การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ หรือ Climate Change สร้างความเสียหายโดยตรงต่อภาคเกษตรไทยที่ต้องพึ่งพาฟ้าฝนเป็นหลักในการเพาะปลูก โดยเฉพาะข้าวที่เป็นพืชเศรษฐกิจหลักจะมีผลผลิตลดลง
ในปี 2024 คาดการณ์ว่าสภาพอากาศโลกจะแปรปรวน เนื่องจากจะเกิดเอลนีโญและลานีญาในปีเดียวกัน หรือ เรียกว่าปรากฏการณ์เอนโซ่ (ENSO) โดยเกิดเอลนีโญที่ทำให้เกิดภัยแล้งในราวครึ่งปีแรก และลานีญา ที่ทำให้เกิดฝนตกหนักในช่วงครึ่งปีหลัง
อ่านเพิ่มเติม จาก”เอลนีโญ” สู่ “ลานีญา” จับตาสภาพอากาศช่วงเปลี่ยนผ่าน
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกมีความแปรปรวนชัดขึ้นตั้งแต่ปี 2016 เมื่อเทียบกับก่อนปี 2016 สะท้อนผ่านการเกิดปรากฎการณ์เอลนีโญและลานีญาที่ยาวนานขึ้นต่อรอบ เช่น ระยะเวลาการเกิดเอลนีโญตั้งแต่ปี 2016 กินเวลายาวนานขึ้นอยู่ที่ 10-19 เดือนต่อรอบ จากเพียง 5-9 เดือนต่อรอบในช่วงก่อนปี 2016 ขณะที่การเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกก็ปรับสูงขึ้นด้วยเป็น 1 องศาเซลเซียส จาก 0.7 องศาเซลเซียส
ผลจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่รุนแรงขึ้นดังกล่าว ส่งผลให้ไทยซึ่งเป็นประเทศเกษตรกรรมที่ต้องพึ่งพาดินฟ้าอากาศเป็นหลัก จะได้รับผลกระทบและกดดันต่อภาพรวมผลผลิตสินค้าเกษตรให้ลดลง สะท้อนจากดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรที่ปรับตัวลดลงในปี 2016-2023 มาเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 108 จากเฉลี่ยที่ระดับ 117 ในปี 2008-2015
หากพิจารณาในรายพืชเกษตรสำคัญอย่างข้าว ที่จะนำมาวิเคราะห์เป็นหลัก เนื่องจากข้าวมีพื้นที่ปลูกมากที่สุดกว่า 44% ของพื้นที่เกษตรทั้งประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่อยู่นอกเขตชลประทานถึง 80% ของพื้นที่ปลูกข้าวทั้งประเทศ จึงพบว่า ผลผลิตข้าวเฉลี่ยต่อปีก็ลดลงด้วย จาก 34.6 ล้านตัน เป็น 31.5 ล้านตัน (รูปที่ 2)
หากพิจารณารายภาค พบว่า ข้าวในภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้รับผลกระทบมากที่สุดจาก Climate Change ที่รุนแรงขึ้นเมื่อเทียบกับภาคอื่น โดยข้าวภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีสัดส่วนสูงถึง 43% ของผลผลิตข้าวทั้งประเทศ ตามด้วยภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้
ทั้งนี้ หากเทียบในช่วงเวลาก่อนและหลังปี 2016 พบว่า Climate Change ที่รุนแรงขึ้น ทำให้ผลผลิตข้าวในภาคตะวันออกเฉียงเหนือลดลงมากที่สุดเฉลี่ยถึง 1.5 ล้านตันต่อปี หรือลดลงกว่า 9.8% เนื่องจากพื้นที่ปลูกข้าวส่วนใหญ่อยู่นอกเขตชลประทานที่ปลูกข้าวนาปีเป็นหลัก จึงต้องพึ่งพาน้ำฝน ขณะที่ภาคเหนือและภาคกลางอาจได้รับผลกระทบรองลงมา เนื่องจากพื้นที่ปลูกข้าวส่วนใหญ่อยู่ในเขตชลประทานที่ปลูกข้าวนาปรัง ซึ่งยังสามารถพึ่งพาน้ำในเขื่อนได้ ทำให้ผลผลิตข้าวภาคเหนือลดลง 9.5% และภาคกลางลดลงที่ 8.4%
มองต่อในปี 2024 จากที่หน่วยงานหลักด้านสภาพภูมิอากาศ ได้คาดการณ์ว่า Climate Change จะมีความรุนแรงขึ้นอีกจากสภาพอากาศโลกที่แปรปรวน (เกิดเอลนีโญและลานีญาในปีเดียวกัน) โดยองค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติ (NOAA) พยากรณ์ ณ เดือนพ.ค.2024 ว่าสภาพภูมิอากาศโลกจะมีความแปรปรวนมากขึ้นในปี 2024 จากการเผชิญทั้งเอลนีโญที่ทำให้เกิดภัยแล้งในราวครึ่งปีแรก
คาดว่า เอลนีโญจะอ่อนกำลังลงในเดือนพ.ค.นี้ จนอาจถือได้ว่าเอลนีโญสิ้นสุดลงด้วย และคาดว่าในครึ่งปีหลังราวช่วงเดือนก.ค.-ก.ย.มีโอกาสสูงถึง 69% ที่จะพัฒนาเกิดเป็นลานีญาที่ทำให้เกิดฝนตกชุก (รูปที่ 4) โดยเฉพาะในเดือนส.ค.-ต.ค.ที่กรมอุตุนิยมวิทยาของไทย คาดการณ์ว่าไทยอาจได้รับอิทธิพลจากลมพายุหมุนเขตร้อน 1-2 ลูก ทำให้เกิดฝนตกหนัก/น้ำท่วมฉับพลันได้ในบางพื้นที่
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ในปี 2024 ภาวะ Climate Change อาจรุนแรงขึ้นอีกจากทั้งเอลนีโญและลานีญาที่ทำให้เกิดน้ำแล้งและน้ำท่วมในปีเดียวกัน ส่งผลให้ผลผลิตข้าวของไทยทั้ง 3 ภาคอาจลดลงเมื่อเทียบกับปี 2023 โดยเฉพาะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ข้าวอาจได้รับความเสียหายมากที่สุด ขณะที่ภาคเหนือและภาคกลาง คงมีความเสียหายรองลงมาในระดับที่ใกล้เคียงกัน
โดยผลผลิตข้าวภาคตะวันออกเฉียงเหนืออาจลดลงมากที่สุดถึง 9%YoY จากข้าวนาปีที่เสียหายเป็นหลักจากลานีญาในครึ่งปีหลัง ขณะที่ทั้งผลผลิตข้าวภาคเหนือที่อาจลดลง 8.6%YoY และผลผลิตข้าวภาคกลางที่อาจลดลง 8.7%YoY จะเสียหายจากข้าวนาปรังเป็นหลักจากเอลนีโญในครึ่งปีแรก
สำหรับผลผลิตข้าวทั้งปี 2024 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ผลผลิตข้าวรวมทั้งประเทศปี 2024 อาจลดลง 10% จาก 33.6 ล้านตันในปี 2023 เป็น 30.4 ล้านตันในปี 2024 ทั้งนี้ ผลผลิตข้าวรวมปี 2024 ที่ 30.4 ล้านตัน คงเป็นปริมาณข้าวใกล้เคียงกับช่วงปี 2020-2022 ที่มีผลผลิตข้าวเฉลี่ย 31.1 ล้านตัน เนื่องจากคาดว่า ไทยอาจมีปริมาณฝนเฉลี่ยทั้งปี 2024 อยู่ที่ 1,620 มิลลิเมตร (คาดการณ์จากข้อมูลปริมาณฝนของกรมอุตุนิยมวิทยา) ซึ่งเป็นระดับปริมาณฝนที่ใกล้เคียงกับปี 2020-2022 ที่เฉลี่ยอยู่ที่ 1,607 มิลลิเมตร