ก“เงินออมไม่พอใช้หลังเกษียณ” ไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป เมื่อสังคมไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ ปัญหาแก่ไปไร้ออม จึงกลายเป็นวาระเร่งด่วนที่ทุกคนต้องร่วมกันหาทางแก้ไข
แม้วันนี้จะมีทางเลือกสำหรับการออมและการลงทุนที่หลากหลายและเข้าถึงได้ง่าย แต่การจะ “รวยก่อนแก่” ก็ไม่ใช่ทุกคนที่จะทำได้
จะดีกว่าไหม ? ถ้ามีนโยบายมาหนุนเสริมให้ทุกคนออมและลงทุนได้อย่างมั่นใจ และเพียงพอที่จะมีชีวิตหลังเกษียณที่ดี
Policy Watch – The Active ไทยพีบีเอส ร่วมกับภาคีเครือข่าย ชวนมาทำความเข้าใจสถานการณ์ ข้อจำกัด และหาทางออกร่วมกัน ผ่าน “Policy Forum : รัฐไม่พร้อม ? ออมให้พอ ไม่ต้องรอเกษียณ” ซึ่งอาจเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญในการออกแบบนโยบายที่จะช่วยให้ทุกคน อยู่ดีมีสุขตลอดบั้นปลายชีวิต
แต่ละคนมีต้นทุนชีวิต และใช้ชีวิตต่างกัน
การออมเงินเพื่ออนาคตไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะแต่ละคนต่างมีต้นทุนและการใช้ชีวิตที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งสามารถแบ่งได้ 3 รูปแบบ ได้แก่
- คนจน – กลุ่มเปราะบางที่สุด พวกเขาต้องดิ้นรน หาเช้ากินค่ำ ด้วย งานที่ไม่มั่นคง ทำให้ รายได้ไม่พอใช้ กลายเป็นเรื่องปกติ เมื่อต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายจำเป็นต่างๆ จึงมักลงเอยด้วยการ เป็นหนี้ และติดเครดิตบูโร ทำให้โอกาสในการสร้างความมั่นคงทางการเงินแทบไม่มี
- YOLO – กลุ่มนี้มักเป็นคนรุ่นใหม่อย่างเจเนอเรชันซี (Generation Z) และเจเนอเรชันอัลฟา (Generation Alpha) คือพวกเขามี รายได้ดี และมีการศึกษา แต่กลับไม่ได้วางแผนทางการเงินระยะยาว เน้นการใช้ชีวิตแบบ “You Only Live Once” (YOLO) คือใช้จ่ายเพื่อความสุขในแต่ละวัน ทำให้ ไม่มีเงินเก็บ หรือ เงินออมไม่พอ
- พี่นัน – ตัวแทนของคนที่มีรายได้ปานกลางถึงค่อนข้างต่ำ พวกเขาเป็นคนไม่ใช้จ่ายเกินตัว แต่ออมเงินด้วยวิธีฝากธนาคารเพียงอย่างเดียว โดยไม่รู้จักหรือไม่กล้าใช้ช่องทางอื่น ๆ ในการลงทุน ที่ให้ผลตอบแทนที่ดีกว่า ทำให้แม้จะออมมานานแค่ไหน เงินเก็บก็ไม่เยอะ อย่างที่ควรจะเป็น และอาจไม่ทันกับภาวะเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ
“ต้นทุนชีวิตไม่เท่ากันก็เรื่องหนึ่ง แต่วิถีชีวิต เวลาเดินทางผิดทางแยกจะมีปัญหาซ่อนอยู่ ดังนั้นรัฐ ตลาดทุน และสังคม อาจต้องช่วยเติม ‘ความรู้’ ที่ถูกต้อง ร่วมกันออกแบบมาตรการที่ลดอคติของคน ‘เปลี่ยนทัศนคติ’ ในการออมให้เป็นบวก และสร้างเครื่องมือเพื่อช่วยให้เกิด ‘การปฏิบัติ’ ได้อย่างต่อเนื่อง เพราะแม้ต้นทุนชีวิตเริ่มต้นจะต่างกัน แต่ผลลัพธ์การออมการลงทุนของทุกคนเข้าใกล้กันได้”
สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศไทย TDRI
วัยกลางคนคือ “เดอะแบก” ชีวิตไม่ง่าย แต่เรื่องเงินก็ต้องเตรียม
ชีวิตช่วงวัย 40 – 60 ปี หรือที่คุ้นกันในชื่อ “แซนด์วิชเจเนอเรชัน” (Sandwich Generation) คือสมรภูมิทางการเงินครั้งสำคัญที่หลายคนจะต้องเผชิญ เพราะต้องกลายเป็น “เดอะแบก” ที่จะต้องดูแลทั้งพ่อแม่ที่สูงวัย ลูกและครอบครัวของตัวเอง ในขณะเดียวกันก็ต้องเตรียมพร้อมสำหรับชีวิตหลังเกษียณด้วย
ศิรัถยา อิศรภักดี ผู้ก่อตั้ง Wealth Me Up และผู้ดำเนินรายการ The Standard Wealth ชี้ให้เห็นว่า สังคมไทยได้ก้าวสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์แล้ว และในอีก 10 ปีข้างหน้า เราจะเข้าสู่ “สังคมผู้สูงอายุระดับสุดยอด” ที่ประชากรอายุเกิน 65 ปี จะมีสัดส่วนสูงถึง 1 ใน 3 ของประเทศ นั่นหมายความว่า เมื่อผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น ภาระหนักอึ้งจึงตกอยู่กับคนวัยกลางคนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
หากไม่มีการวางแผนการเงินที่ดี ประกอบกับโรคภัยไข้เจ็บที่จะมาพร้อมกับวัย นี่อาจยิ่งซ้ำเติมวิกฤตทางการเงินให้สาหัสยิ่งขึ้น
แม้การออมของคนวัยนี้จะไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็เป็นสิ่งที่เราต้องเตรียมพร้อมตั้งแต่วันนี้ เพราะชีวิตของเรามี “รูรั่ว” ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นค่าซ่อมบ้าน รถ หรือแม้แต่กระทั่งการเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติ การใช้ชีวิตแบบ “ของต้องมี” หรือการใช้จ่ายเพื่อ “ความสุขเฉพาะหน้า” อาจทำให้เงินสำหรับอนาคตพร่องไป และการออมเงินหลังเกษียณไปไม่ถึงเป้า
“อายุ 40 ปี จะเป็นจุดชี้ชะตา ถ้าออมไว้เผื่อฉุกเฉินจะอุ่นใจระดับหนึ่ง แต่ถ้ายังมีหนี้เสีย นั่นเป็นผลที่ตามมาจากนิสัยการเงินที่เพิ่งจะเริ่มเห็นผล”
ศิรัถยา อิศรภักดี ผู้ก่อตั้ง Wealth Me Up และผู้ดำเนินรายการ The Standard Wealth
สิ่งแรกที่ทำได้ง่ายที่สุดคือ “บันทึกรายรับ-รายจ่าย” เพื่อตรวจสุขภาพทางการเงินของตัวเอง ซึ่งจะทำให้เราเห็น “แผล” หรือจุดรั่วไหลในการใช้จ่ายได้อย่างชัดเจน ว่าจะต้องคุมค่าใช้จ่ายตรงไหน วางแผนทางการเงินอย่างไร ควรจะเก็บก่อนใช้ในรูปแบบไหนที่จะทำให้มีเงินสำรองฉุกเฉินอยู่ได้ 3 – 6 เดือน
ซึ่งนั่นอาจช่วยปรับเปลี่ยนแนวคิดจากการใช้เงินไปกับ “สิ่งของ” ให้กลายเป็น “สินทรัพย์” ที่สามารถสร้างผลตอบแทนได้ เช่น การลงทุนในหุ้น หรือการซื้อทองคำ เป็นต้น
อย่างไรก็ตามหากยังลงทุนไม่เป็น การเริ่มต้นด้วยการออมอย่างสม่ำเสมอ ก็ถือเป็นหนทางที่ดีไม่แพ้กัน เพราะการมีวินัยในการออมคือพื้นฐานสำคัญที่จะช่วยให้ชีวิตหลังเกษียณมีความสุขและมั่นคง

ศิรัถยา อิศรภักดี ผู้ก่อตั้ง Wealth Me Up และผู้ดำเนินรายการ The Standard Wealth
“วังวนหนี้” กับดักการออมที่แก้ได้ … ถ้าเข้าใจ
การที่คนเข้าไปอยู่ใน “วังวนหนี้” เกิดขึ้นจาก 3 ปัจจัย ได้แก่
- รายได้ไม่เพียงพอใช้จ่าย ทำให้คนต้องพึ่งพาสินเชื่อเพื่อประคับประคองชีวิตไปในแต่ละวัน
- นโยบายกระตุ้นให้เป็นหนี้ บางครั้งนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ อย่าง “รถคันแรก” อาจกลายเป็นแรงจูงใจให้ซื้อของเกินตัว จนมองข้ามความสามารถในการผ่อนชำระที่แท้จริงของตัวเอง
- ค่านิยม “กู้ใหม่” เมื่อเงินขาดมือ กลายเป็นภาระหนี้ที่พอกพูนและเป็นวงจรที่ไม่มีวันจบสิ้น
แล้วเป็นหนี้จะออมได้หรือไม่ ? ธิษณา ธิติศักดิ์สกุล ผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท โนบูโร แพลตฟอร์ม จำกัด ยืนยันว่า ทำได้แน่นอน แต่ก้าวแรกที่สำคัญที่สุดคือการเปลี่ยน “ทัศนคติ” จากเดิมที่คิดว่าต้องอยู่กับหนี้ไปจนเกษียณ ต้องหันมาสร้างความตั้งใจใหม่ที่จะแก้ไขปัญหาหนี้อย่างจริงจัง
ส่วนภาครัฐอาจต้องตั้งข้อสังเกตในบทบาทของตัวเอง เพราะแม้จะออกมาตรการช่วยผ่อนชำระหนี้ แต่ต้องรอให้คนเหล่านี้เป็น “ลูกหนี้เสีย” แล้วมาช่วยเหลือดอกเบี้ยบางส่วน ตรงนี้กำลังทำให้ลูกหนี้เคยตัวกับการรอความช่วยเหลือ แทนที่จะเริ่มแก้ไขปัญหาด้วยตัวเองตั้งแต่เนิ่น ๆ หรือไม่
สอดคล้องกับความเห็นของ ผศ.รุ่งเกียรติ รัตนบานชื่น ประจำภาควิชาการ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่บอกว่า การเป็น “หนี้” คือความจำเป็นต้องใช้จ่ายในแต่ละช่วงวัย แต่ขาดการคาดการณ์หรือวางแผน สิ่งสำคัญต่อจากนี้จึงอยากให้ทุกคนเปลี่ยนมุมมองใหม่จาก “ออมเพื่อเกษียณ” ที่ดูเป็นเรื่องไกลตัว ให้กลายเป็น “ออมเพื่อ Lifestage ของตัวเอง” หรือการออมให้เหมาะสมกับช่วงวัย
เพราะชีวิตทุกคนมีมีวงจร (Life Cycle) ที่คาดการณ์ได้ไม่ยาก ตั้งแต่หนี้จัดงานแต่งในวัยหนุ่มสาว ซื้อรถ ซื้อบ้า หนี้เพื่อการศึกษาของลูก ไปจนถึงภาระดูแลพ่อแม่ยามชรา เมื่อเราอายุ 40 ปี และท้ายที่สุดคือหนี้สำหรับการเกษียณและการจัดงานศพของตัวเอง
“วันนี้ เวลาเราให้ความรู้กับคนทั่วไปมักจะบอกว่าทุกคนต้องออมเพื่อเกษียณ แต่เวลาฟังคำนี้ดูเหมือนไกลตัว ดังนั้นเราควรสื่อสารให้เขาวางแผนออมเพื่อจังหวะชีวิตของตัวเอง ชี้แนะว่าต้องซื้อบ้านหรือซื้อรถ หรือซื้อบ้านควรเลือกแบบใด เพราะนี่คือเงื่อนปมแรกของการใช้ชีวิต และเป็นสิ่งที่เป็นภาระติดตัวคนนั้นไป 30-40 ปี ซื้อผิดชีวิตเหมือนติดคุกได้”
ผศ.รุ่งเกียรติ รัตนบานชื่น อาจารย์ประจำภาควิชาการ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
การเตรียมความพร้อมสำหรับทุกช่วงชีวิต จึงเป็นเกราะป้องกันที่ดีที่สุดที่จะไม่ทำให้เกิดหนี้สินไม่คาดฝัน อย่างไรก็ตามคนไทยส่วนใหญ่ทำงานหนักจนไม่มีเวลาคิดเรื่องลงทุน แต่อาจารย์ประจำภาควิชาการ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ย้ำว่า ต้องรู้จัก “แบ่งเวลา” ศึกษาเรื่องการเงิน ให้เงินทำงานแทนเราด้วย
นอกจากการลงทุน “ประกันสุขภาพ” ก็เป็นสิ่งสำคัญที่ควรมีไว้ ซึ่งน่าเสียดายที่คนไทยกลับมีสัดส่วนการซื้อต่ำ เพราะมักมองว่าเป็นการ “จ่ายเบี้ยทิ้ง” หรือ “กลัวไม่มีกำไร” ทั้งที่ในยามเกิดวิกฤต ค่าใช้จ่ายเหล่านั้นอาจกลายเป็นหนี้ก้อนโต และการจ่ายเบี้ยประกันในทุก ๆ เดือน อาจคุ้มค่ากว่าหนี้สินมหาศาลที่ต้องเผชิญหน้าในอนาคต

ผศ.รุ่งเกียรติ รัตนบานชื่น อาจารย์ประจำภาควิชาการ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เครื่องมือการออม การลงทุนของรัฐ
“กลุ่มแรงงานนอกระบบ” ถือเป็นกลุ่มเสี่ยงสำคัญที่ยังขาดหลักประกันยามชราภาพ รัฐจึงได้สร้างเครื่องมือการออม ขึ้นมาเพื่อส่งเสริมการออม ผ่านการจัดตั้ง กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) เมื่อปี 2558 เพื่อเปิดโอกาสให้กลุ่มอาชีพอิสระทุกแขนง ไม่ว่าจะเป็นเกษตรกร, กลุ่มพ่อค้าแม่ค้า, ผู้รับจ้าง หรือฟรีแลนซ์ ได้มีหลักประกันการออม และมีสิทธิรับเงินบำนาญรายเดือนเมื่ออายุ 60 ปีขึ้นไป เป็นหลักประกันชีวิตช่วงบั้นปลายที่เสริมจากเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ
แม้จะมีเป้าหมายครอบคลุมคนราว 10 ล้านคน แต่ จารุลักษณ์ เรืองสุวรรณ เลขาธิการคณะกรรมการกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) กระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ปัจจุบัน กอช. มีสมาชิกเพียง 2.7 ล้านคน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเกษตรกร และมักเข้ามาออมในช่วงแรก ๆ เพียง 1-2 ครั้ง
เลขาธิการคณะกรรมการ กอช. จึงอยากเชิญชวนประชาชนให้รีบสมัคร ได้ตั้งแต่อายุ 15 ปี เพื่อสร้างวินัย “ออมก่อนใช้” ตั้งแต่วัยเยาว์ ซึ่งเริ่มต้นออมได้ตั้งแต่ 50 บาท และที่พิเศษคือ ภาครัฐยังสมทบเงินให้อีก 50-100% ของเงินสะสมตามช่วงอายุ (ไม่เกิน 1,800 บาท/ปี)
ลองจินตนาการดูว่า หากออมเพียง 300 บาทต่อเดือน ตั้งแต่ 15 ปี จนถึง 60 ปี จะมีเงินรวมกว่า 449,xxx บาท และได้รับบำนาญเดือนละประมาณ 2,1xx บาทตลอดชีพ
ในฟากฝั่งของ “ข้าราชการ” แม้จะเป็นกลุ่มที่มีตาข่ายรองรับจากกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ แต่ยังเผชิญปัญหาผลตอบแทนต่ำ เงินไม่พอใช้ยามเกษียณ

จารุลักษณ์ เรืองสุวรรณ เลขาธิการคณะกรรมการกองทุนการออมแห่งชาติ
แมน ชุติชูเดช รองเลขาธิการกลุ่มงานกลยุทธ์ลงทุนและบริหาร ผู้จัดการกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ย้ำถึงภารกิจสำคัญของ กบข. ต่อจากนี้ คือการให้ “ความรู้” แก่สมาชิก โดยเฉพาะเรื่องความเสี่ยง 2 ประการที่ต้องทำความเข้าใจ
- ความเสี่ยงและผลตอบแทน
- การลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ อาจให้ผลตอบแทนน้อย
- การลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูง อาจให้ผลตอบแทนมากกว่า
*หมายเหตุ : แนะนำให้ลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงขึ้น ในช่วงที่ยังมีอายุการทำงานอีกมาก เพื่อเปิดโอกาสให้เงินเติบโตเต็มที่ และค่อย ๆ ลดความเสี่ยงลง เมื่อใกล้เข้าสู่วัยเกษียณอายุ
- ความอดทนต่อความผันผวน การลงทุนย่อมมีขึ้นและลง การมองภาพในระยะยาวคือกุญแจสู่ความสำเร็จ
กบข. ไม่เพียงให้ความรู้ แต่ยังช่วยสมาชิกวางแผนการเงินหลังเกษียณด้วยเครื่องมือที่จับต้องได้ เช่น การคำนวณเงินขั้นต่ำที่ควรมี ทั้งระดับ “พอเพียง” และ “สุขสบาย” และการฉายให้เห็นสถานการณ์การออมในปัจจุบัน เพื่อกระตุ้นให้สมาชิกปรับเพิ่มการลงทุนและบริหารพอร์ตให้สมดุลสอดคล้องกับเป้าหมายชีวิตหลังเกษียณที่ต้องการ
ไม่ใช่แค่กลุ่มแรงงานนอกระบบ หรือข้าราชการ ที่อาจไม่มีเงินเพียงพอในยามเกษียณ คนไทยจำนวนมากในหลากหลายกลุ่มยังเผชิญปัญหา “แก่ไปไร้ออม” เพราะการออมภาคสมัครใจอาจไม่ได้ผลเท่าที่ควร
ภาครัฐจึงออกนโยบายใหม่ “หวยเกษียณ” หรือ “สลากสะสมทรัพย์เพื่อเงินออมยามเกษียณ” (สลาก กอช.) ให้ครอบคลุมประชาชนทุกกลุ่มมากขึ้น เพื่อใช้แรงจูงใจจากการซื้อสลากที่คนไทยคุ้นเคย ดึงคนเข้าสู่ระบบการออม ซึ่งขณะนี้กำลังเข้าสู่การพิจารณาในชั้นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร วาระ 3 ในเดือนกรกฎาคมนี้ ก่อนเข้าสู่ชั้นวุฒิสภา ซึ่งเชื่อว่าปีนี้จะได้เห็น

แมน ชุติชูเดช รองเลขาธิการกลุ่มงานกลยุทธ์ลงทุนและบริหาร ผู้จัดการกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ
ข้อเสนอเชิงนโยบายส่งเสริมการออม สร้างความมั่นคงตลอดชีวิต
ในเวทีเสวนายังเห็นไปในทิศทางที่สอดคล้องกันว่า เรื่องของการออมนั้น รัฐบาลถือว่ามีเครื่องมือให้กับประชาชนในระดับดีพอสมควร แต่ก็ยังมีช่องว่างที่ต้องเติมเต็ม
- เติมความรู้ด้านการเงินให้เหมาะสมกับคนแต่ละกลุ่ม โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและเยาวชน หากเริ่มต้นตั้งแต่ยังเล็กจะเป็นรากฐานที่ดี โดยอาจเพิ่มหลักสูตรการเงินในระบบการศึกษาไทย
- เพิ่มช่วงเวลา “เรื่องการเงิน” ในสื่อหลัก เพราะที่ผ่านมาเรื่องการเงินการลงทุน มักถูกมองข้ามว่าเป็นเรื่องที่ไม่น่าสนใจ และมักถูกตัดออกเป็นลำดับแรก หากช่วงเวลาออกอากาศไม่เพียงพอ
- ปรับทัศนคติและพฤติการณ์การใช้จ่าย รู้จักอดเปรี้ยวไว้กินหวาน และเน้นมองผลกระทบระยะยาว เช่น การไม่ถอนเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเพื่อไปปิดหนี้ระยะสั้น เพราะจะทำให้เงินออมเพื่อเกษียณหายไป
- สร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการลงทุน
- นายจ้างควรมีนโยบายให้ความรู้ เติมทักษะที่จำเป็น และให้เครื่องมือที่หลากหลายแก่พนักงาน ในการออมและแก้ไขปัญหาทางการเงิน
- สร้างความเชื่อมั่นและโปร่งใสของระบบการออมไทย
- รัฐต้องสร้างระบบตาข่ายรองรับทางสังคม (Social Safety Net) เพื่อให้ประชาชนมีหลักประกันค่าใช้จ่ายยามเกษียณ
- การออมเพื่อเกษียณต้องเป็นภาคบังคับ โดยอาจเพิ่มเงื่อนไขเรื่องการออม เพื่อรับสวัสดิการจากรัฐ และต่อยอดฐานข้อมูลจากดิจิทัลวอลเล็ต
- สถาบันการเงินต้องมีบทบาทเชิงรุก
- ธนาคารแห่งประเทศไทยและธนาคารพาณิชย์ พัฒนารูปแบบการอนุมัติสินเชื่อ เช่นเดียวกับการสมัครตลาดหลักทรัพย์ ที่ต้องมีการประเมินความรู้ด้านความเสี่ยงและผลตอบแทน เพื่อให้ความรู้แก่ลูกหนี้ก่อนที่จะก่อหนี้
- ธนาคารพาณิชย์ควรมีแอปพลิเคชันที่ช่วยคำนวณดอกเบี้ยการโปะหนี้ และให้ข้อมูลเกี่ยวกับการปลดหนี้แก่ลูกค้าทุกคน
- เพิ่มรายได้ของประเทศและประชาชน ปัญหาหนี้สินและการขาดเงินออมของคนไทยนั้นมาจาก “ปัญหาด้านรายได้” ระดับนโยบายจึงต้องเร่งหา ตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจใหม่ๆ ที่นอกเหนือจากการส่งออกและภาคการท่องเที่ยว ซึ่งกำลังติดลบจากปัญหาความไม่สงบ ฯลฯ เพื่อผลักดันให้ประชาชนมีรายได้ที่มั่นคง พอจ่ายหนี้ มีเงินเก็บ และเพียงพอสำหรับวัยเกษียณ รวมถึงยังส่งผลให้รัฐมีรายได้จากภาษี เพื่อนำไปพัฒนาสวัสดิการที่ดีพอสำหรับคนไทยในอนาคต
- เพิ่มราคาสินค้า 2-3% หักเป็นเงินออม
- รัฐออกสัมปานผ่านกองทุน
แต่ละคนอาจมีต้นทุนไม่เท่าเทียมกันก็จริง แต่ก็อย่าปล่อยให้ “การออม” เป็นเรื่องที่ใครบางคนเข้าถึงไม่ได้ ! การออมอาจดูเป็นเรื่องส่วนบุคคล แต่ก็หมายถึงหลักประกันทางการเงินของประเทศด้วยเช่นกัน เพราะหากรัฐไม่มีเงินเพียงพอในการจ่ายสวัสดิการ ขณะเดียวกันประชาชนก็อาจไม่มีรายได้เพียงพอที่จะจ่ายภาษี ลองคิดดูว่าสถานภาพทางการเงินและประชาชนจะเปราะบางมากขนาดไหน
นี่จึงเป็นภารกิจร่วมกัน ที่จะต้องลงมือทำกันตั้งแต่วันนี้ ทั้งจากนโยบายของรัฐที่อาจต้องปรับเพื่อไปต่อ การส่งเสริมสนับสนุนจากภาคเอกชน สถาบันการเงิน และการปรับทัศนคติส่วนบุคคล เพื่อสร้างสังคมที่ทุกคน “รวยก่อนแก่” และมีชีวิตบั้นปลายได้อย่างมั่งคั่งและยั่งยืน