โครงการเติมเงินผ่านกระเป๋าเงินดิจิทัล 10,000 บาท หรือ ดิจิทัลวอลเล็ต เป็นนโยบายเรือธงของรัฐบาล ที่ต้องการให้กระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่แบบพายุหมุนให้เติบโต ด้วยงบประมาณ 450,000 ล้านบาท แบ่งเป็น งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 การบริหารการคลัง การบริหารการจัดการงบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จำนวน 165,000 ล้านบาท และงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 การบริหารการคลัง การบริหารการจัดการงบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จำนวน 285,000 ล้านบาท
ทำไมต้องมีโครงการดิจิทัลวอลเล็ต
ล่าสุด พิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ระบุเหตุผลถึงความจำเป็นต้องดำเนินโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ว่า เศรษฐกิจประเทศไทยอยู่ในภาวะตกต่ำมานานกว่า 10 ปี หนี้ครัวเรือนเพิ่มสูงกว่า 90% ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ซึ่งปัจจุบันจีดีพีไทยอยู่ที่ประมาณ 19 ล้านล้านบาท อีกทั้งยังเผชิญปัญหาเชิงโครงสร้าง การส่งออกที่ตกต่ำ และหนี้สาธารณะปัจจุบันอยู่ในระดับสูง 60% ของจีดีพี และในระยะข้างหน้า หนี้สาธารณะจะสูงมากขึ้นจนขยับเข้าใกล้กรอบ 70% ซึ่งเป็นเพดานตามกฎหมาย โดย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ยอมรับว่า รัฐบาลเหลือกระสุนในการก่อหนี้อีกไม่มาก ดังนั้นจึงจำเป็นต้องใช้นโยบายเติมเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ เพื่อแก้วิกฤตในครั้งนี้ ควบคู่ไปกับการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง
เป้าหมายโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ต้องการให้ประชาชนมีเงินใช้จ่าย ถือเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้น และสร้างความเชื่อมั่นให้กับเศรษฐกิจทั้งระบบ ทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค ซึ่งไม่ใช่โครงการที่เติมเพียงครั้งเดียว โดยเงินในโครงการนี้จะลงไปในเขตอำเภอ 878 อำเภอทั่วประเทศ กลุ่มเป้าหมายราว 45 ล้านคน (90% ของ 50 ล้านคน) สามารถวางรากฐานระบบเศรษฐกิจและดิจิทัล รวมถึงสร้างโอกาสประกอบอาชีพ และพายุหมุนทางเศรษฐกิจดังนี้
- พายุหมุนเศรษฐกิจลูกที่ 1 ระหว่างประชาชนกับร้านค้า
- พายุหมุนเศรษฐกิจลูกที่ 2 ระหว่างร้านค้าขนาดเล็กกับร้านค้าขนาดใหญ่
- พายุหมุนเศรษฐกิจลูกที่ 3 ร้านค้าขนาดใหญ่กับร้านค้าขนาดใหญ่
- พายุหมุนเศรษฐกิจลูกที่ 4 เกิดการซื้อขายที่โปร่งใส กระตุ้นเศรษฐกิจด้วยประชาชนเองทั่วประเทศไทย
ขณะเรื่องความโปร่งใสของโครงการ พิชัย ระบุว่า โครงการนี้จะใช้ฐานข้อมูลที่เรียกว่าบล็อกเชน (Block chain) สามารถเก็บหลักฐานการทำธุรกรรม สามารถตรวจสอบได้ว่า ใครเป็นผู้ใช้จ่าย และใช้ซื้อสินค้าอะไรบ้าง ซึ่งสามารถติดตามร่องรอยตรวจสอบการใช้จ่ายแลกเปลี่ยนได้ทุกธุรกรรมหลายล้านรายการ
วันนี้เกิดปัญหาในระบบเศรษฐกิจและเห็นอยู่ คือ ประชาชนมีหนี้ครัวเรือนสูง ธุรกิจขนาดเล็กเริ่มเกิดอาการ กำลังจะไปหาขนาดกลาง กำลังซื้อไม่มี รายได้ต่ำกว่ารายจ่าย ต้องแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างแน่นอน ไม่เกิดขึ้นในวันเดียว หรือ 2 วัน หรือ 2 เดือน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ ใช้เงินก้อนโต รัฐบาลไม่กลัวเหรอ กลัวไหมครับ ในการที่ท่านจะก่อหนี้ภาครัฐ ผมอยากจะเรียนนะครับ เมื่อท่านใส่เข้าไปยังไงก็ต้องหาเงินมา เพียงแต่หนี้นั้นอาจจะได้รับการชดใช้จากภาษีที่ท่านเก็บได้ คำตอบก็คือว่าโครงการนี้เราสามารถเก็บภาษีได้เท่าไหร่ แล้วไปสร้างการเติบโตในรูปอื่น ๆ ของการลงทุน เพื่อนำมาซึ่งภาษีที่เพิ่มขึ้นอย่างไร เพราะฉะนั้นนี่ไม่ใช่โครงการแจกเงินธรรมดา เป็นโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งระบบ Value Chain
แหล่งเงินดำเนินโครงการ
โครงการดิจิทัลวอลเล็ต จะใช้งบประมาณดำเนินโครงการ 450,000 ล้านบาท แบ่งเป็น
- งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 การบริหารการคลัง และการบริหารการจัดการงบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จำนวน 165,000 ล้านบาท
- งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 การบริหารการคลัง และการบริหารการจัดการงบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จำนวน 285,000 ล้านบาท
เงื่อนไขผู้ที่ได้รับสิทธิดิจิทัลวอลเล็ต
- ประชาชนที่มีชื่อและที่อยู่ในทะเบียนบ้าน
- อายุตั้งแต่ 16 ปี บริบูรณ์ขึ้นไป ณ วันที่ปิดรับลงทะเบียน (15 ก.ย. 2567)
- ไม่เป็นผู้ที่มีรายได้ 840,000 บาทต่อปี ปีภาษี 2566
- ไม่เป็นผู้ที่ถูกระงับสิทธิ หรือถูกเรียกเงินคืน ในมาตรการ/โครงการอื่น ๆ ของรัฐ
- ไม่เป็นผู้ฝ่าฝืนเงื่อนไขของมาตรการ/โครงการอื่น ๆ ของรัฐ
- ไม่เป็นผู้ที่มีเงินฝากธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ รวมกันเกิน 500,000 บาท (ณ วันที่ 31 มี.ค. 67) โดยตรวจสอบข้อมูลเงินฝาก 6 ประเภท ได้แก่ (1) เงินฝากกระแสรายวัน (2) เงินฝากออมทรัพย์ (3) เงินฝากประจำ (4) บัตรเงินฝาก (5) ใบรับเงินฝาก และ (6) ผลิตภัณฑ์เงินฝากในชื่อเรียกอื่นใดที่มีลักษณะเดียวกับข้อ (1) – (5) ทั้งนี้ เงินฝากดังกล่าวให้หมายความถึงเฉพาะเงินฝากที่อยู่ในรูปสกุลเงินบาทเท่านั้น และไม่รวมถึงเงินฝากในบัญชีร่วม และเป็นเงินฝาก
- ต้องไม่เป็นผู้ที่อยู่ระหว่างต้องโทษจำคุกในเรือนจำ
ลงทะเบียนได้ตอนไหน
1. ประชาชนทั่วไปที่มีโทรศัพท์มือถือ ลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชันทางรัฐ โดยไม่มีการจำกัดจำนวนประชาชนที่จะเข้าร่วมใช้สิทธิ์ในโครงการฯ ระหว่าง 1 ส.ค. – 15 ก.ย. 2567
2. ประชาชนที่ไม่มีโทรศัพท์มือถือ จะให้มีการลงทะเบียนและยืนยันตัวตนผ่านช่องทางที่กำหนด ระหว่าง 16 ก.ย. – 15 ต.ค. 67
- ใช้จ่ายผ่านบัตรประชาชน ร้านค้าจะต้องเปิดแอปฯ ระหว่างการใช้จ่าย เพื่อยืนยันสถานที่ และต้องเจอหน้ากัน
- ร้านค้าจะต้องบันทึกภาพของผู้ซื้อที่เป็นเจ้าของบัตรประชาชน
3. ร้านค้าลงทะเบียน 1 ต.ค. 67 เป็นต้นไป คาดว่าร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการฯ จะมีไม่ต่ำกว่า 2 ล้านร้านค้า แบ่งเป็น
- กลุ่มนิติบุคคลที่ขึ้นทะเบียนกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า จำนวน 9.01 แสนร้านค้า
- กลุ่มร้านธงฟ้าและร้านอาหารธงฟ้า จำนวน 1.98 แสนร้านค้า
- กลุ่มร้านค้าโชห่วย หาบเร่ แผงลอย ร้านอาหาร และร้านตลาดนัด ต้องขึ้นทะเบียนกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย จำนวน 4 แสนร้านค้า
- กลุ่มเกษตรกร วิสหากิจชุมชน สหกรณ์ ขึ้นทะเบียนกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จำนวน 9.3 หมื่นร้านค้า
- กลุ่มห้างค้าส่ง-ค้าปลีก ร้านสะดวกซื้อ ที่ขึ้นทะเบียนกับสมาคมค้าปลีกไทย จำนวน 50,000 ร้านค้า
- กลุ่มผู้ผลิต ห้างสรรพสินค้า ร้านค้าในเครือข่าย ร้านค้าในห้างสรรพสินค้า ที่ขึ้นทะเบียนกับสมาคมค้าปลีกไทย จำนวน 5 แสนร้านค้า
วิธีการใช้จ่ายกับร้านค้า
ประชาชนสามารถใช้จ่ายได้ภายในไตรมาส 4 ปี 67 กับร้านค้าขนาดเล็ก และร้านสะดวกซื้อขนาดเล็ก โดยไม่รวมห้างสรรพสินค้า ห้างค้าปลีก-ค้าส่งสินค้าขนาดใหญ่ระดับประเทศและระดับท้องถิ่น และในการซื้อสินค้า หากประชาชนมีที่อยู่ตามทะเบียนบ้านในอำเภอใด ก็ต้องซื้อสินค้าจากร้านค้าในอำเภอเดียวกันเท่านั้น และต้องซื้อขายแบบพบหน้า (Face to Face) ซึ่งคำว่าซื้อขายแบบพบหน้านี้จะมีการตรวจสอบด้วย
- ที่อยู่ของร้านค้าตามที่ลงทะเบียนโครงการฯ
- ที่อยู่ของประชาชนตามทะเบียนบ้านในขณะที่ลงทะเบียนโครงการฯ
- พิกัดที่อยู่ของประชาชนในขณะที่ใช้จ่ายกับร้านค้าต้องอยู่ในเขตอำเภอเดียวกัน การชำระเงินจึงจะสมบูรณ์
การใช้จ่ายระหว่างร้านค้ากับร้านค้า ร้านค้าทุกประเภทสามารถซื้อขายสินค้าระหว่างกันได้ และไม่มีการกำหนดเงื่อนไขว่าต้องเป็นการซื้อขายแบบพบหน้า (Face to Face) จึงซื้อขายสินค้าระหว่างกันได้แม้จะอยู่ต่างพื้นที่
สินค้าที่ซื้อไม่ได้
สลากกินแบ่งรัฐบาล (หวย) เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ผลิตภัณฑ์ยาสูบ กัญชา กระท่อม พืชกระท่อม ผลิตภัณฑ์กัญชาและกระท่อม บัตรกำนัล บัตรเงินสด ทองคำ เพชร พลอย อัญมณี น้ำมันเชื้อเพลิง ก๊าซธรรมชาติ เครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องมือสื่อสาร แต่จะไม่รวมถึงบริการต่าง ๆ อย่างไรก็ดี กระทรวงพาณิชย์อาจพิจารณาแก้ไขปรับปรุงรายการสินค้า Negative List เพิ่มเติมได้
ขั้นตอนการลงทะเบียนดิจิทัลวอลเล็ต
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน “ทางรัฐ” ทางระบบ IOS และ Android โดยมีขั้นตอนการลงทะเบียน ดังนี้
กลุ่มที่ 1 ไม่เคยยืนยันตัวตนผ่านแอปฯทางรัฐ
- เริ่มจากดาวน์โหลดแอปฯทางรัฐ
- ลงทะเบียนรับสิทธิ
- กดยอมรับเงื่อนไข 3 ครั้ง
- กรอกเลขบัตรประชาชน
- ชื่อที่อยู่ศัย วันเกิด ตามบัตรประชาชน
- ถ่ายรูปผ่านโทรศัพท์มือถือ
- ระบบจะส่งข้อมูลทั้งหมดไปที่ทะเบียนราษฎร์ เพื่อตรวจสอบว่าข้อมูล ใช้เวลา 1 วัน
- สร้าง Username และ Password และ Pin code
กลุ่มที่ 2 เคยยืนยันตัวตนแล้ว
- กดปุ่มทะเบียนรับสิทธิ ที่หน้าแรกในแอปฯทางรัฐ
- กดอนุญาตให้แอปฯเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคล
- อ่านรายละเอียดเงื่อนไขผู้ได้รับสิทธิและกดยอมรับเงื่อนไข
ทั้งนี้กระบวนการตรวจสอบข้อมูล ระบบจะแจ้งผลการตรวจสอบสิทธิหลังจากวันที่ 22 ก.ย. 67 เป็นต้นไป หากถูกปฏิเสธสิทธิระบบจะชี้แจงถึงเหตุผล เช่น อายุไม่ถึง 16 ปี มีรายได้ และเงินฝากเกินกำหนด เป็นต้น โดยผู้ที่ถูกปฏิเสธสามารถยื่นอุทธรณ์ได้ตามคำแนะนำของระบบ
ช่องทางติดต่อหน่วยงานรัฐ
- โทร 1111 คอลเซ็นเตอร์ศูนย์บริการข้อมูลทางรัฐเพื่อประชาชน
- ชื่อเว็บไซต์ภาษาไทย www.กระเป๋าดิจิทัล.รัฐบาล.ไทย
- ชื่อเว็บไซต์ภาษาอังกฤษ www.digitalwallet.go.th
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง