องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เป็นกลไกระดับจังหวัดที่สำคัญ มีงบประมาณ และบทบาทหน้าที่ในการแก้ไขปัญหาไปพร้อมกับการพัฒนาจังหวัด ดังนั้นถ้า อบจ.ดี บ้านของเราอาจดีตาม !?
The Active – Policy Watch ไทยพีบีเอส ร่วมกับภาคีเครือข่ายเปิดเวทีสาธารณะครั้งที่ 3 ในพื้นที่ภาคเหนือ เพื่อสื่อสารความสำคัญของการเลือกตั้งท้องถิ่น การกระจายอำนาจ และการใช้งบประมาณระดับท้องถิ่น พร้อมไปกับการเปิดพื้นที่ฟังเสียงสะท้อนความต้องการ และความคาดหวังต่อการเลือกตั้ง อบจ.ผ่าน “Policy Forum ครั้งที่ 29 : เลือก อบจ. เลือกอนาคตท้องถิ่น จ.เชียงใหม่”

ภาพจาก Lanner
“เชียงใหม่” มีงบ อบจ. 2,160 ล้าน มากสุดในภาคเหนือ
จากการรวบรวมข้อมูล “งบประมาณ” ที่ปรากฏในข้อบัญญัติงบประมาณ และข้อมูลรายได้องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น จากกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น โดยสถาบันพระปกเกล้า, คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ Rocket Media Lab
พบข้อมูลที่น่าสนใจว่า “เชียงใหม่” เป็นจังหวัดที่มีงบประมาณ อบจ. มากที่สุดของภาคเหนือ รวมปีละ 2,160.87 ล้านบาท โดยมีที่มาจาก 3 ส่วน ได้แก่ รัฐจัดสรร 1,555.19 ล้านบาท เงินอุดหนุน 397.22 ล้านบาท และจัดเก็บเอง 208.45 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นท้องถิ่นที่จัดเก็บงบประมาณเองได้มากที่สุดของภูมิภาค
สันติชัย อาภรณ์ศรี บรรณาธิการบริหาร Rocket Media Lab มองว่าสิ่งที่น่าสนใจคือ อบจ.เชียงใหม่ หาเงินได้จาก ภาษี (ยาสูบ น้ำมัน อากรรังนกอีแอ่น) มากที่สุด 81.79 ล้านบาท คิดเป็น 39.24% รองลงมาคือ รายได้จากทรัพย์สิน 64.88 ล้านบาท คิดเป็น 31.13% และค่าธรรมเนียม ค่าปรับ ใบอนุญาต 60.37 ล้านบาท คิดเป็น 28.96%
แต่เมื่อเปรียบเทียบกับ อบจ.อื่น ๆ พบเชียงใหม่สามารถจัดเก็ยรายได้จากค่าธรรมเนียมบำรุงท้องถิ่นจากโรงแรมได้สูงที่สุดเป็นอันดับ 4 ของประเทศ รวม 46.42 ล้านบาท ขณะที่การจัดเก็บรายได้จากภาษียาสูบ และภาษีน้ำมัน ไม่ติดอันดับ 1 ใน 5 ของประเทศด้วยซ้ำ นั่นหมายความว่าศักยภาพในการจัดเก็บรายได้หลักยังทำได้ไม่มากเท่าที่ควร
ส่วนการใช้งบประมาณของ อบจ. ภาคเหนือ พบว่าถูกใช้ไปในอุตสาหกรรมโยธามากที่สุด 33.06% รองลงมาคือ บริหารงานทั่วไป 19.06% สาธารณสุข 12.74% และการศึกษา 11.66% เป็นไปในทิศทางใกล้เคียงกับ อบจ.เชียงใหม่ ที่ใช้ในอุตสากรรมและโยธา มากที่สุด 37.49% รองลงมาคือ บริหารงานทั่วไป 13.74% การศึกษา 11.20% งบกลาง 10.34% และสาธารณสุข 9.38%
โดย งบก่อสร้างของ อบจ.เชียงใหม่ ไปอยู่ที่ถนนมากสุด 898.64 ล้าน รองลงมาคือ อาคารและสิ่งปลูกสร้าง 47.31 ล้านบาท การระบายน้ำและป้องกันน้ำท่วม 25.43 ล้านบาท และสะพาน 28.41 ล้านบาท สะท้อนให้เห็นว่า อบจ.ให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาน้ำท่วม แต่อีกปัญหาใหญ่อย่างฝุ่นควันกลับยังน้อย อีกทั้งจากสถิติการลดไฟป่า ในปี 2567 แม้จะลดลงแต่ก็น้อยนิด ไม่ถึง KPI ซึ่งอยู่ที่ 50% นั่นหมายความว่าเชียงใหม่อาจต้องเผชิญกับปัญหาฝุ่นควันต่อเนื่องไปอีก
“อยากให้ชวนกันคิดต่อจากข้อมูลนี้ ว่าเราต้องการให้ นายก อบจ. หรือ ส.อบจ. ทำอะไรต่อในอนาคต เกี่ยวกับจังหวัดและภาคของเรา และควรจะโยกงบ จากส่วนที่ปัญหาน้อยแต่งบมาก มาเพิ่มให้กับส่วนที่มีปัญหาใหญ่จริง ๆ เพื่อแก้ไขปัญหาได้อยากตรงจุดมากขึ้น”
สันติชัย อาภรณ์ศรี บรรณาธิการบริหาร Rocket Media Lab
ข้อเสนอ 6 วาระที่คนเชียงใหม่อยากเห็นนายก อบจ.คนใหม่ทำ
ภาคประชาสังคมเชียงใหม่ได้รวบรวมความคิดเห็นของประชาชนจาก 6 เวที ตลอดปีที่ผ่านมา เพื่อนำเสนอ 6 วาระสำคัญที่อยากให้นายก อบจ. คนใหม่ดำเนินการ โดยมีข้อมูลที่น่าสนใจดังนี้
วาระที่ 1 : คุณภาพชีวิต ความหลากหลาย ชาติพันธุ์ สังคมสูงวัย สุขภาพ และแรงงาน
“คนเชียงใหม่เกือบ 2 ล้านคน มีกลุ่มคนมากมาย ที่เต็มไปด้วยความหลากหลาย ทั้งภาษา วัฒนธรรม เช่น กลุ่มแรงงาน ผู้พิการ คนไร้บ้าน และอีกมากมาย แต่สิ่งที่มีเหมือนกันคือความเหลื่อมล้ำในคุณภาพชีวิต”
วิไลลักษณ์ เยอเบาะ เครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย
แม้ อบจ. จะไม่มีอำนาจที่จะแก้ปัญหาคุณภาพชีวิตได้ทั้งหมด แต่สิ่งหนึ่งที่ทำได้ทันที ศุภลักษณ์ บำรุงกิจ สหภาพแรงงานบาริสต้าและเครือข่ายแรงงานภาคเหนือ บอกว่า อบจ.สามารถแสดงความจริงใจที่จะ “ยกระดับการจ้างงาน” ให้ทุกคนมีสวัสดิการอย่างทั่วถึง เช่น มีประกันสังคม มีสมดุลชีวิตการทำงาน (Work Life Balance) ไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบ และมีโอกาสที่จะเรียนรู้และพัฒนาทักษะขั้นสูงอย่างสม่ำเสมอ ที่สำคัญต้องส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศ ให้ทั้งพ่อและแม่ สามารถลาคลอดได้ 180 วัน
ขณะเดียวกันต้องทำหน้าที่เชื่อมโยงกับสำนักงานจัดหางาน เพื่อจับคู่แรงงานและตำแหน่งงานที่เปิดรับเข้าด้วยกัน แก้ปัญหาคนตกงาน และเปิดพื้นที่ส่วนร่วมให้ประชาชนสามารถแบบโครงการต่าง ๆ ของ อบจ. ได้ เช่น โครงการอุดหนุนการจ้างงาน โครงการฝึกงาน
ส่วนคุณภาพชีวิตดี ๆ ที่คนเชียงใหม่ต้องการ คือ น้ำประปาดื่มได้, บริการสุขภาพที่ทั่วถึงและเป็นธรรม พร้อมกับสิทธิใหม่ในการตรวจคัดกรองมะเร็งปอด และสุขภาพจิต, การศูนย์กีฬาแก้ปัญหายาเสพติด และสวนสาธารณะที่ตอบโจทย์การใช้งานของผู้หญิงมากขึ้น, แจกผ้าอนามัยฟรี, สร้างศูนย์เด็กเล็ก ที่จะเสริมสร้างพัฒนาการเด็ก คืนแม่เข้าตลาดแรงงาน และสร้างศูนย์สร้างเสริมพหุวัฒนธรรม
วาระที่ 2 : เศรษฐกิจสีเขียวท่องเที่ยวสร้างสรรค์
การท่องเที่ยวเป็นรายได้ให้กับเชียงใหม่มากถึง 70% แต่ยังมีปัญหาจัดเก็บภาษีได้ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย รวมถึงการแก้ไขปัญหาอย่างฝุ่นควัน น้ำท่วม ที่ทำให้นักท่องเที่ยวลดลงอย่างมาก อย่างน้อย 3 เดือนในแต่ละปี และขนาดสนามบินที่เล็ก ส่งผลให้นักเดินทางมาได้จำกัด
วารุณี คำเมรุ นายกสมาคมสหพันธ์ท่องเที่ยวภาคเหนือ จังหวัดเชียงใหม่ แนะนำว่า อบจ.ต้องสร้างการรับรู้ว่าเชียงใหม่เป็น “เมืองแห่งเทศกาล” ที่ทุกคนสามารถมาเที่ยวได้ตลอดทั้งปี และเป็นเมืองท่องเที่ยวที่ทำกิจกรรมได้หลายอย่าง เช่น “เมือง World Class Adventure Sport” ที่จัดวิ่งเทรล ปีนผาระดับโลก และเป็น “เมืองสุขภาพดีและสมุนไพรโลก”
แต่สิ่งเหล่านี้จะไม่เกิดขึ้นเลย ถ้าไม่เริ่ม “แก้ผังเมือง” ให้ที่พักและโรงแรมขนาดเล็กสามารถประกอบการได้ เพราะเมื่อไรที่ผู้ประกอบการโรงแรมที่กำลังมากพอ อบจ.จะเก็บภาษีได้มากขึ้น และสามารถแบ่งเงินจากภาษีโรงแรม 30% มาทำการตลาดให้การท่องเที่ยวเชียงใหม่ยิ่งเป็นที่นิยม
นอกจากนี้ยังต้อง “ยกระดับสินค้าท้องถิ่น” ให้มีความเป็นสากลรองรับความต้องการนักท่องเที่ยว และสามารถส่งออกไปยังหลายประเทศทั่วโลก เพื่อต่อยอดการสร้างรายได้ให้กับประเทศอย่างยั่งยืน
วาระที่ 3 : การแก้ปัญหาฝุ่นควัน
ปัญหาฝุ่นควันเชียงใหม่เกิดขึ้นทุกปี ทั้งจากยานพาหนะ การเผาไหม้ในพื้นที่ป่า ฝุ่นควันข้ามจังหวัด และฝุ่นควันข้ามแดน
ปริศนา พรหมมา ตัวแทนสภาลมหายใจเชียงใหม่ จึงอยากให้ นายก อบจ.คนใหม่ เพิ่มพื้นที่การเกษตรสีเขียวปีละ 1,000 ไร่ เพื่อลดการเผาไหม้พืชล้มลุก และสนับสนุนให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม ในการจัดทำข้อบัญญัติสิ่งแวดล้อม การวางแผนการใช้จ่ายงบประมาณ และการจัดการไฟป่า ร่วมกับกรมป่าไม้และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เนื่องจากพบข้อจำกัดด้านงบประมาณและจำลังคนในการจัดการไฟป่า ซึ่งเจ้าหน้าที่ 1 คน ต้องดูแลป่า 5,000 ไร่ จึงเป็นไปได้ยากที่จะจัดการไฟป่าได้อย่างมีประสิทธิภาพ
รวมถึงแนะนำให้จัดโครงการนำร่อง “คัดกรองมะเร็งปอด” ในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ภายในการกำกับดูแลของ อบจ. เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการได้ง่าย ลดภาระค่าใช้จ่าย และสามารถบรรเทาผลกระทบด้านสุขภาพได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ
วาระที่ 4 : การศึกษา ศิลปวัฒนธรรม และการเป็นเมืองมรดกโลกทางวัฒนธรรม
“เชียงใหม่มีคอนเสิร์ตจากศิลปินระดับโลก เช่น แบมแบม GOT7 มาแล้ว ถ้าจัดคอนเสิร์ตที่มาจากศิลปินคนเชียงใหม่เอง จะดีกว่าไหม”
เสาวคนธ์ ศรีบุญเรือง ตัวแทนเครือข่ายชุมชนเมืองรักษ์เชียงใหม่
เสาวคนธ์ ศรีบุญเรือง ตัวแทนเครือข่ายชุมชนเมืองรักษ์เชียงใหม่ ตั้งคำถามชวนให้คิดว่า ทำไมถึงไม่ค่อยเห็นคอนเสิร์ตที่เป็นของคนเชียงใหม่เอง เพราะนอกจากจะช่วยสนับสนุนทรัพยากรของจังหวัด ยังช่วยชูเอกลักษณ์ของท้องถิ่นให้นักท่องเที่ยวได้เห็น เป็นที่ประจักษ์ปรากฏไปสู่สายตาโลกได้อีก
จึงอยากให้ นายก อบจ.คนใหม่ “ส่งเสริมและพัฒนาศิลปินท้องถิ่น” รวมถึงดูแลสวัสดิการพ่อครูแม่ครู ที่เป็นต้นทุนทางวัฒนธรรมประเพณี ให้พวกเขามีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีกำลังส่งต่ออาชีพนี้ให้กับลูกหลาน ขณะเดียวกันก็ “สร้างพื้นที่ทางวัฒนธรรม” ให้ศิลปินท้องถิ่นมีเส้นทางในการเลี้ยงดูครอบครัวของตัวเองได้อย่างมั่นคง
นอกจากนี้ต้อง ส่งเสริมการศึกษาในพื้นที่ห่างไกล โดยเพิ่มวิชาที่เหมาะสมกับบริบทพื้นที่ และเป็นประโยชน์กับการประกอบอาชีพในอนาคตด้วย เพราะหากเก่งแต่ทอผ้าเพียงอย่างเดียว ถ้าไม่ทอผ้าแล้ว พวกเขาจะอยู่อาศัยอย่างไรต่อไป
สุดท้ายนี้ ต้องทำให้ “8 แหล่งมรดกทางวัฒนธรรม” ไปสู่ “มรดกโลก” ให้ได้ เพราะเชื่อว่านี่จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เกิดความเจริญในหลาย ๆ ด้านตามมา ทั้งการจัดทำพื้นที่รองรับนักท่องเที่ยว ไปจนถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน (น้ำ ไฟ ระบบขนส่ง) และการมีคุณภาพชีวิตที่ดี
ซึ่งการจะไปถึงจุดนั้นได้ ต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญ และงบประมาณในการจัดทำข้อมูล รวมถึงการประชาพิจารณ์ เป็นเหตุผลให้ต้องพึ่งพากำลังของ อบจ.
วาระ 5 : สิทธิการเดินทาง เมืองที่เป็นธรรมสำหรับทุกคน
ระบบขนส่งสาธารณะเป็นอีกประเด็นสำคัญ ที่คนเชียงใหม่อยากให้พัฒนา เพราะที่มีอยู่ตอบโจทย์เพียงนักท่องเที่ยว แต่ไม่ใช่สำหรับคนอยู่อาศัย
โดย จิรกร สุวงษ์ ผู้ประกอบการกลุ่ม We Green บอกว่า เชียงใหม่ต้องมีระบบการจราจรอัจฉริยะที่ทุกคนเข้าถึงได้ (Smart Mobility for All) โดยต้องพัฒนาเส้นทางให้ครอบคลุม พร้อม ปรับรถขนส่งสาธารณะให้เป็นรถโลว์คาร์บอน เช่น EV Bus เพื่อลดปัญหาฝุ่นควัน และประหยัดค่าใช้จ่ายด้านน้ำมัน ลดต้นทุนค่าโดยสารให้กับประชาชนอีกด้วย
ขณะเดียวกันก็ต้องส่งเสริมให้เกิดการเดินรอบเมืองและขี่รถจักรยานได้สะดวก พร้อมเพิ่มบทบาทให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการออกแบบ เพื่อให้ตรงกับความต้องการของพวกเขาอย่างแท้จริง
ส่วน “กลุ่มไรเดอร์” ที่มีปริมาณมากขึ้นและหลายคนใช้บริการอยู่เป็นประจำ ส่งผลให้พวกเขาแออัดกันอยู่บริเวณหน้าร้านอาหาร บดบังทัศนียภาพของเมืองท่องเที่ยวที่สวยงาม ถึงเวลาแล้วที่ ควรมีจุดพักรถติดแอร์ เพื่อให้เกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อย
วาระ 6 : การกระจายอำนาจ จังหวัดจัดการตนเอง
อำนาจอยู่ในมือของคนเชียงใหม่ทุกคน! อภิบาล สมหวัง คณะก่อการล้านนาใหม่ จึงมองว่า อบจ.ชุดใหม่ควรจัดตั้งกองทุนเพื่อสนับสนุนการรวมตัวและการรวมกลุ่มทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นแรงงานบริการ พี่น้องชาติพันธุ์ และผู้ต่อสู้เรื่องสิ่งแวดล้อม พร้อมเปิดพื้นที่ให้กลุ่มต่าง ๆ ได้ร่วมกำหนดวาระและแสดงความเห็นในการทำงานของ อบจ. ตลอดจนมีสิทธินั่งเป็นกรรมการชุดต่าง ๆ ที่ อบจ.มีอยู่ในขณะนี้

ภาพจาก Lanner
คำตอบรับจาก “ผู้สมัคร นายก อบจ.” ถึงคนเชียงใหม่
ผู้สมัครนายก อบจ.เชียงใหม่ทั้ง 3 คน รับฟังข้อเสนอ 6 วาระจากตัวแทนภาคประชาสังคม และให้ความเห็น การตอบรับ ดังนี้
“เชียงใหม่ในอนาคตจะสวยงาม ไม่มีใครถูกลืม พร้อมดูแลทุกอย่าง และทำงานอย่างเป็นรูปธรรม”
พิชัย เลิศพงศ์อดิศร ผู้สมัครนายก อบจ.
พิชัย เลิศพงศ์อดิศร ผู้สมัครนายก อบจ. เห็นด้วยกับข้อเสนอที่จะผลักดันเชียงใหม่เป็น “เมืองมรดกโลก” และ “เมืองแห่งเทศกาล” เพราะรายได้หลักของจังหวัดคือการท่องเที่ยว ส่วนการจัดการแข่งขันกีฬาระดับโลก เช่น วิ่งเทรล ที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเสนอมา ก็พร้อมที่จะสนับสนุน
ด้านความหลากหลายทางพหุวัฒนธรรมและสังคมชาติพันธุ์ พร้อมจะดูแลในทุก ๆ ด้านเช่นเดียวกัน โดยทุกคนสามารถมานำเสนอได้ แต่ในเรื่องชุมชนเป็นเจ้าของป่า ตัวเองอยากทำให้เกิดพื้นที่ “หมู่บ้านแฝด” ให้ชุมชนที่มีพื้นที่ป่าเข้ามาเติมความรู้ ความเข้าใจในการดูแลป่าและการทำเกษตรกรรมกับพื้นที่ที่ไม่มีป่า
ไม่เพียงเท่านั้นยังรวมถึงการเพิ่มงบประมาณจัดการฝุ่น จัดตั้งวอร์รูมโดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดดูแล เพิ่มพื้นที่ปอดกลางเมือง ขยายเส้นทางจราจรใหม่เพื่อลดความหนาแน่นของรถบนท้องถนน ซึ่งเบื้องต้นได้ออกแบบพื้นที่ไว้หลายเส้นแล้ว รอสานต่อหากได้รับการเลือกตั้งเป็น นายก อบจ.อีกครั้ง พร้อมให้ความเชื่อมั่นว่าการอยู่พรรคเพื่อไทย อาจทำให้การประสานงานกับส่วนกลางและหน่วยงานราชการอื่น ๆ ของรัฐเป็นไปได้ง่าย
“คนเชียงใหม่ต้องสุขภาพแข็งแรง มีอากาศสะอาด และมีความสามารถที่จะเติบโตได้ทุกคน ทั้ง 25 อำเภอ”
พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้สมัครนายก อบจ.
พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้สมัครนายก อบจ. บอกว่า ชีวิตดี ๆ ในเชียงใหม่เกิดขึ้นได้ เพราะหลาย ๆ ข้อบัญญัติสามารถออกได้โดย สภา อบจ. ดังนั้นเรื่อง “จังหวัดจัดการตนเอง” สามารถทำได้เลย ไม่ต้องรอให้ปรับกฎหมายใด ๆ เพราะเป็นสิทธิการดูแลคนเชียงใหม่ทั้งหมด
เชียงใหม่มีความหลากหลาย ทั้งทางเพศ พหุวัฒนธรรม และชีวมวล การดูแลคนเชียงใหม่จึงต้องครอบคลุมทั้ง 3 ประเด็นนี้ ส่งเสริมให้พี่น้องชาติพันธุ์มีวิชาชีพต่อยอดไปสู่รุ่นลูกรุ่นหลาน รับเอาความสร้างสรรค์จากทุกคนแบบไม่จำกัดเพศมาทำให้วัฒนธรรมเชียงใหม่รุ่มรวยงดงาม พร้อมเปิดให้เกิดธุรกิจและการจ้างงานกลุ่ม LGBTQIAN+ ด้วย โดยเน้นให้เกิดการจ้างงานคนในพื้นที่ก่อน ชาวต่างชาติ
นอกจากนี้ยังต้องส่งเสริมให้เกิด “เศรษฐกิจส้มเขียวหวาน” ให้คนอยู่กับป่าได้ แล้วป่าจะอุดมสมบูรณ์ เกิดการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ พร้อมสนับสนุนให้เกิดการยกระดับสินค้าท้องถิ่น ร้านอาหารปลอดภัย และ EV Bus ขนส่งนักท่องเที่ยว ซึ่งจะกระจายความเจริญและโอกาสให้คนทั่วทั้ง 25 อำเภอไปพร้อมกับการรักษาสิ่งแวดล้อม ขณะเดียวกันต้องสร้างสตอรี่ให้ชุมชนท้องถิ่น เพื่อดึงคนรุ่นใหม่ให้อยากกลับทำงานที่บ้านเกิดด้วย
“คนเชียงใหม่จะยิ้มได้อย่างมีความสุข หัวเราะได้ดัง ๆ ด้วยความมั่นคงและมีคุณภาพชีวิตที่ดี”
พลตรีพนม ศรีเผือด ผู้สมัครนายก อบจ.
พลตรีพนม ศรีเผือด ผู้สมัครนายก อบจ. มองเห็นว่า เชียงใหม่มีพื้นที่ป่าภูเขา 80% เพราะฉะนั้นความหลากหลายทางวัฒนธรรม กลุ่มชาติพันธ์ุในเชียงใหม่จึงเยอะ แต่พวกเขากลับไม่ได้รับการพัฒนาเท่าที่ควร ตัวเองจึงอยากให้พี่น้องชาติพันธุ์มีที่ยืนในสังคมได้สง่างาม พร้อมขับเคลื่อนเชียงใหม่ไปสู่มรดกโลก
ขณะเดียวกันผู้สูงอายุก็ไม่ทิ้ง จะจัดกิจกรรมเฉพาะผู้สูงอายุ รวมถึงเปิดโอกาสให้เขาได้เป็น “ชราจารย์” เล่าประสบการณ์เรื่องราวชีวิตให้เด็ก ๆ ฟัง ส่วนแรงงานก็ต้องพัฒนาให้มีทักษะขั้นสูง เพื่อให้พวกเขาสามารถตั้งหลักและยืนอยู่ได้อย่างมั่นคง
ด้านสุขภาพ นอกจากจะยกระดับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลให้ทุกคนสามารถพบแพทย์ได้ครบจบ โดยไม่ต้องเดินทางไกลไปถึงโรงพยาบาลในตัวเมือง นอกจากนี้ยังจะเพิ่มพื้นที่ออกกำลัง และโปรแกรมการออกกำลังกายที่เหมาะกับช่วงวัย
ส่วนปัญหาไฟป่า ซึ่งสูญเสียเจ้าหน้าที่ทุกปี จึงมองว่า ต้องทำงานร่วมกับชุมชน เพิ่มการลาดตระเวน ตั้งจุดสกัด เพื่อตัดไฟแต่ต้นลม ไม่ต้องรอตั้งรับดับไฟป่า
สำหรับการขนส่งสาธารณะ ต้องปรับปรุงให้เป็น EV BUS ติดแอร์ และมีความปลอดภัยสูง พ่อและแม่จะได้ไม่จำเป็นต้องไปส่งลูก แก้ปัญหารถติด ลดอุบัติเหตุ และลดภาระให้พ่อและแม่ มีเวลามากขึ้น สามารถเข้าสู่ตลาดแรงงานได้อย่างวางใจมากขึ้น และใช้ประโยชน์จากลำน้ำปิง โดยเฉพาะในช่วงฤดูแล้ง ให้เกิดการขนส่งทางน้ำ ควบคู่ไปกับทางบก
หลังวันที่ 1 กุมภาพันธ์นี้ คือโอกาสสำคัญที่ผู้นำท้องถิ่นคนใหม่จะได้พิสูจน์ศักยภาพในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาจังหวัดเชียงใหม่ให้เป็นไปตามความคาดหวังของประชาชน แต่จะทำได้ดีหรือไม่นั้น เราทุกคนจะต้องช่วยกันติดตามและตรวจสอบ ขณะเดียวกัน อบจ. ก็ต้องสร้างพื้นที่ให้ประชาชนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมได้ด้วย แล้วเชียงใหม่จะดีขึ้นกว่าเดิม