เหตุการณ์ความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนใต้ปะทุรุนแรงขึ้นในรอบ 2 เดือนที่ผ่านมา หลังจากกระบวนการเจรจาสันติภาพ ซึ่งหยุดนิ่งมาเป็นเวลาเกือบ 1 ปีแล้ว ทำให้เสียงเรียกร้องการเปิดโต๊ะเจรจาเกิดขึ้นอีกครั้ง
แม้จะยังไม่ชัดเจนว่าความรุนแรงในพื้นที่เริ่มถี่ขึ้นในช่วงตั้ง ก.พ – เม.ย 68 ที่ผ่านมา และเริ่มถี่ขึ้นในช่วงจาก10 วันสุดท้ายของเดือนรอมฎอน มาจากสาเหตุหรือปัจจัยอะไร แต่ข้อสันนิษฐานเบื้องต้นเห็นว่า น่าจะมาจากท่าทีการปิดเจรจาสันติภาพของรัฐบาลทำให้ไม่มีพื้นที่พูดคุยในช่วงที่ผ่านมา จนกลายเป็นความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่
หากประมวลเหตุการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ พบว่ามีเหตุการระเบิดไม่ต่ำกว่า 10 ครั้ง และเหตุการณ์ใช้อาวุธปืน ไม่ต่ำกว่า 6 ครั้ง ส่งผลให้ทั้งเจ้าหน้าที่รัฐและประประชาชนทั่วไปซึ่งรวมทั้งเด็ก ผู้สูงอายุ ผู้พิการ บาดเจ็บสาหัสและเสียชีวิต ทำให้เสียงเรียกร้องการเปิดเจรจาสันติภาพควรต้องเกิดขึ้น
ชญานิษฐ์ พูลยรัตน์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ออกมาระบุว่า สนับสนุนให้เปิดการเจรจา เพราะเหตุผลที่ทำให้ความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนใต้ปะทุขึ้นในระยะเวลา 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งอาจมาจากการหยุดชะงักของกระบวนการเจรจาสันติภาพ ซึ่งพบว่าได้หยุดนิ่งมาเป็นเวลาเกือบ 1 ปีแล้ว
นอกจากนั้ยังพบว่า ข้อมูลที่ผ่านมาของศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (Deep South Watch) พบว่านับตั้งแต่มีการเริ่มต้นกระบวนการเจรจาสันติภาพในปี 2556 เป็นต้นมา พบว่าสถิติเหตุการณ์ความไม่สงบได้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ดังนั้นกระบวนเจรจาสันติภาพเป็นพื้นที่ให้คู่ขัดแย้งสามารถต่อรอง แลกเปลี่ยนข้อมูลและมีส่วนสร้างความไว้วางใจต่อกัน เพื่อระงับไม่ให้ความรุนแรงเกิดขึ้นได้
แม้การเจรจาสันติภาพจะเป็นพื้นที่ในการลดความขัดแย้งได้ แต่ท่าทีรัฐบาลในช่วงที่ผ่านมา กลับให้ความสำคัญกับการเจรจาสันติภาพไม่มากนัก โดย นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เคยให้สัมภาษณ์ว่า “เราจะไม่คุย ถ้าไม่ใช่ตัวจริง” ทำให้การเจรจาสันติภาพหยุดนิ่ง มาจนถึงปัจจุบัน
เร่งเปิดเจรจารอบใหม่ ดับไฟใต้
เหตุการณ์ความรุนแรงที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และลุกลามไปถึงความปลอดภัยของพลเรือน ทำให้ภาคประชาสังคมและประชาชนกลุ่มต่างๆ ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งที่เป็นชาวมลายูและไทยพุทธ ต่างก็แสดงความต้องการไปในทิศทางเดียวกัน คือเรียกร้องให้รัฐบาลและขบวนการกลับสู่กระบวนการเจรจาสันติภาพโดยเร็ว
ขณะที่ผลการสํารวจความคิดเห็นของประชาชนต่อกระบวนการสันติภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเครือข่ายวิชาการ PEACE SURVEY นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2559 จนถึง พ.ศ. 2566 รวมทั้งสิ้น 7 ครั้ง โดยมีกลุ่มตัวอย่างเป็นทั้งชาวมลายูและคนไทยพุทธ อายุ 18-70 ปี รวมกว่า 10,581 คน ทั่วจังหวัดชายแดนภาคใต้ พบว่า ส่วนใหญ่ต้องการให้เปิดการเจรจาเพื่อสันติภาพ
ชญานิษฐ์ ระบุว่า ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ในการสำรวจความคิดเห็นขของประชาชนทั้ง 7 ครั้งสนับสนุนให้ใช้ “การพูดคุยสันติภาพ” เป็นแนวทางในการแก้ปัญหาความรุนแรง และไม่เคยมีผลการสำรวจความคิดเห็นประชาชนครั้งใดเลยที่ได้รับคำตอบว่าสนับสนุนการพูดคุยสันติภาพน้อยกว่าร้อยละ 55
ขณะที่ท่าทีของรัฐบาล โดยน.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์หลังประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 6 พ.ค 68 ถึง ถึงกรณีเหตุการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ภาคใต้ ว่าได้สั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว ทั้ง รัฐบาล ตำรวจ และทหารได้มีการร่วมพูดคุย ซึ่งฝ่ายความมั่นคงและกองทัพ ให้ดูแลรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มข้น
แต่การพูดคุยเจรจาก็ยังไม่ชัดเจนมากนัก โดย นายกรัฐมนตรี ระบุว่า ยังพร้อมพูดคุยทำความเข้าใจ โดยการเจรจาพูดคุยนอกเหนือจากช่องทางรัฐบาล ได้ดำเนินการผ่าน นาย ทักษิณ ชินวัตร มีการติดต่อพูดคุย นายอันวาร์ อิบราฮิม ประธานอาเซียนถึงแนวทางการแก้ปัญหาในเรื่องนี้อยู่แล้ว
ขณะที่ “ภูมิธรรม เวชยชัย” รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ระบุว่า ยินดีที่จะเจรจาพูดคุย ภายใต้ กฎหมายรัฐธรรมนูญไทย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข รัฐเป็น รัฐเดียวแบ่งแยกไม่ได้ ดังนั้น การจะเจรจาเพื่อเป็นรัฐปาตานี หรือรัฐอะไรก็ตาม เราไม่พร้อมเจรจาด้วย แต่ถ้าจะคุยในเรื่องการอยู่ร่วมกันหรือความร่วมมือ อันนี้ เรายอมรับได้ เรายอมรับ อยู่แล้ว พร้อมยืนยัน ว่า รัฐไม่ได้อยู่นิ่ง และมีการ เตรียมความพร้อม แต่ต้องอยู่ภายใต้สิ่งที่รัฐสามารถดำเนินการได้
อย่างไรก็ตาม “ภูมิธรรม”ได้มอบหมายให้ พลเอกณัฐพล นาคพาณิชย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมลงพื้นที่ภาคใต้เพื่อสำรวจสภาพปัญหาและความต้องการ เพื่อนำกลับมาพูดคุยในรายละเอียดและแก้ไขปัญหา และเตรียมหารือกับ “อรุณ บุญชม” จุฬาราชมนตรี เพื่อพูดรือในเรื่องการแก้ไขปัญหาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
2 เดือนเหตุรุนแรงใต้กว่า 20 ครั้ง
แม้รัฐบาลจะมีท่าทีพร้อมจะเปิดเจรจาอีกครั้ง แต่มีเงื่อนไขต้องเป็นการเจรจาเพื่อรัฐเดียวไม่แบ่งแยก และยังไใม่มีกรอบเวลาที่ชัดเจนว่าจะเริ่มเปิดเจรจาอีกครั้งได้เมื่อไหร ขณะที่ความรุนแรงในพื้นที่เกิดขึ้นต่อเนื่อง หากประมวลเหตุการณ์ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านพบเหตุความรุนแรงเกิดขึ้นต่อเนื่องมากกว่า 20 ครั้ง
- 14 ม.ค. 2568 เกิดเหตุลอบวางระเบิดแสวงเครื่องบริเวณถนนสายศรีสาคร–ลูโบ๊ะยือริง ใส่รถกระบะช่วงบริเวณบ้านไอร์กือแด ม.4 ตำบลศรีบรรพต อำเภอศรีสาคร จังหวัดนราธิวาส ส่งผลให้ตำรวจตระเวนชายแดนเสียชีวิต
- 23 ก.พ. 2568 นายทักษิณ ชินวัตร เดินทางมายังจังหวัดชายแดนใต้ และประกาศว่าจะยุติสถานการณ์ความขัดแย้งในพื้นที่ภาคใต้ให้สำเร็จภายในปี 2569
- 28 ก.พ. 2568 เมื่อเริ่มเข้าสู่ช่วงรอมฎอน ก็เกิดเหตุรุนแรงหลายแห่ง จนมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก ทั้งๆที่โดยทั่วไปแล้วเหตุรุนแรงจะเกิดขึ้นในช่วง 10 วันสุดท้ายของเดือนรอมฎอน ถือว่าเป็นการเคลื่อนไหวที่ผิดปกติ
- 6 มี.ค. 2568 เกิดเหตุขว้างระเบิดแสวงเครื่องแบบไปป์บอมจำนวน 2 ลูก หวังทำร้ายเจ้าหน้าที่ในป้อมตำรวจบนถนนพาดรถไฟ ต.สะเตง อ.เมือง จ.ยะลา แต่ระเบิดตกกลางถนน ทำให้ให้ประชาชนได้รับบาดเจ็บ 6 คน
- 8 มี.ค. 2568 เกิดเหตุระเบิดและยิงจู่โจม จ.นราธิวาส ในหลายจุด โดยเฉพาะ อ.สุไหงโก-ลก มีเจ้าหน้าที่กองอาสารักษาดินแดน เสียชีวิต 3 ราย อย่างน้อย 9 ราย และประชาชนบาดเจ็บ 4 คน จุดที่ 1 เหตุระเบิดบริเวณที่ว่าการอำเภอ ส่งผลให้อาคารหอประชุมอำเภอ อาคารที่ว่าการอำเภอ รถยนต์บรรทุก 6 ล้อ ของราชการ และรถยนต์ราชการ ได้รับความเสียหาย
จุดที่ 2 เหตุระเบิดบริเวณแยกวรการ เลียบรางรถไฟ ไม่มีผู้ใดได้รับบาดเจ็บ
จุดที่ 3 เหตุระเบิดบริเวณหน้าห้างบิ๊กซี ไม่มีผู้ใดได้รับบาดเจ็บ
จุดที่ 4 เหตุระเบิดเกาะกลางถนนเลียบรางรถไฟ หลังสนามกีฬามหาราช ไม่มีผู้ใดได้รับบาดเจ็บ
จุดที่ 5 เหตุระเบิดเสาไฟฟ้าบริเวณหัวสะพานบ้านไอร์กูบู อ.สุไหปาดี จ.นราธิวาส ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บ
จุดที่ 6 เหตุระเบิดเสาไฟเสียหาย 2 ต้น อ.ตากใบ
จุดที่ 7 เกิดเหตุลอบวางระเบิดแสวงเครื่องที่ อ.สายบุรี จ.ปัตตานี ทำให้อาสาทหารพราน 1 ราย ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน 2 ราย เสียชีวิต และมีผู้บาดเจ็บ 1 รายเป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน
- 9 มี.ค. 2568 พล.ต.วินธัย สุวารี โฆษกกองทัพบก กล่าวว่าเหตุรุนแรงเป็นฝีมือของกลุ่มขบวนการแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติ BRN ที่ไม่เคารพต่อความปรารถนาในสันติสุขของประชาชน
- 18 เม.ย.2568 คนร้ายลอบยิงอดีตครูสอนศาสนาอิสลาม อายุ 60 ปี เสียชีวิต ขณะกลับจากละหมาด ที่ อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส
- 20 เมษายน 2568 เกิดระเบิดบริเวณถนนข้างกำแพงรั้วของแฟลตตำรวจ สภ.โคกเคียน อ.เมือง จ.นราธิวาส
- 22 เม.ย. 2568 คนร้ายยิงรถตำรวจ สภ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา ขณะรับพระและสามเณร จำนวน 6 รูป เพื่อบิณฑบาตร จนเกิดการยิงปะทะกัน ส่งผลให้สามเณรมรณภาพ 1 รูป บาดเจ็บ 1 รูป
- 30 เม.ย. 2568 สว. ภาคใต้ นำโดย นายไชยยงค์ มณีรุ่งสกุล เรียกร้องให้รัฐบาลหามาตรการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังและให้มีกฎหมายการก่อการร้ายแทนการใช้กฎอัยการศึกและพระราชกำหนด ใน 3 จังหวัดแดนใต้
- 2 พ.ค. 2568 คนร้ายยิงกราดประชาชน ทำให้ลูกกับแม่ที่พิการทางสายตาเสียชีวิต ที่ อ.จะแนะ จ.นราธิวาส และ เกิดเหตุคนร้ายกราดยิงชาวบ้านได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตในบ้าน มีผู้สูงอายุและเด็กบาดเจ็บสาหัสและเสียชีวิตที่ อ.ตากใบ จ.นราธิวาส
- 3 พ.ค. 2568 เกิดเหตุระเบิดที่งานมหกรรมตาดีกาสัมพันธ์ เทศบาลตำบลรือเสาะ จ.นราธิวาส ซึ่งภายในงานมี น.ส.ซาบีดา ไทยเศรษฐ์ รมช.มหาดไทย เป็นประธานในพิธีเปิดงาน และข้าราชการจำนวนมาก ยืนคอยให้การต้อนรับ
- 4 พ.ค. 2568 เกิดเหตุยิงพลเรือนชายเสียชีวิต 1 คนที่ อ. ยะหริ่ง จ. ปัตตานี
- 5 พ.ค. 2568 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเดินทางลงพื้นที่ จ. นราธิวาส เพื่อติดตามสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้น หารือกับหน่วยงานด้านความมั่นคงในการวางแนวทางแก้ไขปัญหา และเดินทางเยี่ยมผู้ได้รับบาดเจ็บและเป็นประธานในพิธีฌาปณกิจศพเหยื่อ
- 6 พ.ค. 2568 พล.อ. ณัฐพล นาคพาณิชย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการ
ขณะที่รัฐบาลยังไม่ชัดเจนว่าจะเปิดโต๊ะเจรจาเพื่อสันติภาพหรือไม่ โดยความชัดเจนจะเกิดขึ้นหลังจาก พล.อ. ณัฐพล นาคพาณิชย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม และแม่ทัพภาคที่ 4 และหน่วยงาน ลงพื้นที่เพื่อรับฟังการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ชายแดนใต้ และจะนำมากำหนดกรอบเจรจาสันติภาพขึ้นใหม่ แต่จะเกิดขึ้นเมื่อไหร ยังคงต้องติดตามกันต่อไป
อ่านเนื้อหาที่เกี่ยวข้อง