การประชุมคณะรัฐมนตรี ( ครม.) เมื่อ 13 พ.ค. 68 มีมติเห็นชอบทิศทางการวิจัยทางการศึกษาของชาติ ปี 2568 –2570 (ทิศทางการวิจัยทางการศึกษาฯ) นับเป็นครั้งแรกของประเทศ โดยกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เสนอกรอบทิศทางการวิจัย 4 ด้านใน 8 ประเด็น เพื่อมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหน่วยงานให้ทุน และหน่วยงานทำวิจัยทิศทางการวิจัยทางการศึกษาฯ ไปใช้เป็นกรอบในการพิจารณาให้ทุนและจัดทำงานวิจัยตามภารกิจของแต่ละหน่วยงาน
จากการประสานข้อมูลเมื่อ 5 ก.พ. 68 สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ระบุว่า หน่วยงานให้ทุน เช่น สำนักงานส่งเสริม วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (สกสว.) สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
สาเหตุที่ต้องกำหนดกรอบทิศทางวิจัยแห่งชาติ เนื่องจากพบว่างานวิจัยที่มีอยู่เดิมที่มีจำนวนมากแต่ไม่สอดคล้องกับบริบทของสังคมและการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน ส่งผลให้หน่วยงานระดับปฏิบัติไม่สามารถนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้
ประกอบกับประเทศไทย ยังไม่เคยจัดทำทิศทางการวิจัยด้านการศึกษามาก่อน ดังนั้น การจัดทำทิศทางการวิจัยทางการศึกษาฯ จะเป็นกรอบแนวทางในการพิจารณาการให้ทุนวิจัยแก่หน่วยงานทำวิจัยการศึกษา นำไปปฏิบัติเพื่อนำไปสู่การพัฒนาการศึกษาของประเทศไทยให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน
สาระสำคัญทิศทางวิจัยแห่งชาติ
- การวิจัยเพื่อพัฒนาแนวคิด ระบบ โครงสร้างและการจัดการศึกษาที่รองรับและตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงในทุกมิติ
- การวิจัยเพื่อกำหนดระบบการผลิตและพัฒนาทักษะกำลังคน ผู้เรียน และบุคลากรทางการศึกษาที่มุ่งสู่การยกระดับผลิตภาพโดยรวมของประเทศ
- การวิจัยเพื่อพัฒนาประสิทธิภาพระบบบริหารจัดการการศึกษา ที่มุ่งสู่การเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันทางการศึกษาในระดับนานาชาติ
- การวิจัยเพื่อสร้างระบบนิเวศทางการศึกษาที่สนับสนุนให้เกิดการศึกษาที่มีคุณภาพ ปราศจากความเหลื่อมล้ำและนำไปสู่สังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต ซึ่งคณะกรรมการสภาการศึกษา โดยมีรัฐมนตรีว่ากระทรวงศึกษาธิการเป็นประธานได้มีมติเห็นชอบแล้วเมื่อ 13 ธ.ค. 67
คลอบคลุมงานวิจัย 8 ประเด็น
กระทรวงศึกษาธิการโดยสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ได้จัดทำทิศทางการวิจัยทางการศึกษาฯ มี วัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาสถานการณ์ ความท้าทาย แนวโน้มและทิศทางการพัฒนาและการวิจัยทางการศึกษาของไทยและต่างประเทศ เพื่อศึกษา วิเคราะห์ความต้องการ ประเด็นปัญหา และเป้าหมายทางการศึกษาที่จะนำไปสู่การพัฒนาเป็นงานวิจัยทางการศึกษา และเพื่อให้มีทิศทางการวิจัยทางการศึกษาฯ ที่มีเป้าหมายเป็นไปในทิศทางเดียวกัน
ประเด็นวิจัยทางการศึกษา ประกอบด้วย 4 ด้าน ร่วม 8 ประเด็น ดังนี้
ด้านที่ 1 การวิจัยเพื่อพัฒนาแนวคิด ระบบ โครงสร้าง และการจัดการศึกษาที่รองรับและตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงในทุกมิติ เพื่อให้เกิดองค์ความรู้หรือข้อเสนอใหม่ในการพัฒนาการจัดการศึกษาให้รองรับและตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงในด้านต่าง ๆ ทุกมิติ และมีระบบนิเวศทางการศึกษาที่เอื้อต่อการเรียนรู้และการเปลี่ยนแปลง
(1 ) การเรียนรู้ตลอดชีวิต
- เพื่อระบบส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต
- ระบบการศึกษาแบบไร้รอยต่อ
- สภาพแวดล้อมและนิเวศการเรียนรู้
- ธนาคารหน่วยกิต คือ ระบบทะเบียนสะสมหน่วยกิตและการเทียบโอนผลการเรียนรู้ที่ได้จากการศึกษาในระบบต่าง ๆ เช่น การศึกษาในระบบและนอกระบบ การศึกษาตามอัธยาศัย หรือผลลัพธ์การเรียนรู้ที่ได้จากการฝึกอบรม และผู้เรียนสามารถเทียบโอนหน่วยกิตระหว่างสถานศึกษาได้
ประเด็นการวิจัย เช่น คุณวุฒิฉบับย่อย มุ่งเน้นการเรียนและพัฒนาทักษะเฉพาะและจำเป็น โดยอาจมีหน่วยกิตการเรียน 5-25 หน่วยกิต คุณวุฒินาโน มุ่งเน้นการเรียนและพัฒนาทักษะเฉพาะและจำเป็นในระยะเวลาสั้น ๆ โดยอาจมีหน่วยกิตการเรียน 1-4 หน่วยกิต เพื่อให้ผู้เรียนได้รับการพัฒนาความรู้ที่จำเป็นและเหมาะสมต่อการประกอบอาชีพ (ปัจจุบันได้มีการกำหนดจำนวนหน่วยกิตรวมในหลักสูตรการศึกษา ซึ่งรวมถึงหลักสูตรปริญญาตรีที่มีระยะการศึกษา 4 ปี มีหน่วยกิตการเรียนรวมไม่เกิน 120 หน่วยกิต) การเรียนรู้รูปแบบสั้น ๆ ซึ่งเป็นการเรียนรู้ในระยะเวลาสั้น ๆ ที่เน้นเนื้อหาเฉพาะเรื่อง ซึ่งผู้เรียนสามารถนำไปปรับใช้ในชีวิตหรือการทำงานจริงได้ และเมืองแห่งการเรียนรู้
(2) การศึกษาเพื่อสังคมสีเขียว หมายถึง แนวทางการศึกษาและหลักสูตรที่ส่งเสริมความรู้ ทักษะและจิตสำนึกเกี่ยวกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมความยั่งยืน การจัดการทรัพยากรธรรมชาติ และการพัฒนาวิถีชีวิตที่สอดคล้องกับหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
- นโยบายการศึกษาสีเขียวเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
- หลักสูตรและการจัดการเรียนการสอนเพื่อสังคมสีเขียวและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
- การจัดการเรียนการสอนเพื่อให้นักเรียนมีทัศนคติและทักษะที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น นวัตกรรมด้านหลักสูตร สื่อ และการจัดการเรียนการสอนเพื่อสังคมสีเขียว
ด้านที่ 2 การวิจัยเพื่อกำหนดระบบการผลิตและพัฒนาทักษะกำลังคน ผู้เรียน และบุคลากร เพื่อให้เกิดองค์ความรู้หรือข้อเสนอใหม่ที่ใช้ในการพัฒนาทักษะของรู้เรียนทุกช่วงวัยรวมทั้งบุคลากรทางการศึกษาทุกประเภท ที่เพียงพอในการยกระดับผลิตภาพโดยรวมของประเทศ
(1) การพัฒนาทักษะที่จำเป็น
- ทักษะในอนาคตที่ประเทศมีความต้องการ
- ระบบการส่งต่อและเชื่อมโยงในการพัฒนาทักษะ
- ความท้าทายและโอกาสด้านทักษะ
- การฝึกงาน
- การปรับหลักสูตรเพื่อมุ่งเน้นทักษะและสมรรถนะ
- การจัดการเรียนการสอนเพื่อพัฒนาทักษะ
เช่น นวัตกรรมระบบการพัฒนาทักษะใหม่(Re-Skills) และการยกระดับทักษะเดิม(Up-Skills) ที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดงาน และ ทักษะที่จำเป็นสำหรับอนาคตที่เกิดขึ้นใหม่ ๆและ นวัตกรรมหลักสูตรและการเรียนการสอน ที่มุ่งเน้นทักษะและสมรรถนะ
(2) ความเป็นพลเมืองและพลโลก หมายถึง การพัฒนาความรู้ ทักษะ และค่านิยมที่จำเป็นสำหรับการเป็นสมาชิกที่มีความรับผิดชอบในชุมชนประเทศ และโลก ส่งเสริมความข้ามในความหลากหลายทางวัฒนธรรมสิทธิมนุษยชน ความเป็นธรรม และการมีส่วนร่วมในการพัฒนาสังคมที่ยังยืน
- คุณลักษณะและการเสริมสร้างความเป็นพลเมืองและพลโลก
- การบูรณาการการบ่มเพาะความเป็นพลเมืองและพลโลกในหลักสูตรและการเรียนการสอนฃ
- พลเมืองดิจิทัล
- ช่องว่างระหว่างรุ่น
- การจัดการเรียนการสอนที่เหมาะสม
ด้านที่ 3 การวิจัยเพื่อพัฒนาประสิทธิภาพระบบบริหารจัดการการศึกษาที่มุ่งสู่การเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันทางการศึกษาในระดับนานาชาติ เพื่อให้เกิดองค์ความรู้หรือข้อเสนอใหม่ในการพัฒนาการบริหารจัดการการศึกษา รวมถึงการบริหารจัดการระบบนิเวศทางการศึกษาที่นำไปสู่การเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันทางการศึกษาในระดับนานาชาติ
1) การศึกษาที่มีคุณภาพ
- การพัฒนาคุณภาพสถานศึกษา
- การยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของผู้เรียน
- นวัตกรรมทางการศึกษาเพื่อรองรับ
- รูปแบบการศึกษาที่หลากหลาย
เช่น นวัตกรรมการเรียนการสอน นวัตกรรมการแนะแนว ,นวัตกรรมการติดตามประเมินผล ,แพลตฟอร์มการศึกษา
2) ความเสมอภาค – ลดความเหลื่อมล้ำ
- ระบบการศึกษาที่ยืดหยุ่นและเหมาะสมกับบริบทโรงเรียน/พื้นที่
- ระบบการดูแลช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง
- การมีส่วนร่วมและบทบาทของภาคส่วนต่าง ๆ ในการจัดการศึกษา
- การกระจายทรัพยากรเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา
- มาตรการเชิงระบบเพื่อลดความเหลื่อมล้ำของผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของโรงเรียน
- นวัตกรรมสนับสนุนการเข้าถึงการเรียนรู้
- นวัตกรรมการเงินเพื่อการศึกษา
3) ประสิทธิภาพทางการศึกษา
- การลงทุน การจัดสรรและการใช้ทรัพยากรที่มีประสิทธิภาพและได้ประโยชน์สูงสุด
- การมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่าง ๆในการลงทุนเพื่อการศึกษา เช่น นวัตกรรมการเงินเพื่อการศึกษา
- ช่องว่างระหว่างรุ่นและการปิดช่องว่างระหว่างรุ่น
- การฟื้นฟูภาวะการเรียนรู้ถดถอย
ปัจจุบันมีหน่วยงานที่พัฒนาทักษะทางการเงินให้แก่บุคลากรทางการศึกษาและนักเรียน เช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ดำเนินโครงการครูสตางค์ เพื่อพัฒนาและสร้างเครือข่ายครูแกนนำที่มีประสบการณ์ในการนำความรู้ทางการเงินไปประยุกต์ใช้ในห้องเรียนจริง ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการสร้างห้องเรียนการเงินในสถานศึกษาเพื่อสร้างเกราะป้องกันทางการเงินให้แก่เด็กไทยและต่อยอดสู่ความเป็นอยู่ทางการเงินที่ดีตลอดชีวิต (ข้อมูลจาก www.bot.or.th) และกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ดำเนินการให้ทุนเสมอภาคเพื่อสนับสนุนค่าครองชีพ ค่าอาหาร และค่ากิจกรรมต่าง ๆ แก่นักเรียนด้อยโอกาส ซึ่งเป็นตัวอย่างหนึ่งของนวัตกรรมทางการเงินเพื่อการศึกษา (ข้อมูลจาก www.eef.or.th)
ด้านที่ 4 การวิจัยเพื่อสร้างระบบนิเวศทางการศึกษาที่สนับสนุนให้เกิดการศึกษาที่มีคุณภาพปราศจากความเหลื่อมล้ำ และนำไปสู่สังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพื่อให้เกิดองค์ความรู้หรือข้อเสนอใหม่ที่เอื้อให้เกิดระบบนิเวศทางการศึกษาที่เหมาะสมกับการจัดการศึกษาในปัจจุบัน
1 )เทคโนโลยี เพื่อการศึกษา/การเรียนรู้
- โอกาสในการเข้าถึงเทคโนโลยีเพื่อการเรียนรู้ของนักเรียน นักศึกษาและประชาชน
- การบูรณาการเทคโนโลยีกับการเรียนการสอน
- ความปลอดภัยและจริยธรรมในการใช้เทคโนโลยี
- ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากปัญญาประดิษฐ์(Artificial Intelligence: AI)
- การวัดผลกระทบของเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อใช้สนับสนุนครูและนักเรียน เช่น การนำเทคโนโลยีและ AI มาใช้ประโยชน์เพื่อการเรียนรู้
- การพัฒนานวัตกรรมหลักสูตรที่มุ่งเน้น ทักษะและสมรรถนะด้านสื่อเทคโนโลยีและ AI เพื่อการเรียนรู้
ข้อเสนอแนะเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติ
1 .การวางแผน (P-Planning)
สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) เสนอคณะกรรมการสภาการศึกษาและคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ความเห็นชอบ ทิศทางการวิจัยทางการศึกษาฯ (เสนอในครั้งนี้) และจะเผยแพร่ไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและหรือประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อให้หน่วยงานต่าง ๆ ได้นำไปใช้ในการกำหนดแผนและขับเคลื่อนทิศทางการวิจัยทางการศึกษา โดยหน่วยงานที่มีภารกิจและเกี่ยวข้องในการวิจัยทางการศึกษา จัดทำแผนการวิจัยที่สอดคล้องกับทิศทางการวิจัยทางการศึกษาของชาติ
2.การจัดการและการจัดองค์กร (O-Organization)
สกศ. จัดให้มีเวทีการหารือเชิงนโยบายของหน่วยงานให้ทุนอุดหนุนการวิจัยเพื่อสนับสนุนทุนวิจัยที่มุ่งสู่เป้าหมายเดียวกัน เพื่อสร้างความร่วมมือและขยายความร่วมมือไปสู่การจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ เพื่อพัฒนากลไกในการบูรณาการและประสานความร่วมมือในระบบการวิจัยทางการศึกษา
- หน่วยงานให้ทุนวิจัย8 และ สกศ. ส่งเสริมและสนับสนุนนักวิจัยและบุคลากรในระดับอุดมศึกษาให้มีส่วนร่วมในการวิจัยเชิงนโยบายกับภาครัฐมากยิ่งขึ้น
- หน่วยงานที่มีภารกิจและเกี่ยวข้องในการวิจัยทางการศึกษากำหนดบทบาท หน้าที่และความรับผิดชอบของแต่ละฝ่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อรองรับการดำเนินงานวิจัยทางการศึกษาอย่างชัดเจนและเหมาะสม
3.การนำ(L-Leading)
- สกศ. จัดให้มีเวทีหรือแพลตฟอร์มเพื่อขับเคลื่อนการทำงานร่วมกันระหว่างหลายหน่วยงานมากขึ้น ส่งผลให้สามารถผลิตงานวิจัยที่สอดคล้องกับการใช้งานได้
- หน่วยงานที่มีการวิจัยทางการศึกษา ควรกำหนดแรงจูงใจ การออกแบบงานไว้ในแผนเพื่อการบรรลุเป้าหมาย
4.การควบคุม(C-Controlling)
สกศ. ร่วมกับหน่วยงานให้ทุนวิจัยและสถาบันอุดมศึกษาในการส่งเสริมการพัฒนาการวิจัยทางการศึกษาอย่างต่อเนื่องในระยะต่อไป
- สกศ. ติดตามผล รายงานผล และประเมินผลในภาพรวม
- หน่วยงานที่มีโครงการวิจัยทางการศึกษาติดตามผล รายงานผล และประเมินผลให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจากการประสานข้อมูลเมื่อ 6 ก.พ.68 สกศ. แจ้งว่า (1) หน่วยงานที่มีภารกิจและเกี่ยวข้องในการวิจัยทางการศึกษา คือ หน่วยงานที่มีภารกิจการวิจัยโดยตรง เช่น สกศ. (2) หน่วยงานให้ทุนวิจัย คือ หน่วยงานที่มีการจัดสรรทุนให้กับผู้วิจัย เช่น สกสว. วช. และ (3) หน่วยงานที่มีการวิจัยทางการศึกษา คือ หน่วยงานที่ไม่มีภารกิจการวิจัยโดยตรงแต่เป็นหน่วยงานสนับสนุนด้านการวิจัยทางการศึกษาเช่น สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาชั้นพื้นฐาน
ประโยชน์และผลกระทบที่เกิดขึ้น
หลังจากประกาศกระทรวงศึกษาธิการลงในราชกิจจานุเบกษา ทำให้หน่วยงานปฎิบัติด้านการศึกษามี ทิศทางการวิจัยทางการศึกษาที่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ส่งผลให้หน่วยงาน/ผู้ที่เกี่ยวข้องใช้เป็นแนวทางในการจัดทำวิจัยอย่างเป็นระบบ มุ่งไปทิศทางเดียวกันตอบโจทย์ความต้องการทางการศึกษาอย่างแท้จริง
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง:
ความยากจนเกษตรกรไทย ฉุดคุณภาพชีวิตเด็ก