แม้จะมีการกระจายอำนาจให้กับท้องถิ่นไปบางส่วน ตามพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมการปกครองตนเองของท้องถิ่น และเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการสาธารณะแก่ประชาชน
แต่ดูเหมือนว่าในทางปฏิบัติ ยังมีการตีความความหมายและการกระจายในหลายประเด็นที่แตกต่างกัน จนทำให้ท้องถิ่นจำนวนไม่น้อย ไม่กล้าที่จะดำเนินงานบริการสาธารณะที่เป็นหัวใจของกฎหมายไปปฏิบัติ
การยกระดับการศึกษาและคุณภาพชีวิตเด็กและเยาวชน ถือเป็นกรณีที่ยังมีคำถามถึงการกระจายอำนาจการจัดการของถิ่นว่า สามารถทำได้มากน้อยเพียงใด เนื่องจากปัจจุบัน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทั่วประเทศ ยังคงถูกปิดกั้นจากการเข้ามาร่วมสนับสนุนภารกิจการศึกษาในหลายด้าน แม้จะเป็นการใช้งบประมาณของท้องถิ่นเอง ในการสร้างประโยชน์ให้กับนักเรียนและผู้ปกครองในโรงเรียนสังกัดท้องถิ่นเอง
กรณีดังกล่าว คณะกรรมาธิการพัฒนาการเมืองฯ สภาผู้แทนราษฎร ที่มี พริษฐ์ วัชรสินธุ สส. พรรคประชาชน ประธานคณะกรรมาธิการฯ ได้หยิบยกเรื่องดังกล่าวมาพิจารณา หลังได้รับข้อมูลเกี่ยวกับความกังวลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหลายแห่ง ในเรื่องขอบเขตอำนาจหน้าที่ของตนเอง ในการนำงบประมาณของท้องถิ่นมาสนับสนุนภารกิจด้านการศึกษาในพื้นที่ โดยเฉพาะเรื่องการจัดรถรับส่งนักเรียน และการอุดหนุนอาหารกลางวันให้นักเรียนมัธยม
ตามระเบียบการการจัดสรรงบประมาณอาหารกลางวันในโรงเรียน และการจัดรถรับส่งนักเรียน ตามกฎหมายจะให้อำนาจ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจะทำหน้าที่จัดสรรงบประมาณเงินอุดหนุนค่าอาหารกลางวันให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (เช่น เทศบาล, อบต.) เพื่อนำไปบริหารจัดการและจัดซื้ออาหารกลางวันให้กับโรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.).
ขณะที่ สพฐ.จะทำหน้าที่กำกับดูแลและให้แนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการบริหารจัดการงบประมาณอาหารกลางวันให้กับโรงเรียนในสังกัดของตนเอง แต่พบว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นส่วนใหญ่ความกังวลในขอบเขตอำนาจการจัดการ ว่าสามารถจัดสรรงบประมาณอาหารกลางวัน และจัดรถรับส่งนักเรียนได้หรือไม่ โดยเฉพาะนักเรียนมัธยมปี1และ มัธยมปี 6
ท้องถิ่นส่วนใหญ่ยังมีความเข้าใจว่าไม่สามารถนำงบประมาณของท้องถิ่นมาอุดหนุนค่าอาหารกลางวันให้กับนักเรียนมัธยมปี1 และ มัธยมปี 6ในโรงเรียนมัธยมของท้องถิ่นเองได้ รวมไปถึงไม่สามารถนำงบประมาณดังกล่าวไปอุดหนุนการจัดรับส่งนักเรียนได้
“กระจายอำนาจท้องถิ่น”การตีความที่แตกต่างกัน
สิ่งที่องค์กรส่วนท้องถิ่นสะท้อนมายัง คณะกรรมาธิการพัฒนาการเมือง คือ ความกังวลเรื่องขอบเขตอำนาจในการจัดสรรงบประมาณ เช่น กรณีรถรับส่งนักเรียนแม้กฎหมายไม่ได้มีเขียนห้ามไว้ แต่ด้วยข้อความที่คลุมเครือต่อการตีความ ว่าการจัดรถรับส่งนักเรียนสามารถจัดโดยทั่วไป หรือ จัดให้ได้เฉพาะ “เด็กที่ด้อยโอกาส” แต่จัดให้ทุกคนไม่ได้
บางแห่งระบุว่า จัดได้ แต่ให้นับว่าเป็นภารกิจท้องถิ่นเรื่อง “การสังคมสงเคราะห์” แต่ไม่ให้นับว่าเป็นภารกิจท้องถิ่นเรื่อง “การศึกษา” และให้จัดได้เฉพาะนักเรียนในโรงเรียนสังกัดท้องถิ่น แต่จัดให้นักเรียนในโรงเรียนสังกัดอื่น เช่น สพฐ. ไม่สามารถจัดสรรงบประมาณให้ได้
เช่นเดียวกัน กรณี อาหารกลางวันนักเรียน แม้รัฐบาลจะมีการอุดหนุนงบอาหารกลางวันให้กับนักเรียนประถมทุกโรงเรียน และนักเรียน มัธยมต้น ปี1 และ ปี 3 ในโรงเรียนขยายโอกาส แต่ท้องถิ่นหลายแห่งมีความเข้าใจว่าท้องถิ่นไม่สามารถนำงบมาอุดหนุนค่าอาหารกลางวันให้กับนักเรียนตั้งแต่ปีที่ 1 ถึง ปีที่ 6 ในโรงเรียนมัธยมของท้องถิ่นเองได้
อย่างไรก็ตาม พริษฐ์ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการพัฒนาการเมือง ได้เสนอมุมมองทางกฎหมายท้องถิ่นน่าจะมีอำนาจดำเนินการในการดำเนินการได้ ทั้งเรื่องของการสนับสนุนงบอาหารกลางวัน และ งบการจัดรถรับส่งนักเรียน
เนื่องจากอำนาจตาม พระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด ( อบจ. )และ พระราชบัญญัติเทศบาล (เทศบาล ) ได้ถูกแก้ไขเพิ่มเติมในปี 2562 ซึ่งระบุชัดเจนว่า อบจ. และ เทศบาล มีอำนาจหน้าที่ “จัดการ ส่งเสริม และสนับสนุนการจัดการศึกษา” ซึ่งควรครอบคลุมการจัดรถรับส่งนักเรียนและการอุดหนุนอาหารกลางวันให้กับนักเรียนในสถานศึกษาทุกสังกัดในพื้นที่
3 กังวลอำนาจท้องถิ่นสนับสนุนการศึกษา
คณะกรรมาธิการพัฒนาการเมือง สรุปความกังวลของท้องถิ่นในการจัดการบริการสาธารณะเรื่อง การจัดรถรับส่งนักเรียน และการอุดหนุนอาหารกลางวันดังนี้
- ท้องถิ่น ยังไม่ได้รับความชัดเจนว่าสามารถจัดรถรับส่งโรงเรียน ได้หรือไม่
- การจัดรถรับส่งนักเรียน ถือว่าเป็นวิธิหนึ่งที่ท้องถิ่นควรจะทำได้ เพื่ออำนวยความสะดวกและลดภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาให้กับผู้ปกครอง
- แต่ปัจจุบัน ท้องถิ่นยังไม่ได้รับความชัดเจนว่าสามารถสนับสนุนงบประมาณเพื่อจัดรถรับส่งให้กับนักเรียนทุกคนในโรงเรียนสังกัดท้องถิ่นได้หรือไม่
- พอไม่มีความชัดเจนว่าการดำเนินการดังกล่าวอยู่ในอำนาจหน้าที่ของท้องถิ่นหรือไม่ ท้องถิ่นส่วนใหญ่ก็อาจเลือกไม่เดินหน้าต่อ เพราะเสี่ยงที่จะถูกเล่นงานโดยหน่วยงานสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินตรวจสอบ
- ท้องถิ่น ยังสนับสนุนอาหารกลางวัน ให้นักเรียนมัธยมในโรงเรียนท้องถิ่น ไม่ได้ทั้งหมด
- ในเชิงนโยบาย รัฐบาลมีการอุดหนุนงบอาหารกลางวันให้กับนักเรียนประถมในทุกโรงเรียน และนักเรียน มัธยมต้น ม.1-3 (เฉพาะในโรงเรียนขยายโอกาส)
- แม้ท้องถิ่นอยากใช้งบของท้องถิ่น มาอุดหนุนค่าอาหารกลางวันให้กับนักเรียนมัธยมทุกคน ม.1-6 ในโรงเรียนมัธยมของท้องถิ่น แต่ปัจจุบันท้องถิ่นยังไม่สามารถทำได้
- ข้อกังวลหากอนุญาตให้ท้องถิ่นอุดหนุนงบอาหารกลางวันนักเรียนมัธยม คือจะทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำระหว่างนักเรียนในโรงเรียนมัธยมของท้องถิ่น ที่ได้งบอาหารกลางวัน กับนักเรียนในโรงเรียนมัธยมของกระทรวงศึกษาธิการที่ไม่ได้งบอาหารกลางวัน
- ท้องถิ่น ยังเจอข้อจำกัดเรื่องอัตราและกรอบเวลาเรื่องทุนการศึกษา สำหรับเด็กยากจน
- การอุดหนุนงบประมาณเพิ่มเติมด้านการศึกษาให้กับนักเรียนจากครอบครัวยากจน เป็นวิธีหนึ่งที่รัฐพยายามใช้ในการลดความเหลื่อมล้ำและป้องกันเด็กหลุดออกจากระบบเพราะปัญหาทางการเงิน
- ปัจจุบัน ท้องถิ่นมีอำนาจในการออกนโยบายและจัดสรรงบประมาณมาอุดหนุนทุนการศึกษาให้กับนักเรียนจากครอบครัวยากจนได้ ตามระเบียบของกระทรวงมหาดไทย พ.ศ. 2561 แต่นโยบายดังกล่าวยังมีข้อจำกัดที่ถูกวางไว้ โดยส่วนกลาง 2 เรื่อง คือ เรื่อง อัตรา – ส่วนกลางมีการกำหนดเพดานไว้ ว่าท้องถิ่นจะอุดหนุนทุนการศึกษาได้ไม่เกินกี่บาทต่อคน (2,000 บาท/คน/ปี สำหรับประถม / 4,000 บาท/คน/ปี สำหรับมัธยมต้น / 4,000 บาท/คน/ปี สำหรับมัธยมปลาย) และเรื่อง กรอบเวลา – ส่วนกลางมีการกำหนดไว้ ว่านักเรียนที่จะมีสิทธิได้รับทุน จะต้องมีภูมิลำเนาในพื้นที่เกิน 1 ปี (เช่น นักเรียนยากจนที่เพิ่งย้ายจากเชียงใหม่มาเรียนที่ลำพูน จะต้องรออีก 1 ปีหลังย้ายทะเบียน ถึงจะมีสิทธิได้รับทุนดังกล่าว)
มหาดไทยปลดล็อกท้องถิ่นหนุนการศึกษาได้
กรรมาธิการพัฒนาการเมือง จึงได้นำเรื่องดังกล่าวเข้ามาพิจารณา ในการประชุมเมื่อ 15 พ.ค. 68 โดยเชิญทั้งกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย และ สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) มาร่วมชี้แจงเพื่อให้มีการปลดล็อกระเบียบเกี่ยวกับอำนาจท้องถิ่นด้านการศึกษา อย่างน้อยใน 3 เรื่อง รถรับส่ง – อาหารกลางวัน – ทุนการศึกษา
กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นยืนยันในที่ประชุมวันนั้นว่าเห็นตรงกัน ว่าการจัดรถรับส่งให้นักเรียนทุกคนในโรงเรียนสังกัดท้องถิ่นสามารถทำได้ และ เมื่อ 3 ก.ค. 2568 ได้ส่งหนังสือ ชี้แจงกับกมธ. ยืนยันเป็นลายลักษณ์อักษรว่า ท้องถิ่นสามารถนำงบประมาณมาสนับสนุนภารกิจด้านการศึกษาดังต่อไปนี้
- จัดรถรับส่งนักเรียนให้กับนักเรียนทุกคนในโรงเรียนสังกัดท้องถิ่นได้ (ไม่ใช่แค่เฉพาะนักเรียนรายได้น้อย เหมือนที่เคยเป็นที่เข้าใจ)
- จัดรถรับส่งนักเรียนให้กับนักเรียนทุกคนในโรงเรียนสังกัดอื่นภายในพื้นที่ได้
- อุดหนุนอาหารกลางวันให้กับนักเรียนมัธยมทุกคน (ม.1-6) ในโรงเรียนมัธยมของท้องถิ่นเองได้
หนังสือยืนยันจากกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น จึงถือเป็นการปลดล็อกให้ท้องถิ่นจัดทำบริการสาธารณะในพื้นที่ในภาพรวมได้อย่างเต็มที่ ให้ท้องถิ่นเดินหน้านโยบายเกี่ยวกับรถรับส่งนักเรียนและอาหารกลางวันนักเรียนมัธยมได้โดยไม่ต้องกังวลว่าจะมีการตรวจสอบจากสตง.เพื่อให้มีการกระจายอำนาจจัดทำบริการสาธารณะสู่ท้องถิ่นอย่างแท้จริง
อ่านเนื้อหาที่เกี่ยวข้อง