นโยบายกัญชาเสรี หรือ การปลดล็อกกัญชาออกจากบัญชียาเสพติด เมื่อ 9 มิ.ย. 65 ในสมัยรัฐบาลพล.อีก.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกรัฐมนตรี โดยให้เหตุผลว่าหลายประเทศทั่วโลกดำเนินการมาแล้วและผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจเป็นสำคัญ แต่การปลดล็อกดังกล่าว เกิดกระแสวิจารณ์อย่างมากในประเด็นเกี่ยวกับยาเสพติด เพราะไม่มีกฎหมายควบคุมสำหรับการใช้เพื่อสันทนาการ ในขณะที่การใช้เพื่อการแพทย์ไม่ได้เป็นปัญหา
หลังจากปลดล็อกกัญชา รัฐบาลโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารสุขสมัยนั้น สนับสนุนให้ประชาชนปลูกกัญชา ซึ่งต่อมาเกิดการใช้เพื่อสันทนาการอย่างกว้างขวาง จนกระทั่งมีการร้องเรียนจำนวนมากถึงผลกระทบด้านสุขภาพและสังคม โดยเฉพาะต่อเด็กและเยาวชน รวมถึงผู้ป่วยจากการเสพติดกัญชาเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จนเกิดกระแสคัดค้านนโยบายดังกล่าว และต้องการนำกัญชากลับไปอยู่ในบัญชียาเสพติด
ต่อมาในช่วงเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่พรรคภูมิใจไทยออกจากการเป็นพรรคร่วมรัฐบาล กระทรวงสาธารณสุขก็ออกประกาศให้กัญชากลับมาเป็นยาเสพติดอีกครั้ง ซึ่งมักจะมองกันว่าเรื่องนี้เป็นประเด็นความขัดแย้งทางการเมือง แต่ความพยายามจะดึงกัญชากลับไปอยู่ในบัญชียาเสพติดมีตั้งแต่เริ่มต้นรัฐบาลเพื่อไทยแล้ว ในสมัยเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี แต่ในช่วงนั้นพรรคภูมิใจไทยยังเป็นพรรคร่วมรัฐบาล ทำให้เรื่องนี้ยืดเยื้อมมานาน
จากสิ่งที่เกิดขึ้นจากนโยบายกัญเสรีข้างต้น ยังส่งผลกระทบต่อ “นักลงทุน” ซึ่งไม่รู้ว่ามีกลุ่มไหนและขนาดเล็กหรือใหญ่ เนื่องจากลงทุนดำเนินธุรกิจกัญชาตามนโยบายของรัฐบาล แต่การนำกัญหากลับไปอยู่ในบัญชียาเสพติด ทำให้คนกลุ่มนี้เกิดความเสียหาย ซึ่งขณะนี้หลังจากยกเลิกแล้ว จะมีขั้นตอนการเยียวยาหรือผ่อนปรนกันอย่างไรยังต้องติดตาม แต่สะท้อนให้เห็นว่านโยบายกัญชาเสรีส่งผลกระทบคนหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง
อันที่จริง หากย้อนกลับไปตั้งแต่เริ่มต้น การดำเนินนโยบายกัญชาเสรี ค่อนข้างมีปัญหามาตั้งแต่ต้น เพราะอย่าลืมว่ากัญชาเกี่ยวข้องกับสังคมในวงกว้าง และมีประเด็นที่ต้องพิจารณามากกว่ามูลค่าเศรษฐกิจ แต่การหยิบยกเหตุผลเชิงเศรษฐกิจในการเปิดเสรีชี้ให้เห็นว่านโยบายนี้รัฐบาลให้น้ำหนักทางเศรษฐกิจมากเกินไป ในขณะที่หลังจากการเปิดเสรีแล้ว ปรากฏว่าคนกลุ่มอื่นกลับได้รับผลกระทบ ซึ่งชี้ให้เห็นจุดอ่อนสำคัญของนโยบาย นั่นคือ ขาดการรับฟังความเห็นและการมีส่วนร่วมของสังคมอย่างเพียงพอ
อีกนโยบายสำคัญที่เป็นตัวอย่างในลักษณะเดียวกัน คือ สถานบันเทิงครบวงจร หรือ เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมแพล็กซ์ ซึ่งรัฐบาลตัดสินใจถอนร่างจากการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร หลังจากก่อนหน้านั้นดำเนินการอย่างเร่งรีบ ทั้งผลการศึกษาและการรับฟังความเห็นในร่างพระราชบัญญัติฯเพื่อรองรับ โดยรัฐบาลระบุว่าต้องการรับฟังความเห็นอย่างรอบด้านอีกครั้ง เนื่องจากมีคความขัดแย้งในหลายประเด็นและต้องการสร้างความเข้าใจในสังคม
เช่นเดียวกับเรื่องกัญชาเสรี นโยบายบ่อนเสรีก็หยิบยกการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ มากกว่าผลกระทบทางสังคมที่จะเกิดขึ้น หากเกิดบ่อนการพนันขนาดใหญ่หลายแห่งทั่วประเทศ การศึกษาความเป็นไปได้ของนโยบายนี้ก็ทำกันอย่างรีบเร่งผ่อนกรรมาธิการและเสนอแนะคณะรัฐมนตรี (ครม.) ประหนึ่งว่ากระบวนการดำเนินนโยบายทั้งหมดมีความถูกต้องตามขั้นตอนตัวบทกฎหมาย แต่กลับละเลยสังคมโดยรอบที่อาจจะได้รับผลกระทบโดยตรง
แต่จากการคัดค้าน ทั้งนโยบายกัญชาเสรีและบ่อนเสรี ที่เกิดนอกเวทีรัฐสภา ชี้ให้เห็นความทั้ง 2 นโยบายสำคัญ ซึ่งจัดว่าเป็นนโยบายสาธารณะ ขาดการรับฟังความเห็นอย่างรอบด้าน ทั้ง ๆ ที่นโยบายเหล่านี้ส่งผลกระทบในวงกว้างมาก แต่รัฐบาลกลับไม่ให้ความสำคัญกับเสียงเหล่านี้ โดยมักจะอ้างเหตุผลทางเศรษฐกิจเป็นสำคัญ แต่ก็เป็นเหตุผลแบบคาดเดา และคาดการณ์ความเป็นไปได้ ซึ่งไม่ได้เป็นสิ่งที่จะเกิดขึ้นตามแผนที่วางไว้
ดังนั้น สองประเด็นใหญ่สำหรับนโยบายกัญชาเสรีและบ่อนเสรี ซึ่งเช่นเกียวกับนโยบายสาธารณะอื่น ๆ คือ ”ความไม่ครบถ้วน“ ของการดำเนินนโยบายสาธารณะ อย่างแรก ขาดการมีส่วนร่วมจากผู้มีส่วนได้เสียอย่างจริงจัง ซึ่งที่ผ่านมา การรับฟังความเห็นก็ดี หรือ การทำประชาพิจารณ์ก็ดี รัฐบาลมักจะมีกลยุทธ์ในการขับเคลื่อน “ให้ผ่าน” โดยไม่สนใจ “เสียงที่แท้จริง“
อย่างที่สอง การให้น้ำหนักเรื่องเศรษฐกิจมากกว่าเรื่องอื่น ซึ่งนับเป็นจุดตายของนโยบายที่ส่งผลกระทบต่อสังคมในวงกว้าง เพราะสังคมใดสังคมหนึ่งจะดำรงอยู่ได้ ไม่อาจมองจากมุมผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจเพียงด้านเดียว แต่ต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อ ”สมาชิก“ กลุ่มอื่นในสังคมด้วย ซึ่งที่ผ่านมา เรามีบทเรียนมากมายถึงความสูญเสียจากการมองด้านเดียวและความขัดแย้งรุนแรงในสังคมที่เกิดขึ้นก็มาจากสาเหตุเหล่านี้
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง:
“ใครหนุน-ใครค้าน”สถานบันเทิงครบวงจร ทำรัฐบาลยอมถอย