หนังสือ มีความสำคัญของชีวิตมนุษย์อย่างมากในการสื่อสารและถ่ายทอดเรื่องราวต่าง ๆ ออกไปถึงคนรุ่นหลัง หรือคนอื่น ๆ ที่ต้องการแสวงหาความรู้และคำตอบ เพื่อเสริมสร้างสติปัญญา ความฉลาดรอบรู้ ประสบการณ์ เป็นต้น นอกจากนี้หนังสือยังสามารถถ่ายทอดเรื่องราววัฒนธรรมของประเทศหนึ่งไปยังอีกประเทศหนึ่งได้อีกด้วย
รัฐบาลไทยได้บรรจุหนังสือให้เป็นหนึ่งใน 11 อุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ เพื่อผลักดันให้หนังสือไทยเป็นที่รู้จักและได้รับความนิยมมากขึ้นในสายตาทั่วโลก เมื่อปลายปี 2566 ที่ผ่านมา คณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ มีมติแต่งตั้ง จรัญ หอมเทียนทอง เป็นกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์ด้านหนังสือ ควบคู่กับประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านหนังสือ
จรัญ หอมเทียนทอง เป็นผู้คร่ำวอดในวงการหนังสือมากว่า 40 ปี เพราะเริ่มขายหนังสือตอนอายุ 17 ปี ก่อนจะยึดเป็นอาชีพหลัก ต่อมาในปี 2530 เปิดบริษัท สำนักพิมแสงดาว จำกัด ทำธุรกิจพิมพ์หนังสือประเภทต่าง ๆ เป็นรูปเล่ม และยังดำรงตำแหน่ง นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย ในช่วงปี 2556-2560 ซึ่งสมาคมฯนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อส่งเสริมการจัดพิมพ์หนังสือและจำหน่ายหนังสือที่ดี ส่งเสริมงานด้านการประพันธ์ งานด้านการแปล รวมถึงติดต่อประสานงานกับสมาคมผู้จัดพิมพ์ และสมาคมผู้จำหน่ายหนังสือ สมาคมและสถาบันต่างๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ทั้งภายในและ ต่างประเทศ และระหว่างประเทศ เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ ความคิดเห็น และส่งเสริมงานและความเข้าใจอันดีระหว่างกัน
เป้าหมายดันหนังสือไทยเป็นซอฟต์พาวเวอร์
ประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านหนังสือ เผยแผนโครงการขับเคลื่อนด้านหนังสือในซอฟต์พาวเวอร์ ว่า คณะอนุกรรมการฯ ต้องการให้มีสถาบันหนังสือและการอ่านแห่งชาติ การสนับสนุนงานหนังสือและการพัฒนาห้องสมุด เพื่อให้เป็นที่การกระจายความรู้ให้กับคนทุกระดับ แต่ขณะนี้ทุกอย่างยังอยู่ในขั้นดำเนินการ เพราะฉะนั้นตอนนี้ต้องร่วมมือกับรัฐบาลในการอัพสกิล (Upskill) และ รีสกิล (Reskill) เช่น อบรมนักเขียน 1,000 คน โดยร่วมมือกับสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย สรรหาหนังสือไทยมาแปลเป็นภาษาต่างประเทศ เพื่อนำไปแสดงโชว์ในต่างประเทศ
เนื่องจากที่ผ่านมาหนังสือไทยที่ได้ไปต่างประเทศ มักจะไปด้วยตัวของผู้เขียนเอง ทางรัฐบาลไม่ได้สนับสนุนเรื่องการแปล แต่ครั้งนี้หากได้เงินจากรัฐบาล ทางคณะอนุกรรมการฯจะช่วยคัดเลือกหนังสือไทยที่มีแนวโน้มว่าจะขายในต่างประเทศได้มาแปลเป็นภาษาอังกฤษ ซึ่งถือเป็นการนำร่องหนังสือไทยไปแสดงในงานหนังสือที่ต่างประเทศ เพื่อให้ได้รับความสนใจจากผู้ซื้อในต่างประเทศ
หนังสือไทยหลาย ๆ เล่มบางทีเขาก็สนใจ แต่เราไม่ได้แปลเป็นภาษาอังกฤษไป เขาก็ไม่สามารถซื้อขายกันได้ ยกเว้นหนังสือบางเล่มที่เขาชอบจริง ๆ เช่น หนังสือซีไรท์ของคุณวีรพร นิติประภา หนังสือของอุทิศ เหมะมูล หนังสือของปราบดา หยุ่น หรือหนังสือเด็ก บางเล่มที่เขาชอบ ฝรั่งเขาก็แปลเอง แต่คราวนี้เราจะแปลไปเพื่อกระตุ้นเร่งให้ขายได้มากขึ้น เพื่อให้นักเขียนไทยสามารถไปในต่างประเทศได้มากขึ้น
สร้างซอฟต์พาวเวอร์ต้องใช้เวลาหลายปี
จรัญ มองว่า การที่ไทยตั้งคณะกรรมการซอฟต์พาวเวอร์ขึ้นมาเป็นเรื่องดี อย่างน้อยทำให้สังคมไทยปัจจุบันได้รู้จักซอฟต์พาวเวอร์ว่าคืออะไร ซึ่งแตกต่างจากสมัยก่อนที่ไม่เคยได้ยินคำนี้กัน ถือเป็นสิ่งที่รัฐบาลทำถูกต้อง แต่ขอเตือนให้ทุกภาคส่วนต้องดำเนินการด้วยความใจเย็น เพราะซอฟต์พาวเวอร์ในต่างประเทศที่ประสบความสำเร็จได้นั้น ใช้ระยะเวลานานมากกว่า 20 ปี ดังนั้นการที่ไทยจะประสบความสำเร็จได้ต้องใช้เวลาอีกหลายปี เพราะว่าสิ่งเหล่านี้ต้องค่อย ๆ ทำ เพียงแต่ว่าอันนี้ก็ถือเป็นสิ่งที่ดีที่มีการเริ่มต้น ซึ่งบางอย่างอาจจะทำไปแล้วมาก่อนแล้ว แม้ไม่ได้เรียกว่า ซอฟต์พาวเวอร์ ซึ่งพูดง่าย ๆ ว่า หลายอย่างเขาทำไปแล้ว รัฐบาลเข้ามาทำให้อยู่ในระบบมากขึ้น ถึงจะขยายได้มากขึ้น คือ เมื่อก่อนอาจจะเป็นลักษณะต่างคนต่างทำไม่มียุทธศาสตร์ รัฐบาลก็ตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์ขึ้นมา เพื่อกำหนดทิศทางให้เป็นเอกภาพทางเดียวกัน และมีพลัง มีความเข้มแข็ง มีมูลค่ามากขึ้น
สิ่งที่ประธานคณะอนุกรรมการฯหนังสือ คาดหวังที่สุด คือ การต่อยอดหนังสือให้เป็นอย่างอื่นกลับมาทางอ้อม เช่น ต่างชาติอ่านหนังสือไทยที่แปลเป็นภาษาต่างประเทศแล้วมาเที่ยวเมืองไทย อันนี้คือความยั่งยืนกว่า และอีกสิ่งที่คาดหวัง คือ หนังสือนั้นเป็นความคิด ความรู้ และจินตนาการ ถ้าหากมีสถาบันหนังสือจัดการด้านความรู้นี้ ในระยะยาวจะก็เป็นพลังหลักในการสร้างซอฟต์พาวเวอร์ในสาขาต่าง ๆ เช่น สาขาดนตรี การจะเป็นนักแต่งเพลงก็ต้องอ่านหนังสือมาก่อน เป็นนักออกแบบก็ต้องมีหนังสืออ่าน เพราะฉะนั้นหนังสือแม้อาจจะยังมองไม่เห็นชัดเจน แต่ว่าอยู่ในตัววิชาชีพทุกอย่าง
เงินคือปัจจัยหลักขับเคลื่อนโยบาย
อย่างไรก็ตามอุปสรรค คือ คณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์เป็นองค์กรใหม่ ยังไม่มีกฎหมายรองรับ และยังมีอุปสรรคการใช้เงิน แม้รัฐบาลต้องการนำเงินมาให้ใช้ เพราะเห็นความจำเป็น แต่ก็ต้องเข้าใจว่าเงินที่จะใช้ในโครงการนี้อยู่นอกแผนการใช้งบประมาณของหน่วยงานราชการ จึงมีความลำบากในการใช้เงิน แต่เห็นประชุมสภาผู้แทนราษฎรล่าสุด มีการบรรจุพระราชบัญญัติการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์เพื่อเศรษฐกิจและสังคม (พ.ร.บ. THACCA) เข้าไปด้วย ซึ่งหากมี พ.ร.บ.ฉบับนี้แล้ว คิดว่างบประมาณก็จะมีตามเข้ามา แต่ ณ ปัจจุบันนี้งานส่วนใหญ่ของซอฟต์พาวเวอร์ยังต้องใช้งบประมาณกลาง หรือ ใช้งบของกระทรวงแต่ละแห่งที่เหลือ ซึ่งทำให้ไม่ค่อยได้รับความสะดวกในการทำงาน
ซอฟต์พาวเวอร์ ถือเป็นสิ่งใหม่สำหรับราชการ บางครั้งหน่วยงานราชการอาจต้องปรับความคิดเกี่ยวกับซอฟต์พาวเวอร์ และต้องพยายามที่จะเข้าใจว่าหน่วยงานซอฟต์พาวเวอร์ เป็นหน่วยงานใหม่ ซึ่งตนก็เข้าใจว่าสิ่งใหม่ ๆ อาจทำให้หน่วยงานราชการไม่กล้าพัฒนา เพราะกลัวเรื่องการตรวจสอบ แต่ก็อยากจะทุกหน่วยงานยอมรับในสิ่งใหม่ เพราะว่าสิ่งนี้จะเป็นส่วนช่วยในการกระตุ้นเศรษฐกิจของไทย เหมือนกับในต่างประเทศ เช่น เกาหลี ญี่ปุ่น และจีน ที่ซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศเหล่านี้ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ และไทยก็กำลังจะทำแบบนั้น ซึ่งก็ต้องใช้เวลา เพื่อให้หน่วยงานราชการได้ทำความเข้าใจซอฟต์พาวเวอร์มากขึ้น
ไม่ต้องถึงขนาดปรับตัว แต่ตนคิดว่าเป็นโอเพนมายด์ (Open Mind) หน่อย บางครั้งระเบียบต่าง ๆ มันก็ดี แต่บางครั้งก็ต้องดูเจตนาของเขา อย่างศัพท์คำหนึ่งที่ตนทำมาปีกว่านี้ คำว่าซ้ำซ้อนเนี่ย ทำให้ทุกอย่างทำงานไม่ได้ เพราะทำเสร็จแล้วมาบอกว่าซ้ำซ้อน ซึ่งตนก็ติดอยู่อย่างนี้มา
นโยบายซอฟต์พาวเวอร์ ต้องเป็นมากกว่าเรื่องเศรษฐกิจ