สถานการณ์ในจังหวัดชายแดนใต้
วันที่ 22 ก.ย. 2566 เครือข่าย Peace Survey ได้สรุปสถานการณ์ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนใต้ ตั้งแต่ปี 2547 จนถึงประมาณกลางปี 2566 พบว่า
- – เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบ 22,166 ครั้ง
- – มีผู้เสียชีวิต 7,520 คน
- – มีผู้บาดเจ็บ 13,968 คน
และยังมีความรุนแรงต่อประชาชนและการละเมิดสิทธิมนุษยชนอื่น ๆ ทั้งความรุนแรงทางตรง เช่น การทำร้ายร่างกาย และความรุนแรงเชิงโครงสร้าง เช่น ปัญหาความยากจน ความเหลื่อมล้ำ การเลือกปฏิบัติ และการลิดรอนสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เป็นต้น
นอกจากนี้ ในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้มีการบังคับใช้กฎหมายพิเศษหรือกฎหมายความมั่นคงที่เพิ่มเติมจากพื้นที่อื่น ๆ ในประเทศไทย 3 ฉบับซึ่งแตกต่างกัน ได้แก่
- 1. พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548
- – นายกฯ โดยความเห็นชอบของครม. มีอำนาจขยายระยะเวลาบังคับใช้กฎหมายครั้งละไม่เกิน 3 เดือน
- – ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองหรือตำรวจ เจ้าหน้าที่ฝ่ายพลเรือนหรือเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารร่วมกันป้องกัน แก้ไข ปราบปราม ระงับ ยับยั้ง ฟื้นฟู หรือช่วยเหลือประชาชน
- – นายกฯ มีอำนาจจัดตั้งหน่วยงานพิเศษเป็นการเฉพาะ มีอำนาจประกาศเคอร์ฟิว ห้ามชุมนุม ห้ามนำเสนอข่าวที่ทำให้เกิดความหวาดกลัวหรือบิดเบือน กำหนดเงื่อนไขการใช้เส้นทางคมนาคม ห้ามใช้อาคาร หรือสั่งอพยพประชาชน
- 2. พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551
- – มอบหมายให้กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) มีหน้าที่ป้องกัน ปราบปราม ระงับ ยับยั้ง และแก้ไขหรือบรรเทาเหตุการณ์ที่กระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร
- 3. กฎอัยการศึก หรือ พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ. 2457
- – เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารสามารถ ปิดล้อม ตรวจค้น จับกุม และควบคุมตัว โดยไม่ต้องมีหลายค้น หมายจับ และหมายควบคุมจากศาล
- – เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารมีอำนาจกักตัวบุคคลไว้ไม่เกิน 7 วัน หากได้รับความเสียหายจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหาร ไม่สามารถเรียกร้องค่าเสียหายได้
ซึ่งประกาศใช้ในแต่ละพื้นที่แตกต่างกัน (ตามมติครม. วันที่ 9 ก.ค. 2567) ดังนี้
- 1. พื้นที่บังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ (บังคับใช้ถึง 19 ต.ค. 2567) ได้แก่
- – จ.ยะลา ในอำเภอ เมืองยะลา / บันนังสตา / ธารโต / ยะหา
- – จ.ปัตตานี ในอำเภอ เมืองปัตตานี / โคกโพธิ์ / หนองจิก / สายบุรี / ยะรัง / ศรีสาคร
- – จ.นราธิวาส ในอำเภอ เมืองนราธิวาส / ตากใบ / บาเจาะ / ระแงะ / รือเสาะ / สุไหงปาดี / จะแนะ / เจาะไอร้อง / ศรีสาคร
- 2. พื้นที่ยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แล้ว แต่ยังมีการใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ได้แก่
- – จ.ยะลา ในอำเภอ เบตง / กาบัง / กรงปินัง / รามัน
- – จ.ปัตตานี ในอำเภอ มายอ / ไม้แก่น / ยะหริ่ง / กะพ้อ / แม่ลาน / ทุ่งยางแดง / ปะนาเระ
- – จ.นราธิวาส ในอำเภอ แว้ง / สุคิริน / สุไหงโก-ลก / ยี่งอ
- – จ.สงขลา ในอำเภอ จะนะ / นาทวี / เทพา / สะบ้าย้อย
กมธ.วิสามัญสันติภาพชายแดนใต้
คณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาศึกษาและเสนอแนวทางการส่งเสริมกระบวนการสร้างสันติภาพเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กมธ.วิสามัญสันติภาพชายแดนใต้) ถูกแต่งตั้งโดยสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 11 ต.ค. 2566 มีบทบาทในการเสนอแนะนโยบายต่อฝ่ายบริหาร เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องของการลดความขัดแย้งด้วยสันติวิธี และทำให้ฝ่ายนิติบัญญัติมีการตรวจสอบติดตามกระบวนการอย่างต่อเนื่อง
ในวันที่ 8 พ.ย. 2566 กมธ.วิสามัญสันติภาพชายแดนใต้ เชิญหน่วยงานที่มีบทบาทดูแลพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ได้แก่ สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) และกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) มาชี้แจงและให้ข้อมูล โดยมองว่าทั้ง 3 องค์กร มีปัญหาในการบูรณาการร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรม นอกจากนี้ยังมีการเสนอทบทวน พ.ร.บ. การบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ. 2553 ให้สอดรับกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป
กอ.รมน. ยุบ-ไม่ยุบ?
นโยบายยุบ กอ.รมน. เป็นหนึ่งในนโยบายของพรรคก้าวไกล โดย รอมฎอน ปันจอร์ สส.พรรคก้าวไกล ได้เสนอ ร่าง พ.ร.บ.ยกเลิกพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 พ.ศ. … โดยให้เหตุผลในเรื่องของการใช้งบประมาณที่มากเกินจริง ความไม่โปรงใสในการบริหารกำลังพล การดำเนินงานทับซ้อน การปฏิบัติการข่าวสารทางการทหาร และประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาในจังหวัดชายแดนใต้
อย่างไรก็ตาม เศรษฐา ทวีสิน นายกฯ และรมว.คลัง ชี้แจงว่า รัฐบาลไม่มีนโยบายยุบกอ.รมน. แต่จะมีการพัฒนาให้เป็นไปตามบริบทของสังคมต่อไป
คืนสภาที่ปรึกษาฯชายแดนใต้
ในวันที่ 13 ส.ค. 2567 ที่ประชุมวุฒิสมาชิก (สว.) มีมติ 187 ต่อ 0 เสียง งดออก 3 เสียง ผ่านร่างกฎหมายยกเลิกคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 14/2559 เรื่อง คณะกรรมการที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ และการกำหนดอำนาจหน้าที่ของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร หลังจากที่สภาผู้แทนราษฎร (สส.) ลงมติเห็นชอบผ่านร่างกฎหมายฉบับนี้
หลักจากนี้ให้กลับไปใช้ พ.ร.บ.ว่าด้วยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2553 ในการเลือกสมาชิกสภาที่ปรึกษาการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนร่วมกับระบบสรรหา (เดิม) เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ชายแดนใต้ได้มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการพื้นที่ของตนเอง