ในการแถลงข่าววันที่ 1 มี.ค. 2567 ของ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรี, ณรงค์ชัย อัครเศรณี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และคุรุจิต นาครทรรพ อดีตปลัดกระทรวงพลังงาน ได้ส่งหนังสือเปิดผนึกเกี่ยวกับความเสียหายของนโยบายพลังงานที่เป็นมา และกำลังจะเป็นไปในรัฐบาลชุดนี้ ถึงนายกรัฐมนตรี โดยชี้แจงถึงความเสียหายที่กำลังจะเกิดขึ้นว่า
กองทุนน้ำมันฯใกล้วิกฤตติดลบ 9 หมื่นล้านบาท พิษอั้นราคาดีเซล
เมื่อรัฐบาลปัจจุบันเริ่มเข้าบริหารงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมีภาระหนี้สินจำนวน 48,000 ล้าน บาท ซึ่งรัฐบาลมีหน้าที่ที่จะต้องดูแลให้หนี้สินจำนวนนี้ลดลงไป หรืออย่างน้อยต้องไม่เพิ่มขึ้น แต่ปรากฏว่าเมื่อผ่านเพียง 5 เดือนถึงสิ้นเดือน ม.ค. 2567 หนี้สินกองทุนน้ำมันฯได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเป็น 84,000 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 36,000 ล้านบาท) เพราะกระทรวงพลังงานได้กดราคาน้ำมันดีเซลลงจากลิตรละ 32 บาท เป็นลิตรละ 30 บาท และได้ลดราคาน้ำมันกลุ่มเบนซินและแก๊ซโซฮอลลงอีกลิตรละ 2.50 บาท ทำให้กองทุนฯ ต้องชดเชยราคาสำหรับน้ำมันดีเซล และลดการเก็บเงินเข้ากองทุนฯจากน้ำมันกลุ่มเบนซิน และแก๊สโซฮอล์ รวมถึงตรึงราคาก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ไว้ต่ำกว่าที่ควรจะเป็น
หากปล่อยไปเช่นนี้ จะทำให้หนี้ของกองทุนน้ำมันจะเพิ่มสูงขึ้นอีกจนถึงเพดานหนี้ตามที่กฎหมายกำหนดกรอบไว้ 110,000 ล้านบาท และในเวลาอีกไม่นานเมื่อเพิ่มขึ้นถึงจุดหนึ่งที่เกินความสามารถที่จะชำระคืนรัฐบาลก็คงต้องนำเงินจากภาษีที่เก็บจากประชาชนทั้งประเทศไปล้างหนี้ดังกล่าว ซึ่งเท่ากับว่าในส่วนของราคาน้ำมันประชาชนที่ไม่ได้เป็นเจ้าของรถ ต้องมาช่วยแบกภาระหนี้แทนเจ้าของรถที่มีฐานะดีกว่า
สถานะกองทุนน้ำมัน ตั้งแต่สงครามยูเครน ติดลบมาโดยตลอด รัฐบาลที่แล้วเคยติดลบ 1.3 แสนล้านบาท แล้วตอนนี้ในช่วง ส.ค. อยู่ที่ 48,000 ล้านบาท และ ณ วันนี้จะ 90,000 ล้านอยู่แล้ว ปัจจุบันคนไทยใช้น้ำมันดีเซล 70 ล้านลิตร แล้วเราก็ไปอุดหนุน 10.80 บาท ก็เท่ากับว่าเฉพาะดีเซลอย่างเดียว เงินไหลออกเดือนละ 9,900 ล้านบาทต่อเดือนเป็นอย่างต่ำเฉพาะดีเซล เพราะฉะนั้นภายใน 2 เดือนมันก็ขึ้นเป็นเดือนละหมื่นล้าน
อย่างไรก็ตามในช่วงที่น้ำมันในตลาดโลกราคายังไม่ได้ผันผวนถึงขั้นวิกฤติ คือ ค่อนข้างนิ่งและมีแนวโน้มลดลง มาตั้งแต่เดือน ต.ค. 2556 จนถึงปัจจุบัน จึงควรเรียกเก็บเงินเข้ากองทุนฯ เพื่อมาคืนสภาพคล่องและลดหนี้ให้แก่กองทุนฯ
ลดค่าไฟ Ft ทำกฟผ.แบกหนี้ทะลุ 1.37 แสนล้านบาท
ในรัฐบาลชุดที่ผ่านมา เมื่อราคาก๊าซ LNG ในตลาดโลกสูงขึ้นอย่างมาก เนื่องจากภาวะสงครามในยุโรป รัฐบาลก่อนก็ได้ชะลอการปรับค่าไฟฟ้า Ft ไว้ เพื่อไม่ให้ค่าไฟฟ้าที่จะเก็บจากประชาชนเพิ่มขึ้นในจำนวนสูงเกินไป โดยให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) รับภาระราคาก๊าซ LNG ที่เพิ่มสูงขึ้นไว้ก่อนแล้วจึงค่อยทยอยผ่อนคืน กฟผ. ด้วยวืธีการขึ้นค่า Ft ทีละนิดในงวดถัด ๆ ไป
โดย ณ สิ้นเดือน ส.ค. 2556 หนี้ค่า Ft ที่ กฟผ.แบกรับไว้มียอดค้างอยู่ 110,000 ล้านบาท เมื่อรัฐบาลชุดใหม่เข้ามา ก็เป็นจังหวะที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ) จะต้องอนุมัติปรับค่าไฟฟ้า Ft ซึ่งตั้งใจจะปรับลดจากงวดก่อนจากหน่วยละ 4.70 บาท เป็นหน่วยละ 4.45 บาท (ในงวดเดือน ก.ย.-ธ.ค.2566) เพื่อให้พอมีเงินเข้ามาช่วยลดภาระหนี้ที่ กฟผ.แบกรับไว้ลงบ้าง แต่ปรากฏว่ารัฐบาลใหม่กลับประกาศกดราคาค่าไฟฟ้าลงไปอีกเหลือหน่วยละ 3.99 บาท ซึ่งมีผลให้ กฟผ.ต้องแบกรับหนี้เพิ่มขึ้นอีกเป็น 137,000 ล้านบาท (ณ สิ้นเดือน ธ.ค. 2566) โดยหากปล่อยไปเช่นนี้ ในที่สุดก็คงจะต้องนำเงินภาษีของประชาชนไปล้างหนี้จำนวนนี้ให้กฟผ. เพื่อให้ กฟผ.ดำเนินกิจการต่อไปได้
มาวันนี้เพื่อบอกว่าอย่าให้หนี้ขยายไปอีก เริ่มคิดว่าเราจำเป็นต้องลดหนี้ กฟผ. เหมือนกัน กฟผ.ถ้าเป็นเอกชน เป็นหนี้อยู่ขนาดนี้เจ๊งไปแล้ว นี่ กฟผ.อยู่ในหน่วยงานของรัฐก็ไม่เป็นไร ถือว่าอย่าให้มากกว่านี้ ค่อย ๆ ทยอยลง ให้สูตรไป ให้นโยบายไป กกพ.เขาคิดออกเอง จะทยอยลงเมื่อไหร่ เร็วแค่ไหน
เอกชนขู่รัฐบาลขึ้นราคาน้ำมันหน้าปั๊ม
นอกจากนี้ รัฐบาลไทยในอดีตได้ออกนโยบายที่เป็นคุณต่อสิ่งแวดล้อมในอากาศ คือ วางแผนให้มีการผลิตน้ำมันคุณภาพสูงขึ้นเป็นมาตรฐานยูโร 5 (Euro 5) โดยมีการขอความร่วมมือและจูงใจให้โรงกลั่นในประเทศทั้ง 6 แห่ง ลงทุนก่อสร้างและติดตั้งอุปกรณ์ปรับกระบวนการผลิตให้ได้น้ำมันคุณภาพ Euro 5 ซึ่งใช้เงินลงทุนไปจำนวนมากหลายหมื่นล้านบาท ขณะเดียวกันกระทรวงอุตสาหกรรมก็ได้ออกมาตรฐานรถยนต์ใหม่ให้รองรับคุณภาพน้ำมันใหม่ และกระทรวงพลังงานได้ออกมาตรฐานบังคับใช้คุณภาพน้ำมันที่ลดกำมะถันลงให้เหลือไม่เกิน 10 ppm กับลดค่า NOx และฝุ่น PM ลงให้ไม่เกิน 8 % ภายใน 5 ปี โดยให้มีผลบังคับตั้งแต่ 1 ม.ค. 2567
โดยเป็นที่เข้าใจกันว่ากระทรวงพลังงานจะปรับสูตรสำหรับคิดราคาน้ำมันอ้างอิงที่หน้าโรงกลั่นให้สะท้อนถึงต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากการลงทุน เพื่อให้มีความสามารถในการผลิตน้ำมันที่มีคุณภาพสูงขึ้นเป็นระดับ Euros แต่ปรากฏว่าจนถึงบัดนี้ กระทรวงพลังงานภายใต้รัฐบาลใหม่ยังนิ่งเฉย แสดงท่าทีไม่ยอมรับคุณภาพน้ำมันสะอาดใหม่นี้ โดยไม่พิจารณาปรับราคาอ้างอิงหน้าโรงกลั่นของเบนซิน แก๊สโซฮอล์ และดีเซล จนสภาอุตสาหกรรมฯ ต้องออกมาเรียกร้องขอให้ปรับสูตรราคาอ้างอิงดังกล่าว หากรัฐบาลยังเพิกเฉย ในที่สุดผู้ค้าน้ำมันก็จะไม่ยอมรับในราคาอ้างอิงในแบบเดิม ๆ ที่รัฐกำหนด และเลือกใช้วิธีกำหนดราคาขายหน้าปั๊มเอง ซึ่งอาจมีผลเสียต่อผู้บริโภคมากกว่า และโรงกลั่นก็จะไม่ยอมลงทุนอะไรไปก่อนอีกตามที่รัฐขอความร่วมมือ นอกจากนี้นโยบายของรัฐในสายตาของนักลงทุนก็จะขาดความน่าเชื่อถือและเสื่อมถอยลงด้วย
สำหรับคุณภาพอากาศกำลังเป็นปัญหาสำคัญของประเทศไทย โดยปัญหาของฝุ่นควันในต่างจังหวัดเกิดจากการเผาไร่และเผาป่าเป็นสาเหตุใหญ่ ในขณะที่สาเหตุหลักของฝุ่นควันในอากาศบริเวณกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล คือ ควันพิษจากรถยนต์ และรถจักรยานยนต์ที่ใช้น้ำมันดีเซล เบนซิน และแก๊สโซฮอล์ ซึ่งรัฐบาลชุดที่่ผ่านมาและชุดปัจจุบันมีนโยบายที่จะกระตุ้นให้คนหันมาใช้รถไฟฟ้าสาธารณะ หรือใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) เป็นพาหนะส่วนตัว เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาควันพิษในอากาศลงบ้าง แต่การลดราคาน้ำมันทุกชนิดให้ต่ำลง ย่อมเป็นการกระตุ้นให้มีการใช้รถยนต์ และรถจักรยานยนต์ที่ใช้เชื้อเพลิงอย่างฟุ่มเฟือย และก่อให้เกิดควันพิษมากขึ้น
ซึ่งดูเป็นนโยบายที่ย้อนแย้งกับเรื่องการดูแลคุณภาพอากาศและพลังงานสะอาดอย่างชัดเจน ทำให้ไม่แน่ใจว่ารัฐบาลนี้มีความตั้งใจที่จะลดปัญหาควันพิษในอากาศเพื่อคุณภาพ ชีวิตที่ดีของประชาชน กับจะส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) จริงหรือไม่
คิดราคาก๊าซ “Pool Gas” กระทบธุรกิจปิโตรฯ ต้นทุนพุ่ง 40%
ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2567 กระทรวงพลังงานใช้การคิดเลขในการหาต้นทุนที่ต่ำลงสำหรับก๊าซในพลูแก๊ส (Pool Gas) ที่ใช้สำหรับผลิตไฟฟ้า โดยมิได้เป็นการจัดหาและนำก๊าซต้นทุนต่ำมาเพิ่มเติมใน Pool Gas แต่อย่างใด คือ กระทรวงพลังงานปรับสูตรการคำนวนราคาก๊าซธรรมชาติใน Pool Gas ใหม่ โดยนำราคาก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทย (ซึ่งมีราคาต่ำกว่าราคาก๊าซจากพม่าและก๊าซLNG) ส่วนที่เคยส่งเป็นวัตถุดิบไปเข้าโรงแยกก๊าซเพื่อผลิตผลิตภัณฑ์คืออีเทนและโพรเพนป้อนเข้าสู่อุตสาหกรรมปิโตรเคมี เอามารวมคำนวณเป็นราคาใน Pool Gas เพื่อให้ได้ราคาเฉลี่ยสำหรับการผลิตไฟฟ้าที่ต่ำลง ผลที่ตามมา คือ ราคาของก๊าซส่วนที่แยกไปใช้ผลิตเป็นวัตถุดิบในโรงแยกก๊าซ (GSP) เพิ่มสูงขึ้นทันที ส่งผลต่อการทำผลิตภัณฑ์ต่อเนื่อง และทำให้ต้นทุนวัตถุดิบของปิโตรเคมีทั้งระบบเพิ่มขึ้น ซึ่งจะกระทบความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและห่วงโซ่อุตสาหกรรมต่อเนื่องจากต้นน้ำถึงปลายน้ำด้วย
นอกจากนี้ กกพ. มีอำนาจเพียงกำหนดอัตราค่าบริการก๊าซธรรมชาติที่ใช้เป็นพลังงานเท่านั้น ไม่ได้มีอำนาจกำหนดราคาก๊าซที่ใช้เป็นวัตถุดิบ โดยนโยบายที่มอบให้ กกพ.นี้ จึงสุ่มเสี่ยงที่จะใช้อำนาจเกินขอบเขตของกฎหมายด้วย
โดยเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ ประเทศไทยใช้เวลามากกว่า 30 ปี ในการสร้างเครือข่ายอุตสาหกรรมปิโตรเคมี และอุตสาหกรรมต่อเนื่องอาทิ พลาสติก สิ่งทอ และอะไหล่รถยนต์หลายพันกิจการ ก่อให้เกิดนิคมอุตสาหกรรมระดับโลกขึ้นที่มาบตาพุด จ.ระยอง และช่วยทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ จีดีพี (GDP) และการส่งออกของไทยเติบโตมาอย่างต่อเนื่องมาเป็นระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งในปี 2564 เฉพาะกลุ่มปิโตรเคมีและกลุ่มแปรรูปพลาสติก มียอดขายรวมถึง 1,720,000 ล้านบาทหรือ 10.7% ของ รายได้ประชาชาติของไทย มีการจ้างงานรวมกว่า 400,000 คน ต้นทุนวัตถุดิบที่สูงขึ้นมากทันทีเพราะการ กำหนดสูตรราคาก๊าซใหม่นี้จะกระทบอย่างรุนแรงต่อความอยู่รอดของอุตสาหกรรมเหล่านี้อย่างแน่นอน หากปล่อยไว้นานเกินไปจะกระทบถึงฐานะของกิจการจนต้องทยอยปิดลง กระทบต่อเศรษฐกิจและการจ้าง
มันทำให้ต้นทุนที่จะไปทำอีเทน โพรเพน สูงขึ้น และไม่ได้สูงขึ้นนิดเดียว มันสูงขึ้นเกือบประมาณ 40% ซึ่งถ้าขึ้น 40% อีกสักพักหนึ่ง มันอยู่ไม่ไหวจริง ๆ แล้วปิโตรเคมี เราสร้างมาด้วยคอนเซปที่ใช้แก๊สจากอ่าวไทยในราคาที่ตกลงกันไว้ตั้งแต่แรกมาแล้ว ด้วยราคาแบบนั้นมันยืนอยู่ยั้งยืนยงมาได้ ยอดขาย 1.7 ล้านล้าน เป็นของจริง แล้วก็จ้างงาน 4 แสนคนก็ของจริง นี่เฉพาะปิโตรกับพลาสติกเท่านั้น ยังไม่นับถึงอุตสาหกรรมต่อเนื่องไปอีกนะ ตัวนี้เรากังวลมากเลยว่าถ้าไม่รีบปรับสูตรตัวนี้ จะทำลายอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ความสามารถการแข่งขันกำลังลดลงอย่างรวดเร็วเลย