การรับรู้ของคนทั่วไปเกี่ยวกับสถานการณ์สิ่งแวดล้อมเลวร้ายลงทุกปี แต่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯรายงานสถานการณ์สิ่งแวดล้อมของไทยในปีที่ผ่านมา กลับระบุว่าดีขึ้นและทรงตัว ไม่มีด้านใดที่เลวร้ายลง
กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ รายงานสถานการณ์คุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2566 ระบุว่ามีแนวโน้มดีขึ้นหรือทรงตัว
ทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่า
- ป่าไม้ พบว่าพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติและป่าอนุรักษ์ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น มีการปราบปรามการบุกรุกพื้นที่ป่า โดยจำนวนคดีและพื้นที่ที่ถูกบุกรุกมีแนวโน้มลดลง อย่างไรก็ดีสถานการณ์ไฟป่ายังคงเป็นที่น่ากังวลโดยเฉพาะในภาคเหนือ
- สัตว์ป่า พบว่าประชากรเสือโคร่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี ต้องมีการปราบปรามการลักลอบล่าสัตว์ต่อไป
ทรัพยากรน้ำ
- พบว่ามีปริมาณฝนเฉลี่ยทั่วประเทศสูงกว่าค่าปกติ และปริมาณน้ำใช้การสำหรับอ่างเก็บน้ำขนาดกลางและขนาดใหญ่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี พื้นที่เกษตรกรรมบางแห่งยังประสบปัญหาขาดแคลนน้ำจึงต้องมีการพัฒนาและฟื้นฟูแหล่งน้ำธรรมชาติเพื่อเพิ่มศักยภาพการเก็บกักน้ำในฤดูฝนต่อไป
ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
- พืชและปะการัง พบว่าพื้นที่ป่าชายเลนคงสภาพมีปริมาณเพิ่มขึ้น แหล่งหญ้าทะเลมีสถานภาพสมบูรณ์ปานกลาง และสถานการณ์ปะการังฟอกขาวมีความรุนแรงในระดับต่ำ
- สัตว์ทะเล พบการวางไข่ของเต่าทะเลเพิ่มขึ้นและการเกยตื้นของสัตว์ทะเลหายากลดลง อย่างไรก็ดี ปริมาณสัตว์น้ำเค็มที่ได้จากการจับจากธรรมชาติมีแนวโน้มลดลง
ความหลากหลายทางชีวภาพ
- พบพรรณไม้ชนิดใหม่ของโลกในไทย 30 ชนิด พบสัตว์มีกระดูกสันหลังชนิดใหม่ของโลกในไทย 11 ชนิด และพบสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังชนิดใหม่ของโลกในไทย 31 ชนิด อย่างไรก็ดี มีพรรณไม้และสัตว์มีกระดูกสันหลัง (โดยเฉพาะนก) ที่ถูกคุกคามเพิ่มขึ้น ซึ่งต้องมีการกำหนดมาตรการในการดูแลและอนุรักษ์ต่อไป
สถานการณ์มลพิษ
- อากาศ ภาพรวมมีแนวโน้มดีขึ้นเกือบทุกพื้นที่ของประเทศ โดยปริมาณฝุ่นละออง PM10 และ PM2.5 มีค่าเฉลี่ยรายปีทั้งประเทศไม่เกินมาตรฐาน ยกเว้นสระบุรี (หน้าพระลาน) ส่วนสารมลพิษชนิดอื่น ได้แก่ ก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ และก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ ยังอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน อย่างไรก็ดี ก๊าซโอโซนมีแนวโน้มลดลง
- ขยะมูลฝอย/ของเสียอันตราย/มูลฝอยติดเชื้อ/วัตถุอันตราย พบว่าขยะมูลฝอยได้มีการนำไปกำจัดอย่างถูกต้องและนำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่เพิ่มขึ้น และการนำเข้าวัตถุอันตรายทั้งภาคเกษตรกรรมและภาคอุตสาหกรรมลดลง อย่างไรก็ดี พบว่าของเสียอันตรายจากชุมชน กากของเสียอุตสาหกรรมและมูลฝอยติดเชื้อมีปริมาณเพิ่มขึ้น
สิ่งแวดล้อมเมืองและชุมชน
พื้นที่สีเขียวสาธารณะต่อประชากรของกรุงเทพมหานคร (กทม.) เมืองพัทยา และเทศบาลนคร มีค่าสูงกว่าเป้าหมายของประเทศระยะแรก (ไม่น้อยกว่า 5 ตารางเมตร/คน) แต่ทั้งนี้ยังต่ำกว่ามาตรฐานขององค์การอนามัยโลกที่กำหนดไว้ ตาราง 9 ตารางเมตร/คน ซึ่ง กทม. ได้มีการพัฒนาพื้นที่สีเขียวสาธารณะอย่างต่อเนื่อง ทำให้สัดส่วนพื้นที่สีเขียวต่อประชากรใน กทม. มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเป็น 7.66 ตารางเมตร/คน และมีการนำสายไฟฟ้าและสายสื่อสารลงใต้ดินในพื้นที่ กทม. ไปแล้วในระยะทาง 34.82 กิโลเมตร
สิ่งแวดล้อมธรรมชาติและศิลปกรรม
- สิ่งแวดล้อมธรรมชาติ พบว่าแหล่งธรรมชาติ ประเภทธรณีสัณฐานและภูมิลักษณวรรณา (ภูเขา น้ำตก และถ้ำ) ส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์การรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมของแหล่งธรรมชาติในระดับดี
- ศิลปกรรม พบว่าแหล่งสิ่งแวดล้อมศิลปกรรมมีจำนวนเพิ่มขึ้น โดยมีหน่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมธรรมชาติและศิลปกรรมท้องถิ่นดำเนินงานตามภารกิจเกี่ยวกับการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่ามาอย่างต่อเนื่อง
สถานการณ์คุณภาพสิ่งแวดล้อมรายสาขาที่ควรเฝ้าติดตาม เช่น
1) ทรัพยากรดินและการใช้ที่ดิน
พบการใช้ที่ดินที่ไม่เหมาะสม โดยมีการปลูกพืชในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมและไม่มีการปรับปรุงบำรุงดินประมาณ 11.36 ล้านไร่ ส่งผลให้ดินเกิดความเสื่อมโทรม เกิดการชะล้างพังทลายของดินและความอุดมสมบูรณ์ของดินมีแนวโน้มลดลง
(2) ทรัพยากรแร่
พบว่าปริมาณการผลิตแร่ การใช้แร่ การนำเข้าแร่ และการส่งออกแร่ลดลงทั้งหมด รวมทั้งต้องมีการพัฒนาระบบสารสนเทศด้านทรัพยากรแร่ เนื่องจากฐานข้อมูลที่ใช้ในการวางแผนบริหารจัดการแร่ของประเทศยังไม่สมบูรณ์และไม่เชื่อมโยงกัน
3) พลังงาน
พบว่าไทยผลิตพลังงานได้ลดลง แต่มีการนำเข้าพลังงานและใช้พลังงานเพิ่มขึ้น (แม้ว่าจะมีการใช้พลังงานทดแทนและพลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้นก็ตาม) รวมทั้งมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในภาคพลังงานเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน
4) ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
คุณภาพน้ำทะเลชายฝั่งโดยเฉพาะบริเวณอ่าวไทยค่อนข้างเสื่อมโทรม จึงต้องมีการสนับสนุนให้มีระบบบำบัดน้ำเสียหรือมีการรวบรวมน้ำเสียของชุมชนชายฝั่งเข้าสู่ระบบบำบัดให้ครอบคลุมพื้นที่ก่อนปล่อยลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ
(5) การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติทางธรรมชาติ
เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะธรณีพิบัติภัย (ดินถล่ม) ซึ่งต้องมีการเตรียมพร้อมรับมือจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อไป