สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) รายงานผลสำรวจและวิเคราะห์การจ้างงานในประเทศไทย ใน “โครงการวิเคราะห์การประกาศหางานออนไลน์”โดยใช้ Big Data เก็บข้อมูลจากประกาศรับสมัครงานผ่านเว็บไซต์หางานระดับประเทศในไทยรวม 15 เว็บไซต์ ในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2566 (1 ต.ค. – 31 ธ.ค. 2566) และวิเคราะห์ด้วยปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพื่อสำรวจความต้องการแรงงานที่นายจ้างต้องการ พบว่ามีการเปิดรับสมัครงานในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลมากที่สุด และนายจ้างต้องการแรงงานที่มี “Soft Skill”
เมื่อจำแนกประกาศรับสมัครงานตามภูมิภาคที่ระบุในประกาศ พบว่าประกาศรับสมัครงานกระจุกตัวในกรุงเทพฯและปริมณฑล โดยมีการประกาศหางานถึง 1,150,939 รายการ คิดเป็น 88.6% ของประกาศรับสมัครงานทั่วประเทศ
ใช้ฐานข้อมูลแรงงานทั่วโลกครั้งแรก นายจ้างต้องการ “Soft Skill” มากสุด
การสำรวจประกาศรับสมัครงานของทีมวิจัยทีดีอาร์ไอในครั้งนี้ ถือเป็นครั้งแรกที่ทีมวิจัยได้สกัดทักษะต่าง ๆ จากประกาศหางานอ้างอิงฐานข้อมูลทักษะจากฐานข้อมูล Lightcast ที่ได้ทำการจัดเก็บข้อมูลประกาศรับสมัครงานจากทั่วโลก โดยจัดหมวดหมู่ทักษะออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ ประกอบด้วย
กลุ่มทักษะที่พบได้ทั่วไป พบว่าในทุกตำแหน่งงานและสาขาธุรกิจ ซึ่งส่วนใหญ่เป็น Soft Skill ทักษะการประสานงานเป็นที่ต้องการมากที่สุด 354,758 ตำแหน่ง (27.31%) ตามมาด้วย ทักษะการขาย พบใน 324,272 ตำแหน่ง (24.96%) ทักษะการวางแผนงาน 283,399 ตำแหน่ง (21.81%) และ การสื่อสาร 180,920 ตำแหน่ง (13.93%)
กลุ่มทักษะเฉพาะ พบว่า ต้องการทักษะการบำรุงรักษา มากที่สุด 193,137 ตำแหน่ง การควบคุมเครื่องมือ และเครื่องจักร 153,405 ตำแหน่ง (11.81%) ทักษะด้านบัญชี 134,062 ตำแหน่ง (10.32%) ทักษะจัดซื้อจัดจ้าง 70,266 ตำแหน่ง (5.41%) ทักษะด้านการติดตั้ง 58,820 ตำแหน่ง (4.53%)
กลุ่มใบประกาศนียบัตร พบว่า ประกาศรับสมัครงานมีความต้องการผลสอบ TOEIC มากที่สุด 10,413 ตำแหน่ง (0.80%) ตามด้วยใบรับรองวิชาชีพเภสัชกรรมตามมาตรฐาน GMP 7,410 ตำแหน่ง (0.57%) และ วุฒิบัตรผู้ตรวจสอบภายใน 3,336 ตำแหน่ง (0.26%)
เปิด TOP 10 อาชีพที่หาคนทำงานมากที่สุด กลุ่มค้าส่ง-ค้าปลีกยังครองแชมป์
สำหรับความต้องการแรงงานในประเทศนั้น จากการสำรวจล่าสุดจาก 15 เว็บไซต์หางานในไทย พบว่า มีประกาศรับสมัครงานทั้งหมด 1,299,111 ตำแหน่ง โดยวุฒิการศึกษาระดับปริญญาตรี เป็นวุฒิการศึกษาขั้นต่ำที่นายจ้างต้องการมากที่สุด มีประกาศรับสมัคร 857,419 ตำแหน่ง (60.03%) รองลงมาคือ ปวช.156,449 ตำแหน่ง (12.05%) ปวส. 91,421 ตำแหน่ง (7.04%) มัธยมศึกษาปีที่หก 89,917 ตำแหน่ง (6.29%) ไม่จำกัดวุฒิการศึกษา 39,932 ตำแหน่ง (3.08%) ไม่ระบุวุฒิการศึกษาขั้นต่ำมีจำนวน 36,969 ตำแหน่ง (2.85%) มัธยมศึกษาปีที่สาม 18,043 ตำแหน่ง (1.39%) และสูงกว่าปริญญาตรี 8,378 ตำแหน่ง (0.65%)
เมื่อจำแนกประกาศรับสมัครงานตามกลุ่มประเภทธุรกิจที่ระบุในประกาศรับสมัครงาน โดยอ้างอิงประเภทมาตรฐานอุตสาหกรรม (TSIC) ปี 2552 และจากฐานข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้าในการช่วยจำแนกข้อมูล ซึ่งใน 10 อันดับแรกพบว่า กลุ่มประเภทธุรกิจการขายส่งและการขายปลีก ประกาศรับสมัครงานที่สุด 201,645 ตำแหน่ง (15.5%) รองลงมาคือ ที่พักแรมและบริการด้านอาหาร 163,185 ตำแหน่ง (12.6%)
ตามด้วยการผลิต 153,601 ตำแหน่ง(11.8%) การก่อสร้าง 95,501 ตำแหน่ง (7.4%) กิจกรรมวิชาชีพวิทยาศาสตร์และกิจกรรมทางวิชาการ 71,694 ตำแหน่ง (5.5%) กิจกรรมด้านสุขภาพและงานสังคมสงเคราะห์ 59,717 ตำแหน่ง (4.6%) กิจกรรมบริการด้านอื่นๆ 53,610 ตำแหน่ง (4.1%)
กิจกรรมทางการเงินและการประกันภัย 48,269 ตำแหน่ง(3.7%) กิจกรรมเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ 46,578 ตำแหน่ง (3.6%) การศึกษา 24,201 ตำแหน่ง (1.9%) อย่างไรก็ตามพบว่ามีประกาศที่ไม่สามารถระบุกลุ่มประเภทธุรกิจ 302,089 ตำแหน่ง (23.3%)
นอกจากนี้ทีมวิจัยยังจำแนกประกาศรับสมัครงานตามกลุ่มอาชีพที่ระบุในประกาศรับสมัครงาน โดยใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ช่วยจำแนกกลุ่มอาชีพ ซึ่งใน 10 อันดับแรกพบว่า ในกลุ่มอาชีพที่เกี่ยวข้องกับการขายมีจำนวนมากที่สุด 282,710 ตำแหน่ง (21.7%) รองลงมาคือ อาชีพทางสำนักงานและสนับสนุนการดำเนินงาน 180,670 ตำแหน่ง (13.9%) ตามด้วยอาชีพด้านธุรกิจและการดำเนินงานทางการเงิน 176,488 ตำแหน่ง (13.6%)
อาชีพด้านคอมพิวเตอร์และคณิตศาสตร์ 134,414 ตำแหน่ง (10.3%) อาชีพด้านวิศวกรรม 91,703 ตำแหน่ง (7.0%) งานการจัดการ 60,336 ตำแหน่ง (4.6%) งานจัดซื้อ/จัดจ้าง 55,675 ตำแหน่ง (4.3%) งานติดตั้งดูแลและการซ่อมแซม 53,489 ตำแหน่ง (4.1%) งานศิลปะ,การออกแบบ,ความบันเทิง,กีฬา และสื่อ 46,287 ตำแหน่ง (3.6%) และงานสุขภาพและเทคนิคทางการแพทย์ 31,582 ตำแหน่ง (2.4%)
ทั้งนี้ “โครงการวิเคราะห์การประกาศหางานออนไลน์” เกิดขึ้นเพื่อส่งเสริมการปฏิรูปการศึกษา และให้เกิดประโยชน์ต่อผู้ที่กำลังจะเข้าสู่ตลาดแรงงาน ตลอดจนมหาวิทยาลัย สถาบันอาชีวะศึกษาและสถาบันฝึกอบรมต่างๆ ที่ผลิตบุคลากรป้อนตลาดแรงงาน
คณะผู้วิจัยประกอบด้วย ดร. ทศพล ป้อมสุวรรณ นักวิชาการ ทีม Big Data ทีดีอาร์ไอ นายวินิทร เธียรวณิชพันธุ์ นายนรินทร์ ธนนิธาพร และน.ส.ฐิติรัตน์ สีหราช นักวิจัยทีดีอาร์ไอ