“เห็ดเผาะ” หรือที่คนพื้นเมืองเรียกกันว่าเห็ดถอบ เป็นเห็ดที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติในป่าเต็งรัง ปัจจุบันเห็ดเผาะเป็นที่รู้จักและชื่นชอบในวงกว้าง จนกลายเป็นวัตถุดิบเชิงพาณิชย์ และในเวลาเดียวกัน ชาวบ้านที่เก็บเห็ดเผาะถูกตีตราว่าเป็นคนก่อให้เกิดไฟป่าและฝุ่นควัน
แต่ในความเป็นจริง ความย้อนแย้งและความไม่เข้าใจต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น อาจมาจากการขาดข้อมูลที่ถูกต้องหรือการศึกษาในเรื่องต่างๆ ที่ยังไม่เพียงพอก็ได้
เห็ดและชาวบ้าน
สำหรับชาวบ้านแล้ว การเก็บเห็ดเผาะไม่ได้เป็นอาชีพเสมอไป แต่เป็นการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับธรรมชาติ ต้นฤดูฝนจะเป็นฤดูที่ชาวบ้านรอคอย ถ้าปีไหนมีอากาศร้อนมากและตามมาด้วยฝน จะเป็นปีที่เห็ดถอบออกมาก เช่นในปี 2567 ที่ผ่านมาเป็นปีทองของเห็ดถอบ
การไปหาเห็ดถอบเป็นสิ่งที่รื่นรมย์เหมือนการไปเที่ยวป่า เป็นช่วงเวลาที่ชาวบ้านได้คุยกับเพื่อน ๆ อย่างสนุกสนาน การเก็บเห็ดไม่ใช่งาน และในอีกแง่มุมหนึ่ง การเข้าป่าเป็นเครื่องมือที่ทำให้ชาวบ้านรู้ถึงศักยภาพที่ตัวเองยังมี และศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ของผู้คนไว้
ในปัจจุบัน เหตุผลหลักที่ชาวบ้านยังสามารถเข้าไปเก็บเห็ดได้ เพราะว่าเห็ดและของป่าเป็นกรรมสิทธิ์ส่วนร่วม และยังไม่มีการสวมสิทธิ์ในลักษณะเอกชน
วัฒนธรรมการกินเห็ดเผาะที่ ‘กลายพันธ์’
เห็ดเผาะเป็นทรัพยากรตามฤดูกาล และในขณะเดียวกันเห็ดเผาะก็เป็นที่ต้องการของตลาดภายนอกที่ไม่ใช้แค่วัตถุดิบภายในชุมชนอีกต่อไป ความต้องการ (Demand) ของเห็ดเผาะที่เพิ่มขึ้นมาจากหลายปัจจัย
เช่น การคมนาคมขนส่งที่ช่วยเชื่อมโยงเมืองและหมู่บ้านในเขตป่าเข้าด้วยกัน เทคโนโลยีสมัยใหม่ที่แพร่กระจายข่าวสารได้เร็วและในวงกว้าง สังเกตได้จากเกิดขึ้นของเพจขายเห็ดเผาะต่างๆ หรือการค้นหา ‘เห็ดเผาะ’ บน Google ที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ทำให้เกิดเติบโตของร้านอาหาร และการท่องเที่ยวในเมืองเชียงใหม่ก็มีการเติบโตก้าวกระโดดที่เช่นเดียวกัน
หลายๆ อย่าง ส่งผลให้มีการเปลี่ยนแปลงสินค้าของเห็ดถอบ และทำให้ราคาเห็ดถอบราคาสูงขึ้นเรื่อย ๆ เช่น จากกิโลกรัมไม่กี่สิบบาท เป็นราคากิโลกรัมละหลักร้อย
ทำไมเห็ดถึงถูกโยงกับไฟป่า?
การเก็บหาของป่าถูกโยงเข้ากับปัญหาไฟป่าโดยอัตโนมัติ ไม่มีการตั้งคำถามหรือหาที่มาที่ไปอย่างชัดเจน มากไปกว่านี้สังคมยังขาดความเข้าใจในเรื่องของความแตกต่างระหว่างการชิงเผาและการเผาป่า
ความจริงแล้ว การเผาป่ากับการใช้ไฟนั้นแตกต่างกัน “การใช้ไฟ” หรือ “ชิงไฟ” เป็นการลดการเชื้อเพลิงในป่าเต็งรังและมีการควบคุมไม่ให้ลามออกนอกพื้นที่ ในขณะที่ “การเผาป่า” เป็นการใช้ไฟเพื่อวัตถุประสงค์ที่ต้องการกลั่นแกล้ง หรือมีที่มาจากความขัดแย้งหลาย ๆ อย่างมากกว่า
ข้อมูลที่ไม่เพียงพอ นำพาไปสู่ข้อโต้แย้ง
- ไฟมีผลต่อการเติบโตและความสมบูรณ์ของเห็ดอย่างไร?
ยังไม่มีข้อมูลที่แน่ชัดในเรื่องของการใช้ไฟว่าส่งผลอะไรต่อเห็ดเผาะหรือไม่ เนื่องจากมีหลายความเชื่อและทฤษฎีที่หลากหลาย ที่หลายฝ่ายมีความเข้าใจที่แตกต่างกันไป เพราะฉะนั้นแล้วเรื่องของไฟและการเติบโตของเห็ดเผาะนั้นยังถือว่าเป็น ‘ช่องว่างทางความรู้’
สำหรับชาวบ้าน พวกเขาบอกว่าถ้าไม่เผา เห็ดถอบไม่ขึ้น หรือจะขึ้นไม่มาก
ในอีกด้าน มีข้อมูลจากงานวิจัยที่ทำโดยอาจารย์วนศาสตร์ปี 2561 ที่ห้วยขาแข้ง และอีกชิ้นที่มีข้อสรุปเดียวกันว่า ไฟไม่ใช่ปัจจัยทำให้เห็ดขึ้น แต่เป็นเรื่องของสภาพภูมิอากาศที่ทำให้เห็ดออกมากกว่า
มีการทดลองเพื่อศึกษาเห็ดเผาะที่เติบโตในแปลงที่ใช้ไฟเผาทุกปี 2 ปี 6 ปี และอีกแปลงที่ไม่มีการเผาเลย ซึ่งได้ข้อมูลว่าคุณภาพของเห็ดและน้ำหนักจะสูงกว่าในแปลงที่มีการเผา จากตรงนี้จะเห็นได้ว่าทฤษฎีในเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างเห็ดเผาะและไฟยังหาข้อสรุปไม่ได้
- สรุปว่าการดูแลป่าเต็งรังต้องมีการเผาหรือไม่?
การ “ชิงเผา” เป็นการเผาตามกำหนด ด้วยจุดประสงค์ที่ต้องการควบคุมไฟไม่ให้มีความรุนแรงที่มากเกินไปหรือบริเวณกว้าง และยังเป็นการช่วยฟื้นฟู ปรับสภาพระบบนิเวศอีกด้วย ผู้เชียวชาญชี้ว่า ป่าบางชนิดต้องถูกการโดนเผาไฟ โดยเฉพาะป่าเต็งรัง ไม่เช่นนั้นจะทำให้ป่าเต็งรังกลายเป็นป่าชนิดอื่นและทำลายความหลากหลายของประเภทป่า
ผู้ชำนาญหลายฝ่ายรวมถึงชาวบ้านมีความเห็นว่า ไม่มีปัญหาเรื่องการชิงเผา และการชิงเผาจะอยู่ในแผนการจัดการไฟป่า นอกจากนี้ถึงแม้ว่าปีไหนจะมีการประกาศห้ามเผา ในสุดท้ายแล้วก็จะพบว่ามีการชิงเผาเกิดขึ้นอยู่ดี ซึ่งสื่อให้เห็นว่ามาตรการที่ประกาศออกมาอาจจะไม่ตอบโจทย์ หรือ ยังขาดความไม่เข้าใจกันของหลายๆ ฝ่าย
ปัจจุบันยังมีข้อถกเถียงว่าหากมีการชิงเผา การชิงเผาในปริมาณไหน ถี่แค่ไหน คือที่สมควรและเหมาะสม ยกตัวอย่างเช่น งานของนักวนศาสตร์ที่ห้วยขาแข้ง ชี้ว่าระยะการเผาที่เหมาะสมคือทุก 2 ปี เพื่อให้ป่าเต็งรังมีสเถียรภาพ แต่ถ้ามีการเผาทุกปี ป่าจะเกิดแนวโน้มที่เสื่อมลงได้เหมือนกัน
- ขาดเครื่องมือในการช่วยคำนวณหรือไม่?
อย่างที่เกลิ่นไปก่อนหน้านี้ ในบางทฤษฎีการใช้ไฟเพื่อจัดการป่าอาจจะไม่ใช่สิ่งไม่ดีเสมอไป แต่ความเป็นจริง ปัญหาใหญ่และคำถามใหญ่อาจจะอยู่ที่ ‘จะควบคุมไฟอย่างไรเพื่อให้เกิดผลดี’ มากกว่า และทำอย่างไรให้การจัดการไฟไม่ก่อปัญหาฝุ่นควันโดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีลักษณะแอ่งกระทะแบบเมืองเชียงใหม่
ปัจจุบันเราต้องมีหลักการคิดวิเคราะห์มากกว่าเดิม การชิงเผาต้องดูข้อมูลจากหลายด้าน เช่น ดูสภาพภูมิอากาศ ทิศทางลม ดัชนีระบายอากาศเป็นตัวชี้วัดว่าจะชิงเผาได้หรือไม่ได้ ระบบ Fire D ที่ใช้ ณ ขณะนี้สามารถบอกแค่ว่าจะอนุมัติเผาหรือไม่เผา ยังไม่มีข้อมูลในเชิงลึกว่าชิงเผาได้เท่าไหร่ในแต่ละวัน ด้วยข้อกำหนดว่าเมืองเชียงใหม่จะยอมรับได้
เพราะฉะนั้น ควรจะต้องมีการศึกษาและหาชุดความรู้หลายอย่างมากขึ้นในการจัดการการใช้ไฟ เพื่อให้คน-เห็ด-ป่าสามารถอยู่ร่วมกันได้
ที่มา: สภาลมหายใจเชียงใหม่