ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรี ได้หยิบยกแนวคิดสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นที่อำเภอสอง จังหวัดแพร่ ขึ้นมา “โยนหินถามทาง” อีกครั้ง หลังจากการตรวจสถานการณ์น้ำท่วมในจังหวัดที่ได้รับผลกระทบน้ำท่วมบริเวณลุ่มน้ำยม โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดสุโขทัย ซึ่งถือว่าเป็น “ประเด็นเก่า” ที่เคยมีข้อยุติไปแล้ว แม้แต่ในช่วงสมัย ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีว่าจะส่งผลกระทบสิ่งแวดล้อม และให้สร้างฝายเก็บน้ำขนาดเล็กตลอดลำน้ำแทนการก่อสร้างเขื่อนขนาดใหญ่
เหตุผลของ ภูมิธรรม ก็เป็นเหตุผลเดิม ๆ ที่เคยหยิบยกมาสำหรับกลุ่มผู้สนับสนุนการก่อสร้างเขื่อน กล่าวคือ สร้างความเสียหายให้กับประชาชนในพื้นที่ โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ ทำให้ต้องใช้งบประมาณมหาศาลในการดูแลและซ่อมแซมโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ที่เกิดจากน้ำหลาก โดย “ประชาชนเรียกร้องว่าต้องการอะไรที่มารองรับน้ำไม่ต้องการให้มาท่วมบ้านเรือน เพราะในทุก ๆ ปี ก็เป็นแบบนี้เสมอมา ค่าใช้จ่ายในการฟื้นฟูทรัพยากรต่าง ๆ ก็มีมูลค่าหลายแสนล้าน ไม่ควรจะมีเหตุการณ์แบบนี้”
ความเดือดร้อนจากน้ำท่วมคงไม่ต้องพูดถึง ซึ่งหากใครไม่เคยเจอกับสถานการณ์น้ำท่วมน้ำแล้งคงไม่อาจรับรู้ความรู้นั้นได้ แต่เหตุผลของ ภูมิธรรม ในการโต้ตอบกลุ่มคัดค้านนั้นดูแปลก ๆ เมื่อเขาบอกว่า “สิ่งที่ฝ่ายต่อต้านบอกว่ามันทำให้ผืนป่าผืนใหญ่สูญเสียหาย…ไม่ใช่เพียงบอกแค่ว่าผืนป่ายังดีอยู่ต้องรักษาไว้ ทั้งนี้ การที่จะมีการทำเป็นเขื่อน ก็ได้มีการรับฟังประชาชน ได้มีการบอกว่าป่าไม้ก็มีการปลูกได้ ในพื้นที่อื่น ๆ ก็ยังปลูกได้”
อย่างไรก็ตาม ภูมิธรรม ก็ไม่ได้บอกชัดเจนว่าจะต้องดำเนินการทันทีหรือไม่ เพียงแต่บอกว่าควรหยิบยกขึ้นมาพูดเพื่อแก้ปัญหา และต้องมีการพูดคุยกันในเวทีสาธารณะ รับฟังทุกความเห็น และบอกว่า “เรื่องการจัดการน้ำควรเป็นวาระแห่งชาติ ควรคิดทุกเรื่องทั้งกระบวนการและดูว่าจะมีทางออกทางไหน ที่ดีขึ้นเพราะฉะนั้นเรื่องของแก่งเสือเต้นต้องมีการนำมาพูดคุยกันใหม่” และ “ต้องคุยทั้งระบบและให้เป็นวาระแห่งชาติ”
หากฟังเหตุผลของ ภูมิธรรม ทั้งหมด ต้องบอกว่าไม่มีอะไรเลยที่แปลกใหม่ ทั้งเรื่องเหตุผลการก่อสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น และปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม รวมถึงเหตุผลการโต้ตอบฝ่ายที่คัดค้าน ดังนั้น หากมีการหยิบยกประเด็นก่อสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น คนที่ติดตามประเด็นนี้ก็แทบไม่ต้องไปรับฟังข้อมูลเหตุผล เพราะทั้งฝ่ายเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยก็ยังยึดในเหตุผลและข้อมูลเดิมไม่เปลี่ยนแปลง
แต่หากย้อนกลับไปดูความพยายามรื้อฟื้นก่อสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น จะพบว่ามีแบบแผนคล้ายกันอย่างไม่น่าเชื่อ โดยมักจะหยิบยกมาในปีที่มีสถานการณ์น้ำท่วมรุนแรงในบางพื้นที่ ซึ่งรัฐบาลในแต่ละสมัยก็จะโทษว่าเพราะลุ่มน้ำยม “ไม่มีเขื่อนแก่งเสือเต้น” แต่หากปีไหนไม่มีสถานการณ์น้ำท่วมเกิดขึ้น ก็ไม่มีใครพูดถึงประเด็นนี้อีกเลย ราวกับว่าประเด็นเขื่อนแก่งเสือเต้นมาพร้อมกับน้ำท่วมทุกครั้งไป
หากย้อนกลับไปในแผนบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน มีการเสนอแก้ปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งในลุ่มน้ำยมมาแล้ว โดยให้มีการก่อสร้างฝายขนาดเล็ก หรือ ฝายแม้ว รวมถึงให้มีการบริหารจัดการน้ำ “ทั้งระบบ” โดยมีการวางแผนและข้อมูลอย่างรอบด้าน และต้องการมีส่วนร่วมจากประชาชนอย่างกว้างขวาง เพราะต่างตระหนักดีว่าผืนป่าของประเทศเหลือน้อยเต็มที และป่าไม้ในแต่ละพื้นที่ก็มีลักษณะเฉพาะ ไม่ใช่เรื่องการย้ายไป “ปลูกที่อื่น”
ดังนั้น ประเด็นการสร้างเขื่อนแก่งเสือ นอกจากจะอ้างว่าแก้ปัญหาความเดือดร้อนจากสถานการณ์น้ำท่วมแล้ว ยังแยกไม่ออกจากการเมืองไทย โดยเฉพาะในช่วงน้ำท่วมและการจัดการเข้าช่วยเหลือของรัฐบาลมีความล่าช้า หรือ ถูกชาวบ้าน “ด่า” กันมาก ซึ่งในช่วงเวลานั้น การก่อสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นก็จะได้รับการกล่าวถึงเป็นพิเศษ และดูจะเป็นจริงเป็นจังขึ้นมา ซึ่งเทคนิคทางการเมืองแบบนี้รับรู้กันทั่วไปอยู่แล้วว่าเป็นการสร้าง”ศัตรู(เพื่อ)ทางการเมือง”ขึ้นมา
หากพิจารณาตรรกะที่อ้างว่าเมื่อสร้างแล้วป้องกันน้ำท่วมได้ก็ไม่จริง เพราะหากปีไหนมีปริมาณฝนมาก เขื่อนก็เอาไม่อยู่ เหมือนที่เคยเกิดขึ้นในอดีต และยิ่งความแปรปรวนของสภาพอากาศจากโลกร้อนก็ยิ่งคาดการณ์ได้ยากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม เราก็ไม่ได้คัดค้านโครงสร้างพื้นฐานที่มีขึ้นเพื่อแก้ปัญหาเดือดร้อนจริง ๆ แต่คัดค้านความคิดความเห็นที่ต้องการสร้างกลบเกลื่อนความล้มเหลวของหน่วยงานรัฐในการบริการจัดการน้ำ (ที่ผ่านมาหลายรัฐบาล)
นั่นเท่ากับว่า โครงการแก่งเสือเต้น ก็ไม่ต่างจาก “เหยื่อแห่งความล้มเหลว” ที่มักถูกหยิบขึ้นมาแทบทุกรัฐบาลตามวัฏจักรน้ำท่วมของประเทศ
อ่านเพิ่มเติม: