การสรรหาประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คนใหม่ กำลังถูกจับตามองจากสังคม หลัง ปรเมธี วิมลศิริ หมดวาระไปเมื่อ 19 ก.ย. 67 แต่กระบวนการสรรหาประธานบอร์ดคนใหม่ ยังไม่ได้ข้อสรุป แม้จะดำเนินการล่วงหน้ามานานกว่า 3 เดือน จนล่าสุดมีข่าวว่า กิตติรัตน์ ณ ระนอง จะเป็นหนึ่งในแคนดิเดตที่ฝั่งรัฐบาลเสนอชื่อเข้ามาท้าชิงตำแหน่งประธานบอร์ดคนใหม่
กระแสข่าวว่าการเมืองส่งคนเข้ามาดำรงตำแหน่งประธานบอร์ด เกิดขึ้นหลังจากมีความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกับธปท.ในการดำเนินนโยบายการเงิน โดยเฉพาะเรื่องลดดอกเบี้ย โดยมีความเห็นต่างกันในเรื่องทิศทางดอกเบี้ยตั้งแต่สมัยนายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี
รัฐบาลต้องการให้ธปท. โดยคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ลดดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ขณะที่ เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าฯ ธปท. เห็นว่าอัตราดอกเบี้ยมีความเหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจ
เมื่อมีความขัดแย้งทุกครั้ง ก็จะเปิดประเด็นเรื่องการ “ปลดผู้ว่าฯ” หรือ การส่งคนเข้าไปนั่งกรรมการชุดต่าง ๆ โดยเฉพาะประธานบอร์ด ซึ่งในอดีตก็เคยมีคนจากการเมืองเข้าไปเป็นประธานบอร์ดมาแล้ว แต่ก็ไม่มีประเด็นเรื่องการแทรกแซงออกมาในที่สาธารณะ อย่างเช่น สมัย วีรพงษ์ รามางกูร นั่งประธานบอร์ดในปี 2555 ในสมัย ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งในครั้งนั้นมี ประสาร ไตรรัตน์วรกุล เป็นผู้ว่าธปท. ซึ่งก็เคยมีประเด็นความเห็นต่างด้านนโยบายการเงินเช่นเดียวกัน
สมชัย จิตสุชน ผู้อํานวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ (TDRI) ในฐานะอดีตกนง. กล่าวว่าไม่น่าแปลกใจที่รัฐบาลพยายามจะส่งคนของตนเองเข้ามา เพื่อให้มีเสียงของตัวเองในบอร์ดธปท. มากขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมาจะเห็นถึงความไม่ลงรอยกันระหว่างธปท.และรัฐบาลมาตั้งแต่สมัยของรัฐบาลชุดที่แล้ว
ทั้งในประเด็นการดำเนินนโยบายการเงิน อัตราดอกเบี้ย รวมถึงเรื่อง ดิจิทัลวอลเล็ตยุคแรก ที่มีความเกี่ยวพันกับ พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เงินตรา พ.ศ. 2501 ที่ธปท.ดูแลกฎหมายดังกล่าวอยู่
สมชัย กล่าวว่าที่หลายฝ่ายมีความกังวลในเรื่องดังกล่าว เนื่องจากหากบุคคลที่มาเป็นบอร์ดธปท.มีความเห็นพ้องกับรัฐบาล เพราะมีความเชื่อทางนโยบายแบบเดียวกัน จะทำให้โอกาสในการดำเนินนโยบายตามแนวทางที่รัฐบาลต้องการมีสูงมาก ไม่ว่าจะเป็นนโยบายการเงิน เรื่องอัตราดอกเบี้ยนโยบายและการดูแลค่าเงินบาท รวมทั้งการใช้เงินสำรองระหว่างประเทศ ที่เคยมีแนวคิดมานานแล้วตั้งแต่สมัยพรรคไทยรักไทยจนถึงพรรคเพื่อไทยว่า ต้องการนำเงินสำรองระหว่างประเทศไปใช้ โดยการตั้งกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ (Sovereign Wealth Fund) ซึ่งแนวคิดนี้ได้ถูกคัดค้านจากฝั่ง ธปท.มาโดยตลอดเช่นกัน
แม้การตั้งกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติจะประสบความสำเร็จในบางประเทศ และประเทศไทยมีทุนสำรองระหว่างประเทศไม่น้อย ซึ่งหากสามารถดำเนินการภายใต้การบริหารจัดการที่ดีได้ ก็จะทำให้เกิดดอกออกผลและเป็นประโยชน์เชิงนโยบายได้
แต่ที่หลายฝ่ายกังวลคือหน้าที่การบริหารกองทุนนี้เป็นของใคร ซึ่งการทำหน้าที่ดังกล่าวจะต้องมีความโปร่งใสและธรรมภิบาลสูงมาก หากเกิดการแทรกแซงจากฝ่ายการเมือง โดยนำคนเข้าไปนั่งบริหารกองทุน ปัญหาก็จะเกิดตามมาอีกเช่นกัน เพราะกองทุนก้อนนี้ คือ เงินที่เป็นเกราะป้องกันในยามฉุกเฉิน หากนำไปใช้ผิดประเภทหรือใช้จ่ายกับประชานิยมต่าง ๆ ก็จะเป็นเงินที่เสียเปล่า
ความสำคัญของบอร์ด ธปท.
สมชัย ยังกล่าวถึงความสำคัญของกระบวนการสรรหาและคณะกรรมการสรรหาหรือคัดเลือกคณะกรรมการชุดต่าง ๆ ของธปท. ว่า มีความสำคัญอย่างมาก เพราะคณะกรรมการ หรือ บอร์ดชุดต่าง ๆ ของธปท.มีคาบเกี่ยวกันทั้งหมด ด้วยเหตุนี้กฎหมายปัจจุบัน จึงกำหนดคุณสมบัติของผู้ที่จะมาทำหน้าที่เป็นคณะกรรมการสรรหาเอาไว้ว่า จะต้องไม่เป็นข้าราชการในปัจจุบัน ซึ่งชัดเจนว่าเจตนารมณ์คือไม่ต้องการให้ฝ่ายการเมืองมีอำนาจเหนือการตัดสินใจมากจนเกินไป เพราะหากคณะกรรมการสรรหามีความคิดคล้ายกับฝ่ายการเมือง และสรรหาบอร์ดธปท.ที่มีความคิดคล้ายกันเข้ามา
“ต่อไปเมื่อกนง.ครบวาระในอีก 2 ปีข้างหน้า บอร์ดธปท. ก็จะมีโอกาสคัดเลือกกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิใน กนง.ในสัดส่วนคนนอกอีก 4 คนด้วย”
นอกจากนี้ในปี 2568 จะมีการคัดสรรผู้ว่าการธปท.คนใหม่ หากคณะกรรมการคัดสรรมีแนวคิดไปทางเดียวกับฝ่ายการเมืองอีกและเลือกผู้ว่า ธปท. ที่เป็นฝ่ายเดียวกัน ถึงตอนนั้นฝ่ายการเมืองก็จะคุมนโยบายการเงินเบ็ดเสร็จ ดังนั้นผู้ที่จะมาเป็นคณะกรรมการสรรหาก็มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง
“สิ่งนี้เป็นหลักการและสมมุติฐานส่วนตัว ไม่ได้ระบุหรือพาดพิงตัวบุคคลใด ๆ ถ้าฝ่ายการเมืองสามารถส่งคนที่มีความคิดคล้ายกันเข้ามาในบอร์ดธปท.ได้ เป็นผลเสียที่รุนแรงมากแน่นอน แต่ถึงขั้นหายนะหรือไม่ ก็ขึ้นกับว่าเมื่อแทรกแซงแล้วคนที่ทางรัฐบาลส่งไปนั่งอยู่ในธปท.ในจุดต่าง ๆ ถึงขั้นที่ว่าจะฟังรัฐบาลอย่างเดียวเลย ไม่ได้มีข้อพิจารณาทางวิชาชีพ หรือหลักวิชาการอะไร อันนี้ถึงขั้นหายนะแน่”
สมชัย บอกว่าโดยส่วนตัวคิดว่ายังไม่ถึงขั้นนั้น เพราะเชื่อว่าแต่ละท่านมีวิจารณญาณระดับหนึ่ง เพียงแต่ว่าจะเป็นความเสี่ยงที่ทำให้เกิดภาพว่าต่อให้ท่านมีวิจารณญาณของท่านเอง แต่เผอิญสิ่งที่ท่านพูดตรงกับรัฐบาลเกือบจะทุกเรื่อง คนอื่นก็มีอาจมองได้ว่าฟังรัฐบาลทุกเรื่อง
นโยบายการเงินต้องเป็นอิสระ
ในเรื่องความเป็นอิสระของธปท. สมชัย มองว่าความเป็นอิสระของนโยบายการเงินเป็นเรื่องที่สําคัญอย่างมาก มีงานวิจัยและประสบการณ์จากทั่วโลกในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา พบตรงกันว่าถ้าตลาดขาดความเชื่อมั่นในเรื่องของความเป็นอิสระทางความคิดของธนาคารกลาง ตลาดจะปั่นป่วนผันผวน และไม่เชื่อใจ ทั้งประเด็นการควบคุมเงินเฟ้อ และวินัยทางด้านการเงินการคลังอีกต่อไป ซึ่งจะทำให้ประเทศสูญเสียความน่าสนใจในการลงทุน และสูญเสียความสามารถในการแข่งขันไปในที่สุด อาจส่งผลให้เงินทุนไหลออกซึ่งจะกระทบภาพรวมเศรษฐกิจในที่สุด
ดังนั้นอยากให้มองไกล และมองกว้าง อย่าไปให้ความสําคัญกับประโยชน์ทางการเมืองเฉพาะหน้ามากเกินไป อะไรที่ทำให้เกิดผลเสียในระยะยาวต้องหลีกเลี่ยง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการไปสร้างภาพว่านโยบายการเงินถูกแทรกแซงได้อันนั้นเป็นเรื่องที่สําคัญมาก ไม่ควรจะให้เกิดขึ้น
ส่วนที่มีการพูดกันว่าทั้งฝ่ายการเมือง และ ธปท. จะต้องปรับแนวคิดทั้งสองฝั่ง เพื่อให้ทำงานร่วมกันได้อย่างราบรื่นนั้น ส่วนตัวมองว่าข้อถกเถียงที่ผ่านมาเป็นเรื่องของหลักการ เพราะหลักการของทั้งสองฝ่ายไม่ตรงกัน ฝั่งหนึ่งมองระยะยาว ฝั่งหนึ่งมองระยะสั้น ก็เลยทําให้ยาก แต่หากทั้งสองฝั่งให้ความสำคัญกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในระยะยาวที่เหลือคุยกันง่าย
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง