กล่าวได้ว่า หากไม่เกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวและตึกถล่ม หากไม่เกิดโศกนาฏกรรม ปัญหาความโปร่งใสและการตรวจสอบ สตง. จะยังคงถูกซุกอยู่ใต้พรม เพราะ สตง. จะไม่ถูกตรวจสอบและสาธารณชนจะไม่มีทางทราบถึงการทุจริตโครงการของ สตง. เอง ตั้งแต่การจัดซื้อจัดจ้าง กระบวนการบริหารสัญญา ไปจนถึงผู้ควบคุมงาน ซึ่งเหตุการณ์ตึก สตง. ถล่มผ่านมาแล้วเดือนกว่า ภาคประชาชน ประชาสังคม และภาครัฐ ยังคงเคลื่อนไหวดำเนินการตรวจสอบทุจริต ให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริตโครงการนี้รับผิดชอบ ซึ่งจากเหตุการณ์นี้ การรับผิดชอบโดยทันทีได้แก่
- การเยียวยาครอบครัวผู้สูญเสียทั้งแรงงานชาวไทยและชาวต่างชาติอย่างสมเหตุสมผล
- ผู้บริหารของสตง. ลาออกจากตำแหน่ง
อย่างไรก็ตามซากตึก สตง. ถล่มเป็นเพียงยอดภูเขาน้ำแข็งของปัญหาคอรัปชันที่เรื้อรังมานานของรัฐไทย และเหตุการณ์นี้ก็ได้กระตุ้นให้ภาคประชาชนและภาคประชาสังคมกระตือรือร้นที่จะเข้ามามีส่วนร่วม ตรวจสอบโครงการของรัฐที่ดำเนินการบนภาษีประชาชน แต่อำนาจสั่งการและตรวจสอบนั้นเป็นขององค์หน่วยงานภาครัฐโดยตรง ได้แก่
- กรมบัญชีกลาง สังกัดกระทรวงการคลัง
- กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) สังกัดกระทรวงยุติธรรม
- กองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (บก.ปปป.) สังกัดกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง
- สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.)องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ
- สำนักงานปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ
- สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) หน่วยงานของรัฐใต้บังคับบัญชาของนายกรัฐมนตรี
- สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ส่วนราชการใต้บังคับบัญชานายกรัฐมนตรี
- คณะกรรมาธิการศึกษาการจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณ
- คณะกรรมาธิการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ
ในประเทศไทยกล่าวได้ว่า มีองค์กรอิสระ หน่วยงานรัฐ หน่วยงานราชการ ที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบ ป้องกัน ปราบปราบคอร์รัปชัน มีจำนวนมาก มีพันธกิจ ภารกิจคล้ายคลึงกัน สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาคอรัปชันและความพยายามแก้ไขปัญหาเหล่านี้ อย่างไรก็ดี ปริมาณองค์กรหน่วยงานเหล่านี้มักถูกมองว่าทำงานซ้ำซ้อนกัน สิ้นเปลืองงบประมาณ
สุภอรรถ โบสุวรรณ อนุกรรมาธิการพิจารณาเรื่องร้องเรียนที่เกี่ยวกับการใช้งบประมาณ และกรรมการผู้จัดการ HAND Social Enterprise บริษัท แฮนด์ วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด ให้สัมภาษณ์กับ Policy Watch ถึงการตรวจสอบโครงการภาครัฐว่า
“การมีหน่วยงานตรวจสอบ ป้องกัน ไปจนถึงปราบปรามทุจริตนั้น แต่ละแห่งมีบทบาทและเนื้อหาการตรวจสอบที่แตกต่างกัน และถือว่ายังเหมาะสมกับประเทศไทย นอกเหนือจากบทบาทหน้าที่ในการตรวจสอบที่แตกต่างกันแล้ว ยังช่วยแก้ไขปัญหานักการเมือง ข้าราชการ ผู้มีอิทธิพลบางคนมักส่งคนที่มีความสัมพันธ์เป็นการส่วนตัว ไปนั่งในตำแหน่งองค์กรอิสระ องค์กรตรวจสอบ ต่าง ๆ เพื่อเป็นช่องทางให้ตนรอดจากข้อกล่าวหาคอร์รัปชัน การมีหลายหน่วยงานจะเป็นผลดี เพราะจะช่วย check and balance กัน ขณะเดียวกันก็ช่วยให้ประชาชนมีตัวเลือกมากขึ้นในการร้องเรียน แต่ก็ไม่ได้บอกว่าควรจะเพิ่มหน่วยงานแบบนี้อีก”
ในรายละเอียดของการปฏิบัติหน้าที่ที่แตกต่างกัน
- กรมบัญชีกลาง สังกัดกระทรวงการคลัง ดำเนินการเกี่ยวกับกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ คำสั่งและหลักเกณฑ์ด้านการเงินการคลัง การบัญชี การพัสดุ และระบบการตรวจสอบภายในของส่วนราชการเพื่อให้ส่วนราชการถือปฏิบัติ ดำเนินการเกี่ยวกับการติดตามและประเมินผลการดำเนินงานและการบริหารด้านการคลัง เพื่อประกอบการพิจารณาเสนอแนะนโยบายด้านการคลังของประเทศ จึงเป็นการตรวจสอบประเมินการจัดซื้อจัดจ้างเป็นหลัก ไม่ได้มีหน้าที่ควบคุมตัวผู้ทุจริต
- กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) สังกัดกระทรวงยุติธรรม มีอำนาจหน้าที่ป้องกัน ปราบปราม สืบสวน และสอบสวนคดีพิเศษตามกฎหมายว่าด้วยการสอบสวนคดีพิเศษ และตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการคดีพิเศษประกาศกำหนดหรือตามมติของคณะกรรมการคดีพิเศษ ตลอดจนปฏิบัติงานตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาและกฎหมายอื่นอันเกี่ยวกับความผิดทางอาญาที่เป็นคดีพิเศษ
- กองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (บก.ปปป.) สังกัดกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง สังกัดกองบัญชาการตำรวจ มีอำนาจควบคุม ดำเนินคดีผู้ที่ทุจริตได้ ขณะที่องค์กรอื่นๆไม่มีอำนาจจับมาดำเนินคดี
- สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.)องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ มีบทบาทเช่นเดียวกับฝ่ายออร์ดิทของบริษัท ตรวจสอบระบบการเงินการรับจ่าย การเก็บรักษาและการใช้จ่ายเงินและทรัพย์สิน รวมทั้งตรวจสอบผลการดำเนินงาน ตรวจสอบการจัดเก็บและการประเมินภาษีอากร ค่าธรรมเนียมและรายได้ ซึ่งเป็นการตรวจสอบจากเอกสาร
- สำนักงานปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ทำหน้าที่ไต่สวนข้อเท็จจริงและสรุปสำนวนพร้อมทั้งทำความเห็นเสนอต่อวุฒิสภา ไต่สวนข้อเท็จจริงและสรุปสำนวนพร้อมทั้งทำความเห็นเพื่อส่งไปยังอัยการสูงสุดเพื่อฟ้องคดีต่อ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
- สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) หน่วยงานของรัฐใต้บังคับบัญชาของนายกรัฐมนตรีมีบทบาทตรวจสอบโครงการรัฐต่างๆ ว่ามีความเสี่ยงจะเกิดทุจริตอย่างไรบ้าง และทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายว่าจะต้องแก้ไขอย่างไร
- สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ส่วนราชการใต้บังคับบัญชานายกรัฐมนตรี มีบทบาทตรวจสอบเส้นทางการเงินในการดำเนินการโครงการของรัฐและการป้องกันนอมินี ความเชื่อมโยงทางการเงิน ในหลายๆกรณีจะมีการสนธิกำลังกันเพื่อตรวจสอบและปราบปรามทุจริต
- คณะกรรมาธิการศึกษาการจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณมีหน้าที่และอำนาจกระทำกิจการ พิจารณาสอบหาข้อเท็จจริง หรือศึกษาเรื่องใด ๆ ที่เกี่ยวกับนโยบายของรัฐบาลในด้านงบประมาณ การจัดทำงบประมาณ ติดตามและประเมินผลการรับ การจ่ายเงินงบประมาณประจำปีของส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ และรัฐวิสาหกิจ
- คณะกรรมาธิการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ มีหน้าที่และอำนาจกระทำกิจการ พิจารณาสอบหาข้อเท็จจริง หรือศึกษาเรื่องใด ๆ ที่เกี่ยวกับกระบวนการและมาตรการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ
ในแต่ละหน่วยงานสามารถทำงานประสานร่วมมือกันได้ในการปราบปรามคอร์รัปชัน ในกรณี ตึก สตง. ถล่ม กมธ. การจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณฯ เรียก สตง. มาเปิดเผยข้อมูล ทำให้เอกสาร สตง.เปิดเผยสู่สาธารณะ ทำให้รู้ว่ามีการแก้แบบก่อสร้าง มีข้อผิดพลาด และในกรณีนอมินีซื้อขายลายเซ็น วงการก่อสร้างออกแบบอาคารสถานที่ มีการซื้อขายชื่อลายเซ็น รับรองโครงการ จำนวนมาก รูปแบบการซื้อขายกันมีทั้งจ่ายเป็นรายโพรเจ็คต์ รายเดือน รายปี ในการตรวจสอบและจัดการ ทางดีเอสไอต้องร่วมมือกับ ปปง. ให้ตรวจสอบเส้นทางการเงิน หากแต่ในกรณีที่ เป็นการซื้อขายด้วยเงินสดหรือบิดเส้นทางการเงิน ทางดีเอสไอและ ปปง. ต้องเพิ่มมาตรการตรวจสอบที่ละเอียดขึ้น
ยังมีอีกหลายโครงการรัฐที่ประชาชนต้องเฝ้าจับตามอง
อย่างไรก็ตามซากตึก สตง. ถล่มเป็นเพียงยอดภูเขาน้ำแข็งของปัญหาคอรัปชันโครงการรัฐเท่านั้น เพราะยังมีอีกหลายโครงการของรัฐที่ยังมีพิรุธ และข้อกังขาที่ประชาชน ประชาสังคมยังต้องจับตามอง ตรวจสอบ เพราะถ้าหากไม่เฝ้าระวัง ติดตาม โครงการรัฐหลายโครงการอาจมีการคอร์รัปชัน หรือถูกทิ้งร้าง ผู้ที่ประมูลรับงานทิ้งงานระหว่างดำเนินการก่อสร้าง หรือก่อสร้างนานผิดปรกติเช่น การก่อสร้างโครงการบนถนนพระราม 2
สุภอรรถ โบสุวรรณ กล่าวว่า “สิ่งที่ต้องเฝ้าระวังเกี่ยวกับการคอร์รัปชันในโครงการคือ การเสนอราคาต่ำมากในการประมูลโครงการ กรมบัญชีกลาง ซึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบการจัดซื้อจัดจ้างเป็นหลัก ต้องเอาสถิติจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ (EGP) มาเฝ้าดูว่า มีเอกชนบางพวกมาฟันราคา เสนอราคาต่ำกว่าบริษัทอื่น ๆ ในการประมูล ต่ำกว่าราคากลาง พอสร้างไปสักระยะแล้วก็ทิ้งงาน ยุบบริษัท แล้วไปแจ้งจดตั้งบริษัทใหม่ แล้วก็ไปรับงานต่อ หรือฟันราคาแล้วมาขอแก้แบบทีหลัง ถ้ามีสถิติการก่อสร้างที่แก้แบบก่อสร้างจำนวนมาก เช่นถ้าถึงร้อยละ 50 ถือว่าเกิดความผิดปรกติอย่างแน่นอน ว่ามีการฮั้วกันระหว่างบริษัทกับหน่วนงานภาครัฐภาคราชการหรือไม่ ดังนั้นข้อมูลจึงมีส่วนสำคัญอย่างมากในการเฝ้าระวังการทุจริต และคำถามสำคัญนอกเหนือจาก มีคอร์รัปชันในโครงการรัฐหรือไม่ ก็คือแล้วใครบ้างต้องรับผิดชอบ”
กระบวนการยุติธรรมที่สองมาตรฐานทำให้คอร์รัปชันดำรงอยู่
สำนักงานคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) รายงานผลการสำรวจดัชนีรับรู้การทุจริต (Corruption Perceptions Index หรือ CPI) ประจำปี 2567 ขององค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International หรือ TI) จากจำนวนประเทศ 180 ประเทศทั่วโลก ประเทศไทยได้ 34 คะแนน เป็นอันดับที่ 5 ของอาเซียน และอันดับ 107 ของโลก ถือว่าเป็นคะแนนต่ำสุดในรอบ 12 ปี
การคอร์รัปชัน แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ
- การทุจริตขนาดใหญ่ (Grand Corruption)
กระทำกันผ่านสร้างโครงการต่าง ๆ โดยเจ้าหน้าที่ระดับกำหนดนโยบาย ที่มักอ้างว่าจำเป็นต้องทำ และแลดูถูกระเบียบไปหมดแล้ว ซึ่งวิธีแก้คือ ประชาชน เจ้าหน้าที่ ไปจนถึงกระบวนการยุติธรรมที่เฝ้าระวังและตรวจสอบ นอกจากจะตรวจเอกสารแล้ว อาจจะต้องตรวจสอบไปถึงสาระสำคัญเนื้อความในเอกสารด้วย รวมทั้งการปฏิบัติการหน้างานว่ามีพิรุธหรือไม่ อย่างไร
- การทุจริตขนาดเล็ก (Petty Corruption)
กระทำระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐที่ติดต่อกับประชาชน เช่นการออกใบอนุญาต การออกใบสั่ง
ประเทศที่ประสบความสำเร็จในการปราบปรามคอร์รัปชันเกิดจาก
- ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม ด้วยการเฝ้าระวัง ร้องเรียน เปิดโปง รวบรวมข้อมูล สังคมปลูกฝังว่าอย่ายอมจำนนกับคอรัปชัน ทำให้คนร่วมกันป้องกันไม่ให้คอร์รัปชันเกิดขึ้น
- ภาครัฐมีความโปร่งใส ซึ่งความโปร่งใสก็คือการเปิดเผยข้อมูล ให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบ พิจารณา เราจะเห็นว่าหน่วยงานภาครัฐบางแห่งเปิดเผยข้อมูลให้ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ แต่ประชาชนทั่วไปอ่านแล้วก็ยังคงเข้าใจยากอยู่ดี ซึ่งปัจจุบันในประเทศไทยก็มีกลุ่ม WeVis เป็นกลุ่มเทคโนโลยีภาคประชาชน ที่สร้างแพลตฟอร์มข้อมูลเปิด นำข้อมูลจากภาครัฐมาทำให้เข้าใจง่าย เข้าถึงง่าย ประชาชนที่เฝ้าระวังตรวจเข้ามาตรวจสอบและมีส่วนร่วมง่ายขึ้น
- กลไกความรับผิดรับชอบ อันเป็นจุดอ่อนของประเทศไทย เพราะการดำเนินคดีลงโทษมักสามารถทำได้เฉพาะประชาชนคนตัวเล็กตัวน้อย โอกาสที่คนระดับสูงจะถูกดำเนินคดีเอาผิดมีน้อยมาก สภาวะคนผิดลอยนวลนำไปสู่กระกระทำซ้ำต่อไปเรื่อย ๆ ทั้ง ๆ ที่ คอร์รัปชันโครงการรัฐเท่ากับโกงเงินคน 60 ล้านกว่าคน แต่กลับให้รอลงอาญา ขณะที่คดีฉ้อโกงทั่ว ๆ ไปยังลงโทษจำคุก
เพราะการคอร์รัปชันคือการโกงแบบพิเศษ โกงโดยใช้อำนาจ คำสำคัญอยู่ที่อำนาจ บางทีอำนาจมันก็ไร้ขอบเขต เหนือการตรวจสอบ ได้รับการงดเว้นการตรวจสอบ ถึงถูกลงโทษก็ลงโทษเพียงเล็กน้อย ปัญหาสำคัญจึงอยู่ที่กระบวนการยุติธรรมกลไกความรับผิดชอบที่มีสองมาตรฐาน ซึ่งก็ถือว่าเป็นมรดกคอร์รัปชัน และเป็นระบบที่ทำให้คนผิดลอยนวลและขับเคลื่อนคอร์รัปชันให้ดำรงอยู่ไปเรื่อย ๆ การตัดสินการลงโทษเรื่องบางเรื่องอยู่ที่ตัดสินใคร ตัดสินพวกไหน เหมือนสำนวนที่ว่า “รู้อะไร ไม่สู้ รู้จักกัน” ที่ความสัมพันธ์ส่วนบุคคลอยู่เหนือมาตรฐานและความยุติธรรม
ระบบอุปถัมภ์จึงถือได้ว่า เป็นอีกต้นตอและกลไกหนึ่งในการทำให้เกิดคอร์รัปชัน เช่นการแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตนของเจ้าหน้าที่รัฐ การให้สินบน และการคัดเลือกการจัดซื้อจัดจ้างที่ไม่เป็นธรรม รวมทั้งการตัดสินที่ไม่เป็นธรรม ขณะเดียวกันระบบอุปถัมภ์ก็เป็นมรดกโครงสร้างสังคมศักดินา ที่ต้องมีผู้อุปถัมภ์ค้ำชู ผู้มีอำนาจและการพึ่งพาระหว่างความสัมพันธ์เชิงอำนาจ ซึ่งระบบนี้ยังคงแฝงฝังอยู่ในวัฒนธรรมสังคมไทยมาช้านาน และอาจกล่าวได้ว่าที่ประเทศไทยจะยังคงล้มเหลวในการต่อต้านปราบปรามคอร์รัปชันต่อไปหากยังมีระบบอุปถัมภ์และความสัมพันธ์เชิงอำนาจในสังคมและการเมืองภาครัฐ ซึ่งทางออกในการแก้ไขปัญหานี้คือ ต้องสร้างระบอบประชาธิปไตยเข้มแข็ง และระบบยุติธรรมที่ตรวจสอบได้โดยประชาชน
ประชาชนคือพลังสำคัญที่จะยุติคอร์รัปชัน
ประชาชนเริ่มกระตือรือร้นในการตรวจสอบโครงการภาครัฐมากขึ้น มีนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญมาแสดงความเห็น อธิบายการถล่มของตึก หาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการทุจริตในการก่อสร้าง ซึ่งประชาชนสามารถตรวจสอบการจัดทำโครงการภาครัฐ ด้วยการตั้งคำถามหาข้อเท็จจริงและหลักฐานจากหน่วยงานรัฐที่ดำเนินการโครงการนั้นๆอยู่ ให้ชี้แจงเพื่อความโปร่งใสตั้งแต่ขั้นตอนดำเนินการเบื้องต้น คือ
- รายงานการศึกษาความเป็นไปได้และความเหมาะสมในการลงทุน
- การจัดทำ TOR ร่างขอบเขตของงาน
- การจัดทำงบประมาณและอนุมัติการก่อสร้าง
- การจัดซื้อจัดจ้าง เปิดโอกาสให้ผู้ประมูลเข้าร่วมเสนอราคาหรือข้อเสนอ จนได้ผู้ควบคุมการ ก่อสร้างและผู้รับเหมา
เพื่อความโปร่งใส และแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ มีความจำเป็นที่ต้องยกระดับมาตรการดังนี้
1. รัฐและผู้รับเหมาต้องเปิดเผยข้อมูลโครงการให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน ชัดเจน ครบถ้วน ตรวจสอบได้ รวดเร็วทันทีที่ร้องขอ จัดทำรูปแบบวิเคราะห์ที่เข้าใจง่าย สะดวกต่อการนำไปเผยแพร่ต่อ
2. รัฐต้องนำข้อตกลงคุณธรรมที่เป็นมาตรฐานเดียวกันไปใช้กับทุกโครงการ รวมทั้งโครงการลงทุนร่วมรัฐและเอกชน (PPP) และโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)
3. ต้องเพิ่มจำนวนโครงการเข้าร่วมข้อตกลงคุณธรรมอย่างน้อยเท่าตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการเมกะโปรเจ็กต์ที่ประชาชนสนใจ หรือมีผลกระทบต่อประชาชนมาก
นอกจากนี้ประชาชนยังสามารถทวงถามความรับผิดชอบ ในกรณีที่พบว่ามีการทุจริตในโครงการรัฐ เพื่อนำไปสู่การดำเนินคดีผู้ที่กระทำความผิด
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง