แผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ (ปี พ.ศ. 2561 – 2580)
แผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580) กำหนดวิสัยทัศน์ ดังนี้ “ทุกหมู่บ้านมีน้ำสะอาดอุปโภค บริโภค น้ำเพื่อการผลิตมั่นคง ความเสียหายจากอุทกภัยลดลง คุณภาพน้ำอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน บริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน ภายใต้การพัฒนาอย่างสมดุล โดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน”
ด้านที่ 1 การจัดการน้ำอุปโภค บริโภค มีเป้าประสงค์ในการจัดหาน้ำสะอาดเพื่อการอุปโภคบริโภคให้แก่ชุมชน ครบทุกหมู่บ้านหรือทุกครัวเรือน ชุมชนเมือง แหล่งท่องเที่ยวสำคัญ และพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ รวมทั้งการจัดหาแหล่งน้ำสำรองในพื้นที่ซึ่งขาดแคลนแหล่งน้ำต้นทุน พัฒนาน้ำดื่มให้ได้มาตรฐาน ในราคาที่เหมาะสม และการประหยัดน้ำ โดยลดการใช้น้ำภาคครัวเรือน ภาคบริการ และภาคราชการ
ด้านที่ 2 การสร้างความมั่นคงของน้ำภาคการผลิต มีเป้าประสงค์เพื่อพัฒนาแหล่งเก็บกักน้ำและระบบส่งน้ำใหม่ให้เต็มศักยภาพ พร้อมทั้งการจัดหาน้ำในพื้นที่เกษตรน้ำฝน เพื่อขยายโอกาสจากศักยภาพโครงการขนาดเล็กและลดความเสี่ยงในพื้นที่ไม่มีศักยภาพ ลดความเสี่ยง/ความเสียหายลง ร้อยละ 50 รวมถึงการเพิ่มผลิตภาพและปรับโครงสร้างการใช้น้ำ โดยดำเนินการร่วมกับยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขันและด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคมเพื่อยกระดับผลิตภาพด้านน้ำทั้งระบบ
ด้านที่ 3 การจัดการน้ำท่วมและอุทกภัย มีเป้าประสงค์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ การจัดระบบป้องกันน้ำท่วมชุมชนเมือง การจัดการพื้นที่น้ำท่วมและพื้นที่ชะลอน้ำ รวมทั้งการบรรเทาอุทกภัยในเชิงพื้นที่อย่างเป็นระบบ ในระดับลุ่มน้ำและพื้นที่วิกฤต (Area based) ลุ่มน้ำขนาดใหญ่ ลุ่มน้ำสาขา/ลดความเสี่ยงและความรุนแรงลงไม่น้อยกว่า ร้อยละ 60
ด้านที่ 4 การจัดการคุณภาพน้ำ และอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ มีเป้าประสงค์เพื่อพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพระบบรวบรวมและระบบบำบัดน้ำเสียรวมของชุมชน การนำน้ำเสียกลับมาใช้ใหม่ ป้องกันและลดการเกิดน้ำเสียต้นทาง การควบคุมปริมาณการไหลของน้ำเพื่อรักษาระบบนิเวศ พร้อมทั้งพื้นฟูแม่น้ำ ลำคลอง และแหล่งน้ำธรรมชาติที่มีความสำคัญในทุกมิติ เพื่อการอนุรักษ์ ฟื้นฟูและใช้ประโยชน์ทั่วประเทศ
ด้านที่ 5 การอนุรักษ์ฟื้นฟูสภาพป่าต้นน้ำที่เสื่อมโทรม และป้องกันการพังทลายของดิน มีเป้าประสงค์เพื่ออนุรักษ์ ฟื้นฟู พื้นที่ป่าต้นน้ำที่เสื่อมโทรม การป้องกัน และลดการชะล้างพังทลายของดินในพื้นที่ต้นน้ำและพื้นที่ลาดชัน
ด้านที่ 6 การบริหารจัดการ มีเป้าประสงค์โดยการขับเคลื่อนการดำเนินการให้สอดคล้องตามพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ.2561 และแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี อันประกอบด้วย การจัดทำกฎหมายรอง การจัดตั้งคณะกรรมการลุ่มน้ำ และองค์ลุ่มน้ำเพื่อเป็นกลไกในการจัดทำแผนและขับเคลื่อนแผนงาน/แผนปฏิบัติการในระดับลุ่มน้ำ การสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศในการพัฒนางานวิจัย นวัตกรรม และเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาประยุกต์ใช้ในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ การพัฒนาระบบฐานข้อมูลสนับสนุนการตัดสินใจ โดยพัฒนาเชื่อมโยงฐานข้อมูลทรัพยากรน้ำ และการสนับสนุนการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการน้ำในระดับชุมชน
สาระสำคัญ
แผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (ปรับปรุงช่วงที่ 1 พ.ศ. 2566-2580) ได้กำหนดวิสัยทัศน์ เพื่อให้ “ประเทศไทยมีการบริหารทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืนโดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ภายใต้การพัฒนาอย่างสมดุลและมีพลวัต เพื่อความมั่นคงด้านน้ำในทุกมิติ” ภายใต้กรอบการพัฒนา 5 ด้าน ดังนี้
3.1 การจัดการอุปโภคบริโภค มีเป้าประสงค์เพื่อให้ประชาชนได้รับการบริการน้ำอุปโภคบริโภคขั้นพื้นฐานที่เท่าเทียมกัน มีแนวทางและเป้าหมายการพัฒนาที่สำคัญในระยะ 20 ปี ได้แก่ ก่อสร้างขยายเขต ปรับปรุงระบบ 32,701 แห่ง ประชาชนรับประโยชน์ 7.2 ล้านครัวเรือน จัดหาน้ำสำรอง/น้ำต้นทุน 174.13 ล้าน ลบ.ม. เพิ่มกำลังผลิตประปาเมือง 2.88 ล้าน ลบ.ม./วัน การพัฒนาระบบประปาหมู่บ้านให้ได้มาตรฐานในราคาที่เหมาะสม เป็นต้น
3.2 การสร้างความมั่นคงของน้ำภาคการผลิต เพื่อรองรับเป้าหมายการพัฒนาการเศรษฐกิจลดความเสียหาย/เพิ่มรายได้ในพื้นที่เกษตร/เพิ่มผลิตในพื้นที่ที่มีน้ำมั่นคงแล้ว มีแนวทางและเป้าหมายการพัฒนา ที่สำคัญในระยะ 20 ปี ได้แก่ การจัดหาน้ำในพื้นที่เกษตรน้ำฝน 3,239 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่รับประโยชน์ 5.72 ล้านไร่ พัฒนาแหล่งเก็บกักน้ำและผันน้ำ 4,505 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่ รับประโยชน์ 4.66 ล้านไร่การปรับปรุงซ่อมแซมโครงการที่ถ่ายโอนให้ อปท. ครบทุกโครงการ เพิ่มความจุการเก็บกักน้ำโครงการเดิมปริมาณน้ำ 57 ล้าน ลบ.ม. การจัดรูปที่ดินในโครงการชลประทานเดิม 3 ล้านไร่ เป็นต้น
3.3 การจัดการน้ำท่วมและอุทกภัย เพื่อลดความเสียหาย ชีวิต ทรัพย์สิน ผลกระทบต่อเศรษฐกิจและรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มีแนวทางและเป้าหมายการพัฒนาที่สำคัญในระยะ 20 ปี ได้แก่ ปรับปรุงลำน้ำสายหลัก 1,978.14 กม. ป้องกันน้ำท่วมชุมชนเมือง 380 แห่ง พื้นที่ได้รับการป้องกัน 779,985 ไร่ การจัดการพื้นที่น้ำท่วม 13 แห่ง ลดปริมาณน้ำหลาก 1,704 ล้าน ลบ.ม. สนับสนุนการปรับตัวและเผชิญเหตุ 37 ลุ่มน้ำสาขา การปรับปรุงเขื่อนเพื่อรองรับสภาพภูมิอากาศ เป็นต้น
3.4 การอนุรักษ์ฟื้นฟูระบบนิเวศทรัพยากรน้ำ เพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรน้ำให้เกิดความสมดุลลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมการบริหารจัดการ ขับเคลื่อนองค์กรด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำระดับนโยบาย มีแนวทางและเป้าหมายการพัฒนาที่สำคัญในระยะ 20 ปี ได้แก่ ฟื้นฟูพื้นที่ป่าต้นน้ำ 1.375 ล้านไร่ ลดการชะล้างพังทลายของดิน 2.65 ล้านไร่ พัฒนาระบบบำบัดน้ำเสีย (เดิม/ใหม่) 759 แห่ง อนุรักษ์และฟื้นฟูแม่น้ำลำคลองและแหล่งน้ำธรรมชาติทั่วประเทศ เป็นต้น
3.5 การบริหารจัดการ เพื่อขับเคลื่อนองค์กรด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำระดับนโยบายและพื้นที่ กฎหมาย ระบบฐานข้อมูล เทคโนโลยี ส่งเสริมการประชาสัมพันธ์และการมีส่วนร่วมของประชาชนรูปแบบเพื่อยกระดับการจัดการน้ำในพื้นที่และลุ่มน้ำ
แนวทางและเป้าหมายการพัฒนาที่สำคัญในระยะ 20 ปี ได้แก่ การปรับปรุงและจัดทำอนุบัญญัติตามกฎหมาย การพัฒนาและเชื่อมโยงระบบฐานข้อมูลด้านทรัพยากรน้ำ การติดตั้งระบบตรวจวัด ระบบเตือนภัยให้ครอบคลุมพื้นที่เสี่ยงภัย การพัฒนาศักยภาพองค์กรระดับพื้นที่ เช่น คณะกรรมการลุ่มน้ำ คณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัด องค์กรผู้ใช้น้ำ การศึกษาวิจัย เทคโนโลยี นวัตกรรมในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ การจัดทำแผนการบริหารจัดการน้ำภายใต้กฎหมาย การติดตามประเมินผลการดำเนินงานด้านทรัพยากรน้ำ และการส่งเสริมการจัดการน้ำในระดับชุมชน เป็นต้น เพื่อเป็นกลไกในการสนับสนุนการพัฒนาใน 4 มิติแรก และให้เกิดธรรมาภิบาลในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ
ที่มา: แผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรนํ้า 20 ปี (ปรับปรุงช่วงที่ 1 พ.ศ. 2566 – 2580)