ตั้งแต่สมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น มีความพยายามพลักดันการบริหารงานและงานบริการของภารรัฐ ให้เปลี่ยนไปสู่ระบบดิจิทัลทั้งหมด โดยได้มีการประกาศใช้ พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การบริหารงานและการให้บริการภาครัฐผ่านระบบดิจิทัล พ.ศ. 2562 เพื่อให้มีการกำหนดกลไกขับเคลื่อนการพัฒนารัฐบาลดิจิทัล จากนั้นในเดือน ก.พ. 2566 คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติแผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัลของประเทศไทย พ.ศ. 2566 – 2570 เพื่อให้ไทยก้าวสู่รัฐบาลดิจิทัลเต็มรูปแบบ
เป้าหมายของแผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัลฯ ต้องการให้ภาครัฐสามารถเข้าถึงข้อมูลพื้นฐานที่จำเป็นในการทำงานของแต่ละหน่วยงานได้อย่างไร้รอยต่อ เจ้าหน้าที่รัฐมีทักษะการทำงานดิจิทัลที่สอดคล้องกับบริบทโลก สามารถให้บริการประชาชนได้สะดวกรวดเร็ว และแม่นยำมากขึ้น ขณะที่ประชาชนจะสามารถเข้าถึงบริการต่าง ๆ ของรัฐได้ในแพลตฟอร์มเดียว ส่วนภาคธุรกิจก็เข้าถึงการทำธุรกรรมกับรัฐ และข้อมูลการส่งเสริมศักยภาพการแข่งขันของรัฐได้สะดวกขึ้น นอกจากนี้การมีส่วนร่วมของประชาชนในการดำเนินงานภาครัฐ จะช่วยให้เกิดความโปร่งใส ตรวจสอบได้
ทั้งหมดช่วยทำให้ประเทศไทยสามารถถึงเป้าหมายอันดับดัชนีรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (E – Government Development Index: EGDI) ไม่ต่ำกว่าอันดับที่ 40 ของโลกได้เร็วขึ้น ซึ่งในปีล่าสุด 2567 ดัชนีรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ของไทย อยู่อันดับที่ 52 จาก 193 ประเทศทั่วโลก เปลี่ยนแปลงดีขึ้นจากอันดับ 55 ในปี 2565 และอยู่ในอับดับที่ 2 ของอาเซียน รองจากสิงคโปร์ แต่อย่างไรก็ตามยังคงห่างจากเป้าหมายที่รัฐบาลคาดหวังไว้ คือ อันดับต่ำกว่า 40 ของโลก
สุทธิชัย หยุ่น คุยกับ ผศ.ยุทธนา ศรีสวัสดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร iTAX ผู้คิดค้นเทคโนโลยีคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของไทย ในรายการคุยนอกกรอบ ทางไทยพีบีเอส ในประเด็นถึงความเป็นได้ของรัฐบาลกับการบริหารงานแบบรัฐบาลดิจิทัล (Digital Government) เพื่ออำนวยสะดวกเพื่อบริการประชาชน
ผศ.ยุทธนา มองว่า การที่จะนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาเปลี่ยนแปลงประเทศไทย ควรจะเริ่มจากหน่วยงานกรมสรรพากรก่อน เพราะเกี่ยวข้องกับภาคธุรกิจจำนวนมาก แม้กฎหมายจะอนุญาตให้ใช้เอกสารอิเล็กทรอนิกส์แทนเอกสารรูปแบบกระดาษได้แล้ว แต่ทำระบบเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ยังคงมีต้นทุนที่สูงสำหรับผู้ประกอบการขนาดเล็ก และบางครั้งกรมสรรพากรก็อยากเห็นเอกสารในรูปแบบกระดาษอยู่ดี
รัฐบาลจึงต้องกลับมาทบทวนแล้วว่า ประเทศไทยจะเปลี่ยนไปสู่รัฐบาลดิจิทัลในทิศทางไหน และจุดประสงค์ที่แท้จริงคืออะไร หากต้องการอำนวยความสะดวกให้กับประชาชน ก็ควรเอาประชาชนเป็นจุดศูนย์กลางของเรื่องนี้ เพราะหากเอาระบบราชการเป็นศูนย์กลาง ก็อาจทำให้ประชาชนไม่ได้รับความสะดวกที่แท้จริง
ผมว่าโจทย์ของเราก็แค่ว่าเอาประชาชนเป็นศูนย์กลางก่อน ผมคิดว่าระบบราชการของเรา จำนวนมาก หลาย ๆ เรื่อง เอาราชการเป็นศูนย์กลาง ระเบียบหลาย ๆ เรื่อง หรือเรื่องที่เราทำเวลาเราไปติดต่อ เรารู้สึกเลยว่าเขาทำเพื่อปกป้องตัวเองก่อนไม่ให้มีปัญหาเรื่องความรับผิด บางทีกระบวนการที่มันซับซ้อนมาก ๆ เนี่ย มันซับซ้อน ๆ เพื่อให้ข้าราชการทำงานง่าย แต่ไมได้ให้ประชาชนง่ายขึ้น เราต้องกลับฟากกันว่าเอาประชาชนง่ายก่อน แล้วเดี๋ยวมันยากตรงไหนค่อยหาเครื่องมือมาช่วยกัน
ปัจจุบันฝ่ายบริหารทั้งรัฐบาล และฝ่ายค้าน เริ่มมีคนหนุ่มสาวเข้ามาอยู่ในต่ำแหน่งที่สำคัญ ๆ มากขึ้น ตนจึงหวังว่ารัฐบาลดิจิทัลจะมีความเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร iTAX ระบุว่า มีความเป็นไปได้ที่ปัญญาประดิษฐ์ บริษัทสตาร์ทอัพ (Start Up) และรัฐบาลดิจิทัล จะยกระดับให้รัฐบาลไทยมีความทันสมัยมากขึ้น โดนยกตัวอย่างประเทศจีน สมัยก่อนระบบการชำระเงินยังล้าหลังไม่มีเครดิตการ์ด แต่จีนกลับกระโดดไปพัฒนาระบบชำเงินแบบสแกนคิวอาร์โค้ด หรือแม้กระทั่งรถยนต์สันดาปที่สู้ชาติอื่นไม่ได้ จีนก็หันไปพัฒนารถยนต์ไฟฟ้า สะท้อนว่าสิ่งไหนที่จีนตามไม่ทันก็จะหันไปพัฒนาสิ่งใหม่เลยทันที ดังนั้นไทยจะต้องหาวิธีทำให้เหมือนกับจีน เพื่อก้าวไปอีกเจเนอเรชัน (Generation) หนึ่งให้ได้
หากคิดแบบธุรกิจสตาร์ทอัพ รัฐบาลจะต้องตั้งเป้าหมายก่อนว่าอยากได้อะไรจากเปลี่ยนไปสู่ระบบดิจิทัล หากอยากประชาชนได้รับความสะดวกสบายก็ควรกำหนดสิ่งนี้เป็นเป้าหมาย ไม่ใช่เอาระบบราชการเป็นเป้าหมาย เพราะเขากลัวว่าจะต้องมารับผิดในสิ่งที่ทำ เมื่อกำหนดประชาชนเป็นเป้าหมายแล้ว ก็ค่อยมาดูว่าจะมีเครื่องมือไรเข้ามาแก้ไขและส่งเสริมได้บ้าง ถ้าเอไอมันคือคำตอบก็ใช้เอไอ ถ้าบล็อกเชนคือคำตอบก็ใช้บล็อกเชน ถ้าการใช้กระดาษคือคำตอบก็ใช้กระดาษ ใช้เครื่องมืออะไรก็ได้ แต่เอาประชาชนเป็นที่ตั้งก่อน
อย่างไรก็ตาม ไทยเป็นประเทศแห่งการลงทะเบียน สังเกตได้จากเวลารัฐบาลมีมาตรการช่วยเหลือประชาชนจะต้องมีการลงทะเบียนก่อนทุกครั้ง นั่นเป็นเพราะว่าหน่วยงานรัฐไม่มีข้อมูลในระบบ และไม่รู้ต้องช่วยเหลือคนไหน รวมถึงป้องกันความรับผิดจากการจ่ายเงินผิดกลุ่มเป้าหมาย แม้รัฐบาลจะมีความตั้งใจดีอยากช่วยเหลือประชาชน แต่กลับได้มาเอาประชาชนเป็นจุดศูนย์กลางก่อน
เปรียบเทียบกับสหรัฐอเมริกา เขาใช้วิธีว่าเอากรมสรรพากรเป็นเจ้าภาพ คุณมีข้อมูลทุกคนในประเทศนี้ แล้วใครบ้างควรได้รับความช่วยเหลือ เขาส่งเช็คเข้าบ้านไปเลยในสมัยประธานาธิบดีทรัมป์ นี่คือเช็คช่วงเหลือตอนโควิด-19 เขาช่วยไปเลยไม่ต้องลงทะเบียน ไม่ต้องรับสาย ไม่ต้องอะไรทั้งสิ้น คือเขาสื่อสารไปเลยว่า ไม่ต้องกลัวเรื่องสแกมเมอร์ เพราะเขาจะไม่โทรไปเด็ดขาด ถ้าโทรไปนี่คือของปลอม ซึ่งอันนี้ผมคิดว่ามันคือรัฐบาลดิจิทัลที่เอาประชาชนเป็นศูนย์กลาง
เมื่อมาดูกรมสรรพากรของไทยมีข้อมูลคนไทยประมาณ 11 ล้านคน ส่วนสำนักงานประกันสังคมของกระทรวงแรงงานก็มีคนไทยประมาณ 24.6 ล้านคน (ยอด ณ เดือน ก.ย. 67) แต่การเชื่อมข้อมูลระหว่างหน่วยงานนั้น ถือเป็นความท้าท้าย เพราะแต่ละหน่วยงานก็จะมีความหวงข้อมูลระดับหนึ่ง ซึ่งรัฐบาลควรมารื้อโครงสร้างตรงนี้
สิ่งที่มีความเป็นเป็นได้ที่จะทำให้เกิด ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชัน (Digital Transformation) หรือ การนำเทคโนโลยีมาวางเป็นรากฐานในการทำงานภาครัฐ คือ เรื่อง Negative Income Tax (ภาษีเงินได้แบบติดลบ) โดยเป็นกระบวนการบังคับให้ประชาชนทุกคนต้องเข้าระบบภาษี คาดว่ากรมสรรพากรมีข้อมูลผู้เสียภาษีครบทุกคน แต่สิ่งที่ต้องทำต่อนี้ คือการตรวจสอบฐานะการเงินแต่คน ด้วยการใช้ข้อมูลจาก เครดิตบูโร การครอบครองที่ดิน และจำนวนทรัพย์สินที่มีอยู่ เป็นต้น เพื่อดูว่ายากจนจริงไหม
อย่างไรก็ตามเรื่อง Negative Income Tax ต้องใช้เงินจำนวนมากในการทำระบบ เพราะไทยไม่เคยทำเรื่องนี้มาก่อน ดังนั้นคิดว่าบริษัทสตาร์ทอัพไทยสามารถเข้าไปช่วยเหลือแก้ปัญหาในด้านเทคโยโลยีได้ ซึ่งจะช่วยหยัดเงินได้จำนวนมาก นอกจากนี้หากมีบริษัทสตาร์ทอัพเข้ามาช่วยเหลือรัฐบาลในหลาย ๆ เรื่องรวมกัน ก็จะช่วยแก้ปัญหาสังคมไทยได้เป็นวงกว้าง
ทั้งนี้ตนเชื่อว่าการประเทศไทยที่จะก้าวขึ้นไปเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วในโลกยุคนี้ จะต้องมีเทคโนโลนีเป็นของตนเองก่อน หรืออย่างน้อยที่สุดก็ควรมีธุรกิจสตาร์ทอัพที่เติบโตในประเทศไทย ซึ่งจะช่วยให้สามารถแก้ปัญหาประเทศได้
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง