมวิท) : เส้นทาง หมอชิต – สมุทรปราการ, หมอชิต – สะพานใหม่ – คูคต
- สีเขียว (สีลม) : เส้นทาง สนามกีฬาแห่งชาติ – บางหว้า
- สีทอง : เส้นทาง กรุงธนบุรี – คลองสาน
เงื่อนไขการใช้บริการ
มาตรการฯ ระยะที่ 2 มีการกำหนดเงื่อนไขในการใช้บริการ ดังนี้
- กำหนดสิทธิเฉพาะผู้โดยสารที่มีเลขประจำตัวประชาชนของคนไทย 13 หลัก (นักท่องเที่ยวต่างชาติจะไม่ได้รับสิทธิ)
- เดินทางด้วยบัตรโดยสาร 2 ประเภท คือ (1) บัตร Europay Mastercard and Visa (EMV) Contactless Card และ (2) บัตรเติมเงินประเภทบัตรผ่านระบบบัญชีบัตร (Account Based Ticketing system: ABT) เช่น บัตร Rabbit แบบ ABT
- ต้องลงทะเบียนบัตรโดยสารผ่านแอปพลิเคชัน “ทางรัฐ”
- กรณีเดินทางข้ามโครงข่ายผู้โดยสารต้องเดินทางเข้า – ออก บริเวณจุดเชื่อมต่อรถไฟฟ้า (Interchange) ที่กำหนดไว้เท่านั้น
ทั้งนี้ หากผู้โดยสารดำเนินการไม่ครบถ้วนตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้จะต้องชำระค่าโดยสารในราคาปกติ
จิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุว่า การใช้บริการรูปแบบบัตร Rabbit Card (บัตรเติมเงิน) จะใช้ได้กับสายสีเขียว, สีทอง, เหลือง, ชมพู ขณะที่บัตร EMV Contactless (หรือบัตรเครดิต Visa/Mastercard) สามารถใช้กับ 6 สาย คือ สายสีแดง, น้ำเงิน, ม่วง, ชมพู, เหลือง, ARL (ไม่รวมสีทองและสีเขียว) โดยในอนาคตจะมีการเปิดระบบสแกนคิวอาร์โค้ด (QR Code) ในมือถือแทนการใช้บัตร เพื่อเพิ่มความสะดวกให้กับประชาชน
ภายในช่วงเดือน สิ.ค. 68 จะเปิดให้ประชาชนลงทะเบียนรับสิทธิ์ค่าโดยสาร 20 บาท ผ่านแอปพลิเคชัน “ทางรัฐ” และภายใน 1 ต.ค. 68 จะเริ่มดำเนินมาตรการอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้า สูงสุด 20 บาทตลอดสายตามนโยบายรัฐบาล และภายหลังจากนั้นจะมีกระบวนการปรับปรุงแก้ไขเพื่อให้โครงสร้างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง
รัฐชดเชยรายได้ให้รถไฟฟ้า
ในการดำเนินมาตรการฯ ระยะที่ 2 กระทรวงคมนาคม มีแนวทางในการดำเนินการโดยพัฒนาระบบของรถไฟฟ้าเพื่อรองรับการดำเนินมาตรการฯ ระยะที่ 2 เช่น การติดตั้งระบบบัตรโดยสาร EMV Contactless Card สำหรับรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ รวมถึงการพัฒนาระบบศูนย์บริหารจัดการรายได้กลาง (Central Clearing House : CCH) ที่ทำหน้าที่ตรวจสอบข้อมูลและแจ้งยืนยันการเดินทางข้ามโครงข่ายของบัตรโดยสาร EMV Contactless Card และบัตรโดยสารRabbit ABT และการชดเชยรายได้ค่าโดยสารในโครงข่ายรถไฟฟ้าของ รฟท. รฟม. และ กทม.
ผลประโยชน์และผลกระทบ
กระทรวงคมนาคม ได้ประมาณการผลตอบแทนที่จะได้รับจากการดำเนินมาตรการฯ ระยะที่ 2 ในปีงบประมาณ 69 โดยประเมินในเชิงปริมาณและมูลค่าจากจำนวนผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าที่ได้รับประโยชน์ใน 3 ด้าน ได้แก่ ด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยมีสมมติฐานในการประมาณการมูลค่าผลประโยชน์ในปีงบประมาณ 69 รวมมูลค่า 21,812.46 ล้านบาท
ขณะที่ผลกระทบในส่วนของรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินมีปริมาณผู้โดยสารในระบบจำนวนมาก ทำให้อาจมีผลกระทบต่อความจุของระบบ กรณีมีการดำเนินมาตรการฯ ระยะที่ 2 ดังนั้น รฟม. จะดำเนินการหาแนวทางและปรับปรุงความจุของระบบเพื่อรองรับผู้โดยสารก่อนเริ่มดำเนินมาตรการต่อไป
อ่านเนื้อหาอื่นเพิ่มเติม
เช็กเงื่อนไข รถไฟฟ้าทุกสาย 20บาท เริ่มใช้ 30 ก.ย. 68
รถไฟฟ้า 20 บาท ทำได้แค่ไหน ? เมื่อต้องฝ่าด่านการเมือง-เงินอุดหนุน