ทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่พยายามอธิบายปรากฏการณ์ทางเศรษฐกิจหรือสังคมที่เป็นอยู่ แล้วคาดการณ์ผลลัพธ์ต่าง ๆ ไปข้างหน้า เพื่อตอบโจทย์หรือแก้ไขประเด็นทางนโยบายสำคัญ ๆ ในหลายบริบท โดยอาศัยกลไกที่มีอยู่ในปัจจุบัน เช่น การประเมินภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันและมองไปข้างหน้าเพื่อดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจที่เหมาะสม การวิเคราะห์ภาวะหนี้สินเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้อย่างตรงจุด
แต่ในหลายบริบท แนวทางดังกล่าวอาจมีข้อจำกัดหากมีข้อมูลไม่เพียงพอ ทำให้ไม่สามารถเข้าใจปัญหาและแรงจูงใจของผู้มีส่วนได้เสียต่าง ๆ ได้ครบถ้วน หรือในบางบริบท มีผู้มีส่วนได้เสียที่มีแรงจูงใจหลากหลาย ทำให้ไม่สามารถออกแบบนโยบายที่ตอบสนองต่อแรงจูงใจที่หลากหลายเหล่านั้นและเกิดข้อจำกัดในการออกแบบนโยบายที่มีประสิทธิผล
เช่น การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเป็นสินค้าสาธารณะที่ทุกคนจะได้ประโยชน์หากมีใครคนใดคนหนึ่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง ทำให้อีกคนขาดแรงจูงใจในการมีส่วนร่วมในการลดก๊าซเรือนกระจก ซึ่งจะทำให้เกิดผู้ได้ประโยชน์โดยไม่ต้องทำอะไรเลย (free rider) โจทย์หรือประเด็นทางนโยบายในลักษณะนี้จึงไม่สามารถใช้ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ข้างต้นมาตอบหรือแก้ไขได้
ศาสตราจารย์อีริก มัสกิน ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ได้นำเสนอแนวคิด“Mechanism Design” ซึ่งแตกต่างจากทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ กล่าวคือ เป็นแนวคิดที่ตั้งต้นจาก“ผลลัพธ์” ที่ต้องการหรือยึดเป้าหมายเป็นตัวตั้งก่อน จากนั้นจึงค่อยกลับมาออกแบบ “กลไกหรือวิธีการ”ในการสร้างแรงจูงใจของผู้มีส่วนได้เสียต่าง ๆ ให้สอดประสานกัน เพื่อให้สามารถไปถึงผลลัพธ์หรือเป้าหมายดังกล่าวได้
คุณูปการหลักของแนวคิดนี้คือ กลไกดังกล่าวจะช่วยให้ Mechanism Designer เช่น ภาครัฐหรือผู้กำหนดนโยบายสามารถบรรลุเป้าหมายได้ แม้ว่าจะไม่มีข้อมูลมากพอที่จะทำให้เข้าใจแรงจูงใจที่แท้จริงของผู้มีส่วนได้เสียก็ตาม
ยกตัวอย่างง่าย ๆ ในบริบทของการจัดสรรทรัพยากรภายในครอบครัว เช่น หากคุณแม่ต้องการแบ่งขนมเค้กให้ลูกสองคนพึงพอใจ คือ ยอมรับร่วมกัน และมีความเป็นธรรม (fair division) โดยยึดเอาเป้าหมายว่า ลูกแต่ละคนต้องได้เค้กอย่างน้อยครึ่งหนึ่ง คุณแม่จึงตัดเค้กนั้นอย่างเท่า ๆ กันในมุมมองของเธอ
อย่างไรก็ตาม ในมุมมองของลูกคนแรกอาจไม่ได้คิดว่าคุณแม่แบ่งเค้กอย่างเป็นธรรม และคิดว่ายังได้เค้กชิ้นเล็กกว่าน้อง ความท้าทายต่อคุณแม่ คือ การไม่มีข้อมูลของลูก ๆ ทั้งสองคนว่าแต่ละคนมีมุมมองอย่างไร จึงไม่รู้ว่าต้องแบ่งเค้กอย่างไรให้เกิด fair division โดยแท้จริง
ดังนั้น คุณแม่สามารถนำ Mechanism Design เข้ามาช่วยได้กล่าวคือ ออกแบบวิธีการให้ลูกคนแรกตัดเค้กออกเป็น 2 ชิ้น ขณะที่ให้ลูกคนที่สองเป็นคนเลือกชิ้นที่ตัดนั้นก่อน
วิธีการนี้จะทำให้เกิด fair division เนื่องจากลูกคนแรกจะตัดเค้กให้เท่า ๆ กันในมุมมองของตัวเอง โดยไม่ว่าลูกคนที่สองจะเลือกเค้กชิ้นใดลูกคนแรกก็จะยังคงพึงพอใจ ขณะที่ลูกคนที่สองก็พึงพอใจ เพราะได้เลือกเค้กที่ตนพึงพอใจก่อนพี่เช่นกัน
ดังนั้น จะเห็นได้ว่า การใช้ Mechanism Design ในการออกแบบกติกาการแบ่งเค้กในครั้งนี้ ทำให้บรรลุจุดประสงค์ของคุณแม่ โดยไม่จำเป็นต้องรู้ว่ามุมมองของลูกแต่ละคนเกี่ยวกับ fair division นั้นเป็นอย่างไร
อีกตัวอย่างของการใช้ Mechanism Design เช่น การประมูลคลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมโดยภาครัฐมีเป้าหมายคือ ต้องการให้คลื่นความถี่อยู่ในมือของบริษัทที่ให้คุณค่าสูงที่สุด (เป็นผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพที่สุด) แต่ภาครัฐไม่ทราบว่าแต่ละบริษัทที่เข้ามาประมูลนั้นให้คุณค่าต่อคลื่นความถี่อย่างไร
ทั้งนี้การประมูลในรูปแบบทั่วไปที่ให้ผู้ชนะการประมูลชำระเงินด้วยราคาสูงสุดในการประมูล ไม่สามารถรับประกันได้ว่า ผลลัพธ์ของการประมูลจะได้บริษัทที่ให้คุณค่าสูงสุดได้จริง เพราะแต่ละบริษัทผู้ประมูลจะมีแรงจูงใจในการเสนอราคาต่ำกว่าที่ตนเองให้คุณค่าไว้
อย่างไรก็ดี ภาครัฐสามารถใช้ Mechanism Design โดยออกแบบให้ผู้ชนะการประมูลชำระเงินด้วยราคาที่ชนะการประมูลเป็นอันดับสอง (second-highest bid) เพื่อจะช่วยจูงใจให้บริษัทเสนอราคาได้ตรงตามความเป็นจริงที่สุด คือ ไม่น้อยเกินไป (เพราะจะทำให้ประมูลไม่สำเร็จ) และไม่มากเกินไป (เพราะจะทำให้ต้องจ่ายเงินสูงเกินกว่าที่ให้คุณค่าไว้) ซึ่งจะทำให้ได้บริษัทที่ให้คุณค่าสูงสุดต่อคลื่นความถี่เป็นผู้ชนะการประมูลด้วยคุณูปการของ Mechanism Design ข้างต้น
แนวคิดนี้จึงมีความสำคัญมากขึ้นในบริบทโลกใหม่ ซึ่งต้องการ “การคิดใหม่ ทำใหม่” ในการออกแบบกฎกติกาให้มีประสิทธิผล เช่น การบรรเทาปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การกำกับดูแลตลาดการเงินเพื่อป้องกันวิกฤตและส่งเสริมการแข่งขันของสถาบันการเงิน การออกแบบระบบการเงินที่สนับสนุนการเปลี่ยนผ่านไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือแม้แต่การออกแบบระบบการเลือกตั้งที่เหมาะสมสำหรับบริบทของแต่ละประเทศ
ท้ายที่สุด Mechanism Design เป็นเครื่องมือที่นำมาใช้ออกแบบกลไกหรือวิธีการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่สังคมตกลงกันหรือผู้กำหนดนโยบายได้กำหนดไว้ แต่ไม่ได้เป็นเครื่องมือที่ใช้ในการเลือกเป้าหมาย
นอกจากนี้ ในกรณีที่เป้าหมายที่สังคมต้องการบรรลุมีความซับซ้อน กลไกหรือวิธีการที่พัฒนาขึ้นเพื่อให้บรรลุเป้าหมายย่อมมีความซับซ้อนมากขึ้นตามไปด้วย
แต่สิ่งสำคัญคือ การรักษาสมดุลที่ดีระหว่าง“ประสิทธิภาพ” ของกลไกในการช่วยให้บรรลุเป้าหมาย กับ “ความง่าย” ของกลไกเพื่อให้สามารถนำมาใช้ได้จริงในทางปฏิบัติ โดยศาสตราจารย์มัสกินใช้คำว่า “robust mechanism design”
และที่สำคัญ เมื่อนำกลไกมาใช้จริงแล้ว หัวใจที่จะทำให้ไปสู่เป้าหมายได้ คือ ความมุ่งมั่น (commitment) ในการใช้กลไก โดยไม่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา หากเป้าหมายไม่เปลี่ยนแปลง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและการยอมรับโดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่าง ๆ ซึ่งจะนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ต้องการในที่สุด
ที่มา: จากสรุปข้อคิดเห็นปาฐกถาพิเศษ โดยธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ร่วมกับ International Peace Foundation จัดงานแสดงปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “Mechanism Design Theory” โดยศาสตราจารย์อีริก มัสกิน ภายใต้กิจกรรม JAPAN – ASEAN BRIDGES Event Series ฉลองครบรอบ 50 ปี ความสัมพันธ์ญี่ปุ่น – อาเซียน เมื่อวันที่ 16 ม.ค. 2567